รมว.คลัง Kick off ‘บำนาญประชาชน’ ออมเงินไว้ใช้ในยามชรา กอช.จับมือ พอช.หนุนเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศเป็นสมาชิก

นครสวรรค์ / รมว.คลังเป็นประธานเปิดโครงการ ‘บำนาญประชาชน’ อย่างเป็นทางการครั้งแรกที่  จ.นครสวรรค์  เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนอายุ 15-60 ปีสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ ‘กอช.’ โดย กอช.จับมือกับ พอช.ขยายฐานสมาชิกไปยังเครือข่ายบ้านมั่นคง-สภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศ    ตั้งเป้าสมาชิก 50 สหกรณ์  ออมขั้นต่ำ 50 บาทขึ้นไปจนถึง 13,200 บาทต่อปี  อายุครบ 60 มีเงินใช้สูงสุดถึงเดือนละ 7,000 บาท  เผยตัวเลขสมาชิก กอช.ทั่วประเทศ 2.4 ล้านคน  มีเงินสะสมกว่า 10,944 ล้านบาท

กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ ‘กอช.’ เป็นหน่วยงานรัฐ  จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกองทุนกลางที่ช่วยสนับสนุนการออมเงินเพื่อดำรงชีพในยามชรา  โดยเฉพาะประชาชนในภาคเกษตรกรรม  แรงงานนอกระบบ  ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีสวัสดิการรองรับในยามชรา  ถือเป็น ‘บำนาญประชาชน  จัดตั้งตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554  มี รมว.คลังเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้  เปิดรับสมัครสมาชิกครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา

รมว.คลังเปิดโครงการบำนาญประชาชน

โดยวันนี้ (18 มิถุนายน) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิด ‘โครงการบำนาญประชาชน’ ที่สำนักงานเทศบาลนครนครสวรรค์  อ.เมืองนครสวรรค์  จ.นครสวรรค์  โดยมีผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคงจังหวัดนครสวรรค์  และภูมิภาคต่างๆ  นายปรีชา  เดชพันธุ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์  นายจิตตเกษมณ์  นิโรจน์ธนรัฐ  นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์  ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  เข้าร่วมงานประมาณ 350 คน

‘โครงการบำนาญประชาชน’  ในวันนี้มีพิธีการที่สำคัญ  คือลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU.) ระหว่างกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ ‘กอช.’  กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคง  โดยมีนายไมตรี  อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  และนางสาวจารุลักษณ์  เรืองสุวรรณ  เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ  เป็นผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รมว.คลัง (ที่ 4 จากซ้าย)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า  โครงการบำนาญประชาชนเป็นโครงการที่ประชาชนมีส่วนร่วม  ไม่ว่าเงินจะมีมากมีน้อยก็สามารถนำมาแบ่งสรรปันส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุดว่าจะใช้เท่าไหร่  จะเก็บออมเท่าไหร่ในแต่ละวัน  หรือจะนำไปลงทุน   กองทุนการออมแห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการออมของประชาชน  เป็นการออมภาคสมัครใจ  เพื่อสร้างวินัยของประชาชน  โดยรัฐบาลจะร่วมสมทบเงินส่วนหนึ่งให้ประชาชนจนถึงอายุ 60 ปี  เพื่อให้มีเงินเดือนหรือบำนาญเอาไว้ใช้ในยามชรา

“แม้ว่าการออมกับกองทุน กอช.ในบั้นปลายของชีวิตอาจจะได้น้อย  โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงเรื่องเงินเฟ้อ  ราคาสินค้าในอนาคตจะแพงขึ้น  เงินบาทจะมีค่าน้อยลง  ผมจึงให้นโยบายกระทรวงการคลัง  สำนักงานเศรษฐกิจการคลังไปพิจารณาผลตอบแทนบั้นปลายให้แก่สมาชิกกองทุนด้วย”  รมว.คลังกล่าวและบอกว่า  การลงนาม MoU. ในวันนี้ 2 ฉบับ  กระทรวงการคลังจะติดตามเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม  ไม่ใช่เซ็นแล้วเก็บเอาไว้

พอช.หนุนเครือข่ายบ้านมั่นคง-สภาองค์กรชุมชนเป็นสมาชิก กอช.

นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวมีใจความว่า   วันนี้ พอช.จับมือกับ กอช. กระทรวงการคลัง  เพื่อสร้างความมั่นคงตลอดชีวิตด้วยการออม  นอกเหนือจากการสร้างความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัยที่ พอช.ทำไปแล้ว  เช่น  ที่จังหวัดนครสวรรค์ดำเนินการไปแล้ว  จำนวน 47 โครงการ  มีผู้เดือดร้อนประมาณ 6,000 ครอบครัว  ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนไปแล้วประมาณ 3,600 ครอบครัว  และจะทำต่อไป  ด้วยความร่วมมือของกรมธนารักษ์ในการให้ที่ดินทำเรื่องบ้านมั่นคง

นายไมตรี อินทุสุต

“ส่วนโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศทำไปแล้วประมาณ 140,000 ครอบครัว  รวมทั้งยังมีสภาองค์กรชุมชนที่มีสมาชิกเครือข่ายทั่วประเทศประมาณ 1,500,000 คน  ซึ่ง พอช.จะเชิญชวนสมาชิกเครือข่ายทั้งหมดนี้เข้ามาเป็นสมาชิกกองทุน กอช.ต่อไป”  นายไมตรีกล่าว

นางสาวณหทัย   ขันธวิเชียร  ผู้ช่วยเลขาธิการ กอช. กล่าวว่า  กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างหลักประกันที่มั่นคงในวัยเกษียณให้กับเกษตรกร  ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 15 ปี จนเข้าสู่วัยทำงานถึงอายุ 60 ปี  ออมขั้นต่ำเพียง 50 บาทต่อครั้ง   สูงสุด 13,200 บาทต่อปี  พร้อมรับสิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิก กอช.

คือ สิทธิประโยชน์ที่ 1 รับเงินสมทบจากรัฐในแต่ละช่วงอายุของสมาชิกในเดือนถัดไป  ช่วงอายุ 15 - 30 ปี      รัฐจะสมทบให้ 50% ของเงินออมแต่ละครั้ง  โดยรวมกันทั้งปีสูงสุด 600 บาท   ช่วงอายุ 30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมแต่ละครั้ง  โดยรวมกันทั้งปีสูงสุด 960 บาท และ ช่วงอายุ 50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมแต่ละครั้ง  โดยรวมกันทั้งปีสูงสุด 1,200 บาท 

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ 2  คือ  ผลตอบแทนของเงินที่นำไปลงทุน ทั้งในส่วนเงินออมสะสมและเงินสมทบ   โดยรัฐบาลค้ำประกันผลตอบแทนการลงทุน  และสิทธิประโยชน์ที่ 3  สมาชิกสามารถลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวนเงินออมสะสม

“ในการส่งเงินออมสะสมกับ กอช. เป็นการออมภาคสมัครใจ  ไม่จำเป็นต้องออมเท่ากันทุกปีและรับเงินสมทบในเดือนถัดไป  สะดวกที่ไหนออมได้ทุกที่  ซึ่งที่ผ่านมา กอช.  มีหน่วยรับสมัครและส่งเงินออมสะสม  เช่น  ที่ว่าการอำเภอครอบคลุมทุกพื้นที่  สำนักงานคลังจังหวัด  สถาบันการเงินชุมชน  ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  ธนาคารอาคารสงเคราะห์  ธนาคารออมสิน  ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย   ทุกสาขาทั่วประเทศ   และสหกรณ์ชุมชนที่เข้าร่วม  ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ตามสถานที่ดังกล่าวนี้”  ผู้ช่วยเลขาธิการ กอช. กล่าว

ทั้งนี้จากข้อมูลที่ กอช. คำนวณที่ผลตอบแทนที่ 3.5%  หากสมาชิกกองทุนส่งเงินสมทบตั้งแต่อายุ 15-60 ปี เต็มจำนวน (13,200 บาทต่อปี)  ต่อเนื่องทุกเดือนเป็นเวลา 45 ปี  จะมีโอกาสรับเงินบำนาญประมาณ 7,000 บาทเศษต่อเดือน

ขณะที่สมาชิกที่สมทบช่วงสุดท้าย  อายุ 50-60 ปี  แต่ส่งเงินสมทบเต็มจำนวน (13,200 บาทต่อปี) ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี  จะมีโอกาสรับเงินบำนาญประมาณ 600 บาทเศษต่อเดือน

ปัจจุบันกองทุน กอช. มีสมาชิกรวม 2,483,286 คน  (เฉพาะในจังหวัดนครสวรรค์มีสมาชิก 95,300 คน)  มีเงินสะสมจากสมาชิกประมาณ 10,944  ล้านบาท  นำไปลงทุนในธนาคารต่างๆ ประมาณ 6,579 ล้านบาท  (ข้อมูลเมื่อกุมภาพันธ์ 2565) เช่น  ธนาคารทิสโก้  กระทรวงการคลัง  ธนาคารธนชาต  ธนาคารอาคารสงเคราะห์  และธนาคารแห่งประเทศไทย

MoU. ส่งเสริมการออมร่วมกัน 2 ฉบับ

สำหรับพิธีการลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding) ในวันนี้  มี 2 ฉบับ  คือ 1.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการออม  ระหว่างกองทุนการออมแห่งชาติกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคง

พิธีลงนาม 2 ฉบับ

2.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินการกองทุนการออมแห่งชาติระดับพื้นที่  ระหว่างกองทุนการออมแห่งชาติ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  สำนักงานภาคเหนือ  สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครสวรรค์  เครือข่ายชุมชนเมืองนครสวรรค์  กองทุนสวัสดิการชุมชนเมืองนครสวรรค์ และสำนักงานเทศบาลนครนครสวรรค์

ทั้งนี้บทบาทของ กองทุนการออมแห่งชาติ ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ  เช่น 1.สนับสนุนการดำเนินการกองทุนการออมแห่งชาติให้แก่เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคงที่เข้าร่วม  ตามระเบียบ กติกาของ กอช.  2.ประสานความร่วมมือกับ พอช. เพื่อสนับสนุนการพัฒนา/ยกระดับศักยภาพ ตลอดจนการจัดทำแผนการพัฒนาเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคงที่เข้าร่วมเป็นหน่วยรับสมัครสมาชิก กอช.  

3.ประสานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมกิจการผู้สูงอายุ สถาบันการศึกษา ท้องถิ่น และอื่นๆ เข้ามาสนับสนุนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคงที่เข้าร่วม เพื่อให้บรรลุผลและเป้าหมายร่วมกัน  และ 4.จัดทำแผนพัฒนาร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคง

บทบาทของ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เช่น  1.สนับสนุนการดำเนินการพัฒนาต่าง ๆ ให้แก่เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคงที่เข้าร่วม ตามระเบียบ กติกาของ พอช.  2.ประสานความร่วมมือกับ กอช. เพื่อสนับสนุนการพัฒนา/ยกระดับศักยภาพ ตลอดจนการจัดทำแผนการพัฒนาเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคงที่เข้าร่วมเป็นหน่วยรับสมัครสมาชิก กอช.  ฯลฯ

บทบาทของ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคง  เช่น  1.เป็นองค์กรที่ดำเนินการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ตั้งแต่  การสร้างความเข้าใจ  การประชาสัมพันธ์กับสมาชิก  การติดตามผลการดำเนินงานของสมาชิก จัดระบบของหน่วยรับสมาชิก กอช.  การเก็บรักษาเอกสารต่าง ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบ กติกาของ กอช. และการรายงานผลการดำเนินการต่าง ๆ

2.ประสานการดำเนินการร่วมกับ เทศบาล กรมกิจการผู้สูงอายุ ภาคีในพื้นที่  3.สร้างการเรียนรู้แลกเปลี่ยน เพื่อพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานร่วมกัน  และ 4.ขยายผลการดำเนินงานไปยังเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคงอย่างกว้างขวาง   ฯลฯ

ทั้งนี้ผลจากการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนที่เข้าร่วมจะสามารถเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุน-รับเงินสะสมในแต่ละพื้นที่ได้  โดยมีเป้าหมายเป็นสหกรณ์บ้านมั่นคงทั่วประเทศ  จำนวน 50 สหกรณ์ 

ในขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  จะร่วมกับ กอช. และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน  จัดเวทีเพื่อสร้างความเข้าใจ  สร้างการรับรู้  หรือ Kick off  เช่นเดียวกับจังหวัดนครสวรรค์ในอีก 4 ภูมิภาคในเร็วๆ นี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวบ้านผวา! แจ้งตำรวจช่วย โจ๋ปาประทัดลูกบอล ยิงปืนทางเข้าชุมชน

พ.ต.อ.รักศักดิ์ เมฆจินดา ผกก.สภ.สำโรงใต้ จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับแจ้งจากนายประเทศ เข็มนิล อายุ 65 ปี ชาว ตำบลสำโรงกลาง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

รัฐบาลลุยต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' ขยายตลาดช่วยชุมชนโกยรายได้

รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' เพิ่มมูลค่าขยายตลาด ช่วยผู้ประกอบการชุมชนโกยรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ