'สว.เสรี' เผย อดีตปลัดคลัง จองคิวชำแหละ 'เงินดิจิทัลหมื่นบาท' คาด 1-2 วันเพียงพอแถลงนโยบายรัฐบาล

5 ก.ย.2566- ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ประชุมกมธ. หารือถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 ก.ย. โดยกมธ.ได้วางแนวทางเบื้องต้นให้ผู้สนใจหรือเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องช่วยกันเสนอแนะทิศทาง หรือการทำงานของรัฐบาล ซึ่งจะมีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับนโยบายที่หาเสียงไว้ และนโยบายที่จะต้องดำเนินการที่เป็นหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงในส่วนของเศรษฐกิจ อย่างนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่จะมีนายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ สว. ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการ

นายเสรี กล่าวต่อว่า ส่วนนโยบายที่เกี่ยวการเมือง จะมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะการบริหารรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองหลายพรรค ซึ่งมีนโยบายเป็นของตัวเอง ซึ่งสว.คงจะเสนอแนวทางให้รัฐบาลสามารถบริหารงานด้วยความราบรื่น และนายกฯก็ต้องวางแนวทางในการบริหารประเทศ โดยต้องดูนโยบายรัฐบาลและของรัฐเป็นหลัก ต้องนำความรู้ความสามารถเดิมที่บริหารองค์กรภาคเอกชนมาเท่าที่จะทำได้

เมื่อถามว่าอยากฝากการบ้านอะไรไปถึงรัฐบาลชุดใหม่บ้าง นายเสรี กล่าวว่า สิ่งที่ระมัดระวังคือการบริหารประเทศ ต้องระมัดระวังตัวเอง เพราะในการทำงานถ้ามัวแต่ระวังคนอื่น แล้วไม่ระวังตัวเองก็อาจจะใช้อำนาจในแนวทางที่มากเกินไป หรือใช้อำนาจไปแนวทางผลประโยชน์ ดังนั้น รัฐบาลต้องเตือนตัวเองและระมัดระวังตัวเอง การทำงานต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ตัดสินใจ

เมื่อถามถึงนโยบายของรัฐบาลที่มียุทธศาสตร์ชาติกำกับการทำงาน นายเสรี กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลักการในการบริหารประเทศอยู่แล้ว และเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดที่จะไม่ให้ใช้อำนาจในการบริหารประเทศที่มากเกินไป ซึ่งจะมีเรื่องของการกำหนดทิศทาง เป็นยุทธศาสตร์มีกระบวนการตรวจสอบที่อาจจะเข้มข้น แนวทางเหล่านี้รัฐบาลก็ต้องให้ความสำคัญด้วย เพราะยังอยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

ถามถึงกรอบเวลาที่เหมาะสมในการอภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาล นายเสรี กล่าวว่า อยู่ที่สมาชิกว่าจะมีคนสนใจที่จะอภิปรายกี่คน และมีเรื่องอะไรบ้าง ถ้าคนอภิปรายน้อยวันเดียวก็พอได้ แต่ถ้ามีคนอภิปรายจำนวนมากคิดว่า 2 วันน่าจะเพียงพอ

เมื่อถามถึงนโยบายปรองดองที่มีผู้เสนอให้ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมือง นายเสรี กล่าวว่า ในประเด็นดังกล่าวหากเห็นพ้องต้องกัน ไม่ขัดข้องต่อกัน ขอให้ดำเนินการไป อย่างไรก็ดีในประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นหากจะทำให้เลิกขัดแย้งและบ้านเมืองสงบจริง คนที่กระทำผิดต้องยอมรับผิดในความผิดของตนเอง รวมถึงต้องระบุว่าไม่กลับไปทำผิดในคดีซ้ำอีก ตนเชื่อว่าหากทำได้ จะทำให้เกิดความปรองดอง และความสงบในบ้านเมือง

“เรื่องความปรองดองในรัฐบาลนั้นผมมองว่าจากการรวมกันตั้งรัฐบาลและจัดครม.ใหม่ นับว่าเป็นความปรองดองที่เกิดขึ้นได้แล้ว” นายเสรี กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เสรี' ซัดบางพรรคระดมคนสมัคร สว. แสวงหาอำนาจให้พวกพ้อง เอาเปรียบประชาชน

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวบนเวทีสัมมนา เรื่อง บทบาทหน้าที่อำนาจ และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 2567

เปิดฉากซักฟอก! ซัดนายกฯ ทำตัวเป็นเซลส์แมน ผลงานเด่นสุดช่วย 'นักโทษ' ไม่ติดคุก

สว. เปิดฉากซักฟอกรัฐบาล 'เสรี' ซัดนายกฯ ทำตัวเป็นเซลส์แมนกลับหัวกลับหาง เย้ยผลงานโดดเด่นช่วยนักโทษเทวดาไม่ติดคุกสักวัน แต่ทำลายกระบวนการยุติธรรม

สภาสูงVSเศรษฐา เปิดแผนสว.จัดทัพถล่ม

ระเบิดศึกการเมือง “สมาชิกวุฒิสภาVSรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” กันในวันจันทร์ที่ 25 มีนาคมนี้แล้ว เพราะจะเป็นการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาญัตติให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153

‘สว.‘ กั๊กประเด็น ’อภิปราย ม.153‘ กับรัฐบาล ย้ำขอให้รอฟังพรุ่งนี้

‘สว.‘ กั๊กประเด็น ’อภิปราย ม.153‘ บอก ขอให้รอฟังพรุ่งนี้ ‘เสรี‘ เปิดภาพกว้าง แถลงคนแรก ตั้งธง ‘รัฐบาล’ ต้องแจง เอาข้อเสนอไปดำเนินการต่ออย่างไร ไม่กังวล ปมลือ ‘นายกฯ‘ อาจไม่เข้าตอบ

'เสรี' เผยมี 27 สว. อภิปรายรัฐบาล รับอาจไม่ดุเดือดเพราะไม่มีการลงมติ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงการเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ของ ส.ว. ในวันที่ 25 มี.ค.ว่า จะมีผู้อภิปราย 27 คน ส่วนประเด็นที่จะอภิปราย จะยึดตามกรอบญัตติที่เคยยื่นไป