ภูมิปัญญาคนแหลมมะขาม จ.ตราด ยกระดับสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

อำเภอแหลมงอบไม่ใช่จะมีเพียงท่าเรือเพื่อข้ามไปเที่ยวเกาะช้างเท่านั้น   แต่ที่นี่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมากมายหลายแห่ง   รอคอยให้ผู้คนที่สนใจมาสัมผัส  เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น  วิถีวัฒนธรรม  อาหารการกิน  เป็นการท่องเที่ยวแบบ  slow life และยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนในยุค covid-19 ครองโลกอีกด้วย

บ้านแหลมมะขาม  อ.แหลมงอบ  อยู่ห่างจากตัวเมืองตราดประมาณ 10 กิโลเมตรเศษ  บนเส้นทางตราด-แหลมงอบ  มีเนื้อที่ประมาณ  2.7 ตารางกิโลเมตร  ประชากรประมาณ 530 คน  ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยาง  ประมงพื้นบ้าน  ฯลฯ  เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากวิทยาลัยชุมชนตราดจัดทำโครงการ จัดการความรู้เพื่อการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านแหลมมะขาม’ มาตั้งแต่ปี 2555  

จุดเริ่มต้นมาจากหมู่บ้านเล็กๆ ที่คนในหมู่บ้านยังไม่รู้จักคำว่า การท่องเที่ยวชุมชนคืออะไร,  “ในหมู่บ้านมีแต่สวนยางพารา  สวนผลไม้  มีป่าจาก  ป่าโกงกาง  ประมงพื้นบ้าน  ไม่มีหาดทราย  ไม่มีทะเลสวยๆ เหมือนเกาะช้าง  ใครจะมาเที่ยว ?” , “ชุมชนจะทำเรื่องท่องเที่ยวได้หรือ ?”  ฯลฯ

จัดการความรู้เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ดร.กรรณิกา สุภาภา  ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตราด  บอกเล่าในหนังสือเรื่อง เรื่องจากพื้นที่ CBT วิทยาลัยชุมชนตราด’ ว่า  วิทยาลัยชุมชนเป็น 1 ใน 4 กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาที่มีพันธกิจและบทบาทในการพัฒนาสังคมที่มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  ในปี 2554  วิทยาลัยชุมชนตราดได้จัดทำโครงการจัดการความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนใน 6 ด้าน  เช่น  ด้านการเกษตร  ผ้าพื้นเมือง  อาหาร  การท่องเที่ยวโดยชุมชน/การสืบสานวัฒนธรรม  ฯลฯ

ในปี 2555 ได้จัดทำโครงการ จัดการความรู้เพื่อการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านแหลมมะขาม’ ขึ้นมา  โดยมีต้นแบบมาจากการจัดทำโครงการในลักษณะดังกล่าวที่บ้านเนินทราย  อ.เมือง  จ.ตราด  ซึ่งดำเนินการมาก่อนประมาณ 1 ปี  มีพี่เลี้ยงโครงการคือ สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน’ หรือ  ‘Community  Based  Tourism Institute’ (CBTI) ซึ่งเข้ามาให้ความรู้เรื่องการจัดการท่องเที่ยวฯ  นอกจากนี้ยังพาทีมงานโครงการไปศึกษาการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่บ้านแม่กำปอง  อ.แม่ออน  จ.เชียงใหม่,  เกาะยาวน้อย  จ.พังงา  ฯลฯ

อาจารย์อำพร  ไพฑูรย์  วิทยาลัยชุมชนตราด  หนึ่งในทีมงานโครงการ  เล่าว่า  เมื่อเริ่มโครงการจัดการความรู้เพื่อการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านแหลมมะขามในปี 2555  ได้นัดชาวบ้านมาประชุมที่วัดแหลมมะขาม  มีผู้ใหญ่สุเทพ  บุญเพียร  เป็นแกนนำ  เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน  โดยมีวิทยากรมือ 1 จากสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน  ซึ่งคร่ำหวอดกับการท่องเที่ยวชุมชนมานานกว่า 20 เป็นวิทยากรให้ความรู้

เริ่มตั้งแต่นิยาม  ความหมายของการท่องเที่ยวโดยชุมชน  การค้นหาของดีชุมชน  การทำเส้นทางท่องเที่ยวบ้านแหลมมะขาม  การฝึกเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น  การออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยว  และการเรียนรู้เรื่องการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน อาจารย์อำพรเล่าย้อนหลังการจัดประชุมให้ความรู้แก่ชาวบ้านครั้งแรก

แม้ว่าในการประชุมชี้แจงคราวแรก  ชาวบ้านหลายคนจะมีสีหน้า งงงวย’ ต่อความรู้ที่ได้รับ  ประมาณว่า “ในหมู่บ้านมีแต่สวนยางพารา  สวนผลไม้  มีป่าจาก  ป่าโกงกาง  ประมงพื้นบ้าน  ไม่มีหาดทราย  ไม่มีทะเลสวยๆ เหมือนเกาะช้าง  ใครจะมาเที่ยว ?” , “ชุมชนจะทำเรื่องท่องเที่ยวได้หรือ ?”  ฯลฯ

แต่ด้วยความมุ่งมั่นของทีมงานโครงการ  มีการจัดประชุม  จัด Work  Shop  พาชาวบ้านไปศึกษาดูงาน  แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างต่อเนื่อง  ทำให้ชาวบ้านแหลมมะขาม  เกิดความเชื่อมั่นว่าชุมชนมีของดี  มีศักยภาพที่จะจัดการเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้  โดยชาวบ้านได้ช่วยกันรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นจากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่  จากหลักฐานที่มีอยู่  เช่น  วัดแหลมมะขาม  อุโบสถที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จ  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  เช่น  การสานงอบ  ช่างฝีมือ  แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  แม่ครัวที่มีฝีมือในการทำอาหารและขนมพื้นบ้าน  ฯลฯ  แล้วนำมาจัดทำเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยว

ตามรอยประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 5 ที่แหลมมะขาม

สมัยรัชกาลที่ 5  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จประพาสจังหวัดตราด   โดยเรือกลไฟทางทะเล รวมทั้งหมด 12  ครั้ง  ตั้งแต่ปี พ.ศ.2416-2450   พระองค์เสด็จประพาสน้ำตกธารมะยมบนเกาะช้างหลายครั้ง  ทรงสรงน้ำในลำธารน้ำตก   โปรดให้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ ...บนก้อนหินใหญ่ริมน้ำตก 

รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสน้ำตกธารมะยม  เกาะช้าง  ภาพวาดผนังโบสถ์วัดแหลมมะขาม

ในเดือนมีนาคม  พ.ศ.2443  พระองค์เสด็จจังหวัดตราดเป็นครั้งที่ 10  ประพาสเกาะช้าง  เกาะกระดาด  แล้วแวะที่ตำบลแหลมงอบ  วันที่ 9 มีนาคม  พระองค์ประทับแรมที่วัดแหลมงอบ  รุ่งขึ้นจึงเสด็จมาที่วัดแหลมมะขาม  เพื่อนมัสการพระอธิการแดงเจ้าอาวาส  ทรงถวายเกวียนแก่พระอธิการแดง  เป็นเกวียนเทียมวัวทำด้วยไม้อย่างดี  ปัจจุบันซากเกวียนยังคงอยู่ที่วัด  นอกจากนี้พระองค์ยังพระราชทานวัตถุปัจจัยและเงินให้แก่เจ้าคณะเมือง  พระสงฆ์  ราษฎรที่ทูลเกล้าฯ ถวายของ  และเหรียญเสมาจารึก  ‘จปร’ สำหรับคล้องคอเด็ก

อาจารย์สมโภชน์  วาสุกรี  ผู้ทรงคุณวุฒิ  สภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดตราด  ในฐานะปราชญ์ชุมชนบ้านแหลมมะขาม  บอกว่า  เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่รัชกาลที่ 5  เสด็จมาที่เกาะช้าง  และวัดแหลมมะขามนั้น  คราวเมื่อมีการบูรณะพระอุโบสถวัดแหลมมะขามในปี 2557  ท่านเจ้าอาวาสได้จ้างให้ช่างเขียนภาพผนังโบสถ์แสดงเรื่องราวเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5  เสด็จประพาสน้ำตกธารมะยมและวัดแหลมมะขามเอาไว้ด้วย

ขณะเดียวกันอาจารย์สมโภชน์ในฐานะผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์  โดยเฉพาะเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5  ที่ประเทศสยาม (ในสมัยนั้น) มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนอินโดจีนกับฝรั่งเศส  จนต้องเสียดินแดนลาวและกัมพูชา   ตลอดจนยอมให้ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีและตราดไว้เป็นประกัน  (ระหว่างปี พ.ศ.2436-2450) ได้ใช้บ้านของตนเองเป็นที่เก็บรวบรวมภาพต่างๆ แสดงเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปี  2553  เรียกว่า ศูนย์เรียนรู้รัชกาลที่ 5”  เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ดังนั้นเมื่อมีการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านแหลมมะขาม  กลุ่มท่องเที่ยวฯ จึงนำเส้นทางประวัติศาสตร์ ‘ตามรอยเสด็จรัชกาลที่ 5’ มาบรรจุในโปรแกรมด้วย

อาจารย์สมโภชน์กับส่วนหนึ่งของภาพประวัติศาสตร์

เที่ยวสะหงาดบ้านแหลมมะขาม

สะหงาด”  เป็นสำนวนของคนตราด  มีความหมายว่า  ดีงาม  เยอะ  มากมาย  สะใจ”  ใช้เพื่อขยายความ  เช่น   สวยสะหงาด”  สวยมาก,  กินสะหงาด กินเยอะมาก  หรือกินเยอะจนสะใจ  ฯลฯ  ชาวบ้านแหลมมะขามจึงนำคำนี้มาใช้เป็นแคมเปญหรือคำขวัญว่า เที่ยวสะหงาดบ้านแหลมมะขาม”  มีความหมายประมาณว่า  เที่ยวสะใจที่บ้านแหลมมะขาม”  เพราะบ้านแหลมมะขามมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหลากหลาย  มีอาหารการกินหลายอย่าง  ใครมาเที่ยวแล้วจะต้อง สะหงาดหรือสะใจอย่างแน่นอน !!

ผู้ใหญ่สุเทพ  บุญเพียร  ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านแหลมมะขาม  บอกถึงการจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านแหลมมะขามว่า  กลุ่มฯ มีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 40 คน  มีที่พักโฮมสเตย์รองรับ 13  หลัง  ส่วนโปรแกรมการท่องเที่ยวมีหลายโปรแกรมตามความสะดวกและความต้องการของนักท่องเที่ยว  เช่น  1 วัน  2  วัน (พักโฮมสเตย์) 

เริ่มจากพานักท่องเที่ยวนั่งรถซาเล้งหรือมอเตอร์ไซต์พ่วงข้าง (ชาวบ้านใช้เป็นพาหนะเข้าไปในไร่ในสวนเพื่อเก็บผลผลิต)   เพื่อตามรอยเสด็จรัชกาลที่ 5 ไปเยี่ยมชมวัดแหลมมะขาม   พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน  แสดงข้าวของในอดีต  ปืนใหญ่โบราณ  (สมัยสงครามสยาม-ญวน)  ชมต้นไม้เก่าแก่อายุหลายร้อยปี   เช่น  กฤษณา  กันเกรา  ชมอุโบสถที่รัชกาลที่ 5 เสด็จมานมัสการเจ้าอาวาส  ปัจจุบันมีภาพเขียนฝาผนัง  แสดงเหตุการณ์สำคัญที่พระองค์ท่านเสด็จมา

นักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจการสานงอบ

ชมและร่วมกิจกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น  การเย็บงอบใบจาก  การทำเสวียนงอบ  สานข้าวของเครื่องใช้  ของที่ระลึก  โมบายจากต้นคุ้ม  ลูกยางนา  ล่องเรือเที่ยวชมลำคลอง  ชมป่าจาก  ป่าโกงกาง  วิถีประมงพื้นบ้าน  ชมเหยี่ยวทะเล  งมหอยปากเป็ดเอามาทำเมนูเด็ด  รับประทานอาหารพื้นบ้านหรืออาหารทะเล  ชมการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน   ตอนค่ำนั่งเรือชมหิ่งห้อย  จับปูแสม  ดูระบบนิเวศลำคลองยามค่ำ   รุ่งเช้าตักบาตร  รับประทานอาหารเช้า  ชมหุ่นไม้กระดาน  ซื้อของฝาก-ผลิตภัณฑ์จากชุมชน  น้ำพริกเผาสับปะรด  ชาใบขลู่  ฯลฯ

งมหอยปากเป็ด

ส่วนอาหารพื้นบ้านก็มีหลายอย่าง  เช่น  หอยปากเป็ด’  หรือ หอยรากเป็นหอยที่อาศัยในดินทรายชายทะเล    เปลือกมีสีเขียวปนน้ำตาล  มองดูคล้ายปากเป็ด   มีรากหรือหางสีขาวขุ่นยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร   ชาวบ้านจะใช้มืองมลงไปในดินเลน  นำมาทำอาหารได้หลายอย่าง  เช่น  ผัดฉ่า  ผักพริกแกง  หมูต้มชะมวง  หมูต้มถั่วลิสง  ฯลฯ 

อาหารเหล่านี้จะจัดใส่มาในสำรับที่เรียกว่า  กระพอกเป็นกล่องไม้สี่เหลี่ยมมีฝาครอบ  ขายกสูงเล็กน้อยคล้ายกับขันโตกทางภาคเหนือ  หรือ ‘พาข้าว’ ของอีสาน   เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านแหลมมะขาม  สำหรับใส่อาหารเพื่อป้องกันมดแมลงวัน  และทำให้ยกอาหารมาเสิร์ฟได้สะดวก

หรือหากอยากจะกินอาหารทะเลสดๆ สะหงาดๆ ก็ต้องบอกล่วงหน้า  เพราะทะเลแหลมงอบมีสัตว์น้ำ  สัตว์ในป่าชายเลนต่างๆ อุดมสมบูรณ์  เช่น  ปูม้า  ปูดำ  กั้ง  กุ้ง  หมึก ปลาอินทรีย์  ปลากระบอก ฯลฯ

กระพอก

ภูมิปัญญาคนแหลมมะขาม

‘บ้านหุ่นไม้กระดาน’  ลุงสงกรานต์   ไรนุชพงศ์   ช่างไม้และช่างฝีมือพื้นบ้าน  วัย 80 เศษ  แต่สุขภาพยังแข็งแรง ได้ดัดแปลงโรงสีเก่าเป็นโรงเก็บสะสมเครื่องมือช่างไม้โบราณอายุนับร้อยปีของบรรพบุรุษ  เช่น  ฆ้อน  สิ่ว  สว่าน  กบไสไม้  ขวาน  มีด  เลื่อย  ฯลฯ  แล้วนำไม้กระดานมาฉลุให้เป็นรูปคนหรือช่างขนาดเกือบเท่าคนจริงกำลังทำงาน  เช่น  ช่าง 2 คนช่วยกันเลื่อยไม้  ช่างไสไม้  ฯลฯ   ออกแบบให้เคลื่อนไหวได้  เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จักเครื่องมือช่างไม้สมัยที่ยังไม่มีเครื่องมือไฟฟ้า

ส่วนหนึ่งของหุ่นไม้กระดาน

‘ธนาคารต้นไม้ชุมชน’  เนื้อที่ประมาณ  22 ไร่  โดยอาจารย์สมโภชน์  วาสุกรี  มีความตั้งใจจะทำที่ดินแปลงนี้ให้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้และสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และนำมาใช้ประโยชน์  โดยเฉพาะสมุนไพรที่มีอยู่ประมาณ 200 ชนิด  ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

เช่น  กะเมง  รักษาโรคกรดไหลย้อน  สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย  เลี่ยน  รักษาโรคผิวหนัง  โปร่งฟ้า  ฆ่าเชื้อโรค  แผลเรื้อรัง  ใบใช้อมมีรสหวานชุ่มคอ  แก้กลิ่นปาก  น้ำนมราชสีห์  เป็นยาบำรุงกำลัง  ยางสดรักษาโรคปากนกกระจอก  สิงหโมรา  ช่วยเจริญอาหาร  ฟอกเลือก  แก้โรคสะเก็ดเงิน ขลู่   ช่วยลดความดันโลหิต  เบาหวาน  ริดสีดวง  ฯลฯ

“สมุนไพรพื้นบ้าน  คนส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก  มองว่าเป็นวัชพืช  ไม่มีประโยชน์  ผมจึงต้องเก็บรวบรวมเอาไว้  แต่ส่วนใหญ่จะขึ้นเองตามธรรมชาติ  และมีเป้าหมายให้ชาวบ้านพึ่งพาตัวเองด้านยา  เพราะต่อไปจะมีโรคภัยหรือความเจ็บป่วยใหม่ๆ เกิดขึ้น  เช่น โควิดระบาดไปทั่วโลก  ทำให้หมอ  พยาบาลไม่เพียงพอ  เราจึงต้องพึ่งตัวเอง    เช่น  ใช้ฟ้าทะลายโจรมารักษา”  อาจารย์สมโภชน์บอก

เขาบอกด้วยว่า  ขณะนี้ได้ทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรออกมาแล้ว 2 ชนิด  คือ  ชาใบขลู่  ใช้ชงดื่มแทนน้ำชา  ช่วยเรื่องความดันโลหิตสูง  เบาหวาน  และกะเมง  นำมาตากแห้งบดเป็นผง  ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นลูกกลอน  ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย  ทำให้ร่างกายแข็งแรง  ไม่เจ็บป่วยง่าย

ต้นสิงหโมรา  ใบคล้ายบอนชนิดหนึ่ง

“ผมมีหลักคิดว่า ‘ทุกคนสามารถเป็นหมอ  ดูแลรักษาตัวเองได้’  โดยการปลูกและใช้สมุนไพรที่มีอยู่  ไม่ต้องพึ่งพาหรือเสียเงินซื้อยาจากต่างประเทศ  ซึ่งจะทำให้ประเทศของเรามีความมั่นคงทางด้านยา  และผมจะนำแนวคิดนี้ไปขยายผล  โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดตราดที่มีการจัดตั้งแล้วทั้งหมด 43 ตำบล  ครอบคลุมทั้งจังหวัด  ไปขับเคลื่อนให้เป็นจริง”  อาจารย์สมโภชน์ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ  สภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดตราด  บอกถึงแนวคิดและแผนงานการสร้างความมั่นคงด้านสมุนไพร

ผู้ที่สนใจอยากจะศึกษาดูงานด้านสมุนไพรและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสมัยรัชกาลที่  5 ติดต่อได้ที่อาจารย์สมโภช  วาสุกรี  หรือหากมาท่องเที่ยวจังหวัดตราดและเกาะช้างแล้วอยากจะมาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่บ้านแหลมมะขาม  กินอาหารพื้นบ้านและอาหารทะเลแบบสะหงาดๆ  สามารถติดต่อได้ที่ผู้ใหญ่สุเทพ  บุญเพียร  ประธานกลุ่มท่องเที่ยวฯ  โทร 09-8860-2914

 

ข้อมูล : วิทยาลัยชุมชนตราด  ภาพ :  face book  /baanlaemmakham

เรื่อง :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

นายกฯ ยัน ร่วมโต๊ะอาหารเที่ยงกับ 'เอกนัฏ'

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ร่วมโต๊ะอาหารกลางวันกับนายกรัฐมนตรีและคณะ

เสียความรู้สึก! 'ใบเฟิร์น' โพสต์จองทัวร์แต่ไม่ตรงปก ช่างภาพหัวหมอถ่ายแต่งานตัวเอง

จองทัวร์ไปปากีสถานแบบ Private photo trip แต่นักแสดงสาว ใบเฟิร์น-อัญชสา มงคลสมัย กลับต้องมาเสียความรู้สึกเมื่อรูปแบบทัวร์ไม่ตรงปกกลายเป็นการ Join trip แถมช่างภาพที่รับหน้าที่ถ่ายภาพให้ลูกทัวร์กลับสนใจแต่การถ่ายภาพงานส่วนตัวของตนเองจนลูกทัวร์บางคนได้ภาพแค่เพียง 2ภาพเท่านั้น โดยสาวใบเฟิร์นได้โพสต์เหตุการณ์ทั้งหมดลงในเพจ "Bivoyage - ใบบันทึกเดินทาง"