เครือข่ายประชาชนภาคใต้จัดงาน “การกระจายอำนาจ ความท้าทายและเป้าหมายร่วม” จุดประกายที่ จ.พัทลุง ก่อนเคลื่อนต่อ 14 จังหวัดภาคใต้

ส่วนหนึ่งของภาคประชาชนที่เข้าร่วมงานวันนี้ที่ จ.พัทลุง

พัทลุง / เครือข่ายประชาชนและหน่วยงานภาคีจัดงาน “ประชาชนภาคใต้ :  การกระจายอำนาจ  ความท้าทายและเป้าหมายร่วม” ที่ จ.พัทลุง  เพื่อจุดประกายขับเคลื่อนการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  ทั้งด้านการวางแผนพัฒนา  แก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ด้าน ดร.ธนกร  คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) บอก 4 ปีที่ผ่านมา  กระจายอำนาจด้านจัดการทรัพยากรและด้านสาธารณสุข โดยโอน รพ.สต.ให้ อปท.นำร่องไปแล้ว  ขณะที่ ดร.บรรเจิด  จากนิด้า  บอกต้องสร้างชุมชนเข้มแข็ง  สร้างสถาบันภาคประชาชนให้มีอำนาจต่อรอง  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  ประเทศไทยจึงจะไปรอด

 วันนี้ (2 มีนาคม) ระหว่างเวลา 9.00-16.30 น.  ที่ห้องประชุมโรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย    อ.เมือง  จ.พัทลุง  มีการจัดงาน “ประชาชนภาคใต้ :  การกระจายอำนาจ  ความท้าทายและเป้าหมายร่วม”  โดยองค์กรภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดงาน  คือ  สภาประชาชนภาคใต้  สภาองค์กรชุมชนจังหวัดพัทลุง  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน  กป.อพช.  รักจังสตูล  พังงาแห่งความสุข  อบจ.พัทลุง  มูลนิธิชุมชนไท  สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ThaiPBS  นิด้า  วช.  สวทช.  สกสว. และมหาวิทยาลัยทักษิณ  มีผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชน  นักวิชาการ  ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ  เข้าร่วมงานประมาณ  200  คน

นายสุวัฒน์  คงแป้น  นายกสมาคมสภาองค์กรชุมชนจังหวัดพัทลุง  กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงาน “ประชาชนภาคใต้ :  การกระจายอำนาจ  ความท้าทายและเป้าหมายร่วม” ว่า  เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจ  เพราะการกระจายอำนาจจะเป็นคานงัดที่สำคัญในการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศไทย เนื่องจากเดิมการวางแผนพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ มาจากส่วนกลาง  เป็นการวางแผนแบบ ‘บนลงล่าง’  ประชาชนไม่มีส่วนร่วม  ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ  ทำให้ทรัพยากรในท้องถิ่นถูกแย่งชิง ถูกทำลาย  เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม เกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมา

“แต่การกระจายอำนาจ  คือการกระจายการตัดสินใจให้ท้องถิ่น  ให้ประชาชนมีส่วนร่วม  ทั้งเรื่องการวางแผนการพัฒนา   การแก้ไขปัญหา  และวางแผนงบประมาณที่ตรงกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น  ไม่ใช่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางเหมือนที่ผ่านมา  ดังนั้นประชาชนในภาคใต้ในนามของ ‘สภาประชาชนภาคใต้’ จึงร่วมกับภาคีและหน่วยงานต่างๆ จัดงานนี้ขึ้นมา  เพื่อจุดประกายการกระจายอำนาจให้เกิดขึ้น  โดยเริ่มที่จังหวัดพัทลุง  และจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องให้ครบทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้  เพื่อสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลง  และขยายไปสู่ภาคต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป” นายสุวัฒน์  นายกสภาองค์กรชุมชนจังหวัดพัทลุงบอกถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน

ก.ก.ถ.นำร่องกระจายอำนาจด้านทรัพยากร-สาธารณสุขให้ อปท.

ดร.ธนพร  ศรียากูล  ผู้ทรงคุณวุฒิ  คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.)  สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  ปาฐกถาพิเศษ  เรื่อง “การกระจายอำนาจ  ความท้าทายและเป้าหมายร่วม” โดยกล่าวถึงบทบาทของ ก.ก.ถ.ในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นว่า  นับตั้งแต่ปี 2564      ก.ก.ถ.ได้กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นแล้วหลายด้าน 

เช่น  ในการประชุมคณะกรรมการ ก.ก.ถ.ครั้งที่ 2/2564  เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ก.ก.ถ. มีมติเห็นชอบการถ่ายโอนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติไปให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องแนวทางการจัดสรรงบประมาณให้แก่ อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) สำหรับภารกิจในการควบคุมและดับไฟป่า 

โดยให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด (สถ.) สามารถตั้งงบประมาณในปี 2566  และให้ อปท. สามารถบริหารจัดการงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการควบคุมและดับไฟป่าได้  จากแต่ก่อนที่แม้แต่การจะเข้าไปดับไฟป่าของ อปท.ก็จะต้องทำเรื่องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกรมป่าไม้ก่อน

ดร.ธนกร  ศรียากูล

โดยในปีงบประมาณ 2566 สถ.ได้ของบประมาณด้านภารกิจไฟป่าให้แก่ อปท.ทั่วประเทศจำนวน 2,342 แห่ง  รวมงบประมาณทั้งหมด 49 ล้านบาทเศษ  และในปีงบประมาณ 2567  สถ.ได้จัดทำคำของบประมาณให้แก่ อปท.ทั่วประเทศรวม 2,368  แห่ง  รวม 1,709 ล้านบาท 

“นอกจากนี้ ก.ก.ถ.ยังให้อำนาจ อปท.ในการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน  เช่น  ลิง  หรือช้างป่า  ซึ่งเมื่อก่อนเจ้าหน้าที่จะเข้าไปแตะต้องสัตว์ป่าไม่ได้  หรือหากทำช้างป่าตายก็อาจจะต้องติดคุก เพราะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง  รวมทั้งการเข้าไปทำแนวกันไฟ  ทำฝายกั้นน้ำเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นในเขตป่า  เมื่อก่อนจะทำไม่ได้ และต้องไปขออนุญาตตามกฎหมาย แต่ตอนนี้ทำได้  ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในเชิงอำนาจของท้องถิ่นในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง”  ดร.ธนกร  ยกตัวอย่างการกระจายอำนาจด้านทรัพยากร ธรรมชาติให้แก่ อปท.

ดร.ธรกรกล่าวด้วยว่า  ในช่วง 4 ปีนี้นับแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ก.ก.ถ.ได้นำร่องการถ่ายโอนอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ อปท. ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่น่าสนใจ  และเป็นทิศทางที่ดีในการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นต่อไป 

นอกจากนี้ ก.ก.ถ.ยังได้ขับเคลื่อนเรื่องการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุข หรืออำนาจในการจัดการสุขภาพให้แก่ท้องถิ่น คือ  สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา  นวมินทราชินี (สอน.) และ รพ.สต.ให้แก่ อบจ.ไปแล้ว  เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าด้านการกระจายอำนาจ  แต่ยังทำได้ไม่เต็มที่  โดย อบจ.ก็จะต้องไปยกระดับ รพ.สต. รวมทั้งการสร้างบุคลากรไปดูแลชาวบ้านให้มีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น

ต้องสร้าง “พื้นที่กลางระดับจังหวัดจุดคานงัดประเทศไทย”

ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในประเด็น ‘การสร้างชุมชนเข้มแข็งและกลไกพื้นที่กลางระดับจังหวัดจุดคานงัดประเทศไทย’ มีใจความสำคัญว่า  การจัดประชุมสัมมนาของภาคประชาสังคมในวันนี้ที่พัทลุงถือว่าเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมเพื่อจะนำไปสู่การกระจายอำนาจ  และว่าโครงสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมเกิดจากภาคประชาชนไม่มีสถาบันที่มีอำนาจในการต่อรอง  เช่น  สหภาพแรงงาน  กลุ่มเกษตรกร  ชาวไร่  ชาวนาก็ไม่มีอำนาจต่อรองที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของตนกับอำนาจรัฐ  จึงนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้นจึงต้องสร้างสถาบันที่มีอำนาจต่อรองของภาคประชาชนขึ้นมา  โดยสังคมไทยมีชุมชนที่เข้มแข็งเป็นต้นทุนที่สำคัญ  โดยการเชื่อมโยงชุมชนที่เข้มแข็งให้มีอำนาจในเชิงพื้นที่  และรวมกันให้เป็นสถาบันและเป็นพื้นที่กลางในการมีอำนาจต่อรองในระดับจังหวัด  ซึ่งหากทำได้จะทำให้เกิดเป็นสถาบันของประชาชนที่มีอำนาจในการต่อรองในระดับจังหวัด  และขยายจากระดับจังหวัดเป็นระดับภาค  และขยายเป็นต้นแบบจากภาคใต้ไปยังภูมิภาคต่างๆ 

ศ.ดร.บรรเจิด  สิงคะเนติ

“จุดคานงัดของประเทศไทยคือ  การสร้างอำนาจให้เป็นสถาบันในระดับจังหวัด เพื่อใช้อำนาจต่อรองในระดับจังหวัด  และรวมกันเป็นระดับภาคต่อรองระดับภาค  และจากระดับภาคไปสู่การเชื่อมโยงไปทั่วประเทศเพื่อต่อรองระดับนโยบายประเทศ  ซึ่งถือเป็นรากฐานของประชาธิปไตย  เรียกว่าเป็นการใช้ ‘แนวทางประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ’  โดยการดึงทุกภาคส่วน  ทั้งเอกชน  ภาครัฐ ท้องถิ่น  ภาคประชาสังคม  ให้เข้ามีส่วนร่วม  เพื่อให้เป็นพื้นที่กลาง  และจะเป็นทางเลือกและทางรอดให้กับประเทศไทย”  ดร.บรรเจิดกล่าว 

ดร.บรรเจิดย้ำว่า การประชุมของพี่น้องภาคใต้ในวันนี้เป็นเสมือนทิศทางและเป็นธงชัยในการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย  และจะต้องทำให้เกิดสถาบันของประชาชนที่มีอำนาจในการต่อรองในระดับจังหวัด  เกิดพื้นที่กลางในระดับจังหวัด  และจะเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย  เพราะนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ปี 2475 และมีประชาธิปไตยมาเกือบ 100 ปี  แต่สิ่งที่ขาดมาโดยตลอดคือ  การขาดสถาบันของภาคประชาชนที่มีอำนาจในการต่อรอง

เสียงจากประชาชนภาคใต้กับการกระจายอำนาจ

นายสมบูรณ์  คำแหง  ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.)  กล่าวว่า  เมื่อพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ  ไม่ใช่แต่เฉพาะกระทรวงมหาดไทยที่จะมองว่าเป็นการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด  แต่สังคมก็ยังแคลงใจว่าถ้ามีการกระจายอำนาจ  มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็จะได้ผู้มีอิทธิพลเข้าไปเป็นผู้ว่าฯ  แต่สังคมไม่แคลงใจและกลับยอมรับได้ที่มีผู้ว่าฯ มาจากส่วนกลาง  ขณะเดียวกันใน 1 จังหวัดก็มีทั้งผู้ว่าฯ และมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มาจากการเลือกตั้ง

“นี่คือมายาคติที่เราเลือกตั้งนายก อบจ.ได้  แต่เลือกตั้งผู้ว่าไม่ได้  และทั้ง 2 ส่วนนี้ก็มีอำนาจทับซ้อนกัน  แต่ที่สำคัญคือ  ภาคประชาชนไม่มีโอกาสที่จะรับรู้และเข้าถึงงบประมาณในการพัฒนาจังหวัด  ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีงบประมาณพัฒนาในแต่ละปีนับหมื่นล้านบาท  แต่ประชาชนเข้าไม่ถึง  เพราะมาจากการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลาง”  ประธาน กป.อพช. บอก

เขายกตัวอย่างว่า  จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่มีงบประมาณพัฒนาทั้งจังหวัดปีหนึ่งหลายพันล้านบาท  เช่น  งบจังหวัด 200 ล้านบาท  งบกลุ่มจังหวัด 400 ล้านบาท  นอกจากนี้ยังมีงบจากหน่วยงานราชการส่วนกลางที่อยู่ในจังหวัด  เช่น  เกษตรจังหวัด  ชลประทานจังหวัด  ฯลฯ  หลายสิบหน่วยงาน  ซึ่งงบประมาณและแผนพัฒนาเหล่านี้มาจากส่วนกลางและนักการเมือง  โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม  แม้ว่าตามระเบียบของทางราชการจะบอกว่าเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการหรือเสนอแผนการพัฒนา  แต่ข้อเท็จจริงประชาชนไม่สามารถเข้าถึง  ไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง 

“ดังนั้นการกระจายอำนาจที่แท้จริงจึงไม่ใช่แค่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด  แต่ต้องกระจายอำนาจเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนา  และวางแผนการใช้งบประมาณที่ตรงกับความต้องการของประชาชนด้วย”  ประธาน กป.อพช. บอกถึงเป้าหมายการกระจายอำนาจ

นายพา  ผอมขำ  เลขานุการ  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง  กล่าวว่า  การกระจายอำนาจเป็นทางรอดของประเทศไทย  ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น  งบประมาณต่างๆ ส่วนใหญ่จะกระจายลงไปอยู่ที่ท้องถิ่น  ทำให้ท้องถิ่นเจริญทั่วถึง  แต่ประเทศไทยงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่ส่วนกลาง  ประมาณ 72 %   และกระจายไปท้องถิ่นเพียง 28 %

“แม้แต่การกระจายอำนาจเรื่องโรงเรียน  เรื่อง รพ.สต.ให้ท้องถิ่นทำ  ซึ่งท้องถิ่นก็สามารถบริหารจัดการได้ดี  แต่ยังมีกับดักอื่นๆ ซ่อนอยู่  เช่น  กระจายแต่การบริหาร  แต่ไม่ให้งบประมาณ  และยังยึดอำนาจแท้จริงไว้ที่ส่วนกลาง  ดังนั้นเราจึงต้องกำหนดอนาคตของตนเอง  สร้างบ้านแปงเมืองของเรา  และต้องลงมือทำด้วยตนเอง”  เลขานุการนายก อบจ.พัทลุงกล่าว

นายสุวัฒน์  คงแป้น  ในฐานะผู้แทนสภาประชาชนภาคใต้  กล่าวถึงข้อเสนอการกระจายอำนาจของสภาประชาชนภาคใต้ว่า การกระจายอำนาจจะต้องประกอบไปด้วยเรื่องใหญ่ๆ 3 เรื่อง  ดังนี้ 1.ต้องกระจายการจัดสรรทรัพยากรมาสู่ท้องถิ่น  2.ต้องกระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น  3.ต้องกระจายอำนาจให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง  4.ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร  โดยยกเลิกกลไกการรวมศูนย์อำนาจเดิมให้หมดไป  คือโอนอำนาจจากกระทรวงต่างๆ ยกเว้นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง  การเงินการคลัง  และการต่างประเทศ  มาสู่ท้องถิ่น  และ 5.ให้มีกลไกการบริหารใหม่ในท้องถิ่น  คือให้มีองค์การบริหารในระดับจังหวัดเพียงองค์กรเดียว  โดยมีสภาพลเมืองกำกับดูแลการทำงาน

“แต่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะดำเนินการไม่ได้  หากประชาชนยังไม่ตระหนักถึงสิทธิของตนเอง  และต้องสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากขึ้นมา  โดยมีวิธีการขับเคลื่อนหลายรูปแบบ  เช่น  ในรูปแบบของจังหวัดบูรณาการ  หรือจังหวัดจัดการตนเอง   โดยมีเป้าหมายสำคัญ  คือ  ประชาชนในจังหวัดนั้นๆ จะต้องก้าวเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของจังหวัด”  นายสุวัฒน์  ผู้แทนสภาประชาชนภาคใต้กล่าวถึงข้อเสนอการกระจายอำนาจ

นอกจากนี้เขายังบอกว่า  ปัจจุบันสภาประชาชนภาคใต้ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้ขับเคลื่อนตามแนวทางจังหวัดบูรณาการในภาคใต้ไปแล้วในพื้นที่ 7 จังหวัด  เช่น  ชุมพร  พัทลุง  นครศรีธรรมราช  ภูเก็ต  ฯลฯ  และจะขยายให้ครบ 14 จังหวัดภายใน 3 ปี  ส่วนภาคอื่นๆ ก็จะเชื่อมขยายขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน   

***************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. พอช. และไทยพีบีเอส เปิดบ้าน ชวนคนรุ่นใหม่เสนอโครงการ คนรุ่นใหม่คืนถิ่นเฟส 2 “Movement คนรุ่นใหม่”

สสส. : วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 12.00 น. สสส. ร่วม พอช. และ Thai PBS เปิดบ้านรับข้อเสนอโครงการ “Movement คนรุ่นใหม่” ตั้งแต่วันนี้ – 25 พฤษภาคม 2567

พอช. แจงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟทางคู่ 9 จังหวัด ภาคใต้

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศตาม มติ ครม.14 มีนาคม 2566 ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ

พอช. ร่วม ศูนย์คุณธรรม และ สช. ขับเคลื่อนคุณธรรมของเครือข่ายทางสังคม มุ่งสร้างคุณธรรมด้วยระบบเครดิตทางสังคม

กรุงเทพมหานคร / วันนี้ 29 เมษายน 2567 ระหว่างเวลา 14.00 – 16.00 น. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) นำโดย รศ นพ.สุริยเดว ทรีปราตีผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ