ผลการดำเนินงานที่สำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

การตรวจพิจารณาร่างกฎหมายที่จะช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน และแก้ไขข้อขัดข้องในการดำเนินชีวิตของประชาชน ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สำนักงานฯ ได้ตระหนักและเร่งรัดให้มีการดำเนินการเพื่อตอบสนองในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทั้งในด้านการรับบริการจากภาครัฐและช่วยแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ ได้ ตามวิสัยทัศน์ที่ยึดมั่น คือ “Better Regulation for Better Life” หรือพัฒนากฎหมายให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมุ่งพัฒนากฎหมายให้มีคุณภาพ มีเป้าหมาย คือ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนนั่นเอง

ในส่วนงานร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการประชาชนเพื่อให้ก้าวทันต่อความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบงานราชการในส่วนของการบริการประชาชนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ คือ พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 โดยกฎหมายดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นคำขอ การแสดงเอกสาร ฐานข้อมูลใบอนุญาต การรับเงินจ่ายเงินพร้อมใบเสร็จ ฯลฯ ซึ่งจะมีผลตามกฎหมายโดยสมบูรณ์เช่นเดียวกับการยื่นเป็นเอกสาร  

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำ “หลักเกณฑ์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ” เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการกำหนดค่าธรรมเนียมในกฎหมายไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ในส่วนของผลงานร่างกฎหมายที่สำคัญอีกฉบับคือการจัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยโทษปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีหลักการและสาระสำคัญในการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณากรณีที่ถือเป็นความผิดทางพินัย โดยพิจารณาลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอันไม่ใช่กรณีร้ายแรง ซึ่งไม่สมควรกำหนดให้มีโทษทางอาญา และให้นำวิธีการปรับเป็นพินัยมาใช้บังคับแทน นอกจากนั้นยังได้จัดทำพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกัน              การกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง อันจะเป็นการสร้างความปลอดภัยแก่สังคมและประชาชนมากขึ้น ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565

ร่างกฎหมายดังที่กล่าวมานั้นเป็นผลการปฏิบัติงานในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานฯ ได้รับเรื่องจากคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานต่าง ๆ มาดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 1,708 เรื่อง แบ่งเป็น 1) ร่างกฎหมาย จำนวน 398 เรื่อง 2) ให้ความเห็นทางกฎหมาย จำนวน 1,260 เรื่อง (ความเห็นทั่วไป 416 เรื่อง และความเห็นต่อ ครม. 844 เรื่อง) 3) คำแปลกฎหมาย จำนวน 50 ฉบับ (ตรวจสอบรับรองคำแปล 3 ฉบับ ดำเนินการแปลเอง 47 ฉบับ)

การพัฒนาศักภาพของนักกฎหมายในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างนักกฎหมายที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรมจริยธรรม ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนากฎหมายไปสู่การมีกฎหมายที่ดีด้วยเช่นกัน โดยสำนักงานฯ ได้จัดฝึกอบรมนักกฎหมายในหน่วยงานภาครัฐ และนักกฎหมายกฤษฎีกา ทั้งแบบ on site และ on line รวม 4 หลักสูตร ดังนี้ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพนักกฎหมายภาครัฐ จำนวน 1 หลักสูตร/1 ครั้ง 2) การฝึกอบรมนักกฎหมายภาครัฐ จำนวน 2 หลักสูตร/4 ครั้ง และ 3) การฝึกอบรมนักกฎหมายกฤษฎีกา จำนวน 1 หลักสูตร/4 ครั้ง

ในส่วนของการจัดทำระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) เป็นช่องทางสำหรับรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินการจัดทำกฎหมายหรือร่างกฎหมายรวมถึงการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานของรัฐและประชาชน และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลกฎหมาย รวมทั้งส่งเสริมความโปร่งใสในการใช้บังคับกฎหมาย โดยสำนักงานฯ ได้จัดทำระบบกลางทางกฎหมายร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่งในปีที่ผ่านมาการจัดทำ “ระบบกลางทางกฎหมาย” ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลเปิดใจใกล้ชิดประชาชน (Open Governance) "ระดับดี" ในชื่อผลงาน "ระบบกลางทางกฎหมาย" อีกด้วย

การเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม 15th APEC Conference on Good Regulatory Practice (GRP15) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ร่วมกันจัดขึ้น เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการประชุม      เจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 3 หรือ SOM3 ที่ปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหรือ เอเปค มีหัวข้อหลักของการประชุม เรื่อง “การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการกฎหมายในช่วงวิกฤติและเตรียมความพร้อมสังคมและเศรษฐกิจในโลกยุคหลังวิกฤติโควิด 19” ซึ่งเป็นเวทีความร่วมมือด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญในการพัฒนากฎหมายและกฎเกณฑ์ของสมาชิกให้รองรับการเปลี่ยนแปลงและวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำเครื่องมือด้านกฎหมายที่ดีหรือ Good Regulatory Practices หรือ GRP ทบทวนกฎหมายและกฎเกณฑ์เพื่อลดกำแพงทางการค้าเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า ซึ่งหลายเขตเศรษฐกิจได้บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากการมีกฎหมายกฎระเบียบที่เป็นสากลมากขึ้น

ผลงานดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่ได้หยิบยก เพื่อนำมาบอกเล่าถึงเรื่องราวการทำงานในช่วงปีที่ผ่านมา ให้เห็นถึงการพัฒนางานด้านกฎหมายที่สามารถตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น ซึ่งทุกท่านสามารถติดตามข่าวสารและการปฏิบัติราชการของสำนักงานฯ ในแง่มุมต่าง ๆ จากสื่อประชาสัมพันธ์ อาทิ อินโฟกราฟิกและวีดิทัศน์ความรู้ด้านกฎหมาย วารสารและบทความทางกฎหมายที่น่าสนใจ งานวิจัยและงานค้นคว้า งานประชุม สัมมนา การรับฟังความคิดเห็นของร่างกฎหมายต่าง ๆ ให้ทุกท่านได้ติดตามผ่านเพจสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล

ปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตเป็นอันมาก โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ของประชาชนได้เข้าสู่การดำเนินการผ่านโลกออนไลน์

การใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมคุณภาพยาเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

การจะพัฒนากฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามวิสัยทัศน์ “Better Regulation for Better Life” ได้นั้น นอกจากการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเศรษฐกิจแล้วนั้น

บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากับการขับเคลื่อนงานด้านกฎหมายเกี่ยวกับ “Soft Power”

นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เข้ามาบริหารประเทศ

การยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐจะดำเนินการที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจเท่านั้น

Regulate to elevate : บทบาทของกฎหมายกับการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

โลกหลังจากวิกฤติโควิด-19 ประชาชนหันมาให้ความสนใจในการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วยแนวคิดความยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญ การจัดทำนโยบายแห่งรัฐและกระบวนการกฎหมายจึงจำเป็นต้อง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับการพัฒนากฎหมายที่ช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพ

การพัฒนาระบบเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ