จับตา 'สว.' โหวต ปธ.ศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ คาดถกเดือดภูมิหลัง 'แนวคิดการเมือง'

แฟ้มภาพ

ลุ้นสว.โหวต “วิษณุ”จะได้นั่ง ปธ.ศาลปกครองสูงสุดคนใหม่หรือไม่ จันทร์นี้ คาดประชุมลับ อภิปรายเดือด พบ สภาสูงชุดนี้  สอยร่วง ตีตก ตุลาการศาลสูง มาแล้วสามครั้ง แต่ระดับประมุขยังไม่เคยมีในประวัติศาสตร์   

31 มี.ค.2567 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมวุฒิสภาวันจันทร์ที่ 1 เมษายนนี้ จะมีการพิจารณาระเบียบวาระที่หลายคนเฝ้าติดตาม นั่นก็คือการประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ นั่นก็คือ ดร.วิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครองสูงสุด อาวุโสอันดับหนึ่ง ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.) เมื่อ 20 ธันวาคม 2566 ให้ถูกเสนอชื่อเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ แทนนายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ประธานศาลปกครองสูงสุดคนปัจจุบันที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะอายุครบ 70 ปีในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 และต่อมาได้มีการส่งชื่อ-ประวัติ และผลการพิจารณาของ ก.ศป.มาให้วุฒิสภาเมื่อ 22 มกราคม 2567 ซึ่งที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม

โดยในเอกสารรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ได้ข้อมูลว่า กรรมาธิการฯ ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องของสำนักงานศาลปกครอง เช่น เลขาธิการศาลปกครองมาชี้แจง  ทั้งยังได้ทำหนังสือขอข้อมูลในทางลับไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติการณ์ต่างๆ  เช่น สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานป.ป.ช.รวมถึง ยังได้ส่งหนังสือแบบตรวจสอบพฤติกรรมทางจริยธรรม ของนายวิษณุ ไปยังผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา  รวมถึงได้เรียก นายวิษณุ มาสัมภาษณ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม ซึ่งมีกระแสข่าวว่า การประชุมนัดดังกล่าวใช้เวลาหลายชั่วโมง เพื่อตอบคำถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนายวิษณุกับกรรมาธิการฯ

โดยข้อมูลทั้งหมด จะปรากฏอยู่ในเอกสารลับ ที่คณะกรรมาธิการฯ จะนำเสนอต่อสว.ในที่ประชุมวุฒิสภาวันที่ 1 เม.ย.นี้ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมด เป็นขั้นตอนปกติเหมือนกับการตรวจสอบประวัติ เวลาที่วุฒิสภาจะลงมติให้ความเห็นชอบ กรรมการองค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด แต่กรณีของนายวิษณุ รอบนี้พบว่าถูก สว. บางส่วน จับตามองมากเป็นพิเศษ

 หลังจากก่อนหน้านี้ สื่อสังคมออนไลน์และสังคมโซเชียลมีเดีย  ได้มีการเสนอข่าวและการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ ภูมิหลังและทัศนคติทางการเมืองและสังคมของนายวิษณุ อย่างกว้างขวาง ทำให้ นายวิษณุ ทำหนังสือเปิดผนึกถึง สว.เพื่อชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่นกรณีมีภาพไปร่วมงานแต่งงานของนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่มีแนวคิดชัดเจนในเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯและการแก้ไขมาตรา 112 

โดยนายวิษณุ ที่เคยเป็นอดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์  ชี้แจงว่า เป็นการไปร่วมงานแต่งงานในช่วงที่นายปิยบุตร ยังเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นนายปิยบุตร ยังไม่ได้เล่นการเมือง และหลังนายปิยบุตรลาออกไปตั้งพรรคการเมือง และเล่นการเมือง ก็ไม่ได้พบกับนายปิยบุตรอีก และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกัน

รวมถึงนายวิษณุ ยังได้ชี้แจงอีกหลายประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่น กรณีเสียงวิจารณ์ว่ามีความเห็นลบต่อพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี กรณีมีโพสต์แสดงความเห็นต่อข่าวการทุบบ้านสี่เสาเทเวศน์

โดยนายวิษณุ ชี้แจงว่า โพสต์ดังกล่าวกระผมมิได้เขียนขึ้นเอง แต่เป็นโพสต์ที่ผมไปพบเข้าในโซเชียลมีเดีย และผมนำมาแชร์ในเฟซบุ๊กเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ดังนั้น ข้อความเหล่านั้นจึงมิใช่ข้อความตามความคิดของผม และเจตนาที่แท้จริงที่กระผมนำโพสต์ดังกล่าวมาแชร์นั้น ก็เพื่อเยาะเย้ยเสียดสีกลุ่มบุคคลที่เคยชุมนุมประท้วงและไปชุมนุมล้อมบ้านสี่เสาอันเป็นที่พำนักของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และล้วนแต่ต้องคดีถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม ทำนองว่า ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว และมีการรื้อถอนทุบทิ้งบ้านสี่สาแล้ว สะใจกันหรือยังล่ะ กระผมมิได้มีเจตนาจะตำหนิหรือด่าว่าหรือคิดในทางลบต่อ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่อย่างใด

 ทั้งนี้ นายวิษณุ ได้รับเลือกจากที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองด้วยมติเอกฉันท์ โดยตอนที่จะมีการลงมติคัดเลือกบุคคลให้เป็นประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ ซึ่งมีแคนดิเดตด้วยกันห้าคน ที่เป็นรองประธานศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด  แต่ปรากฎว่ารองประธานศาลปกครองสูงสุดสี่คน ต่างพากันถอนตัวหมด เพราะเห็นว่านายวิษณุ มีความเหมาะสมเนื่องจากเป็นรองประธานศาลปกครองอาวุโสสูงสุด เพราะเข้ามาเป็นตุลาการศาลปกครองตั้งแต่ยุคแรกหลังมีการเปิดศาลปกครองเมื่อปี 2544 จนถึงวันที่คัดเลือกเมื่อปี 2566 รวมเวลา 22 ปี จนสุดท้าย ที่ประชุมก.ศป.หลังนำ 4 หลักเกณฑ์มาพิจารณาคือ หลักอาวุโส-ความรู้-ความสามารถ-ความเหมาะสม ที่ประชุมจึงมีมติเอกฉันท์ให้เสนอชื่อนายวิษณุ เป็นประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่แทนนายวรพจน์ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม นี้ ในกรณีหากได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา

โดยคาดว่า หลังกรรมาธิการฯ นำเสนอเอกสารลับเกี่ยวกับการตรวจสอบประวัติและการสัมภาษณ์นายวิษณุ คงอาจจะมีสว.หลายคน ลุกขึ้นอภิปรายซักถาม และแสดงความเห็นพอสมควร โดยเฉพาะสว.สายอดีตทหาร ที่ให้ความเคารพ พลเอกเปรม อดีตประธานองคมนตรี

ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า วุฒิสภาชุดปัจจุบันที่ทำงานมาห้าปี มีการลงมติทั้งให้ความเห็นชอบและไม่ให้ความเห็นชอบ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นกรรมการองค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด กรรมการกสทช.

โดยในส่วนของตุลาการศาลปกครองสูงสุดนั้นพบว่า วุฒิสภาชุดปัจจุบัน เคยไม่ให้ความเห็นชอบ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตามที่ก.ศป.ส่งชื่อมา 3 ครั้ง  

คนแรก เป็นการประชุมวุฒิสภา เมื่อ 17 กันยายน 2562 ซึ่งวันดังกล่าว วุฒิสภาผ่านความเห็นชอบ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 12 คน แต่ไม่ผ่านหนึ่งคนคือ  นายกุศล รักษา เพราะไม่ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมาก จึงถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา

ต่อมาในการประชุมวุฒิสภาเมื่อปี 2563 วุฒิสภา  ก็ตีตก ไม่ผ่านความเห็นชอบชื่อของ นายรัชนันท์ ธนานันท์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ให้เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด

แต่ต่อมา คณะกรรมการ ก.ศป. ที่มีนายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานในเวลานั้น ก็มีการคัดเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุด รอบใหม่และส่งชื่อนายรัชนันท์ มาให้วุฒิสภาอีกรอบ แต่ที่ประชุมสว.เมื่อ  19 มกราคม 2564 ก็ตีตก ไม่ผ่านชื่อของนายรัชนันท์ เป็นครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตาม วุฒิสภาชุดปัจจุบัน ก็ได้โหวตให้ความเห็นชอบ บุคคลไปทำหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุด มาแล้วสองคน คือนายชาญชัย แสวงศักดิ์ และนายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์

ทั้งนี้ การโหวตของวุฒิสภาในการให้ความเห็นชอบ ประธานศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองสูงสุด ใช้เพียงแค่เสียงข้างมากของที่ประชุม เท่านั้น คือนับจากจำนวนสส.ที่โหวตออกเสียงในที่ประชุม ไม่ได้ใช้เสียงเห็นชอบ เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ เหมือนกับการโหวตเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ.   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณะก้าวหน้า เชื่อสัญญาณจากผู้มีบารมี  กกต.ประกาศเตือนรณรงค์สมัคร สว.   

กรณี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ออกประกาศเตือน กรณีมีกลุ่มบุคคลและตัวแทนองค์กรจัดแคมเปญ ให้มีการจูงใจ

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....