'อนุดิษฐ' ซัดทัพเรือเมินยุทธศาสตร์ชาติ ซื้อ UAV ของนอก ทั้งที่ไทยผลิตเองได้ถูกกว่าเท่าตัว

"อนุดิษฐ์" ตอกโฆษกทัพเรือ เมินยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งซื้อโดรน UAV ของนอก ทั้งที่ไทยผลิตเองได้ ถูกกว่าเท่าตัว ซัดตอบไม่ตรงคำถาม ยิ่งทำให้คนสงสัยว่ามีเบื้องหลังหรือไม่อย่างไร

8 มิ.ย.2565 - น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ออกชี้แจงกรณีที่ได้อภิปรายในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ถึงโครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ประจำฐานบินชายฝั่ง ของกองทัพเรือ วงเงิน 4,070 ล้านบาท ว่ามีความโปร่งใส และมีการแข่งขันราคาที่เป็นธรรมนั้น ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตขึ้นมา เป็นไปเพื่อปกป้องภาษีของพี่น้องประชาชนที่จะถูกใช้จ่ายไปอย่างไม่คุ้มค่า หรือที่แย่ไปกว่านั้นอาจเข้าข่ายการทุจริตประพฤติผิดมิชอบ จึงขอให้กองทัพเรือช่วยชี้แจงชัดๆก่อนว่า ในเมื่อกองทัพเรือระบุความต้องการจัดหา UAV ที่สามารถใช้อาวุธโจมตีเป้าหมายได้ ทำไมจึงตัดเรื่องการส่งมอบอาวุธที่ต้องมาพร้อมกับ UAV ทิ้งไป การที่กองทัพเรืออ้างว่าสามารถจัดหาอาวุธมาติดตั้งได้ภายหลังนั้น ย่อมย้อนแย้งกับความต้องการในการจัดหา UAV ติดอาวุธของตัวเอง เพราะขอเงินภาษีประชาชนกับสภาผู้แทนราษฎร โดยบอกว่าจะไปซื้อ UAV ติดอาวุธ 3 ลำ ด้วยเงิน 4,070 ล้านบาท แปลว่า กองทัพเรือต้องซื้อ UAV ที่สามารถปฏิบัติภารกิจโจมตีเป้าหมายได้ แต่สุดท้ายกลับไปเซ็นสัญญาซื้อ UAV จำนวน 7 ลำ แต่ไม่ซื้ออาวุธมาด้วย ซึ่งแปลความว่า หลังจากการจัดซื้อครั้งนี้แล้ว กองทัพเรือต้องตั้งงบประมาณเพื่อจัดหาอาวุธมาติดตั้งให้ UAV อีก

“แล้วคราวนี้ไม่ใช่ยอดแค่ 3 ลำ แต่ต้องจัดหาอาวุธมาให้ทั้ง 7 ลำ แล้วสภาฯจะไปอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมให้อีกได้อย่างไร เพราะให้ไปตั้ง 4 พันล้านบาทแล้วเพื่อไปซื้อ UAV ติดอาวุธ แต่กลับได้มาแค่ UAV ที่ไม่มีอาวุธ เพราะฉะนั้นคำถามของผม ตรงไปตรงมาแบบนี้ ขอให้กองทัพเรือช่วยตอบให้ตรงคำถามด้วย” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ที่สำคัญไปกว่านั้น หากในอนาคตกองทัพเรือของบประมาณไปซื้ออาวุธมาติดตั้งเพื่อนำไปปฏิบัติภารกิจ แต่ประเทศผู้ขายปฏิเสธไม่ขายให้กับประเทศไทย กองทัพเรือช่วยตอบด้วยว่า จะให้ใครรับผิดชอบ UAV ติดอาวุธ ที่ปฏิบัติภารกิจไม่ได้ เรื่องนี้ต้องบันทึกไว้เลยว่าตกลงใครต้องรับผิดชอบ ไม่เช่นนั้นก็จะซ้ำรอยกับเรือดำน้ำที่ซื้อเครื่องยนต์เยอรมันมาติดตั้งไม่ได้ แต่ไม่เห็นมีใครออกมารับผิดชอบให้เป็นไปตามสัญญา ส่วนประเด็นที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) มีเอกสารยืนยันว่า ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการผลิต UAV ขนาดกลาง หรือ MALE UAV (Medium Altitude Long Endurance) ตาม TOR เดียวกันกับที่กองทัพเรือซื้อด้วยราคาที่ถูกกว่าเท่าตัวนั้น โดยกองทัพเรือซื้อจากต่างประเทศ 4 พันล้านบาท แต่ผลิตในประเทศราคาประมาณ 2 พันล้านบาท แต่กองทัพเรือชี้แจงว่าได้ตรวจสอบแล้วยังไม่มีบริษัทในประเทศเคยผลิต UAV ตาม TOR ที่กองทัพเรือต้องการนั้น แต่บริษัทของประเทศอิสราเอลที่กองทัพเรือไทยสั่งซื้อ UAV นั้น วันแรกที่กองทัพอิสราเอลสั่งซื้อ UAV ลำแรกจากบริษัทนี้ ทางบริษัทก็ไม่เคยผลิต UAV แบบนี้มาก่อนเช่นกัน แต่บริษัทก็สามารถสร้างขึ้นมาตามความต้องการของกองทัพอิสราเอล โดยหลังจากบริษัทส่งมอบ UAV ลำแรก กองทัพอิสราเอลก็สั่งซื้อมาเรื่อยๆ จนอุตสาหกรรมด้าน UAV ของอิสราเอล เป็นสินค้าส่งออกไปหลายประเทศในขณะนี้

“การที่กองทัพเรือชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบแล้วยังไม่มีบริษัทในประเทศเคยผลิต UAV ตาม TOR ที่กองทัพเรือต้องการนั้น คำตอบเช่นนี้ไม่ควรออกมาจากกองทัพเรือได้เลย เพราะแปลว่ากองทัพเรือไม่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ที่เป็น S Curve ตัวที่ 11 ตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติเลยแม้แต่น้อย กรณีที่ของประเทศอิสราเอล วันแรกที่กองทัพเขาสั่งกับบริษัทในประเทศก็ยังไม่มีการผลิตเช่นกัน แต่ตอนนี้เขาสามารถผลิตแล้วจำหน่ายไปทั่วโลกแล้ว ถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของประเทศโดยแท้ เรื่องแบบนี้ทำไมกองทัพเรือถึงไม่เอาเป็นตัวอย่าง” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า คำชี้แจงของกองทัพเรือกำลังขัดแย้งกับ สทป.ที่บอกว่าสามารถสร้าง UAV ได้เองในประเทศ ทั้งๆที่กฎหมายต่างๆ ทั้งในระดับรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และกฎหมายลำดับรองต่างๆ ล้วนรองรับและกำหนดให้กระทรวงกลาโหมต้องดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกระทรวงกลาโหมระบุว่า ยุทธศาสตร์ชาติตามหน้าที่ของตนนั้น จะต้องเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความสามารถด้านการแข่งขัน ช่วยเหลือประคับประคองประเทศที่อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และเมื่อหน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหม เช่น สทป. และกองทัพอากาศ ได้ศึกษาวิจัยและมีเอกสารยืนยันว่าสามารถดำเนินการสร้าง UAV ภายในประเทศเองได้ ด้วยสามัญสำนึกของวิญญูชนทั่วไป กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือย่อมต้องใช้งบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเราแทนที่จะไปอุดหนุนต่างประเทศอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้

“การที่กองทัพเรือมุ่งที่จะซื้อยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ ทั้งๆที่เป็นยุทธปกรณ์ที่สามารถส่งเสริมและผลิตในประเทศได้ ย่อมเกิดคำถามกับสังคมทั่วไปถึงหลักนิยมและยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ ที่ไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ และยังเป็นที่สงสัยอีกด้วยว่า มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่อย่างไร เหตุใดจึงไม่ช่วยเหลือประเทศชาติประชาชนและพึ่งพาตนเอง ทั้งๆ ที่สามารถดำเนินการได้โดยปราศจากอุปสรรค”

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะโจมตีใครทั้งสิ้น แต่ในฐานะผู้แทนราษฎรและจบการศึกษาจากสถาบันหลักทางทหารมาเช่นกัน เพียงแต่ต้องการให้กองทัพเข้าใจความรู้สึกของพี่น้องประชาชน อย่าทำให้พวกเขาท้อแท้และสิ้นหวังภายใต้การบริหารงานของท่าน เพราะในเมื่อยุทธศาสตร์ กฎหมาย และนโยบาย กำหนดไว้ชัดเจน บวกกับขีดความสามารถในประเทศที่มีความพร้อมตามที่หน่วยงานภายในกระทรวงกลาโหมชี้แจง ทำไมจึงสร้างเงื่อนไขเพื่อเอื้อให้กับต่างชาติและกีดกันคนไทย และเมื่อซื้อจากต่างประเทศแล้วทำไมไม่จัดหามาให้พร้อมปฏิบัติภารกิจได้เลย จึงขอให้ผู้รับผิดชอบช่วยชี้แจงให้เกิดความกระจ่างด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สะพัด! 'สุทิน' คุย 'จีน' ยกเลิก 'เรือดำน้ำ' โยกเงินค่างวดซื้อ 'เรือฟริเกตจีน' แทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางเยือนจีนของ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม พร้อม นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ พล.ร.อ.อะดุง

กกต.ป้ายแดง ไม่กดดันพิจารณาคดีร้อนยุบพรรค

นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้ารับตำแหน่งกกต. ว่า ก่อนหน้านี้กกต.ทำงานได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้ามองจากข้างนอกก็มีอุปสรรคปัญหาที่สะท้อนกลับมาในบางเรื่อง ซึ่งเป็นภาพรวมที่ว่ากกต.ทำอะไรกันอยู่ กกต.ทำอะไรถึงไหนแล้ว พอตนเข้ามานั่งอยู่ในตำแหน่งกกต. สิ่งหนึ่งที่อยากพัฒนาก็คือความสามารถ

เดือด! โฆษกพรรคหญิงหน่อยจี้ 'สุภาพร' ลาออกหลังโผล่ไปรับทักษิณ

'ภัชริ' ซัด 'สุภาพร' ไม่มีความละอาย ไม่สำนึกถึงสิ่งที่ได้สัญญากับประชาชน โผล่ถ่ายรูป 'ทักษิณ' ทั้งที่ยังสังกัด ไทยสร้างไทย ลั่นพฤติกรรมเป็นงูเห่าชัดตั้งแต่ต้น จี้ลาออกหลังพรรคให้โอกาสแต่ไม่สำนึก

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า