ระยองเมืองต้นแบบการเรียนรู้ ตอบโจทย์เมืองสุขภาวะ6ด้าน

เมื่อเร็วๆ นี้ เมืองท่องเที่ยวสำคัญอีกจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออก "ระยอง" ได้จัดกิจกรรม Healthy Rayong ขับเคลื่อนจังหวัดระยอง สู่การเป็นต้นแบบเมืองสุขภาวะแห่งการเรียนรู้ (Healthy Learning City) บริเวณป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ จ.ระยอง ภายใต้แนวคิด ..เมืองเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างสุขภาวะของประชาชน..

Healthy Rayong ตอกย้ำเจตนารมณ์ข้างต้น พร้อมกับขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือออกแบบและพัฒนาเมืองสุขภาวะ ภายใต้โครงการวางผังแม่บทเมืองสุขภาวะเพื่อรองรับวิถีใหม่ โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน รวมถึงสร้างการรับรู้และความเข้าใจการพัฒนาผังแม่บทสุขภาวะต่อสังคมในวงกว้าง มุ่งเป้าหมายขับเคลื่อนการพัฒนาผังเมืองสุขภาวะให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ จากความร่วมมือของสถาบันอาศรมศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันการเรียนรู้ จ.ระยอง รวมทั้งภาคีเครือข่าย โดยมีการรณรงค์กระตุ้นให้ชาวระยองมาร่วมเปลี่ยนประชาคมของตัวเองให้เป็นเมืองสุขภาวะด้านการเรียนรู้ ร่วมออกแบบระยองให้เป็นเมืองสุขภาวะแห่งการเรียนรู้ของทุกคน บนบริบทที่ว่า Healthy Rayong เพื่อสุขภาวะที่ดี ไม่ใช่เพียงการมีร่างกายแข็งแรง แต่หมายถึงภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ กาย จิตใจ สังคม ปัญญาที่ทำงานเชื่อมโยงกันอย่างสมดุล ซึ่งปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของผู้คนคือเมืองสุขภาวะ เมืองที่มีการปรับปรุงพัฒนาทั้งในด้านกายภาพและสังคม เพื่อเอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1   บอกกล่าวในวันเปิดกิจกรรมครั้งนี้ว่า งานนี้จะทำให้ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมระยองมาเปลี่ยนภาพลักษณ์จากเมืองที่หารายได้ให้คนทั้งประเทศให้เป็นเมืองแห่งความสุข การทำ MOU กับหน่วยงานต่างๆ  เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เมืองระยองเป็นเมืองแห่งความสุข เมืองสุขภาวะ สสส.วางนโยบายสำคัญในการจัดสรรงบประมาณ สถานที่สำคัญในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้เป็นเพชรเม็ดงามระยอง เป็นการสร้างนวัตกรรมระยะยาว ที่คนระยองสร้างให้คนทั้งประเทศว่าระยองเป็นเมืองต้นแบบอันดับ 1 ของประเทศ ท่ามกลางต้นทุนเศรษฐกิจ การศึกษา อุตสาหกรรมให้จังหวัดอื่นได้จัดทำร่วมกันด้วย

สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย จ.ระยอง (Rayong Inclusive Learning Academy) (RILA) เป็นภารกิจคิดใหญ่ต้นแบบความสำเร็จของ Smart City ทุกด้าน เป็นสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย (RILA) จ.ระยอง ในการเปลี่ยนระยองให้มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ติดอันดับโลก มีแหล่งท่องเที่ยว แหล่งอาหารทะเลสำคัญ ศูนย์กลางทางการค้าและระบบโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพ พร้อมด้วยรากฐานทางวัฒนธรรมเก่าแก่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

“การออกแบบวางผังให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของเมืองและคนในด้านสุขภาวะมี 6 องค์ประกอบ 1.สภาพแวดล้อมเมืองและธรรมชาติที่ดี สะอาด ปลอดภัย 2.แหล่งผลิตและจำหน่ายอาหารปลอดภัยที่ทุกคนเข้าถึงได้ 3.เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 4.เข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ให้ทุกช่วงวัยดูแลรักษาความอยู่ดีมีสุขอย่างเหมาะสม 5.ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคมที่เข้มแข็งผ่านกิจกรรมการมีส่วนร่วมและการรวมกลุ่มต่างๆ 6.สวนสาธารณะและพื้นที่นันทนาการสีเขียวที่เพียงพอและครอบคลุม ซึ่ง จ.ระยอง มีต้นทุนและศักยภาพ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งผลิตอาหาร รวมถึงกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาเมืองสุขภาวะ กิจกรรมครั้งนี้ จึงมีความสำคัญในการเป็นจุดเริ่มต้นการริเริ่มการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะระดับเมืองของ จ.ระยอง ที่จะเป็นฐานในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนจังหวัดระยองให้เป็นเมืองสุขภาวะทั่วทั้งจังหวัดระยองต่อไป” ดร.สาธิตกล่าว

ในขณะที่ นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า จ.ระยอง มีความพร้อมที่จะเป็นพื้นที่สุขภาวะ เนื่องจากมีพื้นที่สาธารณะ แต่ละท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการผังเมือง แต่ยังต้องการองค์ความรู้จากสถาบันอาศรมศิลป์ด้านการออกแบบสุขภาวะครบถ้วนเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน ร่วมคิดร่วมทำเพื่อให้เกิดความหลากหลาย บางพื้นที่ต้องการตลาดชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว สันทนาการในชุมชน มีลานกีฬาเพื่อผู้สูงอายุ มีความพร้อมพัฒนาต่อยอดเป็นพื้นที่สุขภาวะ มี 14 หน่วยงาน ตำบล เทศบาล อบจ.ระยอง มาบตาพุด

“สสส.ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ ทำงานร่วมกันตั้งแต่ปี 2556 พัฒนาลานกีฬาเพื่อความเจริญ เป็นการน้อมนำโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีสุขภาพกาย ใจที่ดี ชุมชนมีศักดิ์ศรี และมีความเข้มแข็ง ลานกีฬาเพื่อคนทุกกลุ่มวัยส่งเสริมกิจกรรมทางกายบริเวณแฟลตคลองจั่นใกล้เคียงกับสถาบันนิด้า และลานกีฬาบริเวณใต้ทางด่วนศรีรัช บริเวณแยกอุรุพงษ์ ต่อไปจะขยายไปยังลานกีฬาวัชรพล สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นำวัฒนธรรมชุมชนกระบวนการมีส่วนร่วมเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างความสามัคคีในชุมชน ผู้เฒ่าผู้แก่มีพื้นที่พูดคุยกัน แทนที่จะเงียบเหงาอยู่ในบ้าน ลานกีฬาเข้ามาแทนที่ ซึ่งแต่เดิมเป็นแหล่งมั่วสุมอบายมุข หากชุมชนใดสนใจเขียนโครงการพื้นที่ว่างนำเสนอเข้ามาเพื่อสร้างลานกีฬาเพื่อชุมชน”

สสส.มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียม สานพลังภาคีเครือข่ายดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ ฐานข้อมูล กระบวนการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมมาอย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนต้นแบบระยองเมืองสุขภาวะแห่งการเรียนรู้ครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ ผ่านกิจกรรมทดลองใช้พื้นที่สุขภาวะ ส่งเสริมกิจกรรมทางกายหลากหลายรูปแบบ ทั้งเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พายและล่องเรือศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน นิทรรศการแนวคิดการพัฒนาเมืองสุขภาวะ 6 องค์ประกอบชุมชนสุขภาวะ จัดจำหน่ายสินค้าส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน

สำหรับเจ้าของพื้นที่ อย่าง นายประสานต์ พฤกษาชาติ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวถึงกิจกรรม Healthy Rayong ว่า ถือเป็นการเปิดตัวและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดทำผังแม่บทเมืองสุขภาวะเพื่อรองรับวิถีใหม่ โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชน สานพลังความร่วมมือทุกภาคส่วนเปลี่ยน จ.ระยอง ให้เป็นเมืองสุขภาวะด้วยกระบวนการเรียนรู้ เป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สอดคล้องนโยบายการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเองของจังหวัด ที่ตอบสนองต่อความท้าทายด้านการพัฒนาเมืองควบคู่กับการพัฒนาคน ทั้งการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายพัฒนานวัตกรรมกลไกในการออกแบบและสร้างสรรค์อนาคตของ จ.ระยอง สู่การเป็นต้นแบบ Healthy Learning City เป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการเรียนรู้และจัดการตนเอง ที่แสดงถึงพลัง ความมุ่งมั่น และร่วมแรงร่วมใจของผู้รักใน จ.ระยอง ริเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เป็น “เมืองสุขภาวะแห่งการเรียนรู้” ด้วยการพัฒนาผังเมืองสุขภาวะ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนวิถีสุขภาวะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

ส่วน นายประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม  สถาบันอาศรมศิลป์ ในฐานะคณะกรรมการจัดงาน Healthy Rayong กล่าวว่า ความสำเร็จของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ใน จ.ระยอง กว่า 14 องค์กร ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการออกแบบและพัฒนาให้ จ.ระยอง เป็น “ต้นแบบเมืองสุขภาวะแห่งการเรียนรู้” และมุ่งหวังว่าความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการเปิดพื้นที่ซึ่งนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะและการส่งเสริมวิถีสุขภาวะที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดระยองอย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวางในอนาคตต่อไป.

***

           องค์ประกอบชุมชนสุขภาวะ

1.สภาวะแวดล้อมที่ดี

2.อาหารดีมีแหล่งผลิตและจำหน่วยอาหารปลอดภัย

3.ชีวิตกระฉับกระเฉง

4.การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

5.ชุมชนเข้มแข็ง

6.สวนสาธารณะและพื้นที่นันทนาการ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ไขคำตอบ..ออกกำลังกายเป็นนิจ ตัวช่วยอายุยืนยาวห่างไกล NCDs

อุบัติการณ์โรคในยุคนี้ปรากฏว่า "โรคไม่ติดต่อ (NCDs)" กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี

เปิดผลสำรวจวัยโจ๋ ขีดเส้นสนามกีฬาฟุตซอล ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน

เครือข่ายงดเหล้า และสสส. ส่งเสริมกีฬาเยาวชนจัดฟุตซอล No-L ชิงถ้วยพระราชทานฯ รร. ราชวินิต มัธยม คว้าแชมป์ไปครองสมัยที่ 2 ด้วยสกอร์ 6:0 ในขณะที่ผลสำรวจร้อยละ 90 ต้องการให้สนามแข่งไม่ดื่ม ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน และร้อยละ 84.8 คิดว่ากีฬาฟุตซอลทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าของตัวเอง