นายกสมาคมทนายออกแถลงการณ์ 'ทานตะวัน-แบม' ไม่ใช่อาชญากร โยงสาเหตุเพราะรัฐประหาร

31 ม.ค.2566- นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความว่าตามที่ศาลอาญามีคำสั่งให้ถอนการประกันตัวตะวันและแบม ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112และ มาตรา 116 จนนำไปสู่การอดอาหารประท้วงคำสั่งศาลในเรือนจำ ดังที่เป็นข่าวอย่างแพร่หลาย นั้น

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นว่า การกระทำของตะวันกับแบมและเพื่อนๆ แม้จะถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาก็ตาม แต่ไม่ได้เกิดจากแรงจูงใจทางอาญา (Criminal Motive) ที่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน หากจะเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง (Political Motive) ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ตนเชื่อว่าจะดีขึ้นซึ่งถือเป็นประโยชน์ส่วนรวม อันเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดจากความเห็นต่างและนำไปสู่การกระทำความผิดดังกล่าว

ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นและสะสมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 จนนำไปสู่การยึดอำนาจการปกครองถึงสองครั้ง เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและประเทศชาติจำนวนมากแต่กลับไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและถูกวิธี โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่เลือกใช้วิธีการปราบปรามโดยนำเอาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112และมาตรา 116 และองค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่มีไว้เพื่อจัดการกับอาชญากรทางอาญามาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาทางการเมือง จึงทำให้ปัญหาความขัดแย้งที่มีมากอยู่แล้วทวีความซับซ้อนและแก้ไขยากมากขึ้นตามลำดับ ตะวันกับแบมและเพื่อนๆจึงไม่ได้เป็นอาชญากรทางอาญา หากแต่เป็นนักโทษทางความคิดที่ควรได้รับการปฏิบัติอย่างนักโทษทางการเมืองที่พึงได้รับ

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นต่อไปว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยกระบวนการปรองดอง (Reconciliation Process) ด้วยการนำคู่กรณีแห่งความขัดแย้งทุกฝ่ายและทุกปัญหาเข้าสู่กระบวนการปรองดองเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน โดยใช้กระบวนการทางกฎหมายที่เรียกว่า “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice)” หรือ “ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)” เป็นเครื่องมือในการปรองดอง เพราะบุคคลเหล่านี้แม้จะเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาก็ตาม แต่ไม่ได้เป็นอาชญากรทางอาญาจึงไม่อาจแก้ไขด้วยวิธีการทางอาญาได้

รัฐบาลพึงตระหนักว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมีความสำคัญยิ่งที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและถูกวิธี ไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่การสูญเสียอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะไม่มีประเทศใดบนโลกนี้ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ท่ามกลางความขัดแย้งของผู้คนในชาติ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือศาล จะต้องตระหนักในข้อเท็จจริงนี้ไม่เช่นนั้นรัฐบาลและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมจะกลายเป็นตัวเร่งให้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทยขยายวงและบานปลายมากขึ้นจนกลายเป็นตัวปัญหาเสีย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศชอ. คัมแบ็ค! ประกาศกลับมาแล้ว พร้อมลุยใช้กฎหมาย ม.112 ปกป้องสถาบัน

เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ ศชอ.โพสต์ข้อความว่า "กลับมาแล้ว" หลังจากเมื่อเดือนกันยายน 2566 ได้ประกาศยุติบทบาทการเคลื่อนไหวใช้กฎหมายในการปกป้อง ช

อดีตบิ๊กข่าวกรอง ชี้ 'บิ๊กทิน' กินยาผิด! ยันทหารไม่อยากยึดอำนาจถ้านักการเมืองไม่โกง

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)

‘วิโรจน์’ หนุน ‘สุทิน’ แก้กฎหมายกลาโหม สกัดรัฐประหาร ลั่นต้องทำให้ถึงแก่น

‘วิโรจน์’ เห็นด้วยในหลักการ หลัง ‘สุทิน‘ เสนอแก้ ’กฎหมายกลาโหม‘ สกัดรัฐประหาร แต่ต้องแก้ให้ถึงแก่น ไม่ใช่แค่ผิว ชี้ เป้าหมายสูงสุด คือทำให้กองทัพไม่อยู่ในฐานะรัฐอิสระ แนะ ควรปรับสัดส่วน ‘สภากลาโหม’ ให้เหลือแค่ 11 คน-มีทหารไม่เกินกึ่งหนึ่ง