ร่วมกันออกแบบสังคมปลอดภัย ไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรง

ตาม Sustainable Development  Goals-SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ข้อ 5.2 ระบุว่า ให้การขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวเป็นเป้าหมายที่ประเทศต่างๆ ต้องให้ความสำคัญและทำให้บรรลุเป้าหมาย

แต่ทว่า..ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น มีรายงานชี้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงทั่วโลก ปัญหาที่ยังพบคือ “ความรุนแรงในครอบครัว” และ “ความรุนแรงทางเพศ” ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทย อ้างอิงจากข้อมูลองค์การสหประชาชาติ พบว่าประเทศไทยมีสถิติคดีความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกอย่างต่อเนื่อง  และพบ 1 ใน 3 เป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจ ขณะที่มีกลุ่มผู้หญิงที่กล้าออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่ถูกกระทำรุนแรง และร้องขอความช่วยเหลือจำนวนน้อยมาก

งานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน" โดยหยิบยกหัวข้อ "พื้นที่ปลอดภัยเพื่อลดปัญหาความรุนแรง ..สร้างได้" เพื่อระดมสมองและความคิดเห็นในการออกแบบสังคมปลอดภัย สร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพของประชากรกลุ่มเฉพาะ จึงได้มีการจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ อิมแพ็ค ฟอรัม เมืองทองธานี โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส.เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อน ตั้งใจให้งานนี้เป็นพื้นที่กลางของการส่งเสียงที่ยังแผ่วเบาให้มีพลังมากขึ้น กระตุ้นทุกฝ่ายให้ฉุกคิดถึงปัญหาที่เกิดในสังคม และส่งเสียงไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมกันสนับสนุนและแก้ปัญหาสังคมในมิติต่างๆ ที่อาจตกหล่นไป เพื่อเหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรงและสังคมที่ปลอดภัยน่าอยู่ร่วมกัน

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ชุมชนปลอดภัย พื้นที่ปลอดภัยสร้างได้ ขอให้ทุกคนตระหนักถึงพลังสร้างสรรค์นี้ โดยเฉพาะ "เหยื่อ" ความรุนแรง และคนในครอบครัวต้องผนึกกำลังสร้างพื้นที่ดังกล่าว

"เมื่อมีปัญหาในชุมชน แม้ผู้หญิงไม่ได้ทำความผิด แต่อยู่ในชุมชนไม่ได้ ต้องออกไปจากชุมชน ในขณะที่คนสร้างปัญหากลับอยู่ได้ ฉะนั้นเมื่อผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงในชุมชน เราต้องยืนยันที่จะอยู่ในชุมชน คนที่ใช้ความรุนแรงควรจะได้รับการลงโทษติดคุก คนที่ประสบปัญหาเผชิญกับความรุนแรงต้องใช้การสื่อสารอย่างมีพลัง เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่ามีการรังแกกันในสังคม" นายจะเด็จกล่าว และชี้แนะว่า

เมื่อมีการรับรู้ปัญหาจะต้องมีการแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง กลไกของรัฐจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ยิ่งรับรู้ว่ามีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ทั้งนี้ หน่วยงานที่พึ่งพาได้คือ ศูนย์พึ่งได้ OSCC ทั่วประเทศเด็กสตรีถูกกระทำความรุนแรง มีพนักงานสอบสวน มีกลไกการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทั้งนี้ผู้ประสบปัญหาต้องกล้าที่จะบอกกับสังคมว่าเกิดความรุนแรงจริง

“การที่ออกไปนอกบ้าน ไม่มีงานทำ เป็นปัญหาใหญ่ในสังคม ปัญหาผู้หญิงถูกฆ่าตายมาจากความรุนแรงสูงมาก โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยทำงาน สังคมต้องตระหนักเรื่องนี้ให้มากด้วย ขอตั้งคำถามว่าเมื่อผู้หญิงต้องเผชิญกับความรุนแรง ทำไมต้องหนีหัวซุกหัวซุนด้วย ต้องไปหาปวีณาอย่างเดียวหรือ? เมื่อผู้หญิงเผชิญกับปัญหาความรุนแรง คุณต้องกลับไปอยู่ที่บ้าน บ้านที่สงบสุข เป็นเรื่องสำคัญมาก เรามีเครื่องมือศาลเยาวชนเด็กและครอบครัวคุ้มครอง การทำงานต้องร่วมมือกันเป็นทีม การมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืนในอนาคต” ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลปลุกเร้าความกล้าของผู้ถูกกระทำ

ในขณะที่ "นานา-วิภาพรรณ วงษ์สว่าง" ผู้ก่อตั้งเพจ Thai Consent และการ์ดเกม SexPlore  เรียนรู้เรื่อง Consent สำหรับคนรุ่นใหม่ กล่าวว่า ได้คิดการ์ดเกมเพื่อเรียนรู้เพศสัมพันธ์ที่ยินยอมพร้อมใจ

"เมื่อ 10 ปีก่อนมีประสบการณ์เมาแล้วถูกล่วงละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัย แต่วันนี้เป็นผู้รอดพ้นจากประสบการณ์ จึงขอใช้ศิลปะเล่าเรื่องราวผ่านการ์ดเกมในการสร้างสุขภาวะทางปัญญา ด้วยการทำงานกับ สสส.เข้าใจปัญหา ความหมายของการใช้ชีวิตให้มีความ friendly" นานากล่าว

การถ่ายทอดประสบการณ์จริงสู่ภาคปฏิบัติของนานา  คือการใช้งานดีไซน์ และองค์ความรู้ ออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรง อาทิ ออกแบบกางเกงในล็อกจิ๋มได้รับรางวัลและขายสินค้าได้ เครื่องมือชุดตรวจการถูกข่มขืนสำหรับพยาบาล เป็นต้น

ในฐานะนักศึกษาที่ร่ำเรียนจากฝรั่งเศส เธอเล่าว่า ในประเทศกลุ่มยุโรปมีการปักธงความเคลื่อนไหวต่อต้านความรุนแรง สร้างศูนย์ Hotline สำหรับผู้หญิงทั่วประเทศ บำบัดผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรง  บางคนถึงกับเสียชีวิต ประเทศฝรั่งเศสพบว่า 9 ใน 10 เป็นวัยรุ่นผู้หญิงอายุ 12-24 ปี ความรุนแรงเกิดจากคู่รัก ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากกำแพงภาษา บางครั้งแก้ไขได้ยากเพราะบางประเทศให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวสูงมาก แม้แต่เพื่อนสนิทก็ยังไม่ระบายเล่าเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ต้องใช้ล่ามเพื่อการสื่อสาร หรือการใช้เกมเพื่อทำให้ระบายปัญหา หรือการทำเป็นการ์ตูนดังที่สถาบันเกอเธ่จัดทำขึ้น การจัดทำกล่องขอโทษสำหรับคนที่พูดคำว่าขอโทษไม่เป็น

สำหรับ "แพท วงเคลียร์-รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย"  นักร้องที่สื่อสารประเด็นการลดความรุนแรงในคู่รัก เล่าถึงประสบการณ์การเขียนเพลงและร้องเพลงจากการเก็บเกี่ยวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม จากเพื่อน ญาติพี่น้อง เพื่อสื่อสารด้วยการเล่นดนตรีเป็นการดึงดูดเรื่องราวสู่สาธารณชน 90% มีความทุกข์เข้ามาหา ในฐานะนักร้องนักแต่งเพลงทำให้เขาสบายใจ เยียวยาเพราะเข้าใจในความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น นักร้องย่อมมีโอกาสเข้าถึงปัญหาได้ง่าย การเล่นดนตรีทำให้คนร้องไห้ได้ เมื่อได้พูดคุยเท่ากับเป็นการแบ่งเบาความทุกข์ให้คลายลงได้ คนที่มีปัญหาอยากพูดคุยกับคนที่เขาไว้ใจ คุยแล้วสบายใจ แม้จะไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวก็จริง

ความรุนแรงในคู่รักที่เล่าให้ใครฟังได้ยากลำบาก การที่กล้าออกมาพูด ขาข้างหนึ่งก้าวออกมาแล้ว ตามด้วยข้อความหลายพันข้อความเป็นแคมเปญสั้นๆ ยิ่งใครที่ยืนอยู่บนคอนโดฯ แล้วมองออกไปไกลๆ มีแสงไฟออกมาจากหลายคอนโดฯ ยังมีอีกหลายชีวิตที่ไม่ได้มีโอกาสระบายความทุกข์ที่อัดอั้นต้นใจออกมาเป็นเรื่องราวที่เรียกว่า The Cloud of Thought แปรเปลี่ยนให้เป็นแรงบันดาลใจดีๆ ออกมา ใครมีเรื่องที่อยากจะระบายความในใจ ช่วยพูดออกมา มีคนพร้อมที่จะรับฟังและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ชีวิตเป็นอย่างไร เหนื่อยไหม? ในเพจมีคนเขียนเข้ามา 2 หมื่นกว่าคน แต่มี admin เพียง 2 คนเท่านั้นที่เป็นอาสาสมัครมาดูแลจิตใจผู้คน

การทำหน้าที่แก้ไขปัญหาถือได้ว่าไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงของการเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง ถือได้ว่าเป็น Mission ใหม่ของหน้าที่ การเล่นดนตรีทำให้ได้เจอผู้คนมากมาย เป็นเปลือกเป็นโอกาสของหลายๆ คนที่จะเข้ามา ถ้าเราลดกำแพงเพื่อจะได้พูดคุยกับคนที่มีปัญหาติดค้างอยู่ในใจ ทุกคนรักตัวเอง พร้อมที่จะให้อภัยตัวเอง ขอบคุณตัวเอง เป็นเรื่องที่จะต้องพูดกันอยู่ทุกวัน

ปิดท้ายที่ สิตานัน สิทธิกิจ ผจก.กิจการองค์กรและสื่อสารสัมพันธ์ บ.ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผู้หญิง 1 ใน 3 ของทั่วโลกต้องเผชิญปัญหามายาคติ ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ การคุกคามทางเพศ ปัญหาสุขภาพทางการเงิน ความรุนแรงในคู่รัก  ในเมืองไทยตัวเลขความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่เกิดขึ้นจากคู่รัก คู่ชีวิต มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขจากมูลนิธิชายหญิงก้าวไกลเห็นสถิติแต่ละวัน เด็กผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศวันละ 7 คน มีการแจ้งความบ้างไม่แจ้งความบ้าง ที่ฟ้องร้องเป็นคดี 3 หมื่นราย/ปี เป็นตัวเลขจำนวนมาก แต่ยังมีอีกมากมายกว่านี้ที่อุบเรื่องไว้

ด้วยเหตุนี้ทางบริษัทต้องการให้ความรู้เพื่อกระตุ้นเตือนเด็กรุ่นใหม่ ผู้ใหญ่กล้าที่จะพูดเมื่อพบเห็นการล่วงละเมิดทางเพศ ด้วยการนำเสนอวีดิทัศน์สั้นๆ Abuse  is not Love เพื่อจะบอกให้รู้ว่าความรุนแรงคือความรุนแรง ต้องรู้สัญญาณความรุนแรง ความรุนแรงไม่ใช่ความรัก สัญญาณที่บ่งบอกว่าจะเกิดเหตุรุนแรงคือ 1 ใน 9 ดังนี้ 1.อาการเพิกเฉย เย็นชา 2.แบล็กเมล์ ถ้าเธอไม่ทำจะเอาเรื่องนี้ไปบอกกับคนอื่น 3.ทำให้อับอาย ประจานให้ขายหน้า 4.ปั่นหัว 5.แสดงอาการหึงหวง 6.การควบคุมเพื่อน 7.เข้ามาจัดการพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่น 8.การตัดขาดด้วยการยื่นเงื่อนไขให้เลือกระหว่างพ่อแม่เธอ หรือจะเลือกตัวฉัน 9.วิธีการข่มขู่ แบ่งตาม level ความรุนแรง

อนึ่ง ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิง กล่าวสรุปว่า เวทีนี้ให้โอกาสการทำงานของชุมชน หน่วยงานภาครัฐทำงานแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม ขณะนี้มีคนหน้าใหม่เป็นจิตอาสาเข้ามาทำงาน การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไม่ใช่เป็นปัญหาส่วนตัวที่จะต้องเผชิญกับการแก้ไขปัญหาโดยลำพัง ไม่ควรทอดทิ้งคนที่ต้องเผชิญกับความรุนแรง ดังนั้นการทำงานเป็นทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญ การร่วมมือกับหน่วยงาน อบจ. หน่วยงานภาครัฐ ใช้อำนาจทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการ.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ไขคำตอบ..ออกกำลังกายเป็นนิจ ตัวช่วยอายุยืนยาวห่างไกล NCDs

อุบัติการณ์โรคในยุคนี้ปรากฏว่า "โรคไม่ติดต่อ (NCDs)" กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี

เปิดผลสำรวจวัยโจ๋ ขีดเส้นสนามกีฬาฟุตซอล ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน

เครือข่ายงดเหล้า และสสส. ส่งเสริมกีฬาเยาวชนจัดฟุตซอล No-L ชิงถ้วยพระราชทานฯ รร. ราชวินิต มัธยม คว้าแชมป์ไปครองสมัยที่ 2 ด้วยสกอร์ 6:0 ในขณะที่ผลสำรวจร้อยละ 90 ต้องการให้สนามแข่งไม่ดื่ม ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน และร้อยละ 84.8 คิดว่ากีฬาฟุตซอลทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าของตัวเอง