“UNFPA” จับมือภาครัฐ- องค์กรภาคี ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง หนุนสร้างสังคมแห่งโอกาสและเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อเร็วๆ นี้ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) จัดงาน “Orange Night : Strategic Partnership for Rights and Choices for All” เพื่อรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และความไม่เท่าเทียมทางเพศ พร้อมทั้งจัดแสดงนิทรรศการบทบาทของผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิง และ Inspirational Talk เพื่อสร้างแรงบันดาลใจของผู้หญิงที่มุ่งมั่น ในการบรรลุเป้าหมายสู่ความสำเร็จและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งมอบโล่ขอบคุณให้หน่วยงานภาคีที่ร่วมดำเนินโครงการสำคัญ โดยมี ดร. โอซา ทอคิลส์สัน ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยและผู้แทนประจำประเทศมาเลเซีย นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบเหรียญทอง นางสาวคริสติน่า อากีล่าร์ Queen of Dance เมืองไทย พร้อมด้วยผู้แทนองค์กรภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุนการดำเนินงานของ UNFPA ร่วมงาน ณ ห้องพิมานสยาม โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก กรุงเทพฯ

ดร. โอซา ทอคิลส์สัน (Dr. Asa Torkelsson) ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยและผู้แทนประจำประเทศมาเลเซีย กองทุนประชากรแห่งสหประชาติ (UNFPA) หน่วยงานด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า UNFPA จัดงาน  “Orange Night : Strategic Partnership for Rights and Choices for all” เพื่อขอบคุณและฉลองความสำเร็จต่อโครงการความร่วมมือต่างๆ ของ UNFPA และภาคีที่ผ่านมา รวมทั้งจุดประกายและเริ่มต้นความร่วมมือใหม่ๆ ในการทำงานเพื่อสิทธิและการมีทางเลือกของทุกคน และรวมพลังเป็นหนึ่งเสียงเนื่องในโอกาส 16 วัน รณรงค์ยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ร่วมด้วยผู้สนับสนุนทั้งองค์กรภาคี ภาครัฐ  เอกชน สื่อมวลชน นักเคลื่อนไหวจากทั่วเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งจากในประเทศไทย ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยพันธมิตรในประเทศไทย 

“การให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างและพัฒนาทุนมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิตให้สนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศ สนับสนุนโครงสร้างครอบครัวที่หลากหลายรวมไปถึงการขยายและการพัฒนาการอนามัยมารดาและอนามัยการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงทำงาน ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ สภาพการทำงานให้เอื้อต่อผู้หญิง และความเท่าเทียมทางเพศในครอบครัว รวมทั้งแบ่งความรับผิดชอบระหว่างหญิงและชาย และให้มีการจ้างงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น” ดร. โอซา กล่าว

นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากรายงาน UNFPA พบว่าร้อยละ 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลก ถูกกระทำรุนแรงด้านร่างกายจากสามีของตน และปัจจุบันผู้หญิงไทยมีแนวโน้มถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในประเทศไทย ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากผลกระทบทางลบสามารถมีต่อครอบครัวโดยตรง ซึ่งจากข้อมูลการบาดเจ็บ รวบรวมโดยกองป้องกันการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จากโรงพยาบาล 51 แห่งทั่วประเทศระหว่างปี 2562-2564 พบว่ามีผู้หญิงโดยเฉลี่ย 8,577 คน ตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายร่างกายในแต่ละปี และมากกว่า 7 คนต่อวัน และมีการร้องเรียน 30,000 รายการเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศและการร้องขอเพื่อพักฟื้นในแต่ละปี

“กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) เป็นหน่วยงานด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งสหประชาชาติ มุ่งมั่นเดินหน้าทำงานร่วมกับองค์กรภาคี นักวิชาการ สื่อมวลชน รวมถึงภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมสิทธิและทางเลือกทางด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัว ยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ส่งเสริมศักยภาพสูงสุดให้วัยรุ่น แม่ตั้งครรภ์ได้รับความปลอดภัยตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์จนคลอดบุตร โดยเดินหน้ากรอบการทำงานในรอบที่ 12  (2565-2569) UNFPA มุ่งสนับสนุนการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์และกรอบการพัฒนาตลอดช่วงชีวิต ผลักดันนโยบายด้านประชากรและสังคม ส่งเสริมและสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ สุขภาวะทางเพศและพลังผู้หญิง เด็ก วัยรุ่นและผู้สูงวัย เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยนั้นเป็นสังคมแห่งโอกาสที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าว

ด้าน นางสายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบเหรียญทองพาราลิมปิกของประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังประสบอุบัติเหตุ ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แต่ด้วยความเข้มแข็งจึงสู้อีกครั้ง และมีหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุนได้เข้าฝึกอาชีพที่ศูนย์ฟื้นฟูผู้พิการจนได้โอกาสเป็นนักกีฬาอาชีพและคว้าเหรียญทองแรกให้กับประเทศไทย ต่อมามีครอบครัวและตั้งท้องแต่ก็ค่อนข้างเสี่ยงเนื่องจากอายุมากและร่างกายไม่แข็งแรง หลายคนกังวลและแนะนำให้เอาออก แต่เราอยากมีลูก จึงพร้อมยอมรับได้ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นแต่ดูแลตัวเองอย่างดีจนในที่สุดก็คลอดลูกออกมาอย่างสมบูรณ์แข็งแรง นั่นคือสิ่งที่วิเศษที่สุด  อยากจะบอกทุกคนว่า ขอเป็นตัวแทนต่อสู้เพื่อความเป็นแม่ ทุกคนมีสิทธิ สิทธิที่จะเลือกได้ และสิทธิเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกันทุกคน

ขณะที่ นางสาวคริสติน่า อากีล่าร์ Queen of Dance เมืองไทย กล่าวว่า การใช้ความรุนแรงยังส่งผลกระทบในระดับนโยบายของประเทศไทยและในระดับโลกด้วยเพราะเป็นการกระทำที่ขวางกั้นทำให้เราไม่สามารถบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน  หรือ Sustainable Development Goal เป้าหมายที่ 5 หรือ SDG 5 ที่มุ่งเน้นให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ ให้ยุติหรือขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง อีกทั้งขอให้กำลังใจ Survivors หรือผู้ข้ามผ่านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทุกท่าน และขอยืนยันในจุดยืนว่า ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศเป็นการกระทำที่ไม่สามารถยอมรับได้ในทุกกรณี ไม่ว่าจะต่อเพื่อนมนุษย์คนไหนก็ตาม

ภายในงาน UNFPA ยังได้มอบโล่เกียรติคุณให้แก่หน่วยงานภาคีที่ร่วมดำเนินโครงการสำคัญจนสำเร็จลุล่วงในปีนี้ ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมกิจการผู้หญิงและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาทางสังคมและมนุษย์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งประกาศความร่วมมือกับบริษัท Reckitt เพื่อมุ่งมั่นและผลักดันให้โลกปราศจากความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง และจะรณรงค์อย่างไม่หยุดยั้งจนกว่าความรุนแรงจะหมดไป

ทั้งนี้ UNFPA ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรเพื่อผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และหุ้นส่วนอื่นๆ ในการพัฒนามาตรฐานด้านบริการที่จำเป็นสำหรับเหยื่อจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ทั้งจิตสังคมบำบัด กฎหมาย ที่อยู่อาศัย และผลพวงเกี่ยวกับสุขภาพหลังเกิดเหตุรุนแรง เช่น การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์  ซึ่งประเทศไทยมีกรอบทางกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559  เพื่อส่งเสริมกลไกแบบบูรณาการระหว่างกระทรวงต่างๆ และร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมทั้งคนหนุ่มสาว เพื่อให้มั่นใจถึงการให้บริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์แก่ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ทุกคนรวมทั้งเด็กหญิงและวัยรุ่น

ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า ประเทศไทยมีประชากรเกิน 71 ล้านคน  และโลกมีการเฉลิมฉลองประชากร 8 พันล้านคนเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันเด็กที่เกิดในยุคดิจิทัลมีจำนวนน้อยลง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธ ด้วยอัตราการเกิดที่ต่ำ ทำให้ทรัพยากรมนุษย์ตึงเครียดสำหรับการพัฒนาในอนาคต ในขณะที่การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วทำให้โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างไม่ต้องสงสัย  รวมถึงจำนวนเด็กและประชากรวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง   การเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นจะทำให้การเติบโตของประเทศลดลง   โครงสร้างประชากรของไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มีลักษณะของครอบครัวที่หลากหลายมากขึ้น ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย  ซึ่งจะส่งผลต่อความเจริญเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจสวนทางกับทิศทางการพัฒนาประเทศ 

ผู้สนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ UNFPA ได้ที่  https://thailand.unfpa.org

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'คริสติน่า' เยือนเชียงราย กับภารกิจเพื่อเพื่อนมนุษย์

คนค้นฅน Special สัปดาห์นี้ พาไปสัมผัสรสชาติความงดงามของมิตรภาพ ความห่วงใย และพลังใจที่เพื่อนมนุษย์มีให้แก่กัน ใน ภารกิจเพื่อเพื่อนมนุษย์ ของ UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย โดยภาคีหลักอย่าง บริษัท นินจา เพอร์เฟคชั่น จำกัด (NINJA Perfection) จับมือ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด (TVBG) ร่วมสร้างแนวคิดและมุมมองใหม่กับภารกิจครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ในครั้งนี้

'คริสติน่า' เดินหน้าลงพื้นที่สานต่อภารกิจเพื่อสังคม

ถือเป็นความมุ่งมั่นและส่งต่อกำลังใจที่ยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง กับศิลปินหญิงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในอุตสาหกรรมเพลงไทย คริสติน่า อากีล่าร์ หลังได้รับการแต่งตั้งจาก UNFPA เป็น Champion of UNFPA คนแรกของประเทศไทย ได้สานต่อและผลักดันให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยตระหนักถึงความเสมอภาคทางเพศ และยุติความรุนแรง

UNFPA ร่วม “ขบวนบางกอกไพรด์ 2023” หนุน 6 ประเด็นรณรงค์ เฉลิมฉลอง “Pride Month” โอบกอดความแตกต่างในเดือนแห่งความภาคภูมิใจความหลากหลายทางเพศ

นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า กองทุนประชากรแห่งสหประชาติ หรือ UNFPA หนึ่งในองค์กรของสหประชาติในประเทศไทยซึ่งมีอยู่ 21 องค์กร

UNFPA ร่วมกับ UNDP และ Thailand Policy Lab จัดนิทรรศการพร้อมเสวนา “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง “Pride Month” เดือนแห่งความภาคภูมิใจความหลากหลายทางเพศ

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ Thailand Policy Lab จัดนิทรรศการและเสวนาหัวข้อ “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” พร้อมเชิญชวนร่วมเฉลิมฉลองความหลากหลายและการโอบกอดความแตกต่างในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ “Pride Month” ณ สยามเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ

'คริสติน่า' ได้รับการแต่งตั้ง เป็น Champion of UNFPA

ถือว่าเป็นความมุ่งมั่นและขับเคลื่อนสังคมอย่างต่อเนื่อง เมื่อ UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund) ประกาศแต่งตั้งศิลปินหญิงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในอุตสาหกรรมเพลงไทย คริสติน่า อากีล่าร์ เป็น Champion of UNFPA คนแรกของประเทศไทย เพื่อร่วมสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศ การยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ส่งเสริมสิทธิสุขภาพทางเพศ-อนามัยการเจริญพันธุ์ และการพัฒนาชีวิตทุกช่วงวัย