หยุด!!หิมะดำ..ทำร้ายปอด ห้องเรียนสู้ฝุ่น..คือทางออก ขอนแก่นต่อยอดนวัตกรรม BLUE SCHOOL

ในพิธีลงนามความร่วมมือหรือทำ MOU โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น 10 โรงเรียน ที่โรงแรมเฮือนต้นนุ่น อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา  โดยมี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธาน ทำให้ตระหนักว่าฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ หากเข้าไปสะสมในถุงลมฝอยของปอด แทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ประเทศไทยติดอันดับส่งอ้อยสู่ตลาดโลกสูงที่สุดในโลก เกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นปลูกอ้อยกันเป็นจำนวนมาก เมื่อเก็บอ้อยแล้วก็จะเผาพื้นที่การเกษตรไร่อ้อย เนื่องจากอ้อยแข็งมากต้องทำลายด้วยการเผาและส่งผลให้นิเวศเสื่อมโทรมลงได้ อีกทั้งมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การเผาป่าส่งผลให้เกิด "หิมะดำ" ปรากฏเป็นฝุ่นสีดำเป็นขุยบนท้องถนน ครูขอนแก่นจึงต้องค้นคว้าหาความรู้เพื่อเตือนภัยฝุ่น  PM 2.5 ให้เยาวชนตระหนักรู้แล้วนำไปถ่ายทอดความรู้ให้ครอบครัวที่มีอาชีพเกษตรกรทำไร่อ้อย จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดแรกที่มีการรณรงค์ให้ใช้หน้ากากอนามัยเพื่อกรองฝุ่นขนาดจิ๋วที่จะเข้าไปทำลายปอดและระบบทางเดินหายใจได้ อีกทั้งยังทำลายคุณภาพชีวิตของเยาวชนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน สสส.ได้ขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ห้างหุ้นส่วนจำกัดเติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย เร่งสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปถึงระดับนโยบาย

ริเริ่มโครงการสร้างองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก มุ่งพัฒนาแนวทางการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรตามบริบทของ 4 พื้นที่เสี่ยง ได้แก่ 1.ภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แพร่ แม่ฮ่องสอน  พะเยา) 2.พรมแดนระหว่างประเทศ (ไทย-ลาว) 3.ภาคกลาง (กรุงเทพฯ) 4.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อุดรธานี  ขอนแก่น) เพื่อให้เกิดพื้นที่ต้นแบบในการรับมือกับวิกฤตฝุ่น PM 2.5 นำไปสู่นโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

"สสส.เร่งขยายพื้นที่ต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น จากเดิม  30 โรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ ให้ครอบคลุม 140  โรงเรียนทั่วประเทศในปี 2565 เพื่อพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการรับมือกับวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ผ่านการสร้างองค์ความรู้ โดยมีนักเรียนเป็นแกนกลางสู่การตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น ล่าสุดได้ขยายผลมาสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เริ่มที่จังหวัดขอนแก่นเป็นแห่งแรก  และต่อไปยังอุดรธานี เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ประสบภาวะวิกฤตปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากพฤติกรรมการเผาของภาคการเกษตร ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ห้องเรียนสู้ฝุ่นhttp://xn--q3c.com/" นายชาญเชาวน์กล่าว

นายรุจติศักดิ์ รังสี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาต่อยอดและขยายผล “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้โครงการสร้างองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชนนี้ เพื่อสร้างการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 มุ่งเป้าสร้างโรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น 10 โรงเรียน

“ขอนแก่นได้รับการคัดเลือกจากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกนำร่องในการลดก๊าซเรือนกระจก ศูนย์หม่อนไหมส่งเสริมผ้าไหมขอนแก่นลดคาร์บอนเครดิต ได้ตราสัญลักษณ์เป็นของฝากชิ้นแรกจากจังหวัดขอนแก่นในเมืองไทย อีกทั้งขอนแก่นถือเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่ปลูกอ้อยมากที่สุดในไทย เมื่อถึงฤดูการเก็บเกี่ยวอ้อยต้องใช้การเผาเป็นหลัก นโยบายต่างๆ ของจังหวัดที่ออกประกาศห้ามเผา อาจใช้ไม่ได้ผลเท่าพลังของคนในชุมชนและสังคมห้องเรียนสู้ฝุ่น จึงถือเป็นนวัตกรรมองค์ความรู้ ที่ทำให้เด็ก เยาวชน และคนในชุมชน ร่วมรับมือกับผลกระทบจากฝุ่น  PM 2.5 ที่เกิดการเผา สิ่งสำคัญคือ การสร้างพลเมืองให้สามารถสื่อสารสร้างความตระหนักรู้แก่คนในชุมชนถึงผลกระทบต่อสุขภาวะจากฝุ่น PM 2.5 จนเกิดเป็นการเปลี่ยนค่านิยมลดการเผาในที่โล่งเป็นศูนย์ภายในปี 2566 สู่การเป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาและงดเผาอ้อยไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้” นายรุจติศักดิ์กล่าว

สำหรับผู้ลงมือปฏิบัติขับเคลื่อนโครงการ นายศราวุธ  นาเสงี่ยม ผู้อำนวยการโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน 3 จ.ขอนแก่น อาจารย์สอนฟิสิกส์ หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น สสส. กล่าวว่า โรงเรียนเคยประสบกับปัญหาฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาไร่อ้อยจนต้องหยุดทำการเรียนการสอน เกิดความเดือดร้อนทั่วทั้งจังหวัด เพราะฝุ่นจิ๋วเป็นอันตรายต่อทุกคน แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการของ สสส. มีเครื่องอ่านค่าฝุ่นติดไว้ในโรงเรียนเปิดไว้ 24 ชั่วโมง เพื่อนักเรียนจะได้มาปักอารมณ์ฝุ่นในแต่ละวันซึ่งแตกต่างกัน  นักเรียนทั้งหมด192 คนมีส่วนร่วมในกิจกรรมห้องเรียนสู้ฝุ่นกันทุกคน ด้วยการสร้างกิจกรรมต่างๆ

"ทางโรงเรียนได้เพิ่มกิจกรรมห้องเรียนสู้ฝุ่นเป็น รร.แรกของจังหวัดขอนแก่น เพื่อเสริมหลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เรียนรู้เรื่องพิษภัยและวิธีป้องกันฝุ่นในระดับชั้นมัธยมศึกษา สอดคล้องนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงวิเคราะห์หาสาเหตุและผลกระทบ เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ จิตสำนึกที่ดี ทำให้เด็กมีความรู้ สามารถอ่านค่าจากเครื่องวัดค่าฝุ่น และแสดงค่าฝุ่นแจ้งเตือนสถานการณ์วิกฤตผ่านแอปพลิเคชัน BLUESCHOOL การใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5"

สิ่งสำคัญนักเรียนได้นำความรู้เรื่องการไม่เผาไร่อ้อยส่งต่อไปยังผู้ปกครองและชุมชน แนะนำการกำจัดด้วยการหมักทำปุ๋ย ทำน้ำมันไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นควันในพื้นที่ การจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ยับยั้งฝุ่นขนาดเล็ก ค่าฝุ่นสูงมากในเดือน ธ.ค.-มี.ค.เพราะเป็นช่วงที่มีการเผาไร่อ้อย อากาศหนาวมีหมอกจับตัวกับฝุ่นจิ๋ว

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สสส. (สำนัก 2) เสริมว่า บางโรงเรียนมีการสอนตั้งแต่นักเรียนอนุบาล ให้สังเกตตัวเอง ว่ามีเลือดกำเดาไหลหรือไม่ เนื่องจากยาวชนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมีการเผาป่าเป็นประจำ เผาขยะ ดังนั้น สสส.ต้องเลือกพื้นที่ต้นแบบที่มีความเสี่ยง เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ ในภาคเหนือ ส่วนขอนแก่นเป็นพื้นที่ต้นแบบในภาคอีสาน มีสมาคมยักษ์ขาวในห้องเรียนสู้ฝุ่น

ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล ที่ปรึกษาโครงการโรงเรียนสู้ฝุ่น อาจารย์สาขาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย นำเสนอโครงการสร้างองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) จากดาวเทียมขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ตั้งแต่ปี 2555-2564 รวม 9 ปี และค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 10 และ PM 2.5) จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการเลือกโรงเรียนในพื้นที่เกิด Hotspot มาก เพื่อสร้างเป็นโรงเรียนต้นแบบของห้องเรียนสู้ฝุ่นจำนวน 10 โรงเรียน เพื่อสร้างการตระหนักรู้และการรับมือด้านสุขภาวะแก่เด็กและเยาวชนในสภาวะฝุ่นที่วิกฤตนี้ได้อย่างปลอดภัย

1.รร.น้ำพองพัฒนศึกษา 2.รร.ขอนแก่นพัฒนศึกษา  3.รร.ทรัพย์อุดมวิทยา 4.รร.ศรีธาตุพิทยาคม 5.รร.บ้านดุงวิทยา 6.รร.ขอนแก่นวิทยายน 3 7.รร.โนนสะอาดชุมแสงวิทยา 8.รร.ม่วงหวานพัฒนศึกษา 9.รร.ลำน้ำพอง  10.รร.วัง 3 หมอวิทยาคาร

“ค่าฝุ่นจิ๋วเกินมีผลต่อสุขภาพทำให้ตาแดง ไอจาม จึงขอความร่วมมือจาก NASA สสส.เติมเต็มวิสาหกิจชุมชนชะลอการเผาทั่วภูมิภาค ขยายความรู้ต่อไปยัง รร.ในสังกัด กทม. 50 แห่ง รร.ชายแดนในประเทศเพื่อนบ้าน  สปป.ลาว พม่า ขอนแก่นและอีสานเป็นแหล่งปลูกอ้อยจำนวนมาก เมื่อมีการเผาอ้อยเผานาข้าวส่งผลกระทบต่อเยาวชน ซึ่งจะเติบใหญ่เป็นผู้บริหารในอนาคต ดังนั้นจะต้องสร้างให้เด็กมีแรงบันดาลใจในการร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหาฝุ่นจิ๋วเริ่มตั้งแต่ใน รร. จิ๋วสู้ฝุ่นในช่วง Real  time”

 

***

โรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น

ตระหนักถึงพิษภัย PM 2.5 ในแต่ละพื้นที่เกิดจากสาเหตุแตกต่างกัน

ภาคเหนือเกิดจากไฟป่า เผาในที่โล่ง หมอกควันข้ามแดน

กทม.และปริมณฑล เกิดจากจราจร จุดเผาในที่โล่ง

ภาคใต้ ไฟไหม้ป่าพรุ หมอกควันข้ามแดน 

พื้นที่อื่นๆ ขอนแก่น เลย กาญจนบุรี การเผาในที่โล่ง พื้นที่เกษตรกรรมและป่า

ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี กิจการโรงโม่บดย่อยหิน  เหมืองหิน โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานปูนขาว โรงแต่งแร่ จราจร

ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ การเฝ้าระวัง PM 2.5 อย่างไรให้ปลอดภัย กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ  กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ