สวธ.เตรียมเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ ‘ครูช่าง’ ตั้งเป้าศูนย์เรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่สืบทอดมรดกภูมิปัญญาชาติ

ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่ ซึ่ง”ครูช่าง” ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ก่อตั้งขึ้น ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ศิลปะการแสดง ตั้งแต่การรำ, โขน, ดนตรีไทย, ดนตรีสากล เช่น แจ๊ส, บลูส์, แรปส์, ฮิปฮอป ไปจนถึงการละครไทยและละครร่วมสมัย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงศิลปวัฒนธรรมไทย และรังสรรค์ผลงานต่างๆ สู่สายตาชาวโลก เป็นบ้านศิลปินแห่งชาติแห่งที่ 33 ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ตั้งเป้าเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืน

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า นายชนประคัลภ์ จันทร์เรือง หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักในนาม “ครูช่าง” ได้สั่งสมประสบการณ์และสร้างสรรค์ผลงานตลอดเวลากว่า 40 ปี โดยเป็นนักแสดงที่มีความสามารถสูง ในทุกบทบาท ทั้งละครโทรทัศน์ ละครเวทีและภาพยนตร์ เป็นผู้กำกับการแสดงที่มีรูปแบบการเล่าเรื่องเฉพาะตัว รวมถึงเป็นนักเขียนบทในรูปแบบการสอนเขียนบท คือ เล่นก่อนเขียน ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับการเขียนบทของประเทศไทย โดยให้นักแสดงร่วมเขียนบทไปด้วย จึงเป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง

“ ครูช่างได้เปิดพื้นที่บ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่ โดยได้จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการกับวิถีชีวิตและกลุ่มสาระการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการให้แก่เด็กและเยาวชน มุ่งเน้นการนำศาสตร์ด้านการแสดงมาใช้ในการสร้างสรรค์สังคม ประสานสังคม และบ่มเพาะเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและมีคุณภาพต่อไป สวธ,ตั้งเป้าแหล่งเรียนรู้บ้านศิลปินแห่งชาติ นายชนประคัลภ์ จันทร์เรือง แห่งนี้ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืน และเป็นประโยชน์สำหรับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และประชาชนที่สนใจ “ อธิบดี สวธ. กล่าว

ด้าน นางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และศึกษาแนวทางในการพัฒนาต่อยอดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่จะสืบทอดภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติให้เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติต่อไป

สำหรับ “ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่”นี้ เริ่มต้นจากคณะละครมรดกใหม่ ซึ่งเป็นการรวบรวมลูกศิษย์ลูกหาในขณะนั้น ก่อตั้งเป็นคณะละครเมื่อปี 2537 และสร้างสรรค์ละครเรื่องแรกนำเสนอต่อสายตาของผู้ชมต้นปี พ.ศ. 2538 ชื่อเรื่อง “สารพัด สาระเพ” จัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จากนั้นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่คณะละครมรดกใหม่กับวิถีชุมชนและวิถีแห่งการเรียนรู้

จากนั้น ปี พ.ศ. 2548 บ้านเรียนละครมรดกใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นตามแนวคิดสำนักดนตรีไทยบ้านบาตรของครูหลวงประดิษฐไพเราะ ปัจจุบัน ศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้ เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ผู้ที่สนใจและมุ่งมั่นตั้งใจอยากเรียนรู้ด้านการละครและดนตรี ภายในศูนย์ฯ มีกิจกรรมให้เรียนรู้ถึง22 จุดด้วยกัน อาทิ เพาะปลูก ครัวเรือน การละคร ดนตรีไทย และดนตรีสากล เป็นต้น โดยจัดการเรียนการสอนควบคู่การการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขสนุกสนาน
โอกาสนี้ สวธ.ขอเชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน และประชาชนเยี่ยมชม ณ “ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่” ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ ได้ที่ www.culture.go.th, เฟซบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Line @ วัฒนธรรม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชมดนตรีแจ๊สเทิดพระเกียรติในหลวง ร.9

เพื่อน้อมรำลึกและดื่มด่ำบทเพลงพระราชนิพนธ์ พระอัจฉริยภาพด้านดนตรีแจ๊สของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม 2566   กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม 

สัมผัส'คลองบางหลวง' ตลาดบกสานวัฒนธรรม

ชุมชนคลองบางหลวงยังคงเป็นชุมชมดั้งเดิมที่รักษาเอกลักษณ์วิถีชุมชนเห็นได้จากเรือนแถวไม้ค้าขายของสองฟากฝั่งถนนและเรือนแถวไม้จำหน่ายสินค้าต่าง ๆ แก่ผู้ที่มาท่องเที่ยวชื่นชมบรรยากาศริมคลอง ตั้ง

น้อมรำลึกอัครศิลปิน นวมินทรมหาราช

12 ต.ค.2566 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม “สานสัมพันธ์เครือข่าย น้อมรำลึกอัครศิลปิน นวมินทรมหาราช” เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม 256

งานรำลึก ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำ

อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ถือเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญต่อวงการจิตรกรรมของไทย สร้างสรรค์ผลงานอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนเป็นที่รู้จักและยอมรับทั่วโลก ศิลปินล้านนาผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ได้หว่านเมล็ดพันธุ์ศิลปะไว้มากมาย ด้วยการอุทิศตน มุ่งมั่น เสียสละ ถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ รวมถึงชี้แนะแนวทางให้แก่เด็ก เยาวชน ครู อาจารย์ ศิลปินรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจในงานศิลปะตลอดช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่