“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน เผย พลิกเกมยื้อแก้ไข รธน.ฉบับ ปชน.-พท. แม้บรรจุเป็นวาระแล้ว เป็นการลักไก่ ข้ามขั้นตอน ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้ง แม้ส่งศาลรธน. ย่อมไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา
14 ก.พ. 2568 - ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงการประชุมรัฐสภา ในวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ว่า ตนเคยให้ความเห็นทางกฎหมายมหาชนมาแล้วว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ฉบับพรรค ปชน.และ พท.มีโอกาสผ่านยากเพราะมีตัวแปรความเสี่ยงที่ฝ่าฝืนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เพราะการบรรจุวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ปชน.และเพื่อไทยเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนเพราะยังไม่ผ่านการจัดทำประชามติสอบถามประชาชนเจ้าของอำนาจผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญให้ลงประชามติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
เท่าที่ติดตามการประชุมสภาทั้งสองวันที่ผ่านมา เกมการเมืองพลิก ที่พรรคเพื่อไทยแก้เกมไม่ทันตั้งตัว จะเห็นได้จาก การเสนอญัตติของนายเปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภาโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยลงนามสนับสนุนร่าง โดยมีเสียง สว.สนับสนุนเสียงข้างน้อย เพื่อดึงเกมให้เลื่อนการพิจารณาในวาระแรก เพื่อตีรวนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่พลาดท่า แพ้เกมเสียงโหวตในสภา ทำให้ต้องพิจารณาในญัตติวาระร้อนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลทางกฎหมาย ญัตติการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความของนายเปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา ยังค้างอยู่ ยังไม่ตกไป แต่สมาชิกรัฐสภา จะเสนอญัตติซ้ำให้เลื่อนการพิจารณาก่อนในวาระแรกอีกไม่ได้
เป็นเพียงเกมการเมืองที่พรรคเพื่อไทยยื้อให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกบรรจุค้างอยู่ในสภาเพราะหากองค์ประชุมครบ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะตีตกในการพิจารณาในวาระหนึ่ง เพราะต้องใช้เสียง สว.จำนวนหนึ่งในสามหรือ 67 คน หากพิจารณาจาก สว.สายสีขาวและ สว.พันธ์ใหม่ มีเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ ประกอบกับเมื่อร่างตกไปแล้ว โอกาสที่จะเสนอร่างในรัฐบาลนี้ โอกาสเกิดขึ้นได้ยาก จึงต้องไปรออรัฐบาลใหม่ในปี 2570 ซึ่งไม่แน่ว่าจะได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เทคนิคประชุมล่ม เป็นเพียงการยื้อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกบรรจุไว้เพื่อไม่ให้ร่างนั้นตกไป
องค์ประชุมล่มทั้งสองวัน ไม่ได้หมายความว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บรรจุไว้ตกไป แต่ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังอยู่ พรรค ปชน.- พท. ย่อมหยิบขึ้นมาพิจารณาเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องแน่ใจว่า เสียงที่จะสนับสนุนทั้ง ส.ส.และ สว.เพียงพอ
เท่าที่จับอากัปกิริยาทางการเมืองของ พรรคภูมิใจไทยและ สว.ค่ายสีน้ำเงิน โต้แย้งประเด็นในเรื่องการบรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะฝ่าฝืนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เพราะยังไม่ผ่านการจัดทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน แต่มาลักไก่เสนอร่าง เป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอน ย่อมเสี่ยงสูงต่อการถูกถอดถอนและถูกดำเนินคดีอาญา หากพูดภาษาชาวบ้าน ง่ายๆ อ้างความเสี่ยง แต่เป้าประสงค์ของ ค่ายสีน้ำเงิน ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ในมิติทางกฎหมาย การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 สมาชิกรัฐสภาสามารถกระทำได้ เพราะผ่านการบรรจุวาระญัตติ แต่ศาลจะรับไว้วินิจฉัยหรือไม่ คนละขั้นตอนกัน หากเป็นการร้องขอในลักษณะขอปรึกษาหรือแนวทาง ศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมาย เพราะไม่ใช่ข้อขัดแย้ง อำนาจหน้าที่ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (2) (12)
ในมิติทางการเมือง เป็นการประวิงเวลาเพื่อหาทางออกที่จะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฟื้นคืนชีพ เพื่อนำไปสู่การตั้ง สสร.และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นเพียงเทคนิคที่พรรค ปชน.- พท.จะไปแก้ตัวกับประชาชนในการหาเสียงปี 2570 ว่า นโยบายแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ทำแล้ว แต่ไม่ผ่าน โดยโยนความผิดให้กับพรรคการเมืองที่เห็นต่างหรือ สว.ที่ไม่เห็นด้วย
ผลขององค์ประชุมล่มทั้งสองวัน มีนัยยะทางการเมืองหลายประการ โอกาสผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญค่อนข้างยาก แม้พรรคเพื่อไทยจะใช้เกมส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่โอกาสที่ศาลไม่รับวินิจฉัยค่อนข้างสูง ดังนั้น ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร แม้จะหยิบ ร่าง พรบ.ประชามติ มาปัดฝุ่นเมื่อพ้น 180 วัน แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้ยื้อไป ภายในรัฐบาลนี้ โอกาสที่จะผลักดันตั้ง สสร.เพื่อออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก เพราะตัวแปรหลักเป็นเทคนิค ลักไก่ ข้ามขั้นตอนเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ ปชน.-พท.โดยไม่ผ่านการจัดทำประชามติก่อน แม้นายวันมูหะหมัด นอร์มะทา ประธานรัฐสภา มีอำนาจสั่งบรรจุเป็นวาระ แต่ไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ที่ว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้”แต่จะผ่านความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภา เป็นคนละขั้นตอนกัน