ร่วมกันสู้กับขยะในทะเลเพื่อคืนความหลากหลายทางชีวภาพแก่โลก

นอกจากปัญหาโลกร้อนที่กำลังจะเข้าสู่ยุคโลกเดือดที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมากแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกประเด็นหนึ่งที่ทุกภาคส่วนพยายามอย่างหนักในการร่วมกันบรรเทาความรุนแรง คือมลพิษจากขยะในทะเลที่ทำลายชีวิตของพืชและสัตว์น้ำ ลดทอนความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของโลก และสร้างปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างตามมา

การแก้ไขปัญหาจึงต้องเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องและจริงจังจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับชุมชน ประเทศ ภูมิภาค และในระดับนานาชาติ ในงาน Sustainability Expo 2023 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึง 8 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปราย โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีประสบการณ์และข้อมูลเชิงลึกจากองค์กรในภูมิภาคที่ร่วมผลักดันการแก้ปัญหานี้แบบองค์รวม

ดร.เธเรซา มุนดิตา เอส ลิม ผู้อำนวยการบริหารจากศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พูดถึงภาพรวมของสถานการณ์ในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศว่า มลพิษจากขยะกำลังทำลายความเป็นอยู่ของผู้คนและระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาสัตว์น้ำและท้องทะเลในวงกว้างและยังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ท้องทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นที่อยู่ของระบบชีวภาพใต้น้ำที่อุดมสมบูรณ์หนึ่งในสี่ของโลก รวมไปถึงสัตว์อื่น ๆ เช่น นกและเต่าที่อาศัยใกล้กับทะเล และพืชพรรณ เช่น โกงกางที่นอกจากจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำแล้วยังเป็นแนวปราการธรรมชาติที่ปกป้องมนุษย์จากอุทกภัยอีกด้วย ขยะที่สะสมอยู่ในทะเลซึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์คือพลาสติก จึงไม่เพียงทำลายระบบนิเวศใต้ทะเลเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อธุรกิจประมงที่มีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แหล่งอาหารของชุมชน แหล่งที่มาของยารักษาโรคหลายชนิด รวมไปถึงธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จำนวนขยะที่หลุดรอดลงสู่ทะเลตลอดหลายปีที่ผ่านมาไม่ได้มีปริมาณที่ลดลงเลยแม้จะมีการรีไซเคิลแล้ว โดยในปีที่แล้วมีปริมาณราว 3 หมื่นตัน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกและไมโครพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งขยะจากชุมชนหลุดรอดไปสู่ทะเลอ่าวไทยผ่านทางแม่น้ำสายหลักสี่สาย คือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง ผลกระทบที่ชัดเจนและรุนแรงที่สุดของขยะในทะเลเกิดกับเต่าที่มักจะกินเศษพลาสติกเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นแมงกะพรุน ทำให้กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของเต่าทะเลในน่านน้ำไทยใกล้ชายฝั่งมีขยะในกระเพาะและล้มตายลงไปมากมายเพราะสาเหตุนี้ นอกจากนี้ ยังมีไมโครพลาสติกที่ปลาและสัตว์น้ำกินเข้าไป ทำให้เกิดการปนเปื้อนในอาหารทะเลที่มนุษย์นำมาบริโภคและทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย

ดังนั้น ส่วนหนึ่งการแก้ปัญหาขยะในทะเล คือการป้องกันไม่ให้ขยะในแม่น้ำหลุดรอดลงสู่ทะเลและมหาสมุทร มร. สตีเวน พาลแมน ผู้อำนวยการ Asia-Rivers จาก The Ocean Cleanup กล่าวว่า ในประเทศไทยได้มีการนำเรือ Interceptor ดักจับขยะในแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นเวลาราว 4 ปีแล้ว นวัตกรรมนี้ออกแบบโดยองค์กร The Ocean Cleanup เป็นเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนเรือเพื่อดักจับขยะบนผิวน้ำ โดย Interceptor รุ่นแรกเปิดตัวในปี 2562 และเป็นนวัตกรรมแรกที่สามารถพัฒนาสู่การใช้งานจริงกับแม่น้ำในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกไหลจากแม่น้ำออกสู่มหาสมุทร

ธุรกิจประมงก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดขยะในทะเล ซึ่งโดยมากแล้วคืออุปกรณ์จับปลา เช่น แหและอวนที่หลุดหายไปในทะเลระหว่างการทำประมง บางส่วนถูกซัดขึ้นบกและสามารถเก็บกู้ได้ แต่โดยมากแล้วมักหาไม่เจอ และจมลงสู่ก้นทะเลหรือล่องลอยไปตามกระแสน้ำไปติดตามแนวปะการังและเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล

มร. อดัม เบรนนัน อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจประมงและอาหารทะเลขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก กล่าวว่า ปัญหาขยะในทะเลส่วนหนึ่งมาจากการทำประมงและในขณะเดียวกันก็ส่งผลเสียให้กับการประมงและธุรกิจอาหารทะเลอย่างมากด้วย จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างมากและมีการทุ่มงบประมาณมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อแก้ไขและบรรเทาความรุนแรงของปัญหานี้อย่างครอบคลุมที่สุด โดยเฉพาะการจับปลาและสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยวิธียั่งยืนเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้หีบห่อและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมและลดการใช้พลาสติก รวมไปถึงการเปลี่ยนมาใช้แหและอวนจับปลาที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เพื่อลดปริมาณพลาสติกและขยะในทะเล

มร.อดัม ยังเน้นย้ำถึงการร่วมมือร่วมใจกันของทั้งอุตสาหกรรม เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นปัญหาของทุกฝ่ายที่ต้องลงมือแก้ไปพร้อม ๆ กัน รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตร เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ องค์กรไม่แสวงหากำไร หน่วยงานรัฐและผู้สร้างนโยบาย รวมไปถึงชุมชนรอบ ๆ พื้นที่ที่เข้าไปทำธุรกิจด้วย

วิทยากรอีกท่านที่สนับสนุนและเน้นย้ำการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ยังรวมไปถึง มร.เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ที่แสดงทรรศนะเรื่องการแก้ปัญหาแบบองค์รวมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ขององค์กรสหประชาชาติทั้ง 17 เป้าหมาย หนึ่งในนั้นคือเป้าหมายที่ 14 ซึ่งเป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการลดการประมงเกินขนาด อนุรักษ์ธรรมชาติตามแนวชายฝั่ง แก้ปัญหามลภาวะเพื่อลดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของรัฐกำลังพัฒนาบนเกาะขนาดเล็กที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก ซึ่งแนวทางเหล่านี้เป็นความร่วมมือระยะยาวที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

SX2023 พลังแห่งความร่วมมือ ต้นแบบ Platform ความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ปลุกกระแสเยาวชน และผู้เข้าชมงาน มากกว่า 3 แสนคน

นับเป็นต้นแบบของ “Collaboration platform” พลังแห่งความร่วมมือด้านความยั่งยืนระดับโลก ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน สำหรับงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023)

เยาวชนตัวแทนคนรุ่นใหม่ สร้างสรรค์งานศิลปะ “ด้วยมือเรา” จากสื่อผสม เจ้าของรางวัล CEO AWARD จากโครงการศิลปกรรมช้างเผือก

โครงการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12 ภายใต้หัวข้อ “รักโลก” ที่จัดโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเวทีที่ให้เหล่าศิลปิน

ทำความ “ต่าง” ให้เป็นความ “ปกติ” ชุมชนชาติพันธุ์กับการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมและธรรมชาติในท้องถิ่น

ทุกประเทศทั่วโลกไม่ได้ประกอบไปด้วยประชากรเพียงกลุ่มเดียว แต่สร้างขึ้นจากกลุ่มชาติพันธุ์มากมายที่มีความหลากหลายทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม และความเป็นอยู่

พุทธศาสนาปูรากฐานที่แข็งแรงสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ปูรากฐานและขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกต คือแนวคิดและหลักปฏิบัติทางพุทธศาสนา

อนันต์ วาร์ม่า ช่างภาพเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เอ็กซ์พลอเรอร์ เด็กชายที่ฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ผันตัวเองมาเป็นช่างภาพ นำเสนอเรื่องราวชีวิตสัตว์ในเชิงวิทยาศาสตร์

อนันต์ วาร์ม่า เคยเป็นเด็กชายตัวน้อยที่ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง และใฝ่ฝันที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เพราะเชื่อว่ามันคืออาชีพที่จะช่วยให้เขาได้ใช้ชีวิตอยู่กับกิจกรรม

'Paper Planes' เปิดมินิคอนเสิร์ต โชว์พลังซ่ารักษ์โลกงาน 'SX2023'

ชวนน้อง ๆ ตะโกนบอก “รักษ์” โลกกันไปเรียบร้อยโรงเรียน Paper Planes เมื่อสองหนุ่ม ฮาย-ธันวา เกตุสุวรรณ และ เซน-นครินทร์ ขุนภักดี ในฐานะพรีเซนเตอร์โออิชิ ชาคูลล์ซ่า มาเปิด มินิคอนเสิร์ตซ่า มีดี ภายใต้คอนเซปต์รักษ์โลก ในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2023 (SX2023)