'ธรรมศาสตร์พิทักษ์ธรรม' ยก 3 เหตุผลค้าน 'อมธ.' เปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัย จี้ผู้บริหารฯจัดการ

กลุ่มธรรมศาสตร์พิทักษ์ธรรม คัดค้าน อมธ.เปลี่ยนแปลงเพลงประจำมหาวิทยาลัย ชี้ขาดวามเข้าใจประวัติความเป็นมาของเพลงพระราชนิพนธ์'ยูงทอง' มีเจตนาที่จะทำลายความศรัทธาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของสังคมไทย จี้ผู้บริหารฯดูแลการจัดกิจกรรมนักศึกษาให้มีเสรีภาพอย่างถูกต้อง

8 ก.ค.2565- กลุ่มธรรมศาสตร์พิทักษ์ธรรม ออกแถลงการณ์ คัดค้านการกระทำขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ในการเปลี่ยนแปลงเพลงประจำมหาวิทยาลัย

ตามที่องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้เสนอเปลี่ยนแปลงเพลงประจำมหาวิทยาลัยจากเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง เป็นเพลงมอญดูดาว ในการทำกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยอมธ. โดยให้เหตุผลว่ามีเนื้อหาตรงกับเจตนารมณ์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมากกว่า พร้อมทั้งนำเสนอผลการสำรวจความเห็นจากผู้ตอบแบบสำรวจ นั้น

กลุ่มธรรมศาสตร์พิทักษ์ธรรมขอคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว โดยมีหลักการและเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การกระทำดังกล่าวขัดต่อหลักการประชาธิปไตยและหลักการสันติประชาธรรม อันเป็นหัวใจหลักของชาวธรรมศาสตร์ทั้งหลายทั้งมวล แม้นผู้กระทำจะอ้างผลการสำรวจซึ่งมิทราบที่มาที่ไปและขาดหลักการตามระเบียบวิธีทางสถิติที่ถูกต้องมาสนับสนุน อมธ.จะต้องสำนึกว่าเป็นเพียงกลุ่มคนที่ได้รับการคัดเลือกจากนักศึกษาปัจจุบัน แม้จะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและดำเนินกิจกรรม อมธ.ก็ต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น ซึ่งได้แก่ประชาคมธรรมศาสตร์ทั้งมวล ที่มีจำนวนหลายแสนคน การอ้างผลสำรวจจากกลุ่มคนเพียง ๕,๐๐๐ กว่าคน มิได้เป็นการเคารพสิทธิของผู้อื่น เป็นการดำเนินการตามหลักคณาธิปไตยที่พวกท่านต่อต้านเสียเอง การพยายามสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงโดยไม่เข้าใจบริบทที่แท้จริง ไม่เคารพสังคมและประชาคม ย่อมนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาและเกิดกระแสต่อต้านจากสังคมทั่วไป ทำให้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเสียหายและเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนจากสังคม ดังนั้น อมธ. จึงควรใช้สติและปัญญาอย่างรอบคอบ ปลอดจากการถูกครอบงำทางความคิด เพื่อให้สมกับฐานะที่ยกตนเองเป็นปัญญาชน สร้างหรือแสวงหาการเปลี่ยนแปลงที่ดีในหลักการ “เข้าใจ เคารพ สงบสุข”

2. ผู้ดำเนินการขาดความรู้ความเข้าใจในประวัติความเป็นมาของเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองอันเป็นที่รักและภาคภูมิใจของชาวธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๖ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงประพันธ์ทำนองและพระราชทานให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖ ในคราวเสด็จมาทรงดนตรีที่หอประชุมธรรมศาสตร์และทรงปลูกต้นยูงทองจำนวน ๕ ต้นในคราวเดียวกัน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่มีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าเฝ้าและขอพระราชทานเพลงเพื่อแทนเพลงมอญดูดาวที่ประพันธ์โดยขุนวิจิตรมาตรา ในคราวที่เสด็จทรงดนตรีที่สวนอัมพรในปี ๒๕๐๔ ผู้ประพันธ์เนื้อเพลงยูงทองคือนายจรัญ บุณยรัตนพันธุ์ ซึ่งได้ประพันธ์ตามแนวที่ มรว.เสนีย์ ปราโมช อดีตเสรีไทยที่มีความใกล้ชิดกับท่านผู้ประศาสน์การณ์ปรีดี พนมยงค์ และผู้นำคณะราษฎร์แนะนำให้ ดังนั้นเนื้อหาเพลงจึงกล่าวถึงสถานที่ที่สงบร่มเย็น มีธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์ มีพระธรรมสถิตย์เพื่อรักสามัคคี รักความเป็นธรรม ดั่งเช่นอุดมการณ์ของท่านผู้ประศาสน์การณ์ เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองจึงถูกนำมาขับร้องในทุกครั้งก่อนที่จะมีการเริ่มกิจกรรมของชาวธรรมศาสตร์ เพื่อความสามัคคีและเป็นสิริมงคลแก่ชาวธรรมศาสตร์ทั้งมวล ฉะนั้นการกล่าวอ้างถึงเนื้อหาความเหมาะสมกว่าของเพลงมอญดูดาวจึงนับว่าเป็นการขาดการศึกษาอย่างถ่องแท้ ไม่สามารถเข้าถึงจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ได้ นับเป็นการกระทำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดีเพลงมอญดูดาวเป็นเพลงที่มีคุณค่าต่อจิตใจของชาวธรรมศาสตร์เช่นกันเพราะเนื้อหาระบุถึงความเป็นไทย รักชาติไทย บูชาไทย อีกทั้งมีทำนองเพลงไทยเดิม ซึ่งเป็นการอนุรักษณ์วัฒนธรรมที่ดีของชาวไทยไว้

3. จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้น่าเชื่อได้ว่าผู้กระทำต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยมีเจตนาที่จะทำลายความศรัทธา ทำลายสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของสังคมไทยในทุกๆ ภาคส่วนอย่างเป็นกระบวนการ ดังจะเห็นได้จากการบิดเบือนหลักฐานข้อมูลประวัติศาสตร์ วิทยานิพนธ์อัปยศ การให้ร้ายสถาบันต่างๆ การสร้างความแตกแยกทางสังคม สร้างความแตกแยกทางศาสนา มีขบวนการที่ดำเนินการในทุกระดับโดยมุ่งเป้าหมายไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่ สถาบันการศึกษาต่างๆ ถูกแทรกซึมด้วยบุคลากรและนักวิชาการที่มุ่งร้ายต่อประเทศ เข้าข่ายล้มล้างสถาบันและทำลายชาติบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง พยายามยกเลิกเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ที่เป็นที่เคารพนับถือ ปลูกฝังความคิดและอุดมการณ์ที่เป็นผลร้ายต่ออนาคตของประเทศไทย โดยอ้างประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพแบบผิดๆ เป็นหน้าที่ที่ประชาชนคนไทยทุกคนต้องรู้เท่าทันและช่วยกันต่อต้านความเลวร้ายนี้

ดังนั้นกลุ่มธรรมศาสตร์พิทักษ์ธรรมจึงไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว และขอเรียกร้องให้คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกภาคส่วน โปรดทำความเข้าใจ ดูแลการจัดกิจกรรมของนักศึกษาให้มีเสรีภาพอย่างถูกต้อง ไม่ละเมิดต่อจิตวิญญาณและความรู้สึกของประชาคมธรรมศาสตร์และสังคมโดยรวม อีกทั้งต้องรักษาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยและบริหารจัดการให้เกิดความก้าวหน้ารุ่งเรืองสืบไป จึงจักเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่เหมาะสมและรับผิดชอบตามที่ประชาคมได้มอบหมายต่อท่าน

กลุ่มธรรมศาสตร์พิทักษ์ธรรม
๗ กรกฏาคม ๒๕๖๕

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อดีตรองอธิการ มธ.' ขอเคลียร์! ปมวิจารณ์ อมธ. ไม่ใช้เพลงยูงทอง

'อดีตรองอธิการ มธ.' แจงประเด็นโพสต์วิจารณ์ อมธ. ประกาศใช้ 'มอญดูดาว' แทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ยันไม่ได้ดุดันเกรี้ยวกราด

สมาคมธรรมศาสตร์ ประกาศ 'เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง' เป็นเพลงหลักจัดกิจกรรมเช่นเดิม

จากกรณี องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ประกาศใช้ “เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว” แทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย อมธ.

อดีตรองอธิบดี มธ.บอกศิษย์เก่าข้องใจเรื่องใช้เพลง 'ทำนองมอญดูดาว' แทน 'ยูงทอง'

รศ.หริรักษ์จัดเต็ม อมธ.ประกาศใช้เพลงทำนองมอญดูดาวแทน 'ยูงทอง' ชำแหละ 3 ประเด็นประชามติ พร้อมจี้มหาวิทยาลัยออกมาชี้แจงเพราะศิษย์เก่าต่างข้องใจ

'อดีตรองอธิการ มธ.' เคลียร์ชัด! 'ยูงทอง' เพลงประจำมหาวิทยาลัย

'อดีตรองอธิการ มธ.' สยบเฟกนิวส์! ไม่เปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัย ยังใช้เพลงพระราชนิพนธ์ 'ยูงทอง' ยันเปิดในวันครบรอบสถาปนาแน่