หมอวรงค์ยื่นผู้ตรวจฯ สกัดดิจิทัลวอลเล็ตซัดช่วยคนรวยโดยเอาคนจนมาบังหน้า

'หมอวรงค์' ยื่นผู้ตรวจฯส่งศาลปกครอง ล้มแจกเงินดิจิทัล หวั่นทำระบบเศรษฐกิจชาติเสียหาย เปิดช่องรายใหญ่ฟอกเงินสีเทา เชื่อคนรวยได้ประโยชน์แต่อ้างคนจนบังหน้า

18 ต.ค.2566 - นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี พร้อมมวลชนจำนวนหนึ่ง เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้พิจารณาไต่สวนและมีความเห็นส่งศาลปกครอง เพื่อระงับโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ตของรัฐบาล

โดยนพ.วรงค์ กล่าวว่า การมายื่นผู้ตรวจการแผ่นดินในวันนี้ตั้งเป้า 2 ประเด็น คือต้องการขอให้ระงับยับยั้งโครงการนี้ เพราะหากยังเดินหน้าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง จึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปให้ศาลปกครองพิจารณา และยื่นคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่งให้ระงับโครงการดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

นพ.วรงค์ ยังกล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลได้หาเสียงประกาศที่จะแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทกับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน โดยจะใช้วงเงินราวกว่า 5 แสนล้านบาท มีข้อกังวลใจว่าถ้าต้องการช่วยเหลือคนจนทำไมถึงต้องแจกให้กับคนรวยด้วย เอาง่ายๆ คือ สส.1 คน มีผู้ช่วย 8 คน เฉพาะ สส.รวมครอบครัวก็จะได้ประมาณ 8 แสนบาท หรือครอบครัวของนายกรัฐมนตรีก็จะได้ 4-5 หมื่นบาท และที่เป็นข้อกังขาคือทำไมแจกเป็นเงินดิจิทัล หรือโทเคน ซึ่งมีความซับซ้อน เพราะต้องมีการแลกเปลี่ยนจากเงินสดเป็นโทเคน และโทเคนเป็นเงินสด โดยเฉพาะเงื่อนไขของการจ่ายเงินโทเคนที่ระบุว่าต้อง 6 เดือนขึ้นไปถึงจะแลกเป็นเงินสดได้ ไม่ได้เป็นประโยชน์กับคนยากจน เพราะผู้ค้ารายย่อยเขาต้องหมุนเงินทุกวันซึ่งจะเป็นอุปสรรค ทำให้โทเคนไปกองอยู่ที่นักธุรกิจรายใหญ่ อีกทั้งคนยากจนต้องการเงินสดไม่ได้ต้องการเงินโทเคน ซึ่งจะนำไปสู่การฟอกเงินสีเทาครั้งใหญ่ในการรับซื้อโทเคนจากคนยากจนที่เขาต้องการเงินสด อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่สามารถชี้แจงได้ว่าจะนำเงินจากไหนมาทำโครงการนี้ จึงกังวลว่าสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การทุจริตกระจายไปทั้งแผ่นดิน

“กังวลว่าโครงการนี้ไม่ได้ช่วยคนจน แต่ช่วยคนรวยโดยเอาคนจนมาบังหน้า และสิ่งที่กระทำทั้งหมดจะนำไปสู่การขัดต่อกฎหมายหลายมาตราทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 162, 164 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 เพราโครงการนี้เป็นการใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาลเพื่อหวังคะแนนนิยมทางการเมือง และการนำโทเคนมาใช้จ่ายแทนธนบัตรเสี่ยงขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา 2501 มาตรา 6 มาตรา 9 จึงต้องการบอกประชาชนว่าอย่าให้เขาหลอก เขาไม่ได้ต้องการช่วยคนจนแต่ต้องการช่วยคนรวยโดยเอาคนจนมาบังหน้า” นพ.วรงค์กล่าวและว่า ได้รวบรวมข้อเท็จจริง ความเห็นจากนักวิชาการ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตรมว.คลังมาเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งศาลปกครองพิจารณาเพื่อยับยั้งโครงการดังกล่าว

นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า ที่ตนไม่ไปยื่นต่อศาลปกครองโดยตรงเนื่องจากโครงการนี้ยังไม่ได้เริ่มต้น มาตรการทางปกครองจึงไม่ได้เกิด แต่นโยบายดังกล่าวแถลงต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว จึงไม่อยากให้เกิดความเสียหายเหมือนโครงการจำนำข้าว จึงทำเรื่องนี้เพื่อไม่ให้ประเทศชาติเสียหายก่อนซึ่งมีช่องทางเดียวคือยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินไปยังศาลปกครอง ยกเว้นถ้ามีมติคณะรัฐมนตรีให้มีการดำเนินโครงการนี้ ก็จะถือว่ามาตรการทางปกครองเกิดขึ้นแล้วสามารถที่จะยื่นตรงต่อศาลปกครองได้ ส่วนอีกข้อห่วงใยคือถ้ามีการดำเนินโครงการ และมีการแจกโทเคนซึ่งจะขึ้นเป็นเงินสดได้ต้องผ่านไปแล้ว 6 เดือน หากในช่วงเวลานั้นเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เช่นมีการยุบสภา เงินนี้ใครจะรับผิดชอบ เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ก็จะไม่รับผิดชอบจะต้องบอกว่าให้ไปขึ้นเงินกับรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ก็จะเป็นข้อกังขาเกิดขึ้น เกิดความวุ่นวายเกิดการผูกคอตายของพ่อค้ารายย่อย
นพ.วรงค์ ยังกล่าวว่าเหตุที่ไม่ไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง เนื่องจากโครงการนี้ยังไม่เกิดขึ้นมาตรการทางปกครองยังไม่เกิดขึ้น แต่ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นก่อน เหมือนโครงการรับจำนำข้าว ตนไม่ได้ใจจืดใจดำอยากให้นักการเมืองต้องติดคุกหนีไปต่างประเทศ เรื่องนี้เพื่อไม่ให้ประเทศชาติเสียหาย ดังนั้นการที่จะไม่ให้ประเทศชาติเสียหาย มีช่องทางเดียวเท่านั้น คือต้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ยกเว้นถ้ามีการสะดุจในขั้นตอนนี้ เมื่อมีมติ ครม. มาตรการทางปกครองเกิดขึ้น ค่อยยื่นต่อศาลปกครองได้ และอีกประเด็นถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจริง มีการแจกโทเคนจริง โทเคนต้องรอ 6 เดือน ตั้งแต่กุมภาพันธ์จนถึงเดือนกันยายน ถ้ามีการสะดุจทางการเมืองขึ้นมา มีการยุบสภาขึ้นมา เงินนี้ใครจะรับผิดชอบ ตนเชื่อว่ารัฐบาลใหม่ก็ประกาศไม่รับผิดชอบ ต้องให้ไปเบิกกับรัฐบาลนายเศรษฐา ก็จะเป็นข้อกังขาเกิดขึ้น เกิดความวุ่นวายปั่นป่วน เกิดการฆ่าตัวตายของผู้ค้ารายย่อย ไม่ใช่ชาวนา

เมื่อถามว่าเมื่อเหตุยังเกิดการไปร้องศาลปกครอง อาจะไม่รับคำร้อง นพ.วรงค์ ย้ำว่าต ไม่ต้องการให้ประเทศชาติเกิดความเสียหาย แต่สิ่งนี้มีการแถลงต่อรัฐสภาเป็นหลักฐานเรียบร้อยแล้ว มีความตั้งใจกระทำให้เกิดขึ้น การกระทำที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น หากมีการวิเคราะห์จะนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ก็จะเป็นช่องทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน ยกเว้นมีมติ ครม.ดำเนินการแล้ว เสียหายแล้ว เราสามารถร้องตรงไปยังศาลปกครองและ ป.ป.ช.ได้ เรายังใจดีกับรัฐบาล เราไม่อยากเห็นนายกฯหนีหรืออยู่ในคุก

เมื่อถามว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต่างจากโครงการจำนำข้าวอย่างไร นพ.วรงค์กล่าวว่าทั้งสองโครงการมีจุดเหมือนกันมาก โครงการรับจำนำข้าวมีงบประมาณ 94,000 ล้านบาท มีความเสียหายไม่ใช่เฉพาะช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่นับไปถึงรัฐบาลนายสมัคร เสียหายเกือบ 9 แสนล้านบาท เฉพาะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เสียหาย 6 แสนล้านบาท แต่โครงการดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งมีหน่วยงานออกมาเตือนไม่แตกต่างกัน สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีนักวิชาการ หน่วยงาน แม้แต่ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกก็ออกมาเตือน และในส่วนของรัฐบาลนายเศรษฐาก็มีนักวิชาการ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์ แม้แต่เอสแอนพี และมูดี้ส์ ก็ออกมาเตือน และโครงการรับจำนำก็อ้างประชาชน นายเศรษฐาอ้างแจกทุกคนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป เวลาพูดอ้างช่วยคนจน รูปแบบเหล่านี้คือเอาคนจน เอาชาวนามาบังหน้า แต่สุดท้ายเป็นประโยชน์ของคนรวย ตนเชื่อว่าเมื่อดำเนินการไป ในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ตายด้วยทุจริต และรัฐบาลชุดนี้หากยังปล่อยให้เกิดขึ้นก็ตายด้วยทุจริตด้วยการใช้โทเคน แต่ถ้าไม่ใช้โทเคน โอนเป็นเงินสดผ่านบัญชีโกงยาก อันนั้นอาจจะไม่ตาย แต่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายกับการเงินการคลังของประเทศ ตนจึงขอเตือนหากใช้โทเคนเมื่อไหร่คุกรออยู่แน่นอน
“ในเชิงหลักการการช่วยประชาชนเราไม่ว่า เราเรียกร้องให้ใช้เงินสด ถ้ารัฐบาลนายเศรษฐาให้ทำโพลถามพี่น้องประชาชนว่าต้องการเงินสดหรือโทเคน เพราะโทเคนซับซ้อน หากแจกเงินสดความผิดคุณจะหายไปเยอะ และโอกาสทุจริตจะหายไปเยอะ แต่ความเสียหายต่อการเงินการคลังอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งช่องทางความเสียหายต่อการเงินการคลังในระยะยาวก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการร้องผู้ตรวจฯ แม้คุณไม่โกง แต่ความเสียหายเรื่องการทุจริตจะลดไปเยอะ” นพ.วรงค์

นพ.วรงค์ ยังกล่าวถึงที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ 3 ช่องทาง เกลี่ยงบประมาณ ให้สถาบันการเงินจ่ายไปก่อนหรือกู้ธนาคาร และกู้โดยตรง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีคำตอบ การที่ไม่มีคำตอบแต่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในมาตรา 162 164 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุไว้ชัดเจนถึงที่มาของเงิน ซึ่งแหล่งที่มาของเงินยังไม่ชัดเจนก็ขัดรัฐธรรมนูญแล้ว และผู้ใหญ่ในรัฐบาลก็ยังตอบไม่ตรงกันในเรื่องที่มาของเงิน

เมื่อถามว่าโครงการนี้จะเข้าข่ายฟอกเงินครั้งใหญ่อย่างไร นพ.วรงค์ กล่าวว่า เชื่อโทเคนขณะนี้ยังไม่เป็นที่รู้จัก ณ วันนี้มีการเตรียมใช้เงินดิจิทัลแห่งเดียวของประเทศ และถูกต้องอย่างเป็นทางการนั้น คือ ซีบีดีซี. หรือดิจิทัลบาท ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการทดลองใช้แล้วร่วมกับธนาคารแห่งหนึ่ง ขนาดธนาคารแห่งประเทศไทยมีเงินบาทมีทองคำรับรอง ยังต้องทดลองใช้ก่อน การที่จะออกมาเป็นโทเคน ชาวบ้านไม่รู้จัก ยิ่งการบังคับว่าก่อนที่จะขึ้นเงินอีก 6 เดือน ชาวบ้านต้องการเงินสด ร้านค้าในหมู่บ้านไม่มีทางอยากจะรับเพราะไม่มีเงินหมุน เมื่อประชาชนต้องการเงินสด ร้านค้าหัวดี คนที่มีเงินสีเทาจำนวนเยอะๆ สามารถจะไปร่วมมือเอาเงินสีเทาไปรับซื้อโทเคน วิธีการนี้เป็นกระบวนการฟอกเงินสีเทาครั้งใหญ่ ของประเทศครั้งใหญ่ที่ประชาชนอาจคาดไม่ถึง จึงพูดว่าโครงการนี้เป็นการอุ้มคนรวย แต่เอาคนจนมาบังหน้า

เมื่อถามถึงการที่ได้หาเสียงไว้ จะไม่ทำก็ผิดจะมีบรรทัดฐานอย่างไร นพ.วรงค์ กล่าวว่านโยบายหาเสียงที่เป็นนโยบายช่วยเหลือประชาชน ห้ามเพื่อคะแนนนิยมทางการเมือง การที่มาอ้างหาเสียงจะยิ่งผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 9 วรรค 3 อย่างชัดเจน ถ้าไม่ทำก็มีปัญหาทางการเมือง ถ้าทำก็ผิดกฎหมาย เพราะเขาห้ามสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง ที่จะนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจและเป็นภาระของประชาชนในระยะยาว ดังนั้นต้องย้อนไปช่วงเลือกตั้งที่ผู้จัดการเลือกตั้งจะต้องไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นหลังการเลือกตั้ง ต้องมีการคัดกรองนโยบายที่เข้มงวดกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยนโยบายมาแล้วสร้างปัญหาให้กับประเทศเมื่อเป็นรัฐบาล

“ถ้าผมเป็นนายเศรษฐาจะแถลงบอกเลยว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว มันเป็นปัญหา มันมีอุปสรรค และประชาชนต้องการเงินสด พี่น้องประชาชนช่วยคนจน พี่น้องประชาชนไม่อยากจะเห็นเอาเงินสดไปให้ตระกูลเศรษฐีใหญ่ๆ เอาเงินไปให้ สส. ครอบครัว สส. สว. ครอบครัวนักการเมือง ดังนั้นเราจะลดไซส์ เราจะแจกเป็นเงินสด เอาเฉพาะคนจนที่อยู่ในระบบที่เราต้องการจะช่วย และเราจะแจกเป็นเงินสด เพราะมีระบบรองรับอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าประชาชนรับได้ แต่อาจจะโดนด่านิดหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าลุยไฟไปข้างหน้าแล้วมีความเสี่ยงต่อประเทศ เสี่ยงต่อพวกเราทุกคน ย้ำว่าเฉพาะ พ.ร.บ.เงินตรา มาตรา 6 ที่คุณเอาวัตถุมาใช้แทนเงินตรา มันจะทำให้ประเทศเกิดเงินสองระบบ เป็นเงินของแบงค์ชาติที่มีกฎหมายรองรับ และเงินของรัฐบาลเพียงแต่รัฐบาลรองรับ ถ้าผมเป็นต่างชาติผมไม่ถือเงินบาทแน่นอน ถ้าเปิดปัญหาแบงค์ชาติไม่ได้รับรอง อัตราแลกเปลี่ยนก็จะไหลออกไปเพราะคนไม่เชื่อค่าเงินบาท อย่างที่บอกถ้าคุณถือโทเคนแล้วรัฐบาลยุบสภาใครจะมารับผิดชอบ เรียกร้องคุณเศรษฐา คุณถอยไปสักก้าวหนึ่ง อย่างที่เราเรียกร้องจ่ายเป็นเงินสด จ่ายเฉพาะคนจน โดยด่านิดหน่อย” นพ.วรงค์ กล่าว

นพ.วรงค์ ยังเชื่อว่าการที่นายกฯ ไม่ระบุถึงบริษัทพัฒนาระบบซุปเปอร์แอป และงบฯในการใช้สร้างระบบ เพราะรู้แล้ว แต่ไม่เปิดเผย แม้มีตัวเลขและบริษัทอยู่ในหัวแล้ว ถ้าหากแฟร์จะต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบ แต่รัฐบาลยังอึมครึม ไม่แฟร์ ไม่ตรงไปตรงมา จึงทำให้เกิดปัญหา จึงเชื่อว่าการแจกเป็นโทเคนจะนำไปสู่วิกฤตครั้งใหญ่ของประเทศ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พท. จัดใหญ่! '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' ตีปี๊บผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา'

'เพื่อไทย' เตรียมจัดงาน '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' สรุปผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา' 3 พ.ค.นี้ เดินหน้าเติมนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน พร้อมเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.

'ทวี' พร้อมให้ตรวจสอบ ลั่น! 'อะไรที่กฎหมายไม่เขียนให้เราทำได้เราก็จะไม่ทำ'

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว. ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีกรณีที่ถูก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ร้

เอาแล้ว! ‘หมอวรงค์’ เล็งหอบหลักฐานสำคัญ ร้องป.ป.ช.เอาผิดช่วยนักโทษป่วยทิพย์

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า ผมจะไปร้องป.ป.ช. กรณีช่วยเหลือนักโทษป่วยไม่จริง