ทัวร์ช้างที่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร ริมแม่น้ำกก อ.เมือง จ.เชียงราย
แม่น้ำกก เป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งของพม่าและไทย มีความยาวประมาณ 285 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดที่เมืองกก จังหวัดเชียงตุง ในรัฐฉานของพม่า ไหลเลาะเข้าสู่ประเทศไทยที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ไหลผ่านอำเภอต่างๆ ในจังหวัดเชียงรายลงสู่แม่น้ำโขงที่สบกก อำเภอเชียงแสน
ระยะทางที่แม่น้ำกกไหลผ่านประเทศไทยก่อนจะลงสู่แม่น้ำโขงมีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงผู้คนและสรรพสิ่งมาเนิ่นนาน เป็นแหล่งน้ำใช้ในการเกษตร และทำประมงพื้นบ้าน
นอกจากนี้น้ำกกยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่สำคัญ จ.เชียงใหม่ ผ่านหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ผ่านโตรกธารและทิวเขา สู่จุดหมายที่ปางช้างบ้านรวมมิตร อ.เมือง จ.เชียงราย หากเป็นการล่องแพและพักแรมจะใช้เวลา 2 วัน 1 คืน ส่วนเรือหางยาวใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง
ผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ริมน้ำกก จ.เชียงราย
ท่องเที่ยวชุมชนแห่งแรกที่ ‘บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร’
บ้านรวมมิตร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก อยู่ในเขตเทศบาลตำบลแม่ยาว อ.เมือง ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 11 กิโลเมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง ‘ปะกาเกอะยอ’ นับถือศาสนาคริสต์ นอกจากนี้ยังมีชาวอ่าข่า ลาหู่ ฯลฯ ประชากรประมาณ 2,400 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกสับปะรด เลี้ยงสัตว์ รับจ้างทั่วไป ค้าขาย และทำ ‘ทัวร์ช้าง’ เปิดบริการนักท่องเที่ยวทุกวัน ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น
พ่อหลวงกำพล เฉลิมเลี่ยมทอง ผู้ใหญ่บ้านรวมมิตร เล่าว่า ชาวบ้านรวมมิตรส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง ในอดีตจะใช้ช้างเป็นพาหนะ เพราะถนนหนทางยังไม่ดี ในปี 2518 จังหวัดเชียงรายเริ่มมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยว คนที่มีช้างจึงนำช้างมาให้นักท่องเที่ยวขี่ พาเไปชมธรรมชาติริมแม่น้ำกกและหมู่บ้านชนเผ่าต่างๆ เริ่มแรกมีช้างเพียง 4 ตัว
ต่อมาไกด์และบริษัทท่องเที่ยวได้นำรายการขี่ช้างที่บ้านรวมมิตรบรรจุไว้ในโปรแกรมการท่องเที่ยวเชียงราย จึงทำให้การขี่ช้างที่บ้านรวมมิตรมีคนรู้จักมากขึ้น และเมื่อมีการจัดทัวร์ล่องแม่น้ำกกจากท่าตอนมาที่เชียงราย ปางช้างที่บ้านรวมมิตรจึงกลายเป็นจุดหมายปางทางของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชอบการท่องเที่ยวแบบ Adventure สัมผัสกับธรรมชาติ จึงทำให้ทัวร์ช้างที่บ้านรวมมิตรได้รับความนิยม มีการจัดหาช้างจากจังหวัดต่างๆ มาให้บริการนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ช่วงปี 2554 จำนวนช้างที่บ้านรวมมิตรมีจำนวนถึง 35 เชือก
“ช่วงก่อนโควิดระบาด ปางช้างบ้านรวมมิตรมีช้างกว่า 30 เชือก มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย คนจีน และฝรั่งมาเที่ยว คิดราคานั่งช้างครึ่งชั่วโมง 300 บาท หนึ่งชั่วโมง 500 บาท นั่งได้ครั้งละ 2 คน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ เพราะปางช้างที่นี่จะใช้วิธีการลงหุ้นกัน และทำให้คนขายอาหารช้าง คนขายของที่ระลึก ขายเสื้อผ้า ที่พักโฮมสเตย์ มีรายได้ด้วย แต่พอโควิดระบาดนักท่องเที่ยวหายหมด ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นมาบ้าง” พ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านบอกถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวในช่วงโควิดจนถึงเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา
เส้นทางทัวร์ช้างและท่องเที่ยวชุมชนที่ชาวบ้านร่วมกันบริหารจัดการเอง
หากจะว่าไปแล้ว ทัวร์ช้างที่บ้านรวมมิตรถือว่าเป็นการจัด ‘การท่องเที่ยวโดยชุมชน’ หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์แห่งแรกๆ ของประเทศไทย เพราะชาวบ้านร่วมกันบริหารจัดการเองตั้งแต่ปี 2518 เช่น ใช้วิธีการลงหุ้นซื้อช้างมาเลี้ยงเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว ไม่ใช่ลักษณะปางช้างแบบ ‘นายทุน’ ที่มีเจ้าของเพียงคนเดียว นอกจากนี้ยังจัดตั้งเป็น ‘ชมรมทัวร์ช้าง’ มีคณะกรรมการบริหาร มีการจัดคิวเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว ฯลฯ
‘สีทน’ ผู้จัดการปางช้างชาวกะเหรี่ยงบ้านรวมมิตร บอกว่า ชาวบ้านที่นี่จะลงหุ้นกันซื้อช้างเพื่อนำมาให้บริการนักท่องเที่ยว โดยจะลงหุ้นกันตามเครือญาติหรือคนที่รู้จักกัน ช้างตัวหนึ่งอาจลงหุ้น 10-20 คน หุ้นหนึ่งมีราคาตั้งแต่หมื่นบาทจนถึงแสนบาท ตามราคาช้าง ส่วนราคาช้างตัวหนึ่งปัจจุบันประมาณ 2 ล้านบาทขึ้นไป หากเป็นช้างลักษณะดี มีความสวยงาม ราคาอาจสูงถึง 4 ล้านบาท เมื่อมีรายได้จึงจะนำมาแบ่งกันตามข้อตกลงของคนที่ลงหุ้น
“พอโควิดระบาด ไม่มีนักท่องเที่ยวมา เจ้าของช้างไม่มีรายได้ ต้องขายช้างออกไป ส่วนใหญ่ขายให้คนเลี้ยงช้างที่จังหวัดสุรินทร์ ตอนนี้ช้างที่บ้านรวมมิตรเหลืออยู่ 14 ตัว” ผู้จัดการปางช้างบอก
ช้างตัวหนึ่งมีราคาไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ตัวที่มีลักษณะดี ราคาประมาณ 4 ล้านบาท
จากทัวร์ช้างสู่การพัฒนา
การท่องเที่ยว ‘ทัวร์ช้าง’ ก่อนโควิดระบาด ทำให้ชาวบ้านรวมมิตรและใกล้เคียงมีรายได้จากการท่องเที่ยวกันถ้วนหน้า เพราะนอกจากนักท่องเที่ยวจะมาขี่ช้างแล้ว ‘ชมรมทัวร์ช้าง’ ยังได้เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย เช่น การล่องแพในแม่น้ำกก ล่องเรือจากสะพานแม่น้ำกก อ.เมืองเชียงราย มายังบ้านรวมมิตร มี ‘ทัวร์ล้อเกวียน’ ให้นัก ท่องเที่ยวนั่งเกวียน การแสดงศิลปะ วัฒนธรรมชนเผ่า ที่พักโฮมสเตย์ ร้านอาหาร ขายของที่ระลึก เสื้อผ้า ฯลฯ
นอกจากนี้ ในช่วงที่การท่องเที่ยวทัวร์ช้างอยู่ในยุคบูม (ก่อนปี 2555) จำนวนช้างมีประมาณ 35 เชือก ช้างตัวหนึ่งจะถ่ายมูลประมาณวันละ 40-50 กิโลกรัม เมื่อช้างพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมหมู่บ้านก็จะถ่ายมูลเรี่ยราด วันหนึ่งรวมแล้วกว่า 1,000 กิโลกรัม ทำให้เกิดความสกปรก เลอะเทอะ
ชมรมทัวร์ช้างจึงหาวิธีกำจัดมูลช้าง โดยนำมูลช้างมาใช้ประโยชน์ เช่น นำมูลช้างมาหมักและผลิตเป็นแก๊สชีวภาพ ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลแม่ยาว ผลิตแก๊สจำนวน 10 บ่อ ใช้ในหมู่บ้าน 9 บ่อ ในโรงเรียน 1 บ่อ นอกจากนี้ชมรมทัวร์ช้างยังร่วมกับชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา อนุรักษ์น้ำกก จัดตั้งป่าชุมชน ดูแลป่าอนุรักษ์เนื้อที่กว่า 500 ไร่ ฯลฯ
น้ำกกช่วงบ้านรวมมิตร แม้จะห่างชายแดนพม่ากว่า 60 กิโลเมตร แต่ฝุ่นควันข้ามแดนจากการเผาไร่ยังข้ามมาถึง
เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ผู้อำนวยการสมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงราย บอกว่า บ้านรวมมิตรและพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ริมแม่น้ำกกในจังหวัดเชียงรายเคยเป็นพื้นที่ที่จะมี ‘โครงการกก-อิง-น่าน’ ซึ่งเป็นโครงการผันน้ำจากแม่น้ำกก จ.เชียงราย แม่น้ำอิง จ.พะเยา และแม่น้ำน่าน จ.น่าน รวมประมาณปีละ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเข้าสู่เขื่อนสิริกิติ์ที่ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อผันน้ำลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคกลาง
โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การไจก้า ประเทศญี่ปุ่น ได้ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นตั้งแต่ปี 2541-2542 แล้ว แต่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ เพราะมีการคัดค้านจากภาคประชาชนและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบ เช่น อาจจะเกิดน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำ ท่วมพื้นที่เกษตรริมน้ำและบ้านเรือนประชาชน ปลาและสัตว์น้ำจะสูญพันธุ์ ฯลฯ
ทั้งนี้ที่ผ่านมา สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตฯ ได้เข้ามาให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องการอนุรักษ์น้ำกก อนุรักษ์พันธุ์ปลา สัตว์น้ำ และพันธุ์พืช โดยชาวบ้านรวมมิตรได้ร่วมรณรงค์คัดค้านโครงการกก-อิง-น่านด้วย เพราะกลัวว่าจะเกิดผลกระทบต่างๆ รวมทั้งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทัวร์ช้าง เพราะบ้านรวมมิตรอยู่ริมน้ำกก
อย่างไรก็ตาม แม้โครงการกก-อิง-น่านจะไม่เกิดขึ้น แต่ก็มีความพยายามของหลายฝ่ายที่จะรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาอีก เช่น ในเดือนมีนาคม 2563 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่โครงการกก-อิง-น่าน ที่เชียงราย พะเยา และน่าน ชาวบ้านจึงยังเฝ้าระวัง และติดตามข้อมูลโครงการนี้ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
ขณะเดียวกัน สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตฯ ได้เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาอาชีพของชาวกะเหรี่ยงบ้านรวมมิตร เพื่อยกระดับการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน และพัฒนาสินค้า ‘ผ้าทอกะเหรี่ยง’ รวมทั้งส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักสวนครัว ผักสลัด เริ่มโครงการในปี 2564 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ป้าสมัย ชาวกะเหรี่ยงบ้านรวมมิตรกับผ้าทอที่กำลังจะพัฒนารูปแบบใหม่ๆ
ป้าสมัย ตะไนย อายุ 54 ปี สมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร บอกว่า กลุ่มมีสมาชิก 30 คน จัดตั้งกลุ่มตั้งแต่ปี 2547 สมาชิกจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยคนละ 2 หุ้นๆ ละ 50 บาท เมื่อมีกำไรจะหักเงินเข้ากลุ่ม 10 % เป็นกองกลางเอาไว้บริหารกลุ่ม เป็นรายได้เสริมให้ครอบครัว เพราะส่วนใหญ่จะทำนา ปลูกสับปะรด คนหนึ่งจะมีรายได้จากงานทอผ้า ประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่จะผลิตผ้าทอ เสื้อ ผ้านุ่ง ชุดกะเหรี่ยง ฯลฯ ขายให้นักท่องเที่ยว และไปขายในงานออกร้านต่างๆ ราคาตั้งแต่ 400-500 บาทขึ้นไป แต่รูปแบบเสื้อผ้า ลวดลายยังเป็นแบบเดิม
“สมาคมฯ เข้ามาส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มได้พัฒนาผ้าทอกะเหรี่ยง สอนให้ย้อมสีผ้าจากธรรมชาติ ใช้ใบไม้ เปลือกไม้ที่มีอยู่ในหมู่บ้านเอามาย้อมสี เช่น เปลือกประดู่จะให้สีน้ำตาล ใบอะโวคาโด้ให้สีเทา ดอกดาวเรืองให้สีเหลืองส้ม ไม่ต้องเสียเงินซื้อสีเคมี และผ้าย้อมสีธรรมชาติจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สารเคมีไม่ไหลลงแม่น้ำ ใส่ก็สบาย และสอนเรื่องผ้ามัดย้อม การออกแบบ ตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อกลุ่มจะได้มีสินค้าใหม่ๆ ดูทันสมัย” ป้าสมัยบอก
เทวินฏฐ์ ผู้อำนวยการสมาคมสร้างสรรค์ชีวิต ฯ เสริมว่า บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรถือเป็นต้นแบบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยชาวบ้านได้ช่วยกันอนุรักษ์น้ำกก พันธุ์ปลาและสัตว์น้ำ ดูแลป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และนำต้นทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมต่างๆ มาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และนำมาจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเอง เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน...ที่ชาวบ้านได้ประโยชน์ !!
***********
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กระทรวง พม. จัดงาน “วันที่อยู่อาศัยโลก 2566” หนุนเศรษฐกิจชุมชนที่ยืดหยุ่น : เมืองที่ขับเคลื่อนความเจริญเติบโต
วันนี้ (2 ตุลาคม) เวลา 13.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลกประจำปี 2566
“วันที่อยู่อาศัยโลก 2566” คนจนรวมพลังจี้รัฐแก้ไขปัญหา ที่ดินสาธารณะใน กทม.-ริมคลอง-ที่ดินรถไฟ-ท่าเรือ ฯลฯ
กรุงเทพฯ / วันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้คึกคัก ตัวแทนคนจนทั่วประเทศ 3,000 คน จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค บ้านมั่นคง ฯลฯ ร่วมเดินรณรงค์จากศาลาว่าการ กทม.-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-ถนนราชดำเนินนอก-ทำเนียบรัฐบาล
‘20 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนทั่วประเทศ กว่า 3,000 โครงการ รวม 265,382 ครัวเรือน
โครงการ ‘บ้านมั่นคง’ เริ่มดำเนินการในปี 2546 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการและอนุมัติงบประมาณในเดือนมกราคมปีนั้น จำนวน 146 ล้านบาทเศษ เพื่อให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อย ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน-ที่อยู่อาศัย นำร่องจำนวน 10 โครงการทั่วประเทศ
รณรงค์ ‘วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2566’ เข้มข้น...“เสียงจากคนจน” สู่นโยบาย ‘ที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมือง’
พอช. / งานรณรงค์ ‘วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2566’ เวทีขับเคลื่อนนโยบาย ‘ที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมือง’ เข้มข้น คนจนเสนอปัญหาห้องเช่าราคาแพงเกินรายได้
‘วราวุธ’ รมว.พม. มอบนโยบายบริหารกระทรวง ‘ตามรอยในหลวง ร.9’ เสนอไอเดียนำตึกร้างทำที่พักคนทำงานรุ่นใหม่-ศูนย์บริบาลผู้สูงวัยชุมชน
กระทรวง พม. / นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ คนใหม่ มอบนโยบายการบริหารกระทรวงให้แก่ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ข้าราชการ
‘ศานนท์’ รองผู้ว่าฯ กทม. ร่วมงาน-รับมอบข้อเสนอจากภาคประชาชน เวที ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ การแก้ปัญหาชุมชนในที่ดินสาธารณะ-ริมคลอง
พอช. / เครือข่ายสลัม 4 ภาค- พอช.-ชาวชุมชน ร่วมจัดเวที “การแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินสาธารณะ ริมคลองย่อยและคลองสาขาต่างๆ” เนื่องในช่วงรณรงค์