ทำความ “ต่าง” ให้เป็นความ “ปกติ” ชุมชนชาติพันธุ์กับการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมและธรรมชาติในท้องถิ่น

ทุกประเทศทั่วโลกไม่ได้ประกอบไปด้วยประชากรเพียงกลุ่มเดียว แต่สร้างขึ้นจากกลุ่มชาติพันธุ์มากมายที่มีความหลากหลายทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ ทั้งที่เป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมาเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคนก่อนจะมีการยึดครองดินแดน และชนกลุ่มน้อยที่อาศัยร่วมกับประชากรหลัก ปัญหาในปัจจุบันที่ชุมชนชาติพันธุ์ต้องประสบเรื่อยมา คือการถูกรุกล้ำทั้งในด้านดินแดนที่อยู่อาศัย และด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยถูกบีบทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนและรับวิถีปฏิบัติสมัยใหม่ของคนหมู่หรือกลุ่มที่มีอิทธิพลมากกว่าในสังคม จนหลายครั้งเกิดเป็นความขัดแย้ง ความไม่ลงรอยกันระหว่างคนในสังคม แต่ปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือการสูญหายหรือถูกกลืนของวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนชาติพันธุ์เหล่านี้

ในงาน Sustainability Expo 2023 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึง 8 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการหยิบประเด็นการปกป้องวัฒนธรรมดั้งเดิมและธรรมชาติในท้องถิ่นของชุมชนชาติพันธุ์ขึ้นมาสนทนา โดยมีเรื่องราวที่น่าสนใจจากสามชุมชน คือ ชาวเมารีในประเทศนิวซีแลนด์ ชาวอาข่าในไทย และชาวโอรังอัสลีหรือทามวนในมาเลเซีย ผ่านตัวแทนชุมชนที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและความเชื่อจากบรรพบุรุษของตนเพื่อคนรุ่นหลัง

มาทายา คีปา หนุ่มเมารีร่างล่ำสันพร้อมรอยสักประจำเผ่าเป็นนักเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเมารี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่ถูกต่อต้านและกดทับจากชาวนิวซีแลนด์ผิวขาวบางส่วน เริ่มต้นการกอบกู้วัฒนธรรมชนกลุ่มน้อยของเขาด้วยการรณรงค์ให้ชาวเมารีใช้ภาษาเมารีในโซเชียลมีเดีย และเรียกร้องให้มีการเรียนการสอนเป็นภาษาเมารีในโรงเรียน ไม่ใช่แค่เรียนภาษาเมารีเท่านั้น มาทายา มองว่าชาวเมารีคือผู้อยู่มาก่อนและเป็นเจ้าของดินแดนที่แท้จริงก่อนที่เกาะจะถูกยึดครองโดยคนผิวขาว แม้จะมีการทำข้อตกลงระหว่างชาวพื้นเมืองและชาวอังกฤษผู้ครองเมืองขึ้น แต่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเมารียังถูกมองว่านอกรีต ต้องถูกจำกัด และมีเหตุการณ์ขัดแย้งที่ทำให้ความเกิดความแตกแยกหลายครั้ง

วิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนตามทรรศนะของ มาทายา คือการ “Normalize” หรือทำให้วัฒนธรรมเมารีเป็นเรื่องปกติในสังคม ส่วนหนึ่งคือนับเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของชาวเมารีที่จะได้รับการยอมรับในทุก ๆ ด้านในดินแดนที่พวกเขาเป็นเจ้าของ อีกส่วนหนึ่งคือการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่การยอมรับนับถือและให้เกียรติกันของคนในสังคม เริ่มตั้งแต่ระดับนโยบายของรัฐ ซึ่งมาทายาอ้างถึงการที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศให้วันมาทาริกิ หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวเมารี เป็นวันหยุดราชการอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเวลา 183 ปีหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาไวทังงิระหว่างชาวเมารีและชาวอังกฤษ ชาวเมารีจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นความคืบหน้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มาจากความรู้สึกผิดของคนผิวขาวที่กดขี่ชาวเมารีมานาน แต่ มาทายา มองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่วัฒนธรรมเมารีได้รับการยอมรับในระดับรัฐบาล และเป็นการเบิกทางไปสู่การยอมรับด้านอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

จากนั้นคือการปลูกฝังให้ชาวเมารีรักและภูมิใจกับวัฒนธรรมของตน มองว่าความเป็นเมารีคือความแตกต่างที่ดีและเป็นอัตลักษณ์บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของชนเผ่า เรียนรู้วัฒนธรรมเมารีอย่างภาคภูมิใจ และใช้ชีวิตเยี่ยงชาวเมารีอย่างภาคภูมิในสังคมยุคใหม่ที่มีความหลากหลายในทุก ๆ ด้าน ถือเป็นการฟื้นฟูทั้งวัฒนธรรมชาติพันธุ์และความเป็นอยู่ของชาวเมารีไปพร้อม ๆ กัน

ส่วน อายุ จือปา หรือลี ชาวอาข่านักพัฒนาผู้ก่อตั้งแบรนด์กาแฟ อาม่า อาข่า ที่มีชื่อเสียงในระดับโลกและเป็นกิจการเพื่อสังคมที่ช่วยเหลือชุมชน มองว่านอกจากการมองหาความเท่าเทียมด้านมนุษยธรรมจากภายนอกแล้ว สังคมภายในชุมชนชาติพันธุ์ยังต้องเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และสนทนาระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ลีได้รับการปลูกฝังมาว่าความรู้คือสิ่งที่มี แต่จะเพิ่มขึ้นเมื่อได้แบ่งปันกับผู้อื่น ภูมิปัญญาดั้งเดิมจะต้องอยู่กับความรู้สมัยใหม่ได้ และควรจะต้องมีการเก็บรักษาอย่างเหมาะสมให้คนรุ่นหลังสามารถเข้าถึงได้ พร้อมกันนั้นก็สร้างเสริมสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเพื่อการเติบโตสู่อนาคตอย่างมั่นคง

แช็ค โคยก นักเคลื่อนไหวและศิลปินด้านทัศนศิลป์ชาวโอรังอัสลี เห็นด้วยว่าอนาคตของวัฒนธรรมชาติพันธุ์ขึ้นอยู่กับการสืบทอดและน้อมรับของคนยุคใหม่ ชาวโอรังอัสลีในมาเลเซียเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมแบบเฉพาะที่เรียกว่า วัฒนธรรมหาของป่า-ล่าสัตว์ที่ยากจนและเปราะบางที่สุดกลุ่มหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ และต้องพึ่งพาป่าและทรัพยากรธรรมชาติในดินแดนของตนที่เชื่อกันว่าเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษ และเป็นแหล่งความรู้และความสุขสงบของคนในเผ่า วัฒนธรรมของชาวโอรังอัสลีจึงเกี่ยวโยงกับธรรมชาติและดินแดนเป็นอย่างมาก เมื่อพื้นที่ป่าถูกรุกรานจากนายทุนและถูกรัฐบาลนำไปขายทอดตลาดเพื่อพัฒนาและขยายความเจริญ ชาวโอรังอัสลีจึงอยู่ในสถานะที่ทั้งสูญเสียบ้านเกิดและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไปพร้อม ๆ กัน

นอกเหนือไปจากการเรียกร้องให้หยุดการรุกรานและคืน “บ้านเกิด” ให้กับชาวโอรังอัสลี แช็ค มองว่าต้องปลูกจิตสำนึกให้ชาวโอรังอัสลีด้วยกันรักและหวงแหนบ้านเกิดของตนก่อน บทบาทของ แช็ค ในฐานะศิลปินคือสร้างงานศิลปะจากป่า จากวัสดุธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ชมทั้งที่เป็นชาวโอรังอัสลีและคนภายนอกได้สัมผัสถึงความใกล้ชิดและการสอดประสานกันเป็นหนึ่งเดียวของคนและป่า มากไปกว่านั้นคือการสร้างทัศนคติที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้แก่เยาวชน เพื่อเตรียมพร้อมให้คนรุ่นใหม่นำพาสังคมและวัฒนธรรมของตนไปสู่โลกที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ ความเคารพซึ่งกันและกัน และความกลมเกลียว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

SX2023 พลังแห่งความร่วมมือ ต้นแบบ Platform ความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ปลุกกระแสเยาวชน และผู้เข้าชมงาน มากกว่า 3 แสนคน

นับเป็นต้นแบบของ “Collaboration platform” พลังแห่งความร่วมมือด้านความยั่งยืนระดับโลก ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน สำหรับงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023)

เยาวชนตัวแทนคนรุ่นใหม่ สร้างสรรค์งานศิลปะ “ด้วยมือเรา” จากสื่อผสม เจ้าของรางวัล CEO AWARD จากโครงการศิลปกรรมช้างเผือก

โครงการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12 ภายใต้หัวข้อ “รักโลก” ที่จัดโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเวทีที่ให้เหล่าศิลปิน

ร่วมกันสู้กับขยะในทะเลเพื่อคืนความหลากหลายทางชีวภาพแก่โลก

นอกจากปัญหาโลกร้อนที่กำลังจะเข้าสู่ยุคโลกเดือดที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมากแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกประเด็นหนึ่งที่ทุกภาคส่วนพยายามอย่างหนักในการร่วมกันบรรเทาความรุนแรง

พุทธศาสนาปูรากฐานที่แข็งแรงสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ปูรากฐานและขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกต คือแนวคิดและหลักปฏิบัติทางพุทธศาสนา

อนันต์ วาร์ม่า ช่างภาพเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เอ็กซ์พลอเรอร์ เด็กชายที่ฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ผันตัวเองมาเป็นช่างภาพ นำเสนอเรื่องราวชีวิตสัตว์ในเชิงวิทยาศาสตร์

อนันต์ วาร์ม่า เคยเป็นเด็กชายตัวน้อยที่ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง และใฝ่ฝันที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เพราะเชื่อว่ามันคืออาชีพที่จะช่วยให้เขาได้ใช้ชีวิตอยู่กับกิจกรรม

'Paper Planes' เปิดมินิคอนเสิร์ต โชว์พลังซ่ารักษ์โลกงาน 'SX2023'

ชวนน้อง ๆ ตะโกนบอก “รักษ์” โลกกันไปเรียบร้อยโรงเรียน Paper Planes เมื่อสองหนุ่ม ฮาย-ธันวา เกตุสุวรรณ และ เซน-นครินทร์ ขุนภักดี ในฐานะพรีเซนเตอร์โออิชิ ชาคูลล์ซ่า มาเปิด มินิคอนเสิร์ตซ่า มีดี ภายใต้คอนเซปต์รักษ์โลก ในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2023 (SX2023)