เปิดหลักสูตร“ก่อการครูแพทย์" ป้องกันภาวะหมอ..หมดไฟ

ทำไม?!? ครูที่สวมเสื้อกาวน์สีขาวสอนนิสิตนักศึกษาแพทย์จึงหมดไฟในการทำงานอย่างรวดเร็ว ไม่มีความสุขในการสอน ทั้งๆ ที่อยู่กับนาทีความเป็นความตายของคนไข้ตรงหน้า

เมื่อครูแพทย์และ นศ.แพทย์เจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตสูงขึ้นทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทย ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เกิดปัญหาในการทำงาน มีความทุกข์ในการใช้ชีวิต ครูแพทย์ใช้คำพูดจี้จุดการกระทำจนนักศึกษาแพทย์ร้องไห้ เกิดความเบื่อหน่ายที่จะเรียนรู้ พฤติกรรมฉีกงานของนักศึกษาแพทย์ต่อหน้าคนไข้ และ ฯลฯ

ประเด็นปัญหานี้ ถ้าเจาะลึกลงไป ถ้าครูแพทย์มีความสุขในการทำงาน ก็จะไม่มีพฤติกรรมเช่นนี้ให้ได้เห็น จึงเป็นหัวข้อที่อาจารย์แพทย์กลุ่มหนึ่งร่วมกันถอดบทเรียน transformative Learning กิจกรรมในโรงเรียนวิทยากร Reunion ตั้งแต่ปี 2563 และจัดตั้งเป็นชมรมก่อการครูแพทย์ โดยจัดหาเครื่องมือในการเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ครูแพทย์จำเป็นต้องเรียนรู้ ยิ่งในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร งานวิจัย ด้วยการนำเสนอทางเลือกใหม่ให้มาช่วยกันเรียนรู้ ความสุขในการสอน ความสุขของผู้เรียน แม้จะเหน็ดเหนื่อยแต่ก็มีความสุข นักเรียนแพทย์ที่มีความสุขจะเติบโตเป็นแพทย์ที่มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ แบ่งปันให้ผู้ป่วยและญาติมิตรของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดียิ่ง

รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ThaiHealth Academy สานพลังบุคลากรทางการแพทย์กว่า 14 ชีวิต เปิดหลักสูตร “ก่อการครูแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์” พัฒนาศักยภาพครูแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการ Transformative Learning ออกแบบการเรียนการสอน ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากกว่าการนั่งเขียนเลกเชอร์ สอดแทรกวิธีการจัดการอารมณ์ตนเอง เสริมทักษะการสังเกตผู้เรียน ลดความเครียด ที่เป็นต้นเหตุนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน (BURNOUT SYNDROME) และโรคซึมเศร้าในนักศึกษาแพทย์ เมื่อเร็วๆ นี้

“สุขภาพหรือสุขภาวะในมิติของการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. ประกอบด้วย 4 มิติ กาย จิต ปัญญา สังคม หลักสูตรนี้จะเน้นสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เสาหลักของคำว่าสุขภาวะ (Well-being) เรื่องเนื้อหาที่เยอะไม่ใช่ต้นเหตุความเครียด แต่จะทำอย่างไรให้ครูและนักศึกษาแพทย์สนุกไปกับการเรียนการสอนพร้อมกัน สร้างการสื่อสารที่ดี ลดช่องว่างระหว่างครู ลูกศิษย์ เกิดห้องเรียนสุขภาวะ การเปลี่ยนแปลงครู คือจุดเริ่มต้นผลิตแพทย์พันธุ์ใหม่ เปลี่ยนระบบสุขภาพให้มีหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized Healthcare) ความตั้งใจของ ThaiHealth Academy คือการนำหลักสูตรนี้ ขยายนวัตกรรมองค์ความรู้ ทักษะ เจตนารมณ์ไปโรงเรียนแพทย์ต่างๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้วงการแพทย์เห็นความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดีมากขึ้น"

ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ประธานชมรมก่อการครูแพทย์ ที่ปรึกษางานกิจการนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  ผลงานวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชปี 2562 พบนักศึกษาแพทย์มีภาวะหมดไฟในการทำงานร้อยละ 30 นำไปสู่การป่วยโรคซึมเศร้าร้อยละ 7 ส่วนหนึ่งจะเป็นผู้หญิง และเมื่อสำรวจครูแพทย์พบว่า 40% หมดไฟในการทำงาน สถิติเป็นเช่นนี้เหมือนกันทั่วโลก

คณะทำงานรวบรวมองค์ความรู้เพื่อหาต้นตอและเครื่องมือที่ช่วยแก้ไขทดลองหลักสูตรมากว่า 2 ปี มีครู นักศึกษาแพทย์ที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก เพราะเราไม่ได้ใช้เครื่องจักรรักษาคน การเรียนรู้ทั้งความรู้ ความรู้สึก การลงมือ (Head Heart Hand) ช่วยทำให้ผู้เรียนมีแรงบันดาลใจ เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง ซึ่ง ThaiHealth Academy มีเป้าหมายตรงกันที่อยากพัฒนาศักยภาพครูแพทย์ และระบบสุขภาพไทย ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ จึงเกิดเป็นหลักสูตร ก่อการครูแพทย์

“งานปฏิรูปทางการแพทย์ครั้งใหญ่ ทำให้เกิดมุมมองครูแพทย์ นศ.แพทย์ที่จะต้อง Perfect บางครั้งก็ผิดพลาดได้ ครูก็มนุษย์ปุถุชนธรรมดา เครียดได้ หมดไฟได้ ซึมเศร้าได้ เราต้องรู้จักตัวเองให้ได้ เราต้องสร้างโมเดลที่ดี อาจารย์แพทย์ที่สอนเก่ง เราเชิญนักศึกษาแพทย์มาเสวนา เรื่องภาวะหมดไฟ หรือข่าววัฒนธรรมกินหัวในวงการแพทย์ ช่วยกันคิดสาเหตุ ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้น คือ

1.การสื่อสาร ที่เป็นเชิงลบระหว่างครูและนักศึกษาแพทย์ คำพูดที่รุนแรงส่งผลให้เกิดความรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง 2.ความสัมพันธ์ บรรยากาศการเรียนการสอนที่เครียดเกินไป รวมถึงช่องว่างระหว่างวัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ห่างกัน 3.การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตใน สถาบันการแพทย์ต่างๆ ยังเข้าถึงยาก เมื่อมีปัญหา ไม่รู้จะปรึกษาใคร ไม่กล้าเข้าหาอาจารย์ เกิดความเครียดสะสม นำไปสู่ภาวะหมดไฟ อาการรุนแรงขึ้นจนป่วยโรคทางจิตในที่สุด” ผศ.นพ.พนม เกตุมาน กล่าว

“การเรียนแพทย์เป็นค่านิยมของสังคม และความคาดหวังของสังคม ดังนั้นเมื่อเรียนจนถึงปี 4 เมื่อรู้ตัวว่าไม่ชอบก็ถอนตัวไปเรียนอย่างอื่นได้ยาก เนื่องจากครอบครัวตั้งความหวังไว้แล้วว่าอีกเพียง 2 ปีก็จะเรียนจบแล้ว ดังนั้นก่อนเรียนแพทย์ต้องเตรียมพร้อมด้านความคิด  ไม่ใช่เรียนเพื่อเอาเกรดอย่างเดียว หากต้องทำงานเป็นแพทย์ที่ดี ทำงานด้วยความรักและเห็นคุณค่าของการเป็นแพทย์

 

จากใจครูแพทย์..ก็มนุษย์ปุถุชนมีสุขมีทุกข์

 ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) อดีตผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข

สังคมให้ความคาดหวังกับครูแพทย์และนักศึกษาแพทย์เป็นอย่างสูง ยิ่งในระบบตลาดการลงทุนแทรกแซง ม.ล.ปิ่น มาลากุล (บุคคลสำคัญของโลก ศิลปินแห่งชาติ อดีต รมต.ศึกษาธิการ) เคยกล่าวเป็นบทกลอนครูกล้วยไม้ไว้ว่า “กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น ศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม” กว่านักศึกษาแพทย์จะสำเร็จผลิดอกออกผล เราต้องใช้ความพยายามในการดูแลโดยไม่รู้ว่าจะออกดอกเมื่อไหร่ แต่ละนาทีเปลี่ยนชีวิตได้

คุณค่าของความเป็นครูทำให้เกิดความสุขจากการเรียนรู้ บางคนมีความสุขที่ไม่ต้องมีการสอบ สบายๆ กับการรับเงินเดือน หรือทำงานโดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการสอนนักศึกษาแพทย์ ได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายด้วยความปีติบางอย่าง เราจะทำอย่างไรเมื่อเหนื่อยมากจากการทำงานมากเท่าไหร่แต่ก็มีความสุข เรามาเรียนรู้ระบบเลียแข้งเลียขาผู้ใหญ่ในที่ทำงาน ระบบเช้าชามเย็นชามนั้นเป็นเรื่องในองค์กรที่เป็นเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่น เรื่องจินตนาการ การสร้างวิสัยทัศน์ เราปรารถนาอะไร การเรียนเพื่อมุ่งสร้างอุดมคติมากน้อยเพียงใด เราก็ต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์มาก่อนด้วย

ครูแพทย์ นักเรียนแพทย์มีสุขและมีทุกข์ได้ การศึกษาสมัยใหม่ทำให้คนเหมือนๆ กัน เหมือนกับการผลิตปลากระป๋อง ตัดหัวตัดหางเพื่อให้ลงกระป๋องให้ได้  ไม่อนุญาตให้คนเติบโตด้วยปัจเจกชนอย่างสมบูรณ์ เราจะให้แพทย์เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ศิลปะเข้าใจถึงงานที่ตัวเองทำ สิ่งหนึ่งที่หายไปจาก นศ.แพทย์ก็เพราะเราเร่งผลิตแพทย์ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูแพทย์และนักเรียนแพทย์จากเดิมที่เป็นกัลยาณมิตรที่ดี เมื่อทุกข์ใจก็เข้าไปปรึกษาหารือได้ แม้จะย้ายไปอยู่ รพ.อำเภอ ก็กลับเข้ามาหาครูบาอาจารย์ได้เสมอ บางครั้งแพทย์ที่จบใหม่ต้องทำงานบริหารการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่งานที่ถนัด

ผมตั้งคำถามว่านิสิตแพทย์ 100 คน มี 10-15 คนเรียนอ่อน เราอยู่เฉยๆ ได้ไหม หรือว่าไม่ควรอยู่เฉยๆ เพราะเขาก็ต้องรับผิดชอบผู้ป่วย เราก็เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน เราเอาตัวรอดได้ เพื่อนเรียนเก่งช่วยเพื่อนที่เรียนไม่ทัน รร.แพทย์หล่อหลอมการสร้างคุณค่าให้ติดตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเราต้องใช้ Hand Head Heart เป็นสิ่งสำคัญ ผมมารู้ตัวว่าชอบอาชีพแพทย์เมื่ออายุ 40 กว่าแล้ว เราอยากเป็นแพทย์อยากไปรักษาคนไข้ การได้ทำงานในชุมชนกับชาวบ้านจึงเป็นเรื่องสนุกมาก

ผมเรียนด้านมานุษยวิทยาเพิ่มเติม ทำให้คลุกวงในของชีวิตมากยิ่งขึ้น การสร้างกระบวนการเรียนรู้เป็นเรื่องที่ทำให้คนเปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาว วิธีคิด เทคนิคการทำงาน การจัดตั้งครูแพทย์ นศ.แพทย์เป็นเครือข่ายอยู่ในสถานที่ต่างๆ ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ปุถุชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ไขคำตอบ..ออกกำลังกายเป็นนิจ ตัวช่วยอายุยืนยาวห่างไกล NCDs

อุบัติการณ์โรคในยุคนี้ปรากฏว่า "โรคไม่ติดต่อ (NCDs)" กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี

เปิดผลสำรวจวัยโจ๋ ขีดเส้นสนามกีฬาฟุตซอล ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน

เครือข่ายงดเหล้า และสสส. ส่งเสริมกีฬาเยาวชนจัดฟุตซอล No-L ชิงถ้วยพระราชทานฯ รร. ราชวินิต มัธยม คว้าแชมป์ไปครองสมัยที่ 2 ด้วยสกอร์ 6:0 ในขณะที่ผลสำรวจร้อยละ 90 ต้องการให้สนามแข่งไม่ดื่ม ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน และร้อยละ 84.8 คิดว่ากีฬาฟุตซอลทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าของตัวเอง