พอช.จัดสัมมนาผู้นำชุมชนเพื่อขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ โดยมีพื้นที่นำร่อง 29 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมพลังของภาคประชาชน นำไปสู่ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง สามารถจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น ขณะที่ ดร.ศักดิ์ณรงค์ จาก ม.รังสิต เสนอ 4 แนวทางกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อสร้างความยุติธรรม จัดสรรงบประมาณได้ทั่วถึงและตรงกับความต้องการของประชาชน
ระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์นี้ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มีการจัดงาน ‘สัมมนาผู้นำชุมชนเพื่อขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ’ โดยมีผู้นำชุมชน ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล ภาคประชาสังคม ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เช่น สภาพัฒน์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช. เข้าร่วมประมาณ 60 คน
นายทองใบ สิงสีทา หัวหน้าสำนักประสานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน พอช. กล่าวว่า การพัฒนาชุมชนที่ผ่านมา มีการทำงานแบบแยกส่วน หรือต่างคนต่างทำ ผู้นำขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้เสนอแนวคิดการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการขึ้นมา เพื่อสนับสนุนให้เกิดการหลอมรวมพลังของผู้นำชุมชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อออกแบบงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและกำหนดเป้าหมายร่วมกัน
โดยสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนงานตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับจังหวัด ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้ามาสนับสนุนงานพัฒนา ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและความต้องการของประชาชนในจังหวัด
“การผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดเป็นจริง จำเป็นต้องร่วมมือกันหลายภาคส่วน เพื่อสร้างโอกาสและเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดให้ตกผลึกร่วมกัน และนำออกเผยแพร่เพื่อสร้างกระแสทางสังคมทั้งในแวดวงวิชาการและการผลักดันเป็นข้อเสนอต่อหน่วยงานสนับสนุนต่าง ๆ จึงจัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อสร้างความเข้าใจ แนวคิด แนวทางการขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการให้แก่ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม และคณะทำ งานสนับสนุนให้เกิดความรู้ความเข้าใจเป้าหมายและทิศทางที่ตรงกัน” นายทองใบในฐานะผู้จัดการงานสัมมนาครั้งนี้กล่าว
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ฯ กล่าวว่า พอช.ได้สนับสนุนการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว มีการจัดตั้งสภาฯ เกือบเต็มพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 7,795 แห่ง โดยสภาฯ มีภารกิจตาม พ.ร.บ. คือ การจัดทำแนวทางการพัฒนาจังหวัดเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และเป็นแนวทางในการบูรณาการจังหวัด เป็นพื้นที่บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ
เพื่อเชื่อมโยงหนุนเสริมการทำงานร่วมกัน
การสัมมนาวันนี้ เป็นการวางแผนการจัดทำแผนบูรณาการพื้นที่ด้วยตนเอง โดยมีพื้นที่ดำเนินการขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ 29 จังหวัดเป็นพื้นที่จังหวัดนำร่อง โดยเป็นทั้งจังหวัดบูรณาการและพื้นที่จังหวัดแก้ไขปัญหาความยากจน ตามรูปแบบโมเดลการแก้ไขปัญหาความยากจน มีเป้าหมายเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนี้
นายกฤษดา ผอ.พอช.
1. ส่งเสริมพื้นที่จังหวัดเป้าหมาย ให้มีการฟื้นฟูสภาองค์กรชุมชนตำบล สร้างความเข้มแข็งมากขึ้น และฟื้นฟูสภาองค์กรชุมชนที่อ่อนแอ 2.เกิดการบูรณาการ นำไปสู่การจัดทำแผนแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัด และเชื่อมโยงแก้ไขปัญหาได้ทุกมิติ 3.เกิดการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลหนุนเสริมการแก้ไขปัญหา และนำไปวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4.ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง สามารถรองรับต่อการพัฒนาประเทศ 5.สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อเข้ามาพัฒนาประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ 20 ปีของ พอช. คือ ‘ชุมชนเข้มแข็งเต็มพื้นที่ท้องถิ่นประเทศไทย’
“ความคาดหวังในเวทีวันนี้ คือ เพื่อให้เกิดการสร้างเครื่องมือในการสนับสนุนขับเคลื่อนงาน และการบูรณาการองค์ความรู้ที่ได้จากผู้นำจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป และมีแนวทางในการดำเนินงาน รวมถึงการบริหารจัดการการทำงาน สร้างพลังในการจัดการแก้ไขปัญหา และการมีทีมบุคลากรช่วยหนุนเสริมการทำงานในแต่ละจังหวัด พัฒนาการทำงานอย่างมีคุณภาพ สร้างความมั่นคง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไปในอนาคต” ผอ.พอช. กล่าว
ทั้งนี้พื้นที่ 29 จังหวัดนำร่องที่จะขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ ลำปาง ยโสธร มหาสารคาม ขอนแก่น สกลนคร เลย ชัยภูมิ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สุพรรณบุรี สระบุรี ชัยนาท เพชรบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี สระแก้ว กระบี่ พัทลุง นครศรีธรรมราช ปัตตานี และยะลา
แนวคิดการกระจายอำนาจ-การขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ
ดร.จันทวรรณ วรรธนะพงษ์ ผู้อำนวยกองยุทธศาสตร์และประสานงานภาค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อให้ผู้เข้าสัมมนาเกิดความเข้าใจเพื่อนำไปขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ มีใจความว่า
ดร.จันทวรรณ จากสภาพัฒน์
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว (พ.ศ. 2561 - 2580) โดยการสร้างความมั่นคงในสิ่งแวดล้อม การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเรื่องเศรษฐกิจ การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาคนในทุกมิติและทุกช่วงวัย การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยเน้นการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เน้นการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
การปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารรัฐ ซึ่งการเชื่อมโยงแผนระดับ 1 สู่ระดับ 2 และการเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ชาตินำไปสู่การพัฒนาและการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้การจัดทำแผนต้องมีกระบวนการศึกษาปัจจัยและแนวโน้ม การเปลี่ยนแปลง เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ได้แก่
1.ความก้าวหน้าเทคโนโลยี 2.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร 3.การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ 4.การเปลี่ยนแปลงวิถีวัฒนธรรม สุขภาพ และผลกระทบระยะยาวจากโควิด ที่สร้างแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ผลกระทบทางสาธารณสุข และสร้างการถดถอยการเรียนรู้ของประชาชน สร้างปัญหาความยากจนที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขาดการเข้าถึงของหน่วยงานให้การสนับสนุน การบริหารจัดการภาครัฐที่มีช่องว่าง
ความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบดังกล่าวนี้ นำมาสู่กระบวนการยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่มีการรับฟังความเห็นจากส่วนที่เกี่ยวข้อง หลักการแนวคิดของแผนในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาสังคม การสร้างโอกาสและความเป็นธรรม การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ และเสริมสร้างเป้าหมายในการผลิตทั้งภาคเกษตรและเทคโนโลยี การพัฒนาการท่องเที่ยว ส่งเสริมประตูการค้าด้านการลงทุนและโลจิสติกส์
การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับนี้ มุ่งสร้างความยั่งยืนให้แก่ประชาชนในเรื่องของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดความยากจนแบบข้ามรุ่น และการยกระดับการคุ้มครองทางสังคม
“แนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฉบับที่ 13 เน้นการพัฒนาและขับเคลื่อนกลไกในระดับพื้นที่มากขึ้น โดยลงลึกระดับตำบลแนวลึก เกิดการเชื่อมโยงสร้างเครือข่ายในระดับพื้นที่ ซึ่งมีพื้นที่นำร่องตำบลในจังหวัดอุดรธานี สระบุรี นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน พังงา เพื่อศึกษาประเด็นปัญหาและความต้องการของพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลมีกลไกคณะทำงาน ฯ ที่เป็นกลไกออกแบบการจัดทำแผน เพื่อให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผน รับฟังความเห็น การปรึกษาหารือร่วมเรื่องแผนที่เชื่อมโยงกับความต้องการของประชาชน” ดร.จันทวรรณกล่าว
ทิศทางการขับเคลื่อนภาคประชาชน
นายพลากร วงศ์กองแก้ว อดีตผู้อำนวยการ พอช. นำเสนอทิศทางการขับเคลื่อนภาคประชาชน โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง มีสาระสำคัญว่า ขบวนการประชาชนเป็นขบวนการที่สำคัญมากในการขับเคลื่อน โดยมุ่งให้สภาองค์กรชุมชนตำบลตื่นตัว ลุกขึ้นมาเสนอปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนา ซึ่งมีแนวทางในการบูรณาการกับพื้นที่ ได้แก่ การประเมินความต้องการของชุมชน ประสานเชื่อมโยงแผนนโยบาย ขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติการ พร้อมทั้งสร้างพื้นที่รูปธรรม
นายพลากร อดีต ผอ.พอช.
เช่น ประเด็นการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการพัฒนาเชิงท่องเที่ยว การเกษตร การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และยกระดับการค้าการลงทุน รวมถึงการจัดการปัญหาเชิงรุกในการแก้ปัญหาหมอกควัน โดยมีกลไก คือ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน รวมพื้นที่อำเภอทุกอำเภอในการบูรณาการขับเคลื่อนตามแผน ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล
“สภาองค์กรชุมชนต้องหันหน้าเข้าหาหน่วยงาน ประสานความร่วมมือของเครือข่ายองค์กรชุมชน จัดทำพื้นที่รูปธรรม และขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียง โดยการบูรณาการนั้น จำเป็นต้องลงไปศึกษาพื้นที่ และสร้างระบบการทำงาน จัดทำข้อมูลของพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำฐานข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อการทำงานร่วมกับหน่วยงาน จำเป็นต้องริเริ่มการทำงานแบบใหม่ทั้งระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน โดยใช้ประชาชนและพื้นที่เป็นเครื่องมือดำเนินการขับเคลื่อน” นายพลากรเสนอความเห็น
ใช้กลไกความร่วมมือ สร้างเป้าหมายร่วม
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวในประเด็นการกระจายอำนาจการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นว่า ต้องทำความเข้าใจโครงสร้างการขับเคลื่อนและการพัฒนาเชิงพื้นที่จังหวัด ซึ่งมีแนวคิด 4 ด้าน ได้แก่
ดร.กิตติ จาก บพท.
การปฏิรูปงบประมาณเชิงพื้นที่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมและชุมชน และการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยทั้งหมดนี้ต้องอาศัยกลไกความร่วมมือ สร้างเป้าหมายร่วม สร้างกติกาและการเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านกระบวนการสร้างการเรียนรู้ การจัดการความรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ และกระบวนการจัดความสัมพันธ์ ซึ่งกระบวนการปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ การสร้างความร่วมมือจากระดับพื้นที่ การเรียกร้องสิทธิการกระจายอำนาจ และขบวนการต่อสู้ของภาคประชาชน
“เช่น การสร้างชุมชนพื้นที่ทางวัฒนธรรม หรือการใช้ฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในชุมชน พัฒนาพื้นที่รูปธรรม รวมไปถึงการสร้างพลังความร่วมมือ สร้างการเรียนรู้จังหวัดที่เกิดรูปธรรมและการยอมรับ ต้องอาศัยทุนเดิมในการขับเคลื่อน การช่วยเหลือซึ่งกันในพื้นที่ รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปออกแบบการพัฒนา รวมไปถึงบริหารจัดการข้อมูลสู่การปฏิบัติการ และแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ เป็นต้น” ดร.กิตติยกตัวอย่างการขับเคลื่อนเพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
“ถ้าอำนาจรัฐกระจุกตัวมากขึ้น ประชาชนจะอ่อนแอ”
ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีใจ ความว่า ปัญหาที่ประชาชนประสบ หน่วยงานรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ มีแนวโน้มไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้ผิดกระบวนการ รวมศูนย์อำนาจมากเกินไป จึงต้องมีการเรียกร้องสิทธิในการกระจายอำนาจให้เป็นของประชาชน เพื่อสร้างความยั่งยืน สร้างสมดุลย์ของผลประโยชน์เพื่อนำมาสู่ประชาชนอย่างแท้จริง และเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกคน ทั้งในเรื่องของโครงสร้างอำนาจ และชาติพันธุ์ ลดปัญหาการต่อต้านและแย่งชิงต่าง ๆ
ดร.ศักดิ์ณรงค์ จาก ม.รังสิต
“ถ้าอำนาจของรัฐเกิดการกระจุกตัวมากขึ้น จะทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมมากขึ้น ประชาชนอ่อนแอลงเรื่อยๆ หากมีการกระจายอำนาจ จะทำให้พื้นที่เข้มแข็งมากขึ้น จัดสรรงบประมาณได้ทั่วถึงและครอบคลุมได้ตรงกับความต้องการของประชาชน โดยการกระจายอำนาจ จำเป็นต้องสร้างความสมดุลของอำนาจ ชุมชนสามารถใช้อำนาจได้อย่างสมดุล การจัดการพื้นที่ สร้างพื้นที่กลาง เปิดรับฟังปัญหาและความต้องการ” ดร.ศักดิ์ณรงค์กล่าว
ส่วนแนวทางการกระจายอำนาจที่สำคัญ มี 4 แนวทางดังนี้ 1.การปรับโครงสร้างอำนาจรัฐและระบบราชการ เพื่อทำให้โครงสร้างทางสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง 2.การเพิ่มความเข้มแข็งภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพทางการเงินของ อปท. เสริมสร้างความร่วมมือในองค์กรระหว่างท้องถิ่น และพัฒนาระบบธรรมาภิบาลท้องถิ่น
3.ขยายสิทธิและเสรีภาพให้แก่ประชาชน โดยให้สิทธิอำนาจให้ประชาชนในการแสวงหาประโยชน์ และเคลื่อนไหวกำลังในการจัดการตนเอง สามารถเข้าถึงทรัพยากรอย่างทั่วถึง มีส่วนร่วมในการจัดการวิถีชีวิต ร่วมจัดทำบริการสาธารณะ และการตรวจสอบการดำเนินงานรัฐ
และ 4.การสร้างพื้นที่จัดการตนเองในภาคชุมชนและภาคประชาสังคม โดยการปกครองตนเอง จัดการตนเองเป็นหัวใจสำคัญในการกระจายอำนาจ สร้างขบวนการของตนเอง ยืนยันความเป็นพลเมืองและสิทธิ รวมถึงเป็นหลักประกันที่ดีในการสร้างความยุติธรรมในสังคม
ทั้งนี้ในการสัมมนาครั้งนี้ จะมีการแบ่งกลุ่มย่อยแต่ละภาค เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่และเป้าหมายการขับเคลื่อนงานจังหวัดบูรณาการ แนวทางและวิธีการที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย กลไกร่วมในการขับเคลื่อนงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย แผนปฏิบัติการและจังหวะก้าว จากนั้นจะมีการออกแบบแผนการขับเคลื่อนงานร่วมกัน รวมทั้งทิศทางในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของผู้แทนหน่วยงานภาคี เพื่อนำไปสู่เป้าหมายจังหวัดบูรณาการต่อไป
เรื่องและภาพ : สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’
พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ