'สว.พันธุ์ใหม่' ยำ 'ยุติธรรม' มอบสิทธิการรักษาผู้ต้องขังทุกคนเท่าเทียม จะได้ไม่มี 'เทวดา-สัมภเวสี'

4 มี.ค. 2568- ในการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาญัตติเรื่องขอเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. อภิปรายว่า คุกมีไว้ขังคนจนเป็นจริงหรือไม่ วิญญูชนย่อมรู้ดี และยิ่งไปกว่านั้นความเหลื่อมล้ำในการเข้ารักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง ก็ยิ่งแตกต่างกันเหมือนอยู่กันคนละพิภพ ถ้ามีเงินมีอำนาจก็จะได้อัพเกรดเป็นเทวดาจุติมาที่วิมานชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ส่วนคนจนไม่มีอำนาจก็เป็นสัมภเวสีรอรับการรักษาอยู่แถวหน้าห้องพยาบาลในเรือนจำ ไม่ว่าจะป่วยหนักขนาดไหน ก็ห้ามออกไปรักษาที่ไหน ถ้าตายก็ต้องในตายเรือนจำ นี่หรือคือความยุติธรรมต่อผู้ต้องขังในสังคมไทย ซึ่งสาเหตุที่ต้องเสียชีวิตลงคือความล่าช้าของการรักษาพยาบาลและไม่มีโอกาสเข้าถึงแพทย์ ยา และโรงพยาบาล แค่โรงพยาบาลในเรือนจำยังไม่มีโอกาสเข้าถึง ทั้งกรณีของนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ที่ใช้เวลากว่า 1 เดือน และ 3 วัน นายอำพล ถึงได้พบแพทย์ ถ้าได้ส่งตัวรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง เหมือนส่งเทวดาไปชั้น 14 นายอำพลจะรอดหรือไม่ หรือกรณีของน.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ที่มีคำถามคือหากจะช่วยชีวิตของน.ส.เนติพร ทำไมไม่นำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้เรือนจำ ซึ่งหากส่งไปที่โรงพยาบาลตำรวจการฟื้นชีพอาจจะสำเร็จ หรือโรงพยาบาลตำรวจมีไว้ให้เทวดารักษาตัวเท่านั้น อาการโคม่าขนาดนี้ยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ไปรักษาในโรงพยาบาลภายนอกจนเสียชีวิตในที่สุด เป็นการเหลื่อมล้ำหรือไม่

น.ส.นันทนา กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีนายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักกิจกรรม ได้ทำการอดอาหารประท้วงมาเป็นเวลา 12 วันแล้ว ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้รับการประกันตัว ตอนนี้นายสิรภพ ถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะอาการเล็บเริ่มคล้ำ ผื่นขึ้น และไม่มีแรง ขออย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย อย่าให้เขาเสียชีวิต

“การเข้าถึงหมอในเรือนจำเป็นเรื่องที่ยากพอๆกับการได้ประกันตัว ขั้นตอนการพบหมอ และลงชื่อเข้าคิวพบหมอก่อน 8 โมง รอคิว 1-2 วัน โควตาหมอตรวจ 1 ต่อ 20 มีหมอ 2 คนตรวจครบโควตาเริ่มใหม่พรุ่งนี้ สภาพภายในโรงพยาบาลราชทัณฑ์แออัด ห้องละ 30 เตียง โอกาสพบหมอพยาบาลน้อย คนไข้ดูแลกันเองแล้วก็ติดไข้กันเอง เจ้าหน้าที่ไม่มาดูแลคนป่วย บางครั้งผู้ต้องขังต้องนอนอยู่กับคนป่วยที่ตายแล้ว จนถึงเช้ารอผู้คุมมาจึงจะเคลื่อนย้ายศพออกไปได้ นี่คือความทุกข์ที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติกับผู้ต้องขัง“ น.ส.นันทนา กล่าว

น.ส.นันทนา กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ต้องขังจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่พึงได้รับตามสิทธิ์แห่งการเป็นมนุษย์ โดยในประเทศไทยปี 2563 ได้ออกกฎกระทรวงเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำที่สรุปได้ว่า ถ้าผู้ต้องขังมีอาการป่วยให้ส่งตัวไปรักษาในสถานพยาบาลของเรือนจำโดยเร็ว หากไม่สามารถรักษาได้ผู้บังคับบัญชาเรือนจำมีอำนาจอนุญาตส่งตัวรักษานอกเรือนจำได้และถ้ามีเหตุจำเป็นสามารถส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้มีขึ้นเพื่อรักษาชีวิตของผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เราไม่คาดหวังว่าให้ผู้ต้องขังทุกคนต้องได้รับการรักษาที่ชั้น 14 ขอเพียงให้เขาเหล่านั้นได้เข้าถึงการรักษา ตามสิทธิ์แห่งความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันเท่านั้น จึงฝากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้มอบสิทธิ์แห่งการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ จะต้องไม่มีเทวดาหรือสัมภเวสีอีกต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีเอสไอ บุกจับ 'ชวนหลิง จาง' คาโรงแรมหรู คดีนอมินีบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ

จากกรณี พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีนอมินี หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย)

DSI เผย พร้อมสอบปากคำ 51 วิศวกร ปมมีชื่อเกี่ยวข้องคุมงานก่อสร้างตึก สตง.

โฆษกดีเอสไอ เผย พร้อมสอบปากคำ 51 วิศวกร ปมมีชื่อเกี่ยวข้องคุมงานก่อสร้างตึก สตง. หลังก่อนหน้านี้ “ชัยฤทธิ์” - “สมเกียรติ” 2 วิศวกรเข้าแสดงตนปฏิเสธไม่เกี่ยวข้อง ขณะที่สัปดาห์หน้า เชิญ “บ.อิตาเลียนไทย“ - ”พิมล เจริญยิ่ง“ วิศวกรอายุ 85 ปี เข้าให้ข้อมูล หลังเลื่อนนัดพบพนักงานสอบสวน

'นายกฯอิ๊งค์' ไล่บี้ 'ตร.-DSI' ฟันคดีตึกถล่ม ใกล้ออกหมายจับคนผิด

นายกฯ เรียก ‘ตำรวจ-ดีเอสไอ’ แจงความคืบหน้าเหตุตึก สตง.ถล่ม แย้มใกล้ออกหมายจับคนผิดแล้ว จี้หน่วยงานเร่งส่งหลักฐานให้ ตร. ขอประชาชนมั่นใจรัฐบาลไม่ปล่อยแน่นอน

พบชื่อวิศวกร 51 ราย คุมงานตึก สตง.ถล่ม หลังดีเอสไอตรวจยึดหลักฐาน

กรณีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอศาลอาญา รัชดาภิเษก ออกหมายค้นพื้นที่เป้าหมาย 4 จุด ได้แก่ 1.สำนักงานใหญ่ของนายบินลิง วู 2.บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด 3.บริษัท