‘เรืองไกร' ร้อง กกต. สอบ สส. 6 ราย ส่อสิ้นสมาชิกภาพ

เรืองไกร ร้อง กกต. สอบ สส. 6 ราย มีเหตุสิ้นสมาชิกภาพตาม ม.101 (7) ม.185 (1) (3) หรือไม่

27 ต.ค. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต. ตรวจสอบสมาชิกภาพของนายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ และนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีเหตุต้องสิ้นสุดลง ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) (3) หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบสส.อีก 4 ราย ตามที่ปรากฏในภาพข่าวว่ามีส่วนร่วมกับกรณีดังกล่าวด้วย หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคำร้อง มีดังนี้

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร ลงข่าวหัวข้อ รองประธานคณะกมธ. การคุ้มครองผู้บริโภค คนที่สอง พร้อมด้วย สส.พรรคประชาชน มีข้อกังวลเกี่ยวกับการสอบสวนข้อเท็จจริงบริษัท The Icon Group และในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ จะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเกี่ยวกับขบวนการแชร์ลูกโซ่เพื่อหาแนวทางทำให้แชร์ลูกโซ่หมดไปจากสังคมไทย ไว้ดังนี้ 

“วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2567 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ รองประธานคณะกมธ. การคุ้มครองผู้บริโภค คนที่สอง พร้อมด้วย นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ กมธ.และที่ปรึกษา กมธ.และ สส.พรรคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องข้อกังวลการสอบสวนข้อเท็จจริงบริษัท The Icon Group ที่เป็นข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 16 ต.ค.67 ได้มีคำสั่งครม.แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ขณะนี้ผ่านมา 1 สัปดาห์แล้วมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ตนและสส.พรรคประชาชนมีข้อกังวลที่จะฝากถึงรองนายกรัฐมนตรี และ รมว. สำนักนายกรัฐมนตรี ถึงคำสั่งดังกล่าวที่มีกรรมการบางรายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ภายใต้กำกับของสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวโยงกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งอาจจะมีการเบี่ยงเบนประเด็น หรือการไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือข้อมูลที่จะสืบสวนหาข้อเท็จจริงได้ และได้ทราบข่าวว่าจะโอนเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งอาจจะเป็นการช่วยเหลือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้พ้นผิดหรือไม่ จึงขอให้มีการโยกย้ายบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวออกจากคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม และในวันนี้ช่วงบ่ายพรรคประชาชน จะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับขบวนการแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมีกฎหมายหลายฉบับที่ เกี่ยวข้องอาทิ พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 พ.ร.บ.การขายตรง พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อหาแนวทางทำให้แชร์ลูกโซ่หมดไปจากสังคมไทย”

ข้อ 2. กรณีที่นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ และนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อม สส.อีก 4 ราย ซึ่งปรากฏตามภาพข่าวนั้น การแถลงข่าวส่วนหนึ่งที่ระบุว่า “…จึงขอให้มีการโยกย้ายบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวออกจากคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม…” นั้น อาจเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) (3) ตามมาได้  

ข้อ 3. รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) มาตรา 185 (1) (3) บัญญัติว่า

“มาตรา 101 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ

(7) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 184 หรือมาตรา 185”

“มาตรา 185 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทำการใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้ 

(1) การปฏิบัติราชการหรือการดําเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้าง ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น 

(3) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการให้พ้นจากตำแหน่ง ของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น”

ข้อ 4. เมื่อตรวจสอบหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค จากเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุไว้ว่า คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค หน้าที่และอำนาจ กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค

ข้อ 5. ดังนั้นการแถลงข่าวในส่วนที่ว่า “…จึงขอให้มีการโยกย้ายบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวออกจากคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม…”  ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นั้น จึงอาจไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งไม่ใช่การกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงไม่ควรมีเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 124 กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.เปิดขั้นตอนการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี

ด้วยสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 27 มีนาคม 2568 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เห็นชอบแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี

สอบพยานคดีฮั้วสว.ทุกราย!

“แสวง” แจงทำหน้าที่คุมเลือก สว.ตามกฎหมาย ด้าน “กกต.” ยกคำร้องเลขาธิการ กกต.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ “ดีเอสไอ"

ประธาน กกต. เผยขั้นตอนสอบ นายก อบจ.ลำพูน ถูกร้องหาเสียงใส่ร้ายคู่แข่ง

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ กล่าวถึงกรณีสำนักงาน กกต.ลำพูน ตรวจสอบนายวีระเดช ภู่พิสิฐ นายก อบจ.ลำพูน พรรคประชาชน หลังถูกร้องเรียน ว่า ขณะนี้มี 1 คำร้อง ตามมาตรา 66 และมาตรา 65 (5)

'หมอเกศกมล' ไม่กังวล กกต. เรียกสอบเพิ่มปมวุฒิการศึกษา

พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ระบุว่า จะเรียกสอบประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบวุฒิการศึกษา ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเรียกไปสอบเพิ่มเติม

เชียงใหม่คึกคัก! 'ปชน.' เปิดตัวผู้สมัครชิง 'นายกเล็ก'

บรรยากาศการเมืองท้องถิ่นเริ่มคึกคัก โดยเฉพาะที่เทศบาลนครเชียงใหม่ อีกพื้นที่หนึ่งที่ถูกจับตามองทั้งประเทศ ซึ่งนายกเทศมนตรีและสมาชิกเทศบาล (ส.ท.) นครเชียงใหม่