‘คำนูณ’ ห่วงร่างกฎหมายป้องกันทรมานฯ วอนสภาผู้แทน/ภาคประชาชนชั่งน้ำหนัก เห็นด้วยกับร่างวุฒิสภา

'คำนูณ' เผยร่างกฎหมายป้องกันทรมานฯ ส่อแววแท้ง เหตุมีการแก้ไขในชั้นสภาสูง หากสภาล่างเห็นแย้งไม่เอาด้วยก็อาจจบ เพราะเวลาเหลือแค่ 7 เดือน

18 ส.ค.2565 - นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ชะตากรรมร่างฯทรมานและสูญหาย” ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ที่คณะรัฐมนตรีเริ่มต้นเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อนในวันที่ 10 มกราคม 2560 เดินทางออกจากวุฒิสภากลับไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 เพียง 12 ชั่วโมงหลังจากวุฒิสภาพิจารณาวาระ 2, 3 เสร็จสิ้นตั้งแต่เช้าเก้าโมงดครึ่งยันสี่ทุ่มของวันที่ 10 สิงหาคม 2565

เนื้อหาที่ผ่านออกมาสามารถรักษาหลักการสำคัญ ๆ ของร่างฯฉบับสภาผู้แทนราษฎรที่แตกต่างจากร่างฯคณะรัฐมนตรีไว้ได้มากพอสมควร แม้จะไม่ทั้งหมด

- คงฐานความผิดที่เพิ่มขึ้นใหม่ “การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ไว้ได้ (มาตรา 3 มาตรา 6 และอีก 17 จุดในมาตราอื่น ๆ)

- คงมาตรการที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมบุคคลจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัว (มาตรา 23)

- คงหลักการให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลเดียวที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีตามร่างกฎหมายนี้ไว้ได้ โดยไม่มีการเพิ่มเขตอำนาจของศาลทหารเข้ามา (มาตรา 37)

- คงหลักการอายุความของคดีความผิดตามร่างกฎหมายนี้ที่ให้เริ่มนับตั้งแต่ทราบชะตากรรมของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย (มาตรา 32)

ส่วนที่ไม่สามารถรักษาไว้ได้ก็อาทิเช่น
- การกำหนดให้มีกรรมการสรรหาผู้ที่จะเข้าไปเป็นคณะกรรมการปัองกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย (มาตรา 15)

- สัดส่วนผู้เสียหายหรือผู้แทนผู้เสียหายในคณะกรรมการฯ (มาตรา 14)

- อายุความ 40 ปี (มาตรา 32)

- การห้ามออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดตามร่างกฎหมายฉบับนี้ (มาตรา 12)

ตัวอย่างหลักการที่สามารถรักษาไว้ได้ข้างต้นเป็นการลงมติของสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่เห็นด้วยกับร่างฯที่คณะกรรมาธิการชุด พล.ต.อ.ชัชวาล สุขสมจิตร แก้ไขเสนอเข้ามาสู่การพิจารณา หลังผ่านการอภิปรายด้วยเหตุผลยาวนานในแต่ละประเด็น โดยเฉพาะมาตรา 3 และ 6 ซึ่งผมเห็นว่าเป็นหัวใจ ใช้เวลารวมกว่า 2 ชั่วโมง แม้ในประเด็นส่วนที่รักษาไว้ไม่ได้ก็อภิปรายกันอย่างรอบด้านและที่ประขุมเห็นว่ากรรมาธิการชี้แจงได้มีเหตุผลดีกว่า มติในแต่ละประเด็นมีตัวเลขที่แตกต่างกัน

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 เป็นวันที่วุฒิสภาทำหน้าที่ได้ดีที่สุดครั้งหนึ่ง แต่จะสูญเปล่าทันทีหากร่าง พ.ร.บ.สำคัญอันเป็นการปฏิรูปใหญ่นี้ต้องมีอันเป็นไปไม่ได้ประกาศใช้ เพราะหากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา ก็จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมกันของ 2 สภาเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปและปรับแก้ จากนั้นก็จะต้องเสนอร่างฯ ใหม่นั้นให้ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณากันอีกครั้ง ถ้าทั้ง 2 สภาเห็นชอบจึงจะนำไปสู่ขั้นตอนนำร่างฯขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ยับยั้งร่างฯ นั้นไว้ก่อน โดยสภาผู้แทนราษฎรอาจยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หลัง 180 วัน

จะเห็นได้ว่าระยะเวลากับสถานการณ์ปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยให้เดินไปสุดทางแน่นอน เพราะสภาผู้แทนราษฎรจะมีอายุอย่างยาวที่สุดนับจากวันนี้เพียง 7 เดือน โอกาสที่ร่างกฎหมายจะตก ทำให้ต้องย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่ในสภาผู้แทนราษฎรชุดหน้ามีความเป็นไปได้สูง หากสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันมีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภาแล้วต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภาขึ้นมาพิจารณาหาข้อยุติ เพราะการที่จะหวังให้ร่างฯ ที่ผ่านมติกรรมาธิการร่วม 2 สภากลับไปเป็นตามร่างฯ ฉบับสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดแล้วมาจบกระบวนการที่ทั้ง 2 สภามีมติเห็นชอบกับร่างฯ นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

เอาแค่ในชั้นต้น สภาผู้แทนราษฎรจะบรรจุวาระการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่วุฒิสภาส่งกลับไปได้ทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ยังไม่รู้เลย เพราะต้องไปเข้าคิวตามลำดับ สภาผู้แทนราษฎรน่าจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีแล้วตัดสินใจ

ภาคประชาชนที่ร่วมกันเรียกร้องต้องการกฎหมายฉบับนี้มานานวัน และเห็นด้วยกับร่างฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี และสะท้อนผลการชั่งน้ำหนักนั้นต่อสภาผู้แทนราษฎรผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง ด้วยความเคารพในการตัดสินใจของสภาผู้แทนราษฎรและภาคประชาชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดโพสต์ 'วิษณุ วรัญญู' ว่าที่ประธานศาลปกครองสูงสุด ช่วยตรวจสอบด้วย แชร์ว่อนแล้ว

กรณีนายวิษณุ วรัญญูู รองประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.) ให้เป็นประธานศาลปกครองสูงสุด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566

ข่าวดี!ขยายเวลาลูกจ้างลาคลอดบุตรได้ค่าจ้างจาก 90 วันเป็นไม่เกิน 98 วัน

'คารม' เผย ครม.เห็นชอบ กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่เกิน 90 วัน เป็นไม่เกิน 98 วัน

'วุฒิสภา' ไฟเขียวร่างพรบ.งบปี 67 เสียงโหวต 178 ต่อ 0

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมวุฒิสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท มีการปรับลดกว่า 9 พันล้านบาท ตามที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว

จับตาประธานศาลปกครองสูงสุด 'อิศรา' เปิดจม. 'วิษณุ วรัญญู' แจงสว. ปมป๋าเปรม-งานแต่งปิยบุตร

จากกรณีที่ นายวิษณุ วรัญญูู รองประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.) ให้เป็นประธานศาลปกครอ

'เซลส์นิด' แจงสภาสูง ขยันทัวร์นอกเหตุจำเป็น เมินตอบปม 'ทักษิณ'

'เศรษฐา' ปัดแก้ตัวงบไม่มางานไม่เดิน เคลมราคายางพุ่งผลงานรัฐบาล ชี้ดึงต่างชาติลงทุนล้านล้านบาท ใช้เวลามากกว่า 7 เดือน แถลงความก้าวหน้าทัวร์นอก 26 มี.ค.

เปิดฉากซักฟอก! ซัดนายกฯ ทำตัวเป็นเซลส์แมน ผลงานเด่นสุดช่วย 'นักโทษ' ไม่ติดคุก

สว. เปิดฉากซักฟอกรัฐบาล 'เสรี' ซัดนายกฯ ทำตัวเป็นเซลส์แมนกลับหัวกลับหาง เย้ยผลงานโดดเด่นช่วยนักโทษเทวดาไม่ติดคุกสักวัน แต่ทำลายกระบวนการยุติธรรม