กรมเชื้อเพลิงฯชวนเอกชนไทย-ต่างชาติยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เปิดกว้างให้เอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งที่ 24 เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และกำกับดูแลการดำเนินงานให้โปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เปิดกว้างให้เอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ โดยประชาสัมพันธ์ประกาศเชิญชวนฯ ไปยังบริษัทผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียมภายในประเทศ และสถานทูตต่างประเทศในประเทศไทย รวมทั้งขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงการต่างประเทศในการเผยแพร่ประกาศเชิญชวนไปยังสถานทูตไทยในประเทศต่าง ๆ เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนในประเทศต่าง ๆ ที่สนใจให้เข้ามาสำรวจละผลิตปิโตรเลียม เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนและพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศขึ้นมาใช้ประโยชน์รองรับความผันผวนด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานในขณะนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพร้อมให้บริการห้องศึกษาข้อมูล สำหรับผู้สนใจยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ครั้งที่ 24) ของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65, G2/65 และ G3/65 เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้บริษัทผู้ที่สนใจยื่นขอสิทธิฯ นำไปใช้ประกอบการศึกษาศักยภาพปิโตรเลียมในการกำหนดโครงการสำรวจปิโตรเลียม และจัดทำรายงานการศึกษาทางธรณีวิทยาสำหรับแปลงสำรวจที่จะยื่นขอ พร้อมแสดงให้เห็นศักยภาพโดยรวมของทั้ง 3 แปลงสำรวจ

"กระทรวงพลังงานได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 เปิดให้ผู้สนใจยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 บริเวณทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับแนวท่อก๊าซที่มีอยู่เดิมและอยู่ใกล้กับพื้นที่ผลิตหลัก ที่ปัจจุบันมีการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่อไปได้"

สำหรับเงื่อนไขการดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตครั้งนี้ มีระยะเวลาการสำรวจ 6 ปี และสามารถขอต่อระยะเวลาได้อีก 3 ปี ส่วนระยะเวลาผลิต กำหนดระยะเวลา 20 ปี โดยคุณสมบัติของผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้

1.) ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ต้องไม่เป็นบริษัทที่ทิ้งสัมปทาน หรือ ถูกเพิกถอนสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทย หรือมีรายชื่อบุคคลหรือนิติบุคคล ผู้ถือหุ้น หรือกรรมการและผู้มีอำนาจลงนาม อยู่ในรายชื่อผู้ทิ้งสัมปทาน

2.) ต้องมีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอในการสำรวจ ผลิต ขายและจำหน่ายปิโตรเลียม เช่น มีมูลค่าการถือครองหุ้นในกิจการ หรือมีอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท หรือมีความสัมพันธ์กับบริษัทอื่นที่รัฐบาลเชื่อถือ

ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะเปิดให้ผู้สนใจยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 ในวันที่ 5 – 16 กันยายน 2565 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคำขอสิทธิฯ ผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อกฎหมายและร่างสัมปทานปิโตรเลียม คณะกรรมการปิโตรเลียม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตามลำดับ

การเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะเปิดโอกาสของประเทศในการต้อนรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยคาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1,500 ล้านบาท จากกิจกรรมการสำรวจปิโตรเลียม และหากมีการค้นพบปิโตรเลียมที่มีสมรรถนะเชิงพาณิชย์ ก็จะเกิดเม็ดเงินลงทุนในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังเกิดประโยชน์ในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศที่ยังมีศักยภาพเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศสามารถยืนด้วยขาตัวเอง และประโยชน์ที่ตามมานั้นไม่ใช่แค่ความมั่นคงด้านพลังงาน  แต่หมายถึงความเชื่อมั่นของภาคการลงทุน สร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคงให้คนไทย เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศพ้นภาวะวิกฤตไปได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแจงเปลี่ยนผ่าน 'เอราวัณ-บงกช'ราบรื่นสิ้นสุดยุคสัมปทาน

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แจงการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (แปลง G1/61) และแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) ราบรื่น ไร้การสะดุด ก้าวสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต เร่งเดินหน้าการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้ตามเป้าหมายโดยเร็วที่สุด

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติชูเทคโนโลยี CCS ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการประกอบกิจการปิโตรเลียม

ประเทศไทยได้แสดงท่าทีในการประชุมสมัชชาประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท.สผ. ลงนามข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้งแหล่งบงกช

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ลงนามข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้ง (Asset Transfer Agreement หรือ ATA) ของแหล่งก๊าซธรรมชาติ บงกช