ประเทศไทยพร้อมรับมือกับฝุ่นพิษ PM. 2.5 หรือไม่ เมื่อโลกต้องเผชิญกับผลกระทบของปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” (El Nino) ขั้นรุนแรง

เราต่างทราบกันดีว่าโลกกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ “เอลนีโญ” ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสภาพอากาศอย่างรุนแรง ตลอดจนสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศ และการดำรงชีวิต โดยเริ่มแผลงฤทธิ์ตั้งแต่ช่วงต้นปีทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลายประเทศมีอากาศร้อนจัดจนทุบสถิติ น้ำทะเลมีอุณภูมิสูงขึ้นทำให้แนวปะการังน้ำตื้นได้รับผลกระทบอย่างหนักส่งผลให้ปะการังตายจำนวนมาก

ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) ชี้ว่าประเทศไทยเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งสร้างผลกระทบที่เด่นชัดในกรกฎาคมที่ผ่านมาทำให้ฝนตกน้อยกว่าปกติ และคาดว่าจะทวีความรุนแรงในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงมกราคม 2567  นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมคาดการณ์ว่าปีหน้าคนที่อาศัยในกรุงเทพฯและพื้นที่ทางภาคเหนือของไทยจะต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศซึ่งเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างหนักหน่วง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญจะทำให้ฝนตกน้อยและเกิดความแห้งแล้งมากกว่าปกติ ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดไฟป่าหรือการเผาในที่โล่งแจ้งจากภาคการเกษตรจึงเพิ่มขึ้น

กรมควบคุมมลพิษ ได้ดำเนินการปรับค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในบรรยากาศให้เข้มข้นมากขึ้น จากเดิมต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ปรับลงมาเป็น จะต้องไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา

กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ดีเดย์ 1 มกราคม 2567 เพื่อควบคุมสารมลพิษจากรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและรถยนต์ขนาดใหญ่ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซลเพื่อยกระดับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน

ดร. ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับฝุ่นพิษในการสัมมนาหัวข้อ “Air Pollution Innovation Exchange: Shaping a Sustainable Future” ซึ่งมี ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย จัดขึ้นในงาน Sustainability Expo 2023 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” ระหว่าง 29 กันยายน ถึง 8 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ โดยกล่าวว่ากรมฯ เน้นการสร้างเครือข่ายการติดตามตรวจวัดคุณภาพอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 87 สถานี และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งเพิ่มอีก 9 สถานีพร้อมหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เฉพาะกิจตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (mobile unit) นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบการพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้า 7 วัน  ระบบบริหารจัดการเผาผ่านแอปพลิเคชัน และการนำเสนอข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม

“ระบบการพยากรณ์สภาพอากาศจะสามารถช่วยประชาชน โดยเฉพาะคนกลุ่มเปราะบางวางแผนในการใช้ชีวิตกลางแจ้งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดจากฝุ่นพิษ และยังสามารถตรวจวัดได้ว่าลมพาฝุ่นมาจากทิศทางไหน เรานำนวัตกรรมชั้นสูงมาใช้ในการทำนายสภาพอากาศ และร่วมมือกับ สวทช.และกรมอุตุนิยมวิทยา ในการประมวลผล และการแจ้งเตือน”

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้รับซื้อวัสดุชีวมวล เศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรจากเกษตรกรเพื่อสร้างแรงจูงใจให้หลีกเลี่ยงการเผาซึ่งเป็นสาเหตุอันดับ 2 ที่ทำให้เกิดมลพิษทางอาการศในกรุงเทพฯ รองจากควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์  โดยได้เพิ่มฟีเจอร์การรับซื้อวัสดุชีวมวลใน Burn Check App ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับประชาชน เกษตรกร ในการลงทะเบียนการเผากำจัดวัชพืชเพื่อไม่ให้มีการเผากระจุกตัว ลดปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งเป็นการขจัดปัญหาที่ต้นตอ

“ห้ามประชาชน เกษตรกร เผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร วัสดุชีวมวลทำได้ยากมาก ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ เราจึงเปลี่ยนเป็นการรับซื้อแทน”

ที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลายแนวทางเพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศเน้นการทำงานแบบบูรณาการและขอความร่วมมือจากภาคประชาชน ทั้งยังได้ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขโดยการใช้กฎหมายจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ คือ การลดการระบายไอเสียจากรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล การควบคุมการเผาไหม้เชื้อเพลิง การเผาวัสดุทางการเกษตร การเผาป่า และเผาขยะในพื้นที่   

เราถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายและมาตรการที่บังคับใช้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

พิพากษา ธเนศถาวรกุล ผู้ประสานงาน บริษัท คนกล้าคืนถิ่น วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า “บริษัทฯ ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) พัฒนานวัตกรรมเพื่อดัดแปลงรถยนต์เก่าของ กทม. เป็นรถไฟฟ้า และนำเครื่องยนต์ดีเซลมาดัดแปลงเป็นเครื่องทุ่นแรงทางการเกษตรซึ่งขับเคลื่อนโดยพลังงานชีวมวล ทั้งยังพัฒนานวัตกรรมทางสังคมโดยการสร้างแพลตฟอร์มการออกแบบพื้นที่และการปลูกต้นไม้ซึ่งสามารถวิเคราะห์ว่าพื้นที่ไหนเหมาะกับการปลูกพืชชนิดใด วัดปริมาณคาร์บอนเครดิต ปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของต้นไม้ โดยโครงการนี้มุ่งสนับสนุนคนรุ่นใหม่หวนกลับไปทำการเกษตรแบบยั่งยืนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในชนบท บ้านเกิด เพื่อสร้างระบบนิเวศขนาดจุลภาค (micro ecosystem) ทั่วประเทศ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปประยุกต์ใช้ร่วมกับวิถีเกษตรในพื้นที่เป็นการช่วยเหลือชุมชน ชนบท และเกษตรกร

“คนรุ่นใหม่ไม่ได้หมายถึงคนอายุน้อย แต่หมายถึงคนที่มีมุมมองในการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ที่เน้นความยั่งยืนเป็นหลัก เราเชื่อว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและนำพาไปสู่ความยั่งยืนได้ โครงการนี้เราเน้นการพัฒนาบุคคลเป็นหลัก ปัญหาจากภาคการเกษตรและการขนส่ง การจราจร ล้วนแล้วเกิดจากคนทั้งสิ้น” FHI 360 องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านการพัฒนามนุษย์ซึ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนร่วมแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM.2.5 เช่นกัน

คณาเดช ธรรมนูญรักษ์ ที่ปรึกษาสายงานสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่าองค์กรฯ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียทำงานวิจัยเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA)  เพื่อสำรวจความเปราะบางของระบบสาธารณสุขไทย ตลอดจนความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ทั้งยังทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ ได้แก่ สสส. กทม. กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการกำหนดแนวทางการแก้ไขและบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเพื่อฝ่าวิกฤตฝุ่นอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ องค์กรฯ ยังจัดทำโครงการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ผ่านโครงการและกิจกรรม หนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญคือการพัฒนานวัตกรรมปอดเทียม (artificial lung) ทำจากไส้กรองอากาศ เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบด้านสุขภาพของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

“เราติดตั้งปอดเทียมไว้หน้ากระทรวงสาธารณสุข เมื่อเวลาผ่านไปไส้กรองสีขาวเปลี่ยนเป็นสีดำ เราต้องการแสดงให้เห็นว่าการสูดอากาศที่เป็นพิษอย่างต่อเนื่องจะทำร้ายปอดของเรา เพราะบางคนไม่สามารถเชื่อมโยงค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของพวกเขา ทั้งยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบของฝุ่นพิษเพราะไม่ได้ทำให้เสียชีวิตในทันที แต่เป็นผลระยะยาว เราวางแผนจะนำโครงการนี้ไปประยุกต์ใช้ในประเทศไทยเช่นกัน”

องค์กรฯ ยังทำกิจกรรมร่วมกับภาคพลเมืองจัดทำเครื่องวัดสภาพอากาศต้นทุนต่ำ จัดทำโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการโดยทำร่วมกับพันธมิตร และสตาร์ทอัพ เพื่อส่งเสริมการคิดค้น พัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาเรื่องฝุ่น  เช่น เครื่องดักจับควันดำรถยนต์โดยใช้โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI-driven smoke detector) ซึ่งช่วยลดการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และลดงบประมาณของภาครัฐ

“การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษเป็นหนึ่งในพันธกิจขององค์กรเราในประเทศไทย เราจะยังคงเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่องกับพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม ต่อยอดงานวิจัย และสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อช่วยให้ประเทศรับมือกับปัญหาฝุ่นได้อย่างยั่งยืน”

ประเทศไทยจะสามารถฝ่าวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งทวีความรุนแรงเนื่องจากปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” ที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศของโลก และจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างประเทศใหม่ไร้ฝุ่นได้หรือไม่ คงต้องจับตามาตรการ นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหารับมือว่าจะ “ปัง” หรือ “แป้ก” แล้วคุณล่ะพร้อมหรือยังกับชีวิตที่ต้องเปื้อนฝุ่น (พิษ) เมื่อฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูกาลของฝุ่นพิษ และการเผาป่ากำลังจะมาถึง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทะเลเดือดของจริง! 'ดร.ธรณ์' เผยอ่าวไทยร้อนเกิน 32 องศา อุณหภูมิน้ำสูงจนน่าสะพรึง

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า ทะเลเดือดของจริงมาถึงแล้วแม่เจ้าเอ๊ย เตือนเพื่อนธรณ์มาตั้งแต่ปีก่อน เอลนีโญบวกโลกร้อนจะทำให้ทะเลเดือด เ

ยุคโลกเดือด! 'ดร.ธรณ์' เตือนรับมือ 'เอลนีโญ' ปีนี้เมืองไทยร้อนเป็นประวัติการณ์

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า โมเดลล่าสุดทำนายว่า ปีนี้เอลนีโญอาจทำให้เมืองไทยร้อนเป็นประวัติการณ์

'ดร.เอ้' ยกฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นวิกฤตชาติ ทำไมกรุงเทพ จะเป็นเมืองอากาศสะอาดไม่ได้

'ดร.เอ้' ยกฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นวิกฤติชาติ ฆ่าทุกคนได้ หากไม่รีบแก้ไข เตรียมลงพื้นที่ กทม.หลังพบค่าฝุ่นพิษเกินกว่าจุดอันตรายเพียบ ตั้งคำถามทำไมกรุงเทพ จะเป็นเมืองที่อากาศสะอาดไม่ได้