ประเทศไทยได้แสดงท่าทีในการประชุมสมัชชาประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ((United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมือง กลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในอัตราร้อยละ 20 ภายในปี 2570
กระทรวงพลังงานมีนโยบายการขับเคลื่อนส่วนต่างๆในภาคพลังงาน เพื่อรองรับวาระและเจตนารมณ์ดังกล่าว ซึ่งจะครอบคลุมทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเชื้อเพลิง พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงานโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนสู่พลังงานสะอาด และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี พ.ศ.2608
ดร.ศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ โฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในส่วนของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ได้คำนึงถึงความสำคัญและพร้อมสนับสนุนนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมถึงการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าในอนาคต เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการร่วมมือกับบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มทำการศึกษาและทดลองใช้เทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการประกอบกิจการต่าง ๆ เช่น การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ลงไปเก็บในชั้นหินใต้ดินในระดับความลึกที่มีความเหมาะสมในการกักเก็บ CO2 อย่างปลอดภัย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการปล่อย CO2 ในปริมาณมากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดได้
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยเทคโนโลยี CCS ในอนาคต ได้แก่ (1) การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการดำเนินงาน (2) การประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชนและสถานศึกษาทั้งภายในและภายนอกประเทศเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการศึกษา วิจัย และพัฒนาการดำเนินงานด้าน CCS และ (3) การศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางด้านต่างๆ ในการส่งเสริมและพัฒนางานด้าน CCS ในประเทศไทย ได้แก่ เทคโนโลยี นโยบาย กฎหมายและแนวทางการสร้างแรงจูงใจ (incentive approach) ให้แก่ผู้ประกอบการในการควบคุมปริมาณคาร์บอนจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้ได้ตามมาตรฐานสากล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กกต. มีมติเห็นชอบใช้งบกลางหมื่นล้าน รัฐบาลช่วยลดภาระค่าไฟประชาชน
ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือขอความเห็นชอบกรณีการใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 (3) ของกระทรวง
กฟผ. ลุยผลิตไฟฟ้าสีเขียวดันโซลาร์ลอยน้ำเต็มสูบ
กฟผ. เดินหน้าผลิตไฟฟ้าสีเขียว รุกขยายโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนเต็มสูบ พร้อมเดินหน้าโครงการนำร่อง ศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด