กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ประกาศความพร้อมจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (12 กรกฎาคม 2566) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ประกาศความพร้อม “การจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) พร้อมหนุนเรื่องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผนึกกำลังร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ณ ห้องประชุม 101 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สส. พร้อม “เปิดศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานกลาง ส่งเสริมสนับสนุน ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประชาคมโลกในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ด้วยเหตุนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้มีนโยบายทบทวน ปรับบทบาท ภารกิจและโครงสร้างของหน่วยงาน เสนอการเปลี่ยนชื่อ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” โดยการนำภารกิจของกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของ สผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ มารวมกับภารกิจของ สส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีจุดแข็งในด้านการสร้างจิตสำนึก การสร้างการมีส่วนร่วมและเพิ่มขีดความสามารถของประชาชน มีฐานเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงมีการศึกษา วิจัย พัฒนาสารสนเทศ และถ่ายทอดเทคโนโลยี นำมาผนวกรวมกัน และอีกหน่วยงานที่สำคัญคือ อบก. จะมาช่วยสนับสนุนเรื่องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมและพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อ-ขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Carbon Credit) ที่ได้รับการรับรอง ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีภารกิจที่ไม่ซ้ำซ้อนกันแต่จะเสริมกัน นับเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้นานาประเทศเห็นถึงความตั้งใจของไทยที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 นอกจากนี้ สส. ยังได้ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และนิด้าโพลล์ จัดทำแบบสำรวจความเห็นของประชาชนในการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 จำนวน 2,000 ตัวอย่างทั่วประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 89.15 เห็นด้วยกับการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะทางด้านดังกล่าว และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ยังคงดำเนินการตามภารกิจเดิมด้านสิ่งแวดล้อมของ สส. และมุ่งเน้นประเด็นการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มเติม ในด้านการปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับทุกภาคส่วนและทุกระดับ ด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ด้านการสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมกลไกการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง สร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การศึกษา วิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี การให้บริการข้อมูลและข้อสนเทศ การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่ รวมทั้งการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยมุ่งเน้นบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบาย แผน และมาตรการไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

การดำเนินงานในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน กรมฯ ได้ดำเนินการปรับเนื้อหา บทบาท เป้าหมาย ในการสื่อสารที่มุ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตั้งรับปรับตัว และลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการสร้างความเข้าใจกับเครือข่าย เพื่อปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับภารกิจของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เช่น เครือข่าย ทสม. เครือข่าย Zero waste ลดโลกร้อน เครือข่ายเยาวชน เป็นต้น ซึ่งจะสามารถยกระดับการดำเนินงานในภารกิจของกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของ สผ. และภารกิจในการสร้างจิตสำนึก การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของ สส. กับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมขยายความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคคมนาคมขนส่ง ภาคเกษตรกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ณ ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 2 อาคาร สส. ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานกลาง ส่งเสริมสนับสนุน ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ในระดับพื้นที่ (กลุ่มจังหวัด/จังหวัด/องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น) บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ข้อมูลการลดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและระดับนานาชาติ เป็นศูนย์เรียนรู้และสื่อสารข้อมูลองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์ติดตาม พยากรณ์และคาดการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แจ้งเตือน สำหรับการแก้ไขปัญหา การรับมือ และปรับตัวกับความเสี่ยงเชิงพื้นที่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีพิธีเปิดศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการในวันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม 2566 สุดท้ายนี้ ขอฝากให้ทุกท่านติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 เพราะทุก ๆ ภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะสำเร็จได้ หัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้น ล้วนมาจากความร่วมมือจากประชาชนและทุกภาคส่วน นายสมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เพื่อไทย' จ่อเคลียร์ใจ 'ปานปรีย์' ชวนนั่งกุนซือพรรค ไม่รู้ 'นพดล' เสียบแทน

'เลขาฯ เพื่อไทย' รับต้องคุย 'ปานปรีย์' หลังไขก๊อกพ้น รมว.ต่างประเทศ แย้มชงนั่งที่ปรึกษาพรรค มั่นใจไม่เกิดแรงกระเพื่อม ปัดวางตัว 'นพดล' เสียบแทน ชี้ 'ชลน่าน-ไชยา' หน้าที่หลักยังเป็น สส.

'อนันต์' การันตี 'ลุงป้อม' ส่งชื่อนั่ง รมต. โควตากำแพงเพชร

'อนันต์' การันตี 'ลุงป้อม' ส่งชื่อนั่ง รมต. มั่นใจคุณสมบัติไร้มลทิน ลั่นเก้าอี้ตัวนี้โควตากำแพงเพชร ไม่ท้อหากชวดตำแหน่ง เชื่อพรรคไม่แตกแม้ผลออกมาเป็นอย่างไร

'สุระ' ดึงสติ ลากประธานสภาฯ เข้าสู่เกมปรับครม.แลกเก้าอี้ ชี้คนละส่วนอำนาจหน้าที่

“สุระ” ไม่เห็นด้วย ลากประธานสภาฯ เข้าสู่เกม ปรับครม. แลกเก้าอี้ ย้ำ คนละส่วนอำนาจหน้าที่ อัด รัฐมนตรีหวังร่วมครม.ปล่อยข่าว มีโควตาสส.ในมือ สร้างอำนาจต่อรอง มั่นใจผู้มีอำนาจพิจารณารู้ดี ใครของจริง ของปลอม

นายกฯ รับไม่มีสิทธิ์โกรธ ฝึกคุมอารมณ์ พร้อมหาวิธีปรับจูน สส.เพื่อไทย

นายกฯ รับต้องปรับจูนทำความเข้าใจ สส.เพื่อไทย หลังมีเสียงสะท้อนยังมีระยะห่าง ลั่นไม่น้อยใจ ไม่โกรธ ไม่งอน แจงต้องเข้มเรื่องงบ

ทส. ส่งมอบความสุขวันสงกรานต์ 13-15 เม.ย. ยกเว้นค่าบริการท่องเที่ยวป่านันทนาการ 3 แห่ง

พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายขับเคลื่อนด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในรูปแบบป่านันทนาการ