“ก๊าซเรือนกระจก” แก้เท่าไหร่ก็ไม่จบสิ้นจริงหรือ ?

เป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ไม่แน่ใจนัก ที่จู่ๆ ในรอบเดือนที่ผ่านมา ผู้นำประเทศสองประเทศพูดถึง “ก๊าซเรือนกระจก” ในระยะเวลาใกล้ๆ กันแบบไม่ได้นัดหมาย ประเทศแรกคือ นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งนิวซีแลนด์ ดันกฎหมายเก็บภาษีมลพิษจากปศุสัตว์สำเร็จเป็นที่แรกของโลก โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นิวซีแลนด์มีประชากรแกะ 26 ล้านตัว วัว 10 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า ผลสำรวจพบว่า มูลที่สัตว์ปล่อยออกมา รวมถึงทุกๆ การ "เรอ" และการ "ตด" ของวัวและแกะในนิวซีแลนด์ สามาถทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และได้ส่งผลกระทบไปยังปัญหา Climate change หรือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วย

ถัดมาไม่นาน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ย้ำทุกหน่วยงานว่าต้องเตรียมความพร้อมที่จะเติบโตด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทั้งเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับอุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน เพื่อให้เป็นไปตามที่ประเทศไทยได้ประกาศกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ในการประชุมสุดยอดผู้นำเวทีโลกใน COP26 โดยมีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)

ปัญหา “ก๊าซเรือนกระจก” ไม่เคยถูกลืม และเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศหลายๆ ประเทศตระหนักอยู่เสมอ เพียงแต่วิธีการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันออกไป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้นำในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานของประเทศ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ จึงขอพาท่านสำรวจตรวจสอบปัญหา “ก๊าซเรือนกระจก” ในประเทศไทย ว่าหนักหน่วงมากเพียงใด แล้วเราจะมีส่วนช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง

ทำความเข้าใจกับก๊าซเรือนกระจกอีกครั้ง

จริงๆ ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas : GHGs) ไม่ใช่ของใหม่ มันเป็นก๊าซที่มีอยู่บนโลกใบนี้มานับล้านๆ ปี เพียงแต่ ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ปริมาณของมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมจวบจนปัจจุบัน ก๊าซเรือนกระจกกำลังส่งผลโดยตรงต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรง โดยก๊าซเรือนกระจกนี้ เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติในการกักเก็บและดูดซับคลื่นรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์เอาไว้ ดังนั้นก๊าซเหล่านี้ถ้ามีในปริมาณที่พอเหมาะ จะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกเป็นอย่างมาก โดยในภาวะปกติดวงอาทิตย์จะแผ่รังสีเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกในลักษณะของรังสีคลื่นสั้นและสะท้อนกลับขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศในลักษณะของรังสีคลื่นยาว หรือรังสีอินฟราเรด พลังงานความร้อนบางส่วนจะถูกก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ดูดซับไว้ ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกอยู่ในระดับที่พอเหมาะสำหรับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้  ต่างจากดาวศุกร์ที่มีก๊าซเรือนกระจกหนาแน่นมากจนทำให้มีอุณหภูมิร้อนเกินไปและมนุษย์อาศัยอยู่ไม่ได้ แล้วเราจะปล่อยให้โลกของเราเป็นแบบดาวศุกร์หรือ ?

ปัจจุบันก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลกมีปริมาณมากเกินไป จนทำให้โลกร้อนขึ้น และเกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) นั่นเอง โดยก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นได้จาก 2 ส่วน คือ (1) เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และ (2) เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การขุดพลังงานฟอสซิล อย่างน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติมาใช้ ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และสร้างที่อยู่อาศัย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คาร์บอนที่สะสมอยู่ในเนื้อไม้ ในราก ในดิน ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วย

สำหรับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มีทั้ง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ก๊าซไนโตรเจน ไตรฟลูออไรด์ ไอน้ำ โอโซน และ สารซีเอฟซี ซึ่งจากสถานการณ์ที่มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากเกินไปนี้เอง จึงได้เกิดข้อตกลงการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยความร่วมมือของหลายหน่วยงานในระดับโลก

ในประเทศไทย ปัญหาของก๊าซเรือนกระจกก็ใกล้เคียงกับที่อื่นๆ โดยก๊าซส่วนใหญ่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ภาคการเกษตรเป็นรอง และระดับครัวเรือนตามมาเป็นอันดับสาม การแก้ไขปัญหานี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งระดับมหภาคจากรัฐบาลเป็นแกนนำ และระดับจุลภาคหรือระดับครัวเรือนเป็นตัวเสริม ในระดับมหภาคนั้น รัฐบาลไทยได้ปรับโครงสร้างพลังงาน ลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงขยายแนวคิดการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เป็นพลังงานทดแทนในทุกภาคส่วน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย รวมทั้งเรื่องของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ซึ่งรัฐบาลกำหนดแผนที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ในประเทศในปี 2573

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังส่งเสริมการปลูกและเพิ่มพื้นที่ป่า และการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอน เป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยรัฐบาลมีแผนในการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในประเทศ จากร้อยละ 31.8 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2579 เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

ในระดับครัวเรือน เราสามารถเริ่มต้นที่ตัวเรา โดยลดความอยากให้น้อยลง อย่าอยากกินของไกลเกินตัวที่ต้องนำเข้าหรือขนส่งในระยะทางไกล มันสิ้นเปลื้องน้ำมัน อย่าอยากกินเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะเราจะกลายเป็นผู้ร่วมมือปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และอย่าอยากใช้ของใหม่ตลอดเวลา ยิ่งในสภาวะที่น้ำมันแพงและข้าวของแพงด้วยแล้ว ใช้เท่าที่มีจะทำให้เราเป็นกำลังสำคัญในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างจริงจัง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เอ็กซ์เผิง’ยกทัพโชว์นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า-เทคโนโลยีสุดล้ำ! ที่งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45

ภายในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มีนาคม - 7 เมษายน 2567 นี้มีหลายค่ายรถยนต์ขนทัพสินค้าและนวัตกรรมใหม่ ๆ

พปชร. เดินหน้าเสนอร่างพรบ.ลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต เข้าสภาฯ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เตรียมที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิตพ

'พีระพันธุ์' สั่งการ ปตท. เร่งแก้ปัญหาปั๊มน้ำมัน จ่ายน้ำมันให้ผู้ใช้บริการไม่เต็มลิตร

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga” ระบุว่า เมื่อวานบ่ายๆ ผมได้รับรายงานเรื่องปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งจ่าย