'หมอเปรม' แจงเหตุผลเสนอญัตติส่งศาลตีความ!

'หมอเปรม' แจงเหตุผลเสนอญัตติส่งศาล รธน.วินิจฉัยทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

13 ก.พ.2568 - ในเวลา 10.30 นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.เสนอญัตติว่า ท่ามกลางกระแสความเห็นด้วยไม่เห็นด้วยของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนขอเสนอญัตติเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาได้ดำเนินการอย่างมีบรรทัดฐานและส่งผลดีต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งญัตติด่วนเรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรค 1 (2) และตามที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เสนอโดยมีหลักการเป็นการแก้ไขเพิ่มมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15 / 1 และของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เสนนอโดยมีหลักการทำนองเดียวกัน ซึ่งประธานได้บรรจุร่างทั้ง 2 เข้าสู่การประชุมรัฐสภา ซึ่งตนและสว.สส.จำนวน 60 รายชื่อ ได้เข้าชื่อกันเสนอญัตตินี้

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า ในฐานะสมาชิกรัฐสภาเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่มีหลักการดังกล่าวนายชูศักดิ์ ศิรินิล กับคณะ เคยเสนอแล้วเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2567 แต่ประธานรัฐสภาได้พิจารณาแล้ว สั่งไม่บรรจุวาระ โดยเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีหลักการเพิ่มเติมหมวด 15/1 ซึ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ย่อมเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มิใช่เป็นการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4 / 2564 ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลผูกพันทุกองค์กร ดังนั้นเมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมทั้ง2 ฉบับที่จะมีการพิจารณารัฐสภา ในวันที่ 13-14 ก.พ. มีหลักการเหมือนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับก่อนที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ประธานรัฐสภาจึงไม่สามารถบรรจุรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้เช่นกัน เมื่อประธานรัฐสภาได้บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การประชุมรัฐสภาจึงเกิดปัญหาว่า รัฐสภามีอำนาจที่จะพิจารณาและลงมติในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 2ฉบับได้หรือไม่

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า ข้อสำคัญคือเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่4/2564 ซึ่งมีสาระสำคัญและเหตุผลโดยสรุปว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15 / 1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลออกเสียงประชามติเห็นชอบ จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้วก็มีการให้ออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึงนำประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป ซึ่งเป็นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญตามครรลองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ด้วยเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ข้างต้น ประกอบกับกรณีที่ประธานรัฐสภาได้เคยมีสั่งไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่มีหลักการข้างต้นมาแล้ว ทำให้สมาชิกรัฐสภาบางส่วนเห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของรัฐสภานั้น ต้องให้มีการดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง คือก่อนจะมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อสภาต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติเสียงก่อนครั้งหนึ่ง หากประชามติเห็นด้วยกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงดำเนินการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและเมื่อรัฐสภามีความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงไปดำเนินการจัดให้มีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ว่าเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่เป็นการออกเสียงประชามติครั้งที่ 2 และหากผลออกการออกเสียงประชามติเห็นชอบ กับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวด 15 / 1 ตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น และเมื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จจึงไปดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติว่าประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หากเสียงประชามติเห็นชอบจึงเข้าสู่นำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป

“ดังนั้นการที่ประธานรัฐสภาได้บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 2 ฉบับโดยที่ยังไม่มีการดำเนินการออกเสียงประชามตินั้น จึงไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาและลงมติในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปได้ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาว่าจะสามารถดำเนินการพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง2 ฉบับต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ประธานรัฐสภาได้บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพราะหากรัฐสภาได้มีการพิจารณาและมีมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งที่ไม่มีอำนาจก็จะส่งผลต่อกระบวนการพิจารณาและลงมติของรัฐสภา ซึ่งจะเกิดผลเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินและส่งผลต่อความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ประธานได้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาต่อไปได้ และดำเนินการให้มีทำประชามติ 2 ครั้ง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/ 2564 ก็จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถดำเนินการต่อไปได้อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของรัฐสภาให้เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่อไป“นพ. เปรมศักดิ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อ.ไชยันต์' มั่นใจไม่มีปัญหาลักษณะต้องห้าม สมัครตุลาการศาลรธน.คนใหม่

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการยื่นใบสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการปิดรับสมัครไปเมื่อ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา

ศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้องฟัน กกต.ปมฮั้วเลือก สว.

ศาล รธน.ตีตกคำร้อง "ณฐพร" ปมขอสั่งฟัน กกต.เหตุปล่อยฮั้วเลือก สว. ชี้ไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ กกต.ทำตาม กม.หากเสียหายใช้สิทธิทางศาลอื่นได้

'สปช.' ขวาง 'กาสิโน' ส่งจม. เตือนรัฐบาล-สภา หวั่นเป็นผู้นำทรราช

อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงประธานรัฐสภา หัวหน้าพรรคการเมือง และสมาชิกรัฐสภา เรื่อง ขอให้พิจารณาไม่ผ่าน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิง พ.ศ….

‘จรัญ’ อดีตตุลาการศาลรธน. นำทัพบิ๊กเนมอดีตสสร.50 ต้านกาสิโน

นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 ร่วมกับอดีตสสร. ทำหนังสือเปิดผนึกถึงประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภา

'สนธิญา' ร้องผู้ตรวจฯ ชงศาลรธน. วินิจฉัยกฎหมายกาสิโน ขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา

“สนธิญา” ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน วินิจฉัยร่างกฎหมายคาสิโน ขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา พร่อมส่งศาลรธน.สั่งระงับ นายกฯ-ครม.สิ้นสภาพ ซัดลุยงานเพื่อประโยชน์บางคน ไม่เห็นหัวประชาชน

ระทึก! อาคาร A ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะทรุด สั่งอพยพคนทันที

อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรืออาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งหน่วยงานราชการสำคัญหลายหน่วยงาน