จาก ‘มะน้ำแก้ว’ บนดอย...สู่ ‘ฟักทองอินทรีย์’ ที่ห้างใหญ่ในเมือง เส้นทางพลิกฟื้นไร่ข้าวโพด-ดอยหัวโล้นสู่เกษตรอินทรีย์ที่บัวใหญ่ จ.น่าน

ฟักทองอินทรีย์น่าน  นำมาแปรรูปเป็นขนมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ  เพิ่มมูลค่าและช่องทางการตลาด

“บ่าฟักแก้ว”, “ฟักแก้ว” , “บ่าน้ำแก้ว”, “ม่าน้ำแก้ว”  หรือ “มะน้ำแก้ว”  ตามสำเนียงของแต่ละท้องถิ่นในภาคเหนือ  มีความหมายถึง “ฟักทอง” ในภาษากลาง  ใช้ทำอาหารได้หลายอย่าง  ทั้งอาหารคาวและหวาน  เช่น  แกงฟักทองแบบชาวเหนือไม่ใส่กะทิ  อ่อม  แกงเลียง  แกงเผ็ดไก่หรือหมูใส่ฟักทอง  ฟักทองผัดไข่  ฟักทองนึ่งหรือย่างกินกับน้ำพริก  ทำขนมหวาน  เช่น  ฟักทองบวด  สังขยาฟักทอง  ฟักทองเชื่อม  ฯลฯ

แต่ที่ ‘วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่  อ.นาน้อย  จ.น่าน’ ยังนำฟักทองไปทำประโยชน์และแปรรูปได้หลากหลายกว่านั้น  เช่น  นำฟักทองมาทำใส้ขนมเปี๊ยะเป็น ‘ขนมเปี๊ยะฟักทอง’ , คุกกี้ฟักทอง, ขนมเค้ก, ข้าวเกรียบ, ท๊อฟฟี่ฟักทอง, กาแฟดริปผสมเมล็ดฟักทอง, น้ำมันสกัดจากเมล็ดฟักทอง  ฯลฯ  เรียกว่าใช้ประโยชน์จากฟักทองได้ทุกส่วน  แม้แต่เปลือกและใส้ในฟักทองแทนที่จะนำไปทิ้งยังเอาไปเลี้ยงไก่  ทำให้ไข่ไก่มีไขมันที่มีประโยชน์ เช่น  โอเมกา 3 สูงขึ้น

จากไร่ข้าวโพด-ดอยหัวโล้นสู่เกษตรอินทรีย์เมืองน่าน

ในอดีตจังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ  มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1 ล้านไร่   เนื่องจากจังหวัดน่านพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพสูงชันหรืออยู่บนดอย  ไม่มีแหล่งน้ำในการเกษตร จึงเหมาะกับข้าวโพดที่เป็นพืชทนแล้ง  อาศัยน้ำฝนจากฟ้าก็เติบโตขึ้นมาได้ 

หากปีใดข้าวโพดราคาดี  เกษตรกรก็จะบุกเบิกพื้นที่บนดอย  ไหล่เขา  เพื่อปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้น  ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา  เช่น  การบุกรุกพื้นที่ป่า  เผาซากพืชไร่  ตอข้าวโพด  เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกรอบใหม่ ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันจากการเผาไร่  หน้าดิน  ป่าไม้ถูกทำลาย  กลายเป็นดอยหัวโล้น 

เมื่อปลูกข้าวโพดไปนานๆ  ดินจะขาดความอุดมสมบูรณ์  ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่ม  และต้องใช้สารเคมีฆ่ายา  ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง  และเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร  นอกจากนี้ในยามหน้าฝน  น้ำฝนจะชะล้างสารเคมีต่างๆ  รวมทั้งเศษหิน ดิน ทราย จากพื้นที่สูงลงสู่แหล่งน้ำด้านล่าง  ทำให้ลำน้ำ  ลำห้วยตื้นเขิน  เป็นที่สะสมของสารเคมี  ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและคนที่ใช้น้ำ  ฯลฯ

การเผาซากไร่ หญ้า  ตอข้าวโพดเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดรอบใหม่

จากปัญหาต่างๆ ดังกล่าวนี้  ภาคประชาสังคม  กลุ่ม  องค์กรต่างๆ  เช่น  มูลนิธิฮักเมืองน่าน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ฯลฯ  จึงได้สนับสนุนให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ในจังหวัดน่านได้ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต  จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว  เช่น  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาเป็นพืชผสมผสาน  พืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ทำเกษตรอินทรีย์ ร่วมกันอนุรักษ์ดิน  น้ำ  ป่า  ฯลฯ

ฑิฆัมพร  กองสอน   ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่  อ.นาน้อย  จ.น่าน  เล่าว่า  การปลูกพืชเชิงเดี่ยว  การใช้สารเคมีในการเกษตรในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  รวมทั้งการซื้อพืชผักผลไม้ที่ใช้สารเคมีมากิน ทำให้คนในตำบลบัวใหญ่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับ 1 ของอำเภอนาน้อย 

ประมาณปี 2556  ฑิฆัมพรในฐานะประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลนาน้อย  จึงเริ่มชักชวนให้ชาวบ้านในตำบลเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดมาทำเกษตรอินทรีย์  เกษตรผสมผสาน  โดยเริ่มที่ครอบครัวตัวเองก่อน  ใช้พื้นที่ 1 ไร่  ปลูกผักสวนครัวสารพัดชนิด  เช่น  พริก  มะเขือ ผักกาด  คะน้า  กวางตุ้ง  ฟักทอง  ผักพื้นบ้าน  กล้วย  มะละกอ  ฯลฯ  ยึดหลัก “ปลูกทุกอย่างที่กิน  กินทุกอย่างที่ปลูก” ลดเลิกการใช้สารเคมี  หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์  น้ำหมักชีวภาพที่ทำขึ้นเอง

หลังจากที่ช่วงแรกเน้นการปลูกเพื่อกิน  เพื่อลดรายจ่าย  ลดปัญหาสุขภาพ  การเจ็บป่วยจากการใช้สารเคมี  แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องการสร้างรายได้  ต่อมาจึงร่วมกับมูลนิธิสัมมาชีพ  ชวนชาวบ้านให้ทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง  เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว  โดยการปลูก ‘ฟักทองอินทรีย์’ ผักสลัดและพืชผักสวนครัวต่างๆ  เพื่อจำหน่าย  และขยายสมาชิกเครือข่ายออกไปเรื่อยๆ  มีสมาชิกเริ่มต้นในขณะนั้นประมาณ 20 ราย 

ในปี 2559  ได้รวบรวมสมาชิกในตำบลจดทะเบียนเป็น ‘วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่  อ.นาน้อย  จ.น่าน’  โดยนำผลผลิตจากสมาชิก  ทั้งฟักทอง  ผักอินทรีย์นำไปขายส่งให้แก่ร้านอาหาร  โรงแรม  โรงพยาบาลในจังหวัดน่าน  รวมทั้งนำไปออกบูธจำหน่ายในงานต่างๆ

“เราส่งเสริมให้สมาชิกปลูกผักต่างๆ ที่สามารถเก็บขายเพื่อให้มีรายได้เป็นรายวัน  และปลูกฟักทองอินทรีย์เพื่อให้มีรายได้เป็นรายเดือนตลอดปี  ไม่ต้องรอข้าวโพดที่จะขายได้แค่ปีละครั้ง”  ฑิฆัมพรบอก

ฑิฆัมพร  ประธานวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่

ขยายเครือข่ายสู่ ‘เกษตรอินทรีย์จังหวัดน่าน’

หลังจากจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่  อ.นาน้อย  จ.น่านแล้ว  ฑิฆัมพรในฐานะประธานกลุ่มยังได้เชื่อมร้อยกลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอต่างๆ  ในจังหวัดน่านให้เข้ามาเป็นเครือข่าย ไม่ใช่ทำเฉพาะในตำบลบัวน้อย  เพื่อหนุนเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งจังหวัดให้มีพลัง  ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย  มีคุณภาพ  รวมทั้งประสานหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามาสนับสนุน  ช่วยพัฒนาผลผลิต  ด้านการแปรรูป  และด้านการตลาด  ใช้ชื่อว่า ‘เครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดน่าน’  โดยมีฑิฆัมพรเป็นประธานเครือข่ายฯ

ขณะเดียวกัน  ในช่วงรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ตั้งแต่ปี 2558  มีนโยบาย ‘ประชารัฐ’  เพื่อสานพลังภาครัฐ  ธุรกิจเอกชน  หอการค้า  ชุมชน  ท้องถิ่น  ตลอดจนภาคีเครือข่ายต่างๆ มาร่วมกันพัฒนาประเทศ  โดยมีการจัดตั้ง ‘บริษัทประชารัฐรักสามัคคี’ ขึ้นมาทุกจังหวัดทั่วประเทศ  เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตร  การแปรรูป  และการท่องเที่ยวโดยชุมชนท้องถิ่น  จากต้นน้ำ  กลางน้ำ  และปลายน้ำ  (การผลิต-แปรรูป-การตลาด) ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

ที่จังหวัดน่าน  บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดน่าน  จำกัด  ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผักอินทรีย์  เพื่อเพิ่มมูลค่า  สร้างรายได้  และผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อส่งออกไปจำหน่ายทั่วประเทศ  เช่น  ฟักทองอินทรีย์  ส้มสีทองเมืองน่าน  ผลไม้  และผักอินทรีย์ต่างๆ  โดยมีการประสานด้านการตลาดกับภาคธุรกิจเอกชน  เช่น บริษัทไทยเบฟเวอเรจ  บริษัทเพรสซิเด้นท์เบเกอรี่  บริษัทเซ็นทรัลฟู้ด รีเทล  บริษัทบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์  บริษัท Makro ฯลฯ  เพื่อให้รับซื้อสินค้าจากเกษตรกรในจังหวัดน่านไปจำหน่าย 

ต่อมาในเดือนธันวาคม  2559  ภาคีเครือข่ายประชารัฐ  เช่น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดน่าน  เครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดน่าน  รวมทั้งวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่   ได้ร่วมกันจัดงาน ‘มหกรรมเกษตรอินทรีย์วิถีน่านครั้งที่ 1’ ขึ้นมาที่บริเวณข่วงน้อย  อ.เมือง  จ.น่าน  เพื่อจัดแสดงผลงานและจำหน่ายสินค้าของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์  และนำเกษตรกรผู้ผลิตมาพบกับผู้บริโภค 

นอกจากนี้ในงานดังกล่าว  มีพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สู่เศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน’   ระหว่างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดน่านกับบริษัทห้างค้าส่งขนาดใหญ่  เช่น ท็อปส์ซูเปอร์มาเก็ต  แม็คโคร  บิ๊กซี  ฯลฯ  รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ  เช่น  พาณิชย์จังหวัดน่าน,  กรมการค้าภายใน, เกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน,  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ 

ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดน่านลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดและขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์  โดยการส่งเสริมการพัฒนาผลผลิต ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ และมีตลาดรองรับที่แน่นอน...!!

ฟักทองน่านที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

‘ไข่เน่า’ ฟักทองพื้นบ้านแต่งตัวเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตในเมือง  

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่  มีสมาชิกทั้งหมด 179 ราย  ปลูกฟักทองอินทรีย์และผักอินทรีย์ต่างๆ  เช่น  ผักสลัด  ผักกูด ฯลฯ  โดยฟักทองจะมีห้างค้าส่งขนาดใหญ่และซูเปอร์มาเก็ตรับซื้อผลผลิต  เช่น  แม็คโคร   บิ๊กซี  และท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต 

ด้านการขนส่ง  ทางวิสาหกิจฯ จะรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก  นำมาคัดเลือกฟักทองที่มีผลสมบูรณ์  รูปทรงไม่บิดเบี้ยว  ลูกหนึ่งมีน้ำหนัก 1.5 กิโลกรัมขึ้นไป  นำมาทำความสะอาด  แล้วนำส่งยังศูนย์กระจายสินค้าของห้างต่างๆ  เดือนหนึ่งประมาณ 4 ครั้ง  ผลผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 6 ตันต่อเดือน  ส่วนผักต่างๆ จะมีบริษัทเอกชนรายหนึ่งมารับซื้อเพื่อส่งไปจำหน่ายให้ลูกค้าทั่วประเทศ  สัปดาห์ละ 1 ครั้งๆ ละประมาณ 400-500 กิโลกรัม  เช่น  ผักสลัด  ผักกูด  ราคากิโลกรัมละ 60 บาท

ฑิฆัมพร  ประธานวิสาหกิจฯ บอกว่า  ปัจจุบันสมาชิกส่วนใหญ่ปลูกฟักทอง ‘พันธุ์ไข่เน่า’ เป็นฟักทองพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดน่าน  ผลมีรูปทรงกลมแบน  และกลมมน  เนื้อในมีสีเหลือง  เนื้อบางส่วนจะออกสีเขียวขี้ม้าเหมือนสีไข่เน่า  แม้สีไม่สวย  แต่เนื้อแน่นอร่อย  ไม่ยุ่ย  รสชาติหวานมัน  ทำอาหาร  ทำขนมได้หลายอย่าง

“วิสาหกิจจะรับซื้อฟักทองจากสมาชิกราคาตามเกรด  หากเป็นเกรด A ลูกสวย  ผลไม่บิดเบี้ยว  น้ำหนัก 1.5 กิโลฯ ขึ้นไป  ราคากิโลฯ ละ 13 บาท หากเป็นฟักทองลูกเล็ก  ตกเกรด  ราคาตั้งแต่ 2 บาทถึง 8 บาทต่อกิโลฯ  ฟักทองที่ตกเกรดจะเอามาทำขนมหรือแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ  เช่น  ทำขนมเปี๊ยะใส้ฟักทอง  ทำขนมเค้ก  ทำใส้ขนมปัง”  ประธานวิสาหกิจฯ บอก

ฑิฆัมพร  ประธานวิสาหกิจฯ บอกด้วยว่า  นอกจากการรวบรวมฟักทองจากสมาชิกส่งขายให้แก่ห้างค้าส่งและซูเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ของประเทศแล้ว  ยังนำฟักทองมาแปรรูปเป็นขนมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น  ขนมเปี๊ยะใส้ฟักทอง (ชิ้นละ 10 บาท)  คัพเค้กฟักทอง (ชิ้นละ 15 บาท)  คุกกี้ฟักทอง (ขนาด 115 กรัม  ราคา 55 บาท)  จำหน่ายที่ร้าน ‘แก้วตาคาเฟ่’ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจฯ และเป็นโรงงานคัด  บรรจุ  และแปรรูปฟักทองด้วย  โดยมีบุตรสาวของตนคิดค้นนำฟักทองมาแปรรูป  และยังนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปออกร้านจำหน่ายในงานต่างๆ  ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ เช่น  ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  มหาวิทยาลัยธธรมศาสตร์รังสิต  ตลาดสุขใจ  สวนสามพราน  จ.นครปฐม  ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่น่าสนใจ  เช่น  น้ำมันเมล็ดฟักทองอินทรีย์ (Organic Pumpkin  Seed Oil) ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา  โดยคัดเลือกเมล็ดฟักทองที่สมบูรณ์  เมล็ดเต็ม ไม่ลีบ ไม่ชื้น นำมาล้างทำความสะอาด ตากแดดให้แห้ง เพื่อไล่ความชื้น   แล้วนำไปสกัดด้วยเครื่องจักร  จนได้น้ำมันเมล็ดฟักทองที่บริสุทธิ์

มีกรดไขมันที่มีประโยชน์  เช่น  กรดไขมันไม่อิ่มตัว  โอเมกา 3 - 6 – 9  วิตามินเอ  ธาตุสังกะสี  มีสรรพคุณรักษาอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะไม่ออก  ช่วยให้ระบบปัสสาวะดีขึ้น  ช่วยรักษาต่อมลูกหมากโต ช่วยชะลอความแก่ ปรับฮอร์โมนวัยทอง (บรรจุขวดขนาด 100 มิลลิลิตร  ราคา 300 บาท)

กาแฟอาราบิก้าผสมเมล็ดฟักทอง  เป็นกาแฟดริป  บรรจุในกล่อง 5 ซอง (ราคากล่องละ 159 บาท) 1 ซองประกอบด้วย  กาแฟบดอาราบิก้า 70 %  และเมล็ดฟักทองคั่วบด 30 %  ผู้ดื่มจะได้สารอาหารที่มีประโยชย์  เช่น  กรดไขมันไม่อิ่มตัว  โอเมกา 3 - 6 – 9  วิตามินเอ  ธาตุสังกะสี 

“ส่วนเมล็ดฟักทองที่ลีบ  เปลือก หรือไส้ในฟักทองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จะเอามาหมักกับน้ำหมักชีวภาพ  ใช้เวลา 7 วัน  แล้วนำไปให้ไก่ไข่กิน  ไข่ที่ได้จะมีคุณภาพดีกว่าไก่ที่กินอาหารทั่วไป  คือจะมีกรดไขมันโอเมกา 3  โอเมกา 6 และโอเมกา 9 สูง  เป็นกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  ซึ่งต่อไปทางวิสาหกิจจะสนับสนุนให้เด็กนักเรียนในตำบลที่เลี้ยงไก่ไข่เพื่อนำมาทำอาหารกลางวัน   ใช้ฟักทองที่จะทิ้งนำมาเลี้ยงไก่”  ฑิฆัมพร  บอกถึงประโยชย์ที่สำนักงานพัฒนาวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เคยมาศึกษาแล้ว

กาแฟดริป  และโลโก้ ‘แม่กำนัน’ มีที่มาจากสามีของฑิฆัมพรเคยเป็นกำนัน  ชาวบ้านจึงเรียก “แม่กำนัน”

 “ปลูกฟักทองแก้หนี้...ปลูกข้าวโพดทั้งปีไม่เหลืออะไร”

สมศักดิ์  สิทธิโน  อายุ 71 ปี  เกษตรกรผู้ปลูกฟักทอง  บ้านหนองห้า  ตำบลบัวใหญ่  อ.นาน้อย  จ.น่าน  บอกว่า  เมื่อก่อนลุงปลูกข้าวโพดเป็นอาชีพหลัก  เหมือนกับชาวบ้านคนอื่นๆ  เพราะสภาพพื้นที่ที่นี่เป็นภูเขาสูง  ขาดแคลนน้ำ  จึงปลูกข้าวโพด  เพราะข้าวโพดรอเพียงน้ำฝนก็อยู่ได้  แต่ข้าวโพดต้องลงทุนสูง  ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่ายา  รวมต้นทุนประมาณไร่ละ 15,000 บาท   ปลูก 1 ไร่  จะได้ข้าวโพดประมาณ  1,000 กิโลฯ  ราคาพ่อค้ามารับซื้อประมาณกิโลฯ ละ 6-7 บาท 

“ขายข้าวโพดแล้วไม่เหลืออะไร  แต่ชาวบ้านต้องปลูก  เพราะน้ำไม่มี  จะปลูกพืชอื่นก็ไม่ขึ้น  แต่ปลูกข้าวโพดดีอยู่อย่างคือ   เวลาขายจะได้เงินก้อน  เอามาหมุนเวียนหักกลบลบหนี้  ใช้จ่ายในครอบครัว  แล้วก็ปลูกข้าวโพดรอบต่อไป”

ลุงบอกว่า  เมื่อหลายปีก่อน  ชาวบ้านในตำบลเริ่มปลูกฟักทองกันมากขึ้น  ลุงจึงแบ่งที่ดิน 3 ไร่มาปลูกฟักทอง  ปลูกพันธุ์ไข่เน่า  พันธุ์พื้นเมืองที่ชาวบ้านจะปลูกตามหัวไร่ปลายนาอยู่แล้ว  เป็นฟักทองที่ชาวบ้านชอบกิน  เพราะเป็นฟักทองเนื้อมัน  หวาน   ปีหนึ่งจะปลูก 1 ครั้ง  แต่จะเก็บได้ 2 ครั้ง  ในช่วงปลายปี  ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

ลุงสมศักดิ์

“ลุงปลูกฟักทองอินทรีย์  เพราะมันปลูกง่าย  ใช้ปุ๋ยอินทรีย์  ไม่ต้องพ่นยา  เพราะไม่ค่อยมีแมลง  ต้นทุนไม่สูง  ประมาณไร่ละ 2,000 บาท  3  เดือนก็เริ่มเก็บขายได้แล้ว  ขายได้ประมาณไร่ละ 15,000 บาท  ช่วยแก้หนี้สินได้  แต่ข้าวโพดปลูกทั้งปี...ไม่เหลืออะไร”  ลุงสมศักดิ์บอก

ฑิฆัมพร  กองสอน   ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่  บอกทิ้งท้ายว่า  วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่จะเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ต่อไป  และจะทำทั้งจังหวัด  ไม่ใช่เฉพาะที่ตำบลบัวใหญ่  เพื่อลดปัญหาจากการปลูกข้าวโพด  เพิ่มพื้นที่สีเขียว  ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำในจังหวัดน่านที่ถูกทำลาย 

รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น  สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา  เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาฟักทองพันธุ์ไข่เน่าให้เป็นสินค้า GI

(สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) เป็นสินค้าอัตลักษณ์ของจังหวัดน่าน  ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการขอจดทะเบียน GI

“เราจะพัฒนาฟักทองพันธุ์ไข่เน่า  ให้เป็นฟักทองที่คนทั่วไปรู้จัก  มีชื่อเสียง  เรียกว่าใครที่มาจังหวัดน่านจะต้องอยากมากินฟักทองไข่เน่า  จะนำมาทำขนมและอาหารที่หลากหลาย  รวมทั้งมีกาแฟผสมเมล็ดฟักทอง  และน้ำมันเมล็ดฟักทองที่มีประโยชน์  เพื่อให้คนปลูกฟักทองมีรายได้  มีตลาดที่กว้างขึ้น  และจะเป็นตัวอย่างให้คนน่านหันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น”  ฑิฆัมพร  กองสอน  ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่บอกถึงแผนงานที่จะเดินหน้าต่อไป

************

ภาพ : facebook ผลิตภัณฑ์ฟักทองอินทรีย์น่าน by แม่กำนัน  เรื่อง : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

4 วันอันตรายสงกรานต์! สังเวย 162 ศพ 'เมืองคอน' แชมป์อุบัติเหตุ

พลตำรวจโทกรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ