‘21 ปี พอช.’ (5) ก้าวย่างต่อไป และเสียงสะท้อนจากมวลมิตร

อ.ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  (ยืนกลางเสื้อขาว) ผู้ที่เชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงที่มาจากพลังชุมชนและเป็นหลักการทำงานที่พอช.และขบวนองค์กรชุมชนยึดเป็นแนวทางมาตลอด

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชนหรือ พอช.’ เป็นรูปหน่วยงานรัฐรูปแบบใหม่  สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543  มีภารกิจสนับสนุนและส่งเสริมองค์กรชุมชน  เครือข่ายองค์กรชุมชน  ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เช่น  โครงการบ้านมั่นคง  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร 

การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนเมืองและชนบท  ส่งเสริมอาชีพ  การจัดสวัสดิการชุมชน  สภาองค์กรชุมชน  การดูแลสิ่งแวดล้อม  การจัดการภัยพิบัติ  ฯลฯ 

ภารกิจต่างๆ ดังกล่าวนี้  พอช.มิได้เป็นฝ่ายดำเนินเองทั้งหมด  แต่ พอช.มีบทบาทเป็นฝ่ายสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนและเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนลุกขึ้นมา จัดการกับปัญหา’  ด้วยความตื่นรู้  มิใช่ตื่นตระหนก  และมิใช่จะดำเนินการลำพังเพียงชุมชนใดชุมชนหนึ่ง  แต่ยังชักชวนพี่น้องชุมชนอื่นๆ  ให้มาร่วมมือกันในลักษณะเป็นเครือข่ายหรือขบวน  เพื่อสร้าง พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง

ดังเช่น  สถานการณ์วิกฤตโควิด-19  ตั้งแต่ต้นปี 2563  ด้วยการรวมพลังของสมาชิกกองทุนสวัสดิชุมชน  สภาองค์กรชุมชน  ร่วมกันตัดเย็บหน้ากากผ้าอนามัยป้องกันการติดเชื้อแจกจ่ายพี่น้องประชาชนทั่วประเทศกว่า 1 ล้านชิ้น  และร่วมกับ    อสม.  รพ.สต.  ตรวจคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยง  แจกจ่ายอาหารและสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ล่วงมาถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในปี 2564  พลังองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่ายยังร่วมกันป้องกันการแพร่เชื้อ  โดยร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  จัดตรวจคัดกรองโควิดให้แก่ชาวชุมชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล  รวม  44 จุด  มีผู้เข้ารับบริการกว่า 34,000 คน

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผอ.พอช. (ยืนกลาง) กับทีมแพทย์ชนบทเปิดจุดตรวจโควิดที่ พอช.เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังจัดตั้ง Community Isolation  (CI) หรือ ศูนย์พักคอยชุมชน’  เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิดที่ยังมีอาการไม่รุนแรง  เป็นการแบ่งเบาภาระของระบบสาธารณสุขในภาวะที่เตียงล้นและบุคลากรทางการแพทย์มีงานเต็มมือ  โดยขณะนี้ พอช.สนับสนุนการจัดตั้ง CI ในชุมชนต่างๆ  ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดแล้วกว่า 10 แห่ง

แม้แต่สถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้  ตั้งแต่ภาคเหนือ  อีสาน  กลางและตะวันตก  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนและ พอช.ได้ส่งมอบสิ่งของจำเป็น  อาหาร  น้ำดื่ม  เพื่อบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้าให้แก่ประชาชนที่เดือดร้อน   จนเมื่อน้ำลดนั่นแหละ  จึงจะเริ่มสำรวจข้อมูลความเดือดร้อนของชุมชน  เพื่อฟื้นฟูบ้านเรือน  ชุมชน  และความเป็นอยู่ของพี่น้องให้กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม

เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน จ.สิงห์บุรี  ช่วยประชาชนในช่วงน้ำท่วมเมื่อเร็วๆ นี้

ที่สำคัญก็คือ  ภารกิจต่างๆ เหล่านี้   ทั้งในยามวิกฤตและในยามภาวะปกติ  พอช.และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนมิได้ก้าวเดินเพียงลำพัง  แต่ยังร่วมขบวนไปกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ  ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ  สถาบันการศึกษา  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   หน่วยงานด้านสังคม  เช่น  คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาคประชาสังคม  เช่น  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  เครือข่ายสลัมสี่ภาค  กลุ่มคนไร้บ้าน  รวมทั้งภาคธุรกิจเอกชน 

เป้าหมายก็คือ ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย”  เพราะชุมชนท้องถิ่นคือฐานรากของประเทศ  ดังที่ นพ.ประเวศ  วะสี  ปราชญ์ของสังคมไทย  กล่าวเอาไว้ว่า  การพัฒนาประเทศต้องเริ่มจากฐานราก  เหมือนการสร้างพระเจดีย์  ต้องสร้างจากฐาน  พระเจดีย์จึงจะมั่นคง

ก้าวย่างต่อไป....ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

หากจะว่าไปแล้ว  บทบาทของ พอช. ทั้งในช่วงที่ผ่านมาและปัจจุบัน  จนย่างเข้าสู่ปีที่ 21  ในวันนี้  คงจะเหมือนดังคำของ ไมตรี  อินทุสุต’ ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ที่กล่าวเอาไว้ว่า 

พอช.เราไปสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  โดยกระบวนการชุมชน  ให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน  และแสดงความเป็นเจ้าของที่รับผิดชอบร่วมกัน  วันนี้คน พอช.ไปหนุนเสริมให้เกิดพลังแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่  แล้วก็ถอยกลับเมื่อชาวบ้านเกิดความเข้มแข็ง  เกิดความยั่งยืน  และสุดท้ายเกิดเป็นความมั่นคงของมนุษย์

ขณะเดียวกันสังคมโลกได้ก้าวสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว  ทำให้เกิดสภาวะ ‘disruption’ คือความผันผวน (หรือพลิกผันปั่นป่วน) ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม  เช่น  การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ประโยชน์  ทดแทนเทคโนโลยีเก่าๆ  เช่น  นำระบบ IoT (Internet of Things) มาใช้ในการควบคุมแปลงเกษตร  วัดความชื้น  รดน้ำ  ใส่ปุ๋ย ใช้โดรนบินพ่นยา   ฯลฯ  โดยควบคุมระบบต่างๆ ผ่าน  Internet  หรือโทรศัพท์มือถือ  ทำให้ประหยัดเวลา  ลดแรงงานและต้นทุนการผลิต

แต่ในอีกด้านหนึ่งเทคโนโลยีอันทันสมัยก็จะส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้คนเช่นกัน  เช่น  เกษตรกรที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี  ทำให้ต้นทุนการผลิตยังสูง  พนักงานธนาคาร  บริษัทต่างๆ ที่ต้องตกงานเพราะการนำเอา ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI (Artificial Intelligence) มาใช้แทนมนุษย์  สื่อและธุรกิจสิ่งพิมพ์กำลังจะสูญหายไป  เพราะมีสื่อออนไลน์มาแทน    พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมลดจำนวนลง  เพราะมีหุ่นยนต์มาแทนที่   และไม่เว้นแม้แต่องค์กรที่ทำงานด้านสังคม  เช่น  พอช.

จันทนา  เบญจทรัพย์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า  จากจุดเริ่มต้นการก่อตั้ง พอช.เมื่อ 21 ปีที่ผ่านมา  จนถึงวันนี้ พอช.กำลังก้าวสู่ปีที่ 22  นับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่าน (Transform) ที่สำคัญ  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ พอช.ควรต้องปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากฐานรากให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ได้วางไว้

เป็นที่ทราบกันดีว่า  โลกและสังคมในอนาคตจะมีความผันผวน  เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  จำเป็นที่ พอช.ต้องมีการคาดการณ์อนาคต (Foresight)  โดยการใช้ข้อมูลและความรู้ในการออกแบบกลยุทธ์  รวมถึงค้นหาวิธีการทำงานพัฒนาแนวใหม่อยู่ตลอดเวลา  ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ยังเป็นปัจจัยเร่งที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง  ดังนั้นการเตรียมการเพื่อรองรับชุมชนในวิถีใหม่ (New Normal Community)  และการฟื้นฟูชุมชนภายหลังจากวิกฤตโควิด-19 นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของ พอช.”

ทั้งนี้จากบทเรียนการสนับสนุนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นช่วงที่ผ่านมา  กล่าวได้ว่า  องค์กรชุมชนและเครือข่ายได้มีการเชื่อมโยงกับหน่วยงาน  ภาคีต่างๆ ขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง  ต่อมาเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  หลายพื้นที่ได้ลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาทั้งในเชิงการป้องกัน  การลดปัญหาและผลกระทบ  การดูแล  ช่วยเหลือ  แบ่งปันกันในชุมชนท้องถิ่น  เป็นระบบการคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมไทยที่มีความพร้อมและสามารถปรับตัว (Resilience)  เพื่อรองรับสถานการณ์ปัญหาที่อาจส่งผลกระทบกับชุมชนท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็วและเท่าทัน

ดังนั้นการยกระดับความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติการ (Practical  Knowledge) งานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นผ่านกลไกร่วมในเชิงพื้นที่ที่หลากหลายและยาวนานกว่า ทศวรรษของ พอชเป็นงานเชิงวิชาการเพื่อการขับเคลื่อนสังคมอย่างมีทิศทางและมีพลัง  จึงนับเป็นความท้าทายขององค์กร พอช.ในระยะต่อไป  จันทนาบอกถึงทิศทางของ พอช.ในช่วงต่อไป

เสียงสะท้อนจากมวลมิตร

 ปรีดา  คงแป้น  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะที่เคยทำงานใกล้ชิดกับ พอช.มานาน  เล่าย้อนถึงการก่อเกิด พอช.ว่า  ‘พอช.’ ตั้งขึ้นโดยต่อยอดยกระดับจากสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง  (พชม.)  ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นจากการผลักดันของคนจนในเมือง  ในการเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาและพัฒนาที่ดินและที่อยู่อาศัยของคนจนในเมือง โดยรัฐบาลในยุคนั้น  (ท่านอานันท์  ปันยารชุน ) อนุมัติงบประมาณจำนวน  1,250 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนจนในเมืองผ่านการเคหะแห่งชาติ   ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้จัดตั้ง สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง’ ขึ้นมาบริหารกองทุนดังกล่าว โดยมีตัวแทนจากชุมชนแออัดเข้ามาเป็นกรรมการทุกระดับ  ร่วมกับผู้แทนของภาคีพัฒนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน     นับเป็นมิติสำคัญของการพัฒนาชุมชนแออัดซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  เพราะชาวบ้านได้เปลี่ยนสถานะจากผู้ถูกขับไล่อย่างไม่มีทางเลือกมากนักมาเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง

จากบทเรียนนี้ถูกนำมาพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในเมืองและชนบท  โดยการร่วมกันผลักดันให้เกิดสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ด้วยการรวมกองทุนเมืองและชนบทเข้าด้วยกัน  และจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน  ตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ. 2542 

ผู้มีบทบาทสำคัญที่ร่วมกับองค์กรชุมชนและหน่วยงานต่างๆ คือ อาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม   และ นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา

หัวใจสำคัญในการทำงานของ พอช. คือเคารพบทบาทขององค์กรชุมชนเป็นหลัก สร้างความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  มีความเป็นอิสระ   และความคล่องตัวในการทำงานเพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางเข้าถึงการพัฒนาของ พอช.ได้มากขึ้น  โดย พอช.ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนและประชาสังคม  เพื่อทำให้ชุมชนฐานรากมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้แล้ว รวมทั้งสอดคล้องกับสิทธิตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรม 

ในวาระที่ครบ 21 ปีของ พอช. หวังว่า พอช.จะยึดมั่นในอุดมการณ์ดังกล่าวไว้ตลอดไป”  ปรีดากล่าว

 พี่น้องจากคลองเตย

 ประไพ  สานุสันต์   ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย  ผู้ที่ทำงานคลุกคลีกับพี่น้องในชุมชนคลองเตยมายาวนาน  โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา  จนถึงขั้นล้มป่วย  แต่ยังเข้มแข็ง  เล่าเสริมต่อจากปรีดา  คงแป้นว่า

จากสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.)   สู่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (พอช.)  พ.ศ.2543-2564  และยังคงก้าวย่างการเดินทางด้วยอุดมการณ์   ทำงานร่วมกับเพื่อน  พี่น้อง  ประชาชน  กลุ่มฐานรากทั่วประเทศ  ไม่ใช่เพียงร่วมสร้างบ้านมั่นคงให้กับประชาชนผู้ยากไร้   แต่ยังร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้   การทำงาน   ที่พี่น้องร่วมช่วยเหลือกัน   ในห้องเรียนธรรมชาติ     ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมคิด  ร่วมทำ  ร่วมรับผิดชอบ  ร่วมรับผลประโยชน์   และไม่เพียงสร้างสัมพันธภาพคนทำงานในชุมชน  เครือข่าย   ความมั่นคงยั่งยืนในที่อยู่อาศัย   การศึกษา  เศรษฐกิจ  อาชีพ  ฯลฯ   เพื่อตนเองเท่านั้น   ทุกคนมองไกลให้ลูกหลาน ได้เรียนรู้   ร่วมทำงาน   สั่งสมประสบการณ์   เดินทางต่อ   และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นก่อน

 

ถ้าพูดถึง  พอช.   การทำงานแรกเริ่มก็จะนึกถึงโครงการบ้านมั่นคง   แรกเริ่มย้อนไป 21 ปี   หรือย้อนไปมากกว่านั้นสมัย พชม.   เราเรียกขาน เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ว่า “พี่”   จะมีน้องๆ  บ้าง   ไม่น่าเชื่อว่าปัจจุบัน   เรากลับถูกเรียกขานว่า “พี่  ป้า”   ทำให้คิดว่าเวลาผ่านไวจัง   แต่ความรู้สึกเก่า   ความเป็นพี่น้อง   สัมพันธภาพไม่เสื่อมคลาย  จะต่างสมัยที่ว่า  พี่น้องรุ่นก่อน  ประชุม   คุยกันก็เขียนบนกระดาษปรู๊ฟ   เจ้าหน้าที่ก็ใหม่กับโครงการ   มาเรียนรู้ลองผิดลองถูกด้วยกัน   และก็ลงมือทำ  ปรับแก้ไขไปตามหน้างาน   แต่ยุคปัจจุบันเทคโนโลยีสูง   น้องๆ  พอช.  สามารถเป็นกำลังหนุนเสริมด้านเอกสาร  ข้อมูล  เอื้ออำนวยความสะดวกกับป้าๆ  ได้มากค่ะ

ในอดีต  ยามศึกเรารบ  ยามสงบเราพัฒนา     เพื่อนพี่น้องต่างชุมชน  ต่างเขต   ต่างจังหวัด  เดือดร้อน  ต้องการแรงหนุนเสริม  เราก็ไปช่วยเหลือกัน   เวลาไม่มีเหตุกระตุ้นเร้าใจ  เราก็พัฒนาตนเอง  พัฒนาชุมชน  เสริมศักยภาพคนทำงาน  นี่แหละครอบครัว พอช.”  ประไพสตรีเหล็กแห่งคลองเตยบอก

ต้องเชื่อมประสาน จตุพลัง’ ให้เป็นจริง

กรรณิการ์  บรรเทิงจิตร  ผู้จัดการสำนักงานประสานการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.)  บอกว่าจุดเด่นของ พอช.  คือความสามารถในการทำงานกับชุมชน   จัดกระบวนการทำงานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตกับเครือข่ายชุมชน  และสานพลังกันเองกับชุมชนได้ดีเยี่ยม

แต่ในทศวรรษนี้  มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  บทบาทของ พอช.ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกาล โดย 1.การเสริมแรงวิธีคิดใหม่ให้กับทีมงานและขบวนชุมชน ในความกล้าหาญปรับเปลี่ยนองค์กร มีแนวคิดการทำงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นเสริมคนใหม่ๆ เข้ามาร่วมกระบวนการ เป็นการเตรียมรองรับสังคมสูงวัยของ พอช.

2.เสริมความสามารถของทีมงานและขบวนชุมชน ในการทำและใช้ข้อมูลจริง ข้อมูลปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ข้อมูลมาเสริมแรงให้กระบวนการทำงานมีน้ำหนักเข้มข้นขึ้น  สามารถใช้อ้างอิงและมีความเป็นวิชาการมากขึ้น

และ 3.การเพิ่มความใส่ใจในการเชื่อมประสานการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ  ภาคธุรกิจเอกชน  และภาคีเครือข่ายอื่นในทุกระดับ  เป็นการใช้ ‘จตุพลัง’ ในชุมชนให้เป็นจริง

ขอให้กำลังใจทีมงาน พอช.ในการสร้างสรรค์สังคมไทยต่อไป !!”  กรรณิการ์ส่งกำลังใจ

พอชในอีก 10 ปีข้างหน้า

.เดชรัต  สุขกำเนิด   ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต  บอกว่า พอช. เป็นองค์กรที่พยายามสร้างนวัตกรรมทางสังคม และการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ พอช.จำเป็นต้องปรับตัวอยู่เสมอ  และในอีก 10 ปีข้างหน้าที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย สังคมดิจิทัล สังคมเมือง และสังคมประชาธิปไตยเต็มรูป  พอช.คงต้องพยายามสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้อง

(ก) การต่อยอดระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

(ข) การสร้างและพัฒนาภาคประชาสังคมในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับสังคมเมือง และสังคมดิจิทัล รวมถึงการเพิ่มบทบาทโดยตรงของภาคพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย

และ (ค) การเข้าถึงที่อยู่อาศัย  ที่ทำกิน และอาหารสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมือง  ด้วยรูปแบบการลงทุนแบบใหม่ที่จะตอบโจทย์ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และความมั่นคงทางอาหารในสังคมเมืองยุคใหม่

สังคมไทยกับทาง 4 แพร่ง

รศ. ดร.บัวพันธ์  พรหมพักพิง  ผู้อำนวยการศูนย์​ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณ​ประโยชน์ (ศปส.)​ คณะมนุษย​ศาสตร์​และสังคมศาสตร์​  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวว่า  พอช. รับไม้ต่อภารกิจในการสนับสนุนขบวนของประชาชนให้ก้าวเดินมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว  งานแบบนี้เริ่มมาก่อน พอช. กว่า 3 ทศวรรษ  ก่อนปี พ.ศ. 2540  (ความจริงแล้ว  ขบวนของประชาชนก้าวเดินมาอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้นแล้ว) ในช่วง 21 ปี พอช. มีส่วนในการ รดน้ำ-พรวนดิน” ให้ขบวนประชาชนได้เติบโตก้าวไปข้างหน้าและเป็นสิ่งที่ควรได้รับการยกย่อง

หากมองย้อนกลับไปข้างหลัง   เราจะพบความจริงข้อหนึ่งก็คือ ที่ พอช. สามารถก้าวมาถึงวันนี้ได้  ก็เนื่องด้วยอาศัยพลังของราชการ  ผสานกับพลังของขบวนประชาชน  

และหากมองไปข้างหน้า  ผมเป็นห่วงและกังวลว่า  ราชการจะแสดงบทบาทเป็นกลไก  เครื่องมือในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นผู้นำเป็นหลัก  ที่สำคัญคือ  ผมกังวลว่าราชการจะขยายพลังเข้ามาครอบงำ พอช. ให้สนองตอบต่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำมากกว่าการเกื้อหนุนขบวนประชาชน

แม้ว่า พอช. จะหนุนเนื่องขบวนประชาชนให้ก้าวหน้ามาไกลมากแล้ว  แต่อนาคตข้างหน้าท้าทายยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมา  เพราะว่าในปัจจุบันสังคมเราได้ก้าวเข้าไปสู่ทาง 4 แพร่ง

1.สถานการณ์ปัจจุบันมีความเสี่ยง  ความท้าทายและผลกระทบที่สูงยิ่ง  2.มีความไม่แน่นอนในทุกๆ ด้าน   3.ความเสี่ยงเหล่านี้และความไม่แน่นอนเหล่านี้  เรียกร้องและต้องการการตอบสนองอย่างเร่งด่วน  

นอกจากนั้น  4.สังคมเราก้าวเข้าไปสู่ความขัดแย้งในเชิงคุณค่า  ความไม่ลงรอยกันว่า  เราจะจัดการกับสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าเราอย่างไร   หากเราไม่สามารถจัดการได้   จะก่อผลกระทบอย่างกว้างขวาง   และอาจจะทำให้เราต้องกลับไปเริ่มต้นจากสภาวะเดียวกับที่เราเผชิญเมื่อ 6 ทศวรรษที่แล้ว

แม้จะเผชิญภาวะแบบนี้  ผมยังเชื่อมั่นว่า พอช. จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันกงล้อขบวนประชาชนให้ก้าวไปข้างหน้า  !!”  รศ.ดร.บัวพันธ์ย้ำ

พอช.หน่วยงานของรัฐ  เครื่องมือของประชาชน

ประนอม  เชิมชัยภูมิ  ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงราย  บอกว่า  พอช. ก้าวเข้าสู่ปีที่  21 ในปีนี้   นับได้ว่าเป็นหน่วยงานของภาครัฐที่มีบทบาทและความสำคัญยิ่งต่อกระบวนการพัฒนาสังคมชุมชน  พอช.ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ  เอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับบทบาทของ พอช. ก็คือ การดำรงอยู่ภายใต้หลักปรัชญาความเชื่อ  หน่วยงานของรัฐ  และเครื่องมือของประชาชนนั้น จะสามารถโต้กระแสคลื่นลม  ระบอบราชการเป็นรวมศูนย์ได้อย่างไร  โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ พอช. กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้  ดังนั้นจึงมีข้อเสนอกับสถานะและการดำรงอยู่ของ พอช. ดังต่อไปนี้

1.พอช.ต้องดำรงความเป็นองค์กรของรัฐ  และเครื่องมือของประชาชนไว้อย่างเหนียวแน่น  โดยมีเหตุผลสำคัญ คือ เพื่อสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน  ด้วยการสนับสนุนทั้งงบประมาณ  และองค์ความรู้ให้กับองค์กรชุมชน

2.มีการปรับเปลี่ยนระบบการสนับสนุนงบประมาณให้กับองค์กรชุมชน  เป็นลักษณะเชิงบูรณาการที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชุมชนให้มากขึ้น  แทนการสนับสนุนงบประมาณแบบเป็นแท่ง ๆ ตามรูปแบบของ พอช.ที่มีอยู่  โดยการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งเป็นหลัก

3.พอช. ต้องเน้นการบริหาร  โดยมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง  ความหมายคือ  สนับสนุนให้กลไกของ พอช.ในระดับภูมิภาค  มีอำนาจในการตัดสินใจในการอนุมัติโครงการและงบประมาณให้มากขึ้น  และที่สำคัญกลไกการดำเนินงานในระดับภูมิภาคต้องเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนให้มากที่สุด

4.เจ้าหน้าที่ พอช. จะต้องทำหน้าที่ในการประสานงาน  เชื่อมโยงการทำงานขององค์กรชุมชนกับหน่วยงานภาคีต่างๆ อย่างกว้างขวาง   เพื่อสร้างโมเดลการทำงานเชิงบูรณาการให้กับหน่วยงานราชการอื่น ๆ ได้เรียนรู้ที่ชัดเจน

5.พอช. ต้องให้การสนับสนุนงบประมาณกับสภาองค์กรชุมชนทุกแห่งที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551  เนื่องจากสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกขององค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาของชุมชนที่ชัดเจน  และในสถานการณ์ปัจจุบัน  สภาองค์กรชุมชนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานราชการอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยสังเกตได้จากการที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนของสภาองค์กรชุมชนเข้าไปมีบทบาทกับกลไกการทำงานของคณะกรรมการที่หน่วยงานราชการจัดตั้งขึ้นอย่างมากมาย  เช่น  คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) และอื่น ๆ  อีกมากมาย  ดังนั้นการสนับสนุนงบประมาณที่ต่อเนื่องและพอเพียงต่อการขับเคลื่อนงานของสภาองค์กรชุมชน  จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

จากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย  หากกลไกการทำงานของพอชในระดับต่าง ๆ ไม่เปิดโอกาสให้ผู้แทนองค์กรชุมชนเข้าไปมีบทบาท  มีส่วนร่วมในกระบวนการการปฏิรูปองค์กรอย่างจริงจัง  และคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด พอช.จะต้องมีความกล้าหาญในการประกาศตนเองว่า  เป็นหน่วยงานภาครัฐ เป็นเครื่องมือของประชาชน

ข้อเสนอข้อสุดท้ายจึงเห็นว่า  สมควรให้มีการจัดตั้งสำนักงานประสานงานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในทุกจังหวัดอย่างเปิดเผย และมีการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่องดังเช่นสำนักงานประจำภูมิภาคในปัจจุบัน”  ประนอมย้ำ

แง่คิดจากอดีต ผอ.พอช.

พลากร  วงค์กองแก้ว  อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ให้แง่คิดว่า  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ นับว่าเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นเส้นเชื่อมของคนฐานล่างให้ข้ามเข้ามาสู่การขับเคลื่อนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า  เกิดเป็นระบบใหม่ที่ก้าวหน้ามากที่สุดในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

การยึดโยงเครือข่ายของชุมชนท้องถิ่นทั่วทุกพื้นที่ของประเทศและทำให้เกิดกองทุนที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงการเป็นเจ้าของ  สร้างระบบการจัดการร่วมเพื่อสวัสดิการชุมชน   สร้างนโยบายให้ชุมชนมีสถานะเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย  สร้างความมั่นคงทางที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

แต่สถานการณ์ของโลกและประเทศได้เคลื่อนเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่  รวดเร็ว  ผันผวน  ซับซ้อน และไม่แน่นอน   พอช.จะปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง  การขยายเครือข่ายเพื่อนร่วมทางอย่างกว้างขวาง   การโอบรับคนรุ่นใหม่เข้ามาในขบวน  การแสวงหาเครื่องมือใหม่เข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์  ซึ่งในที่สุดแล้ว พอชจะยังเป็นองค์กรที่ร่วมกันนำพาอนาคตที่ดีกว่าไปสู่ชุมชนได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการปรับตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้   เพื่อให้ พอช.ยังคงทำหน้าที่เป็นเส้นเชื่อมคนฐานล่างให้มุ่งไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนท้องถิ่นในอนาคต”  อดีต ผอ.พอช.ตั้งคำถามที่แหลมคมทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้คือเสียงสะท้อนและคำแนะนำที่มีค่ายิ่งของเหล่ามวลมิตร..เพื่อก้าวเดินบนเส้นทางใหม่ๆ  แต่เป้าหมายไม่เปลี่ยนแปลง  นั่นคือ...ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

'วราวุธ' ชี้ปมน้องไนซ์เชื่อมจิต ส่งทีมประเมินสภาพจิตใจ ยึดพรบ.คุ้มครองเด็ก

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์กรณีความคืบหน้า กระทรวง พม. กับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ. ) ดำเนินการตรวจสอบเรื่องน้องไนซ์เชื่อมจิ

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

เช็กเงื่อนไข 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ผู้สูงอายุ รับเดือนละ 3 พัน

'รองโฆษกรัฐบาล' เผยเงื่อนไขคุณสมบัติ 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ผู้สูงอายุ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 3 พันบาท เริ่มยื่นเรื่องได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.

'กลุ่มผู้สูงวัย' จี้ 'วราวุธ' เพิ่มเบี้ยคนชรา 1,000 บาทถ้วนหน้าในปีนี้ จ่อบุกทำเนียบฯหลังสงกรานต์

กลุ่มเครือข่ายผู้สูงอายุประมาณ 35 คน นำโดย น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้เดินทางไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งแต่เวลา 10.00 น. โดยได้มีการชูป้ายเรียกร้องให้รัฐเห็นความสำคัญของการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ