กสม.ชงแก้ กม.ยาเสพติดยกเลิกควบคุมตัว 3 วันและให้ผู้ต้องหาพบศาลโดยพลัน!

กสม.เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายยาเสพติด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ยกเลิกอำนาจควบคุมตัว 3 วันพร้อมให้ผู้ต้องหาต้องมีสิทธิพบศาลโดยพลัน

20 เม.ย.2566 – น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ตามที่ กสม.ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 (ผู้ถูกร้อง) ทำร้ายร่างกายผู้ร้องขณะจับกุมในคดียาเสพติด และใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ควบคุมตัวผู้ร้องไว้เพื่อสืบสวนสอบสวนขยายผลเป็นเวลาไม่เกินสามวัน แล้วจึงส่งให้พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดำเนินการต่อไป ซึ่ง กสม. เห็นว่าแม้ในการตรวจสอบจะไม่ปรากฏพยานหรือหลักฐานที่ชี้ว่าผู้ถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ร้อง แต่เมื่ออาการบาดเจ็บเกิดขึ้นก่อนถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ประกอบกับจากการชี้แจงไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องมีพฤติการณ์ขัดขืนหรือหลบหนีการจับกุม จึงน่าเชื่อว่าผู้ร้องได้รับบาดเจ็บจากการควบคุมตัวของผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายเกินสมควรแก่กรณี อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น จึงมีมติให้จัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกรณีการควบคุมตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

กสม.โดยสำนักกฎหมาย ได้ศึกษาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน งานวิจัย ตลอดจนความเห็นของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการแล้ว เห็นว่า สิทธิที่ผู้ต้องหาในคดีอาญาจะต้องได้พบศาลโดยพลันเป็นสิทธิมนุษยชนสำคัญที่ถูกกำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 วรรคสาม ซึ่งกำหนดให้บุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา ต้องถูกนำตัวไปพบศาลโดยพลัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่มิชอบต่อผู้ถูกจับกุม และให้ศาลสามารถตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในระหว่างการควบคุมตัวผู้ต้องหา อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจจับกุมอาจมีข้อสงสัยหรือปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ในประเด็นที่ว่าโดยพลัน ว่าหมายถึงระยะเวลาใด เนื่องจากอาจมีขั้นตอนในการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเพื่อเดินทางไปศาล ดังนั้น คณะกรรมการประจำกติกา ICCPR จึงตีความคำว่าโดยพลันอย่างประนีประนอมว่าหมายถึง ต้องนำตัวผู้ถูกจับไปพบศาลภายใน 48 ชั่วโมงนับจากเวลาที่ถูกจับกุม และหากเป็นกรณีที่ผู้ถูกจับเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี คณะกรรมการสิทธิเด็ก (Committee on the Rights of the Child) ได้ให้ความเห็นว่า ต้องนำตัวเด็กไปพบศาลภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงนับแต่จับกุมเช่นเดียวกัน

ดังนั้นในกฎหมายอาญาบางประเทศจึงกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับแต่มีการจับกุม จากนั้นต้องนำตัวผู้ต้องหาไปพบศาล ในขณะที่มีกฎหมายอีกหลายประเทศกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับแต่มีการจับกุม จากนั้นต้องนำตัวผู้ต้องหาไปพบศาล ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายของประเทศไทยให้อำนาจพนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับแต่ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน จากนั้นต้องนำผู้ต้องหาไปพบศาล หากผู้ถูกจับกุมเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ให้อำนาจพนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับแต่ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน จากนั้นต้องนำผู้ต้องหาไปพบศาล จะเห็นได้ว่ากฎหมายไทยกำหนดให้การนำตัวผู้ถูกจับกุมไปพบศาลนับระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน (สถานีตำรวจ) โดยไม่ได้เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่ถูกจับกุมตามหลักสากล

สำหรับกรณีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ที่ให้อำนาจกรรมการ เลขาธิการ รองเลขาธิการ และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้รับการแต่งตั้ง มีอำนาจควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมที่กระทำความผิดคดียาเสพติดที่มีความร้ายแรงแห่งคดี ได้แก่ ผลิต ครอบครอง และจำหน่าย เป็นต้น ไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลได้เป็นเวลาไม่เกิน 3 วัน ก่อนส่งให้พนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนต่อได้อีก 48 ชั่วโมง ทำให้การจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดียาเสพติดดังกล่าวสามารถควบคุมตัวได้สูงสุดถึง 5 วัน โดยผู้ต้องหาไม่ได้พบศาล ไม่มีการตรวจสอบโดยองค์กรอื่นหรือศาล ซึ่งขัดกับกติกา ICCPR อย่างชัดเจน จึงกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาอันอาจเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่ามีกฎหมายในหลายประเทศที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดียาเสพติดร้ายแรงไว้เพื่อการสอบสวนขยายผลเพิ่มเติมได้หากมีเหตุจำเป็น โดยกฎหมายของประเทศเหล่านั้นบัญญัติให้ต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกอื่นเสียก่อน เช่น องค์กรอัยการ หรือศาล

ดังนั้น การที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ให้อำนาจกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ส. ควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมที่กระทำความผิดคดียาเสพติดที่มีความร้ายแรงแห่งคดี ได้แก่ ผลิต ครอบครอง และจำหน่าย เป็นต้น ไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลได้เป็นเวลาไม่เกิน 3 วัน ก่อนส่งให้พนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนต่อได้อีก 48 ชั่วโมง ทำให้การจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดียาเสพติดสามารถควบคุมตัวได้สูงสุดถึง 5 วัน โดยผู้ต้องหานั้นไม่ได้รับสิทธิที่จะได้พบศาลโดยพลัน เห็นว่า อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 วัน ใช้ในกรณีเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนเป็นสำคัญ ซึ่งการให้อำนาจดังกล่าวไม่ควรทำลายสิทธิของผู้ต้องหาที่จะต้องได้พบศาลโดยพลันภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง ดังนั้น จึงต้องแยกความจำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดียาเสพติด และสิทธิของผู้ต้องหาที่จะต้องได้พบศาลภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงออกจากกัน โดยต้องเน้นให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิที่จะพบศาลโดยพลันภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงก่อนเป็นลำดับแรก ดังนั้น กสม. จึงเห็นควรให้ยกเลิกอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง และให้ไปใช้วิธีการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นหลักเช่นเดียวกับคดีอาญาอื่น ซึ่งหากมีความจำเป็นที่จะต้องสอบสวนขยายผลในคดียาเสพติดหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ต้องขยายระยะเวลาการควบคุมตัว ให้ผู้จับกุมร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณาสั่งว่ามีความจำเป็นเพียงใด

ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายกระทรวงยุติธรรม โดยคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ดำเนินการ สรุปได้ ดังนี้

1.ยกเลิกอำนาจการควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน 3 วัน ในคดียาเสพติดเพื่อสอบสวนตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 โดยให้ กพยช. กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 ยกเลิกพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 โดยให้ใช้วิธีสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่จะต้องสอบสวนขยายผลในคดียาเสพติดที่มีความร้ายแรงแห่งคดีหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ต้องขยายระยะเวลาการควบคุมตัว ให้ผู้จับกุมหรือควบคุมตัวร้องขอต่อศาลเพื่อพิจารณาเหตุผลและความจำเป็น

2.แก้ไขการเริ่มนับระยะเวลาการนำตัวผู้ถูกจับกุมในคดีอาญาไปพบศาลโดยพลัน เพื่อคุ้มครองสิทธิที่ผู้ถูกจับกุมจะได้พบศาลโดยพลัน โดยดำเนินการดังนี้ ประการแรกให้แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสาม โดย กพยช. กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสาม เป็นในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนหรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้นั้นถูกจับ ... และประการที่สอง ให้แก้ไขพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง โดย กพยช. กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอัยการสูงสุด ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 แก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวในมาตรา 72 วรรคหนึ่ง เป็นในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ ให้พนักงานสอบสวนนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมทันทีภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนถูกจับ และให้ตัดข้อยกเว้นเรื่องการไม่นับระยะเวลาเดินทางในการนำตัวเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกจับมาศาลรวมในกำหนดเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงออกไปด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. เชื่อมีการใช้ 'สปายแวร์ เพกาซัส' เสนอ ครม. สั่งการตรวจสอบ หาทางป้องกัน

กสม. เชื่อมีการใช้สปายแวร์เพกาซัสละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสนอ ครม. สั่งการตรวจสอบ หาทางป้องกันการใช้งานในทางมิชอบ

กสม. แนะ กรมราชทัณฑ์ แก้ไขระเบียบตัดผมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี

กสม. แนะ กรมราชทัณฑ์ แก้ไขระเบียบการตัดผมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ย้ำปฏิบัติให้สอดคล้องกับเพศวิถี วัฒนธรรมความเชื่อและศาสนาผู้ต้องขัง

เปิดสายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77 ช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พันตำรวจ

กสม.ห่วงการละเมิดสิทธิเด็ก นักเรียนรุมทำร้ายกัน-ให้เด็กถอดเสื้อผ้าทำกิจกรรม

กสม. ห่วงการละเมิดสิทธิเด็ก กรณีนักเรียนรุมทำร้ายกันและการให้เด็กถอดเสื้อผ้าในการทำกิจกรรมในโรงเรียน ย้ำโรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย

กสม. จี้หน่วยงานรัฐ เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวทำร้ายร่างกายหมอที่ภูเก็ต คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

ชายวัย 29 ได้พักโทษคดียาเสพติด ตายปริศนากลางป่า ขายังติดกำไลอีเอ็ม

พบศพชาย อายุ 29 ชาวอำเภอบ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่อยู่ระหว่างพักโทษเสียชีวิตกลางป่ายูคาลิปตัสปริศนาทั้งที่ขายังติดกำไลอีเอ็ม คนเลี้ยงวัวเห็นขี่ จยย.เข้าป่า 2 วันก่อนแจ้ง ผญบ. ตร.เร่งตรวจสอบหาสาเหตุ