เชาว์ร่ายยาว! ซัด 'เฉลิมชัย' หากยกพล ปชป.ซบรัฐบาลเพื่อไทยนับถอยหลังสูญพันธุ์แน่

เตือน 'กลุ่มเฉลิมชัย' เอา ปชป.ไปร่วมรัฐบาล พท. นับถอยหลังสูญพันธุ์ได้ ชี้เป็นได้แค่เบ๊เดินตามก้นลูกพรรคทักษิณ ซัดไหนบอกจะเลิกเล่นการเมือง แต่กลับซ่องสุมกำลัง สส.

10 ส.ค.2566 - นายเชาว์ มีขวด สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรองโฆษกพรรค ปชป.กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองของพรรคในขณะนี้ที่ยังไม่สามารถจัดประชุมเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่และมีข่าวว่าจะมี ส.ส.พรรค 21 คนไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย (พท.) ว่าสถานการณ์ถือว่าอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก หากทั้งสองซีกในพรรค ยังไม่สามารถที่พูดคุยหรือว่าเจรจาต่อรองกันได้ สภาพการณ์ที่ที่เกิดขึ้นไม่เป็นผลดีกับพรรคแล้วก็ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะเป็นผู้ชนะ แต่จะเป็นผู้แพ้ทั้งสองฝ่าย และก็คนที่แพ้หนักที่สุดก็คือพรรคประชาธิปัตย์ เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันก็ชักบานปลายขึ้นเรื่อยๆ

“เห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของ อดีตเลขาธิการพรรค คุณเฉลิมชัย ศรีอ่อนที่ใช้คำที่รุนแรง ซึ่งไม่มีใครคาดคิด เหมือนเจตนาต้องการไปกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งในทำนองที่ใช้อารมณ์ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงซึ่งหลายคนก็ตกใจ สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ หากยังปล่อยไว้แบบนี้นานๆ คงไม่ดี ในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก็อยากเห็นภาพที่มีการเปิดโต๊ะเจรจากัน หาข้อยุติ หาจุดร่วมที่ตรงกันให้ได้ โดยเฉพาะในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ถ้าจะมีการนัดประชุมเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ก่อนที่จะมีการนัดประชุมกรรมการบริหารพรรค คงประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อยุติกันให้ได้ก่อน เพราะถ้านัดประชุม องค์ประชุมก็อาจไปร่วมประชุมไม่ครบอีก”

นายเชาว์กล่าวต่อว่า การที่ฝ่ายอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีเสียงข้างน้อยก็ใช้สิทธิ์ตอบโต้ด้วยการไม่ลงชื่อเข้าร่วมประชุมหรือว่าการวอล์กเอาท์ออกจากห้องประชุมก็ดี มันไม่ได้เป็นวิธีการเลวทรามหยาบช้า อย่างที่รักษาการเลขาธิการพรรค ปชป.กล่าวหา เพราะวิธีการดังกล่าวคือวิธีการทั่วไปที่ฝ่ายเสียงข้างน้อยใช้ตอบโต้เสียงข้างมากในทุกเรื่องถ้าเห็นว่าหากประชุมเกิดขึ้นจะทำให้ฝ่ายเสียงข้างมากใช้โอกาสนำเรื่องที่ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยเข้าไปพิจารณา ก็ไม่มีหนทางอื่น เพราะข้อบังคับการประชุมพรรคที่ให้น้ำหนักการลงคะแนนเสียงกับ สส.ปัจจุบันถึง 70% ซึ่งเทียบอัตราส่วนแล้ว สส. 25 คน ในน้ำหนัก 70% จะได้เท่ากับประมาณคนละ 2.8% ขณะที่ฝ่ายที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ เพราะว่ามีคนจำนวนมากกว่าคือตั้งสามร้อยกว่าคน แต่ว่าด้วยข้อบังคับพรรคที่ไม่ค่อยเอื้อกับสถานการณ์ปัจจุบัน ให้น้ำหนักหรือคะแนนเสียงเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วจแต่ละคนจะมีแค่เพียง 0.09% ซึ่งแต่ละคนที่อยู่ในซีกขององค์ประชุมอื่น ที่มีสัดส่วนคะแนนเสียงแค่ 30% จะพบว่า ประกอบด้วยผู้อาวุโสทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอดีตรัฐมนตรี-อดีต สส.พรรคหรือว่าอดีต กก.บห.พรรค ซึ่งหนึ่งในนั้น รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยเป็นอดีตหัวหน้าพรรค ปชป.มา แต่เทียบน้ำหนักการลงคะแนนเสียงก็มีแค่ 0.09% ขณะที่ สส.ชุดปัจจุบันที่มีจำนวนแค่ 25 คน ได้สัดส่วนคะแนนเสียงไปคนละ 2.8 %

นายเชาว์กล่าวอีกว่า เมื่อฝ่ายนายเฉลิมชัยรวมเสียง สส.ได้ถึง 21 เสียง เพราะฉะนั้นการจัดประชุมพรรค เพื่อจะให้เลือก กก.บห.จะให้จัดประชุมกันอย่างไรก็ไม่มีทางจะชนะฝ่ายนายเฉลิมชัยได้ หนทางเดียวของฝ่ายที่สนับสนุนคนที่ไปอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งไม่ได้บอกว่าอีกฝ่ายจะสนับสนุนใคร เพราะว่ายังไม่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเพราะตัวนายอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะแจ้งความประสงค์ว่าจะลงสมัคร เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ไม่เอื้ออำนวย กับการแข่งขันด้วยกติกาที่ไม่เป็นธรรม

อดีตรองโฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า ส่วนที่อาจมองกันว่าข้อบังคับพรรค ปชป.ให้น้ำหนัก สส.ในการลงคะแนนเสียงถึง 70% ก็ร่างขึ้นในสมัยนายอภิสิทธิ์นั้น อยากบอกว่าในอดีตกับปัจจุบัน สภาพการณ์มันไม่เหมือนกัน คือในอดีตตอนร่างข้อบังคับพรรคนี้ขึ้นมา เราเคยมี สส.ถึงกว่าร้อยคน ซึ่งหากรวมกับโหวตเตอร์อื่นๆ สัดส่วนมันพอที่จะถ่วงดุลกันได้ แม้จะให้น้ำหนักไปที่คนซึ่งเป็น สส.มากกว่าก็ตาม แต่เมื่อดูจากสภาพตอนนั้นที่มี สส.กว่าร้อยคน แต่ก็มีโหวตเตอร์อื่นที่มีเกือบสองร้อยคน ถ้าประชุมจนครบองค์ประชุมกว่าสองร้อยห้าสิบคนขึ้นไป มันก็พอถ่วงดุลกันได้ แต่พอมาถึงยุคปัจจุบันที่พรรคตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนก็ว่าได้ เพราะเราเหลือ ส.ส.แค่ 25 คน หลายคนก็เป็นส.ส.หน้าใหม่

นายเชาว์ย้ำว่า ปัญหาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพรรค ไม่ต้องไปมองอื่นไกล ปัญหาหลักๆ ก็เริ่มจากการที่กลุ่มของนายเฉลิมชัย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศสัจจะวาจาต่อหน้าประชาชนหลายครั้งว่า จะเลิกเล่นการเมือง หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ สส.ต่ำกว่า 52 คน แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ท่าทีของนายเฉลิมชัย ปากแม้บอกว่าเลิก แต่การกระทำของเขา ทุกคนก็พอที่จะเห็นได้ว่ายังไม่เลิก ยังอยู่เบื้องหลัง ยังซ่องสุมกำลังและที่สำคัญก็ไปรวมส.ส.ในพรรคมาไว้ 21 คน

นายเชาว์ย้ำว่า พรรค ปชป.เวลานี้อยู่ในช่วงตกต่ำ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู เพื่อเรียกความเชื่อมั่นศรัทธากลับคืนมาให้ได้ แต่กระแสข่าวที่เล็ดลอดออกมา รวมถึงคำพูดของกลุ่ม สส.เหล่านี้ ที่แสดงตัวตนชัดว่ามี 21 คน ต่างก็มีท่าทีไปในทิศทางเดียวกัน คือต้องการเข้าร่วมรัฐบาลอย่างเดียว โดยไม่สนใจเสียงเรียกร้องจากสมาชิกพรรค ปชป.ที่มีบุคคลหลายกลุ่มหลายฝ่าย ที่มั่นใจว่าสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ไม่อยากเห็นพรรค ปชป.ในสภาพการณ์เช่นนี้ ไปเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พท. หรือก่อนหน้านี้กับพรรคก้าวไกล เพราะว่าความเป็นสถาบันพรรคการเมืองของพรรคในอดีตที่ผ่านมาพิสูจน์ได้ว่ามีบทบาทนำในสังคมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นในช่วงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือต้องรับบทฝ่ายค้าน ก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้อย่างเข้มแข็ง

“การตัดสินใจจะเอาพรรคเข้าร่วมรัฐบาล จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะมาแสดงความชอบธรรม ให้กับสมาชิกพรรคและผู้อาวุโสของพรรคที่ออกมาคัดค้านเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นคุณชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายอภิสิทธิ์ที่มีบทบาทสำคัญในพรรคมาตลอด สมาชิกพรรคทุกคนก็ควรต้องรับฟังความคิดเห็น หรือคำแนะนำในทางที่เป็นประโยชน์ ผมจึงมองว่าหากกลุ่มของนายเฉลิมชัย หากได้แถลงนโยบายของกลุ่มที่จะเข้ามาควบคุมพรรคประชาธิปัตย์ หรือเข้ามาบริหารพรรค โดยแถลงให้ชัดว่า หากเข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรค จะไม่นำพรรคเข้าร่วมรัฐบาลและจะมีทิศทางฟื้นฟูพรรคอย่างไร ถ้าทำแบบนี้ ปัญหาทุกอย่างคงจบ คงไม่มีใครไปสามารถโต้แย้งได้ หากเขามีความตั้งใจจริงจะเข้ามาพัฒนาพรรค แต่ท่าทีซึ่งปรากฏไม่เคยมีถ้อยแถลงจากกลุ่มนายเฉลิมชัยว่าจะมีทิศทางฟื้นฟูพรรคอย่างไร นอกจากมีกระแสข่าวเล็ดลอดมาตลอดว่าจะนำพรรคไปร่วมรัฐบาล ที่ตอนนี้ข่าวก็หนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ ที่แม้จะไปไม่ครบ 25 เสียง แต่แค่ 19 เสียง ก็จะไปกันแล้ว”

นายเชาว์ย้ำว่า ความเป็นสถาบันพรรคการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าถึงจุดนี้ คิดว่า น่าจะเป็นจุดที่แตกหักระหว่างสมาชิกกับผู้บริหารพรรค เพราะแน่นอนว่าคงไม่มีใครยอมให้นำพรรคไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อย่าลืมว่า สส.ของพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมา 25 คน การใช้สิทธิ์ออกเสียงต่างๆ อย่าลืมว่าคุณคือตัวแทนของประชาชน ได้เป็น สส.ก็เพราะสมาชิกพรรคและประชาชนเลือกเข้ามา ดังนั้นการใช้สิทธิออกเสียงหรือไปทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องฟังเสียงสมาชิกพรรคและประชาชนที่เลือกเข้าไปด้วย ไม่ใช่ว่าได้เป็น สส.จะทำอะไรตามอำเภอใจก็คงไม่ได้ เพราะจะต้องพบกับแรงเสียดทาน ที่จะออกมาคัดค้าน และจะมีการตรวจสอบอะไรหลายอย่าง

“ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียง ผมคิดว่าการจะตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลแม้จะเข้าร่วมไปแล้วก็คงไม่ง่าย ที่จะบริหารงานได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์ ก็คงแก้ไขได้ยากลำบากและหากไปถึงวันนั้น ถ้ามีการเลือกตั้งในวันข้างหน้า โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ จะสูญพันธุ์เป็นไปได้สูง"นายเชาว์ระบุ

เมื่อถามถึงกรณี กลุ่มนายเฉลิมชัย อาจมองว่าควรไปร่วมรัฐบาลเพราะจะได้นำนโยบายที่พรรคหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้งไปทำ อีกทั้งถ้าเป็นรัฐบาล พรรคจะได้มีผลงานเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นหรือไม่ นายเชาว์กล่าวว่า เหตุผลดังกล่าว ต้องพิจารณาตัวเราก่อนคือตัวพรรคประชาธิปัตย์ที่มี สส.แค่ 25 เสียงและสภาพการณ์ ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งจากฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถ้านับคะแนนกันจริงๆ โหวตกันจริงๆ โดยไม่อาศัยข้อบังคับพรรคที่ไปให้น้ำหนัก สส.ในการโหวต 70% คิดว่าโหวตต่อโหวต คะแนนต่อคะแนน ไม่มีทางที่จะชนะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้ประชาธิปัตย์ไปร่วมตั้งรัฐบาล โดยฝ่ายที่เห็นด้วยให้พรรคไปร่วมตั้งรัฐบาล หากนับหัวได้ก็มีเฉพาะจำนวน สส.แค่นั้น และก็อาจจะมีฐานของ สส.เหล่านี้ ที่เป็นประธานสาขาพรรค หรือว่าหัวหน้าสาขาพรรคบางส่วน ก็มีอยู่แค่นั้น ดูได้จากองค์ประชุมที่จะประชุมกันเมื่อ 6 ส.ค. นับแล้วประมาณกว่า 230 คน ซึ่งใน 230 คนดังกล่าว ก็ยังมีฝ่ายของคุณชวน -บัญญัติ-อภิสิทธิ์ หรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่ไม่เข้าร่วมประชุม ไม่ลงชื่อเข้าประชุม ก็มีอยู่จำนวนมาก เพราะฉะนั้น ตัวเลขที่ฝ่ายนายเฉลิมชัย อ้างถึงความชอบธรรมว่าการจะตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลต้องเป็นไปตามข้อบังคับพรรค ก็คงจะสวนทางกับความคิดของสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ เพราะเกิดปัญหาแบบนี้ นอกจากจะทำให้การบริหารงานในพรรคเกิดความยากลำบากแล้ว ความชอบธรรมในการไปร่วมรัฐบาล

“ตามที่ตั้งคำถามข้างต้น ผมว่าไม่ชอบธรรม และฟังไม่ขึ้น เพราะจำนวนเสียงแค่ 25 เสียง มันไม่สามารถไปประโยชน์อะไรได้ นโยบายของพรรคที่ได้หาเสียงไป ก็ไม่สามารถนำไปแชร์ เพื่อขอให้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลได้ เพราะว่าพรรคที่เป็นแกนนำหลักในการตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย ภูมิใจไทย เขาก็ต้องนำนโยบายของเขา ที่ใช้ในการหาเสียง ไปเป็นนโยบายหลักในการพัฒนาประเทศ และสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรคตัวเอง”

นายเชาว์กล่าวอีกว่า ประชาธิปัตย์ ที่มีแค่ 25 เสียง เป็นได้แค่เบ๊ คอยเดินตามก้น พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย แล้วแต่จะจัดสรรตำแหน่งให้ กระทรวงไหน ก็เอาทั้งนั้น เพื่อจะได้ร่วมรัฐบาลอย่างเดียว ว่าวิสัยแบบนี้ ไม่ใช่วิสัยของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทนำในสังคมการเมืองมาโดยตลอด ดังนั้น จะมาอ้างความชอบธรรมอย่างไรก็อ้างไม่ขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวไกล เดือดแทน ‘หมอชลน่าน’ ทุ่มเทเหนื่อยสุด โดนคนทิ้งพรรคเสียบเก้าอี้

‘ณัฐชา’ มอง ปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 ‘เพื่อไทย’ ยังรักษาคาแรคเตอร์ ‘สมบัติผลัดกันชม’ เก้าอี้ รมต. เหมือนเดิม สงสัย ทำไมเอาคนทิ้งพรรคอย่าง ’สมศักดิ์‘ แทน ’หมอชลน่าน‘ เหตุเหนื่อยสุดแบกรับสถานการณ์ช่วงเลือกตั้ง-จัดตั้งรัฐบาล

'จุรินทร์' ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตยังคลุมเครือ เหมือนเดินบนเส้นด้าย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทันไตรมาส 4 ตามที่รัฐบาลประกาศหรือไม่ว่า สถานการณ์วันนี้เหมือนย้อนกลับไปในจุดที่เหมือนประกาศว่าจะ

'จุรินทร์' แขวะเห็นใจนายกฯปรับครม. ต้องให้คนนอกรัฐบาลดูก่อน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับครม.เศรษฐา 1/1ว่า เรื่องนี้ตนยังตอบไม่ได้ เพราะ

'มงคลกิตติ์' เชื่อปี 70 'ปชป.' กลับมายิ่งใหญ่ พร้อมเสนอตัวลงชิงสส.

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์การประชุม