
องค์กร Protection International เปิดตัวรายงาน “การต่อต้านคือพลัง เสริมสร้างกลไกคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” พบไทยใช้กฎหมายปิดปากนักปกป้องสิทธิมากที่สุดในอาเซียน 9 ปีเกือบ 600 คดี และยังต้องสู้กับอำนาจของกลุ่มทุน จี้ ก.ยุติธรรม ให้นิยาม “การคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิ” พร้อมเร่งออกกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปาก SLAPPs ควบคู่กับการปฎิรูปกองทุนยุติธรรมให้เข้าถึงได้จริง ฟื้นความเป็นอิสระของกสม. พร้อมเจตจำนงทางการเมืองที่คุ้มครอง
24 มี.ค.2568– องค์กร Protection International (PI) เปิดตัวรายงาน “การต่อต้านคือพลัง” เสริมสร้างกลไกคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย พร้อมจัดเวทีเสวนา “รัฐบาลเพื่อไทยอยู่ดาวดวงไหน ในกลไกการคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ที่ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ประจำกรุงเทพฯโดยมีตัวแทนผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนร่วมงาน พร้อมทั้งตัวแทนสถานทูต เช่น สวีเดน ฝรั่งเศส และเยอรมณี รวมทั้งสหภาพยุโรปและ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่ง สหประชาชาติ (UHCHR)
ปรานม สมวงศ์ และสุธิรา เปงอิน ตัวแทน Protection International (PI) ได้แถลงเปิดรายงาน “การต่อต้านคือพลังฯ” ซึ่งเป็นรายงานที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการจุดไฟแห่งการเปลี่ยนแปลง : เสริมพลังผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อผลักดันนโยบายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุม:Fuelling Change: Empowering Women Human Rights Defenders to Drive Comprehensive Policies for Human Rights Protectionภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ Human Rights Magna Carta/John Bunyan Fund สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ โดยเป็นการลงพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนและข้อเสนอแนะจากผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกว่า 110 คนทั่วประเทศไทย โดยมีเนื้อหาที่สำคัญว่า ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยืนหยัดต่อสู้ ในการปกป้องแผ่นดิน ทรัพยากร ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และความเป็นธรรมภายใต้ภาวะของทุนผูกขาด ทำให้ภายใต้ความกล้าหาญนี้กลับถูกตอบแทนด้วย การกดขี่เชิงโครงสร้าง การดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม การใช้กระบวนการยุติธรรมในการคุกคาม การสอดแนม และการใช้ความรุนแรง
ปรานม ระบุว่า สะท้อนจากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคดีฟ้องร้องเชิงยุทธศาสตร์ต่อการมีส่วนร่วมของสาธารณะ (SLAPPs) มากที่สุดในอาเซียน จากรายงานของ Protection International พบว่า ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ในเดือนพฤษภาคม 2557 ถึง กุมภาพันธ์ 2568 พบว่ามีผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องปิดปากทั้งหมด 595 คดีจาก 13 ฐานความผิด โดยทุกเดือนจะมีอย่างน้อยสองคนที่ต้องเผชิญการถูกใช้กระบวนการยุติธรรมในการคุกคาม ในฐานความผิดต่าง ๆ ทั้งกฎหมายหมิ่นประมาท พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ข้อหายุยงปลุกปั่น ละเมิดกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ความผิดฐานขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน คดีความผิดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ขณะที่กองทุนยุติธรรมซึ่งควรเป็นที่พึ่งของผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลับเต็มไปด้วยเงื่อนไขยุ่งยากจากระบบ และเจ้าหน้าที่ผู้ขาดความรู้ความเข้าใจปฏิเสธไม่ให้เข้าถึง ทำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดคือผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลับเข้าไม่ถึงสิทธิของตนเอง
“นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับอำนาจของกลุ่มทุนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การต่อต้านโครงการเหมืองแร่ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และการละเมิดสิทธิแรงงาน กำลังถูกคุกคามหนักขึ้นโดยภาคธุรกิจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมและการปกป้องสิทธิมนุษยชนของพวกเธอ” ปรานม ระบุ
ปรานม ระบุว่า ดังนั้นข้อเรียกร้องดังนี้ 1.กระทรวงยุติธรรมต้องมีคำนิยามและมีการรับรองทางกฎหมาย และการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้สอดคล้องกับ ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (1998) เนื่องจากปัจจุบันเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมยังไม่เข้าใจว่านักปกป้องสิทธิคือใคร 2.ยุติคดีฟ้องร้องเชิงยุทธศาสตร์ต่อการมีส่วนร่วมของสาธารณะ และการใช้กระบวนการยุติธรรมในการคุกคามอย่างเด็ดขาด ผ่านการออกกฎหมายต่อต้าน SLAPPs โดยทันทีและกฎหมายนี้ต้องมีผลผูกพันทางกฎหมายที่ใช้บังคับ
ปรานม ระบุว่า 3.การปฏิรูปกองทุนยุติธรรม ให้สามารถเข้าถึงได้โดยแท้จริง ลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรค และรับรองว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างเป็นธรรม และทันท่วงทีจากที่ในปัจจุบันนักปกป้องสิทธิบางคนใช้เวลานานกว่า 33 เดือนก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด 4.สร้างความรับผิดชอบของรัฐและภาคธุรกิจ ในการปกป้องผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดมาตรการคว่ำบาตรและกลไกตรวจสอบที่เข้มงวด และ 5.ฟื้นฟูความเป็นอิสระของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้สามารถทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากอิทธิพลทางการเมืองและการแทรกแซงจากหน่วยงานความมั่นคงและทหาร
ปรานม ระบุว่า นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในการทำงานกับนักสิทธิมนุษยชนกับชุมชน เช่นสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องแก้ปัญหาจากรากเหง้าต้นเหตุความรุนแรง ดังนั้นจึงต้องยกเลิกกฎอัยการศึก หรือกฎหมายพิเศษต่าง ๆ ที่ละเมิดสิทธิประชาชน และเป็นการลงทุนที่ไม่ชอบธรรม เช่น โครงการแลนด์บริดจ์
“การต่อต้านคือพลัง ถึงเวลาที่เราทุกคนต้องลุกขึ้นสู้ เพื่อให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เหยื่อของการละเมิดสิทธิอีกต่อไป แต่เป็นแรงขับเคลื่อนแห่งการเปลี่ยนแปลง และเป็นพลังที่ผลักดันสังคมไทยไปสู่อนาคตที่มีความเป็นธรรม และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่คำมั่นสัญญาที่ไร้ความหมาย แต่เป็นการลงมือทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้” ปรานม ระบุ
ขณะที่ในวงเสวนา “รัฐบาลเพื่อไทยอยู่ดาวดวงไหน ในกลไกการคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” อังคณา นีละไพจิตร ประธานกมธ.การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า การคุกคามนักปกป้องสิทธิเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาคือการ ลอบสังหาร ทรมาน และบังคับสูญหาย ซึ่งคดีทั้งหมดไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ แต่รูปแบบการคุกคามใหม่ คือการฟ้องร้องดำเนินคดี ด้อยค่า มีการโจมตี การใช้เรื่องเพศเป็นเครื่องมือทำให้ไร้ค่า
“ตอนรัฐบาลแถลงนโยบายใช้คำสละสลวยเรื่องสิทธิมนุษยชน การมีหลักยุติธรรมและธรรมาภิบาล รวมทั้งไปรับคำมั่นจากต่างประเทศในการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ที่การมีคำมั่นที่ดี แล้วจะเกิดการปฏิบัติ ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงวันนี้ไม่มีการปฏิบัติจริง ทั้งนี้เห็นว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเยียวยาด้านจิตใจกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่คุ้มครองนักต่อสู้ปกป้องสิทธิ เช่น กฎหมายอุ้มหายทรมาน ขณะเดียวกันต้องยกเลิกการดำเนินคดีเพื่อปิดปากนักต่อสู้เรียกร้องสิทธิรวมถึงกระทรวงยุติธรรม” อังคณา ระบุ
ด้านธนพร วิจันทร์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิแรงงาน กล่าวว่า ตนเองและเครือข่ายแรงงานถูกดำเนินคดีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จนมาถึงรัฐบาลเพื่อไทยการดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ล่าสุดมีการรื้อคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินปี 2564 ที่ยกเลิกไปนานมากแล้ว มาฟ้องร้องพวกตน ที่ไปเรียกร้องให้มีการฉีดวัคซีนโควิดให้กับแรงงานข้ามชาติ
“ไม่ใช่หน้าที่บทบาทของรัฐที่จะต้องมาฟ้องประชาชน แต่ควรที่จะแก้ไข วันนี้ต้องถามว่ากระบวนการยุติธรรมของรัฐบาลเพื่อไทย อยู่ไหน ยุติธรรมกี่โมง ขอให้รัฐบาลทำอะไรสักเรื่องให้ประชาชนได้หรือไม่ ไม่รู้ว่ารัฐบาลเพื่อไทยทำเพื่อใคร สิ่งที่เราเห็นคือกลุ่มทุน และพวกพ้อง พรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชนตรงไหน พรรคเพื่อไทยหัวใจคือทักษิณ” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิแรงงานระบุ
ขณะที่สมปอง เวียงจันทร์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล กล่าวว่า เมื่อออกมาคัดค้านเขื่อนปากมูล ตนเองถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีกบฎ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมาก ทั้งที่พวกตนเองปกป้องแม่น้ำมูลแหล่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังต้องเจอกับการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐที่มาติดตามตนเอง และพยายามให้พวกตนเองไปในสถานที่ที่เสี่ยงกับการถูกดำเนินคดีเพื่อยัดเยียดข้อกล่าวหาร้ายแรงให้ จนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลที่ถูกเลือกตั้งเข้ามา แทนที่จะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านในเรื่องที่สิทธิทำกิน สิทธิที่อยู่อาศัย แต่กลับมาใช้กฎหมายมากดทับพวกตนเอง ส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลประชาธิปไตย ควรให้สิทธิชาวบ้านในการเรียกร้อง และปกป้องชาวบ้านที่รักษาสิทธิในการปกป้องแม่น้ำ
ด้านอัสมาดี บือเฮง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักข่าวพลเมืองชายแดนใต้ กล่าวว่า ในช่วงโควิด -19 มีชาวบ้านในพื้นที่ถูกวิสามัญกว่า 60 ราย ตนเองก็เช่นเดียวกันที่ถูกดำเนินคดี หลังจากเขาไปสังเกตการณ์ในเหตุการณ์ที่แม่พยายามเข้าไปรับศพลูกชายที่ถูกวิสามัญที่รพ. ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะคำถามต่อความเป็นมนุษย์ ที่ลูกชายตาย และแม่ถูกดำเนินคดี ทั้งที่ปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้จะต้องใช้การเมืองแก้ปัญหา แต่กลับใช้กฎหมายมาทำร้ายประชาชน นอกจากนี้ยังดำเนินคดีในการจัดเวทีเสวนาของนักศึกษา โดยโดยกอรมน. ซึ่งสะท้อนว่าไม่ใช่แค่การใช้กฎอัยการศึก ยังใช้พ.ร.บ.ความมั่งคงภายในด้วย ทำให้กอรมน.มีอำนาจมากและเกิดการแทรกแซงทุกกิจการ
“รัฐบาลเพื่อไทยมีบาดแผลในคดีตากใบ และรัฐบาลก็เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ทำให้กอ.รมน.เดินหน้านโยบายการปราบปรามใหญ่ขึ้น และรัฐบาลในปัจจุบันก็ไม่มีเจตจำนงทางการเมืองแต่อย่างใด ไม่เหมือนกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ยังมีการเจรจาสันติภาพ ทำให้การไปเยือนของนายทักษิณ ชินวัตร ทั้งสองครั้งมีแรงเหวี่ยงกลับมาอย่างมีนัยยะสำคัญ อยากฝากให้ทุกคนติดตามการดำเนินคดีภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเป็นจุดวิกฤตเปลี่ยนสถานการณ์ให้รุนแรงมากขึ้นได้” อัสมาดี ระบุ
ขณะที่ชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาชน กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ต้องหาและจำเลยรวม 28 คดี จึงเข้าใจถึงปัญหาของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ได้รับการคุกคามต่างๆ โดยเฉพาะการคุกคามบนโลกออนไลน์ในมิติทางเพศ ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงสภาพจิตใจของคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างมาก ทำให้บรรยากาศการเคลื่อนไหวหดแคบลง หรือแม้แต่งานการเมืองเองก็ไม่ได้มีการสร้างบรรยากาศความปลอดภัยให้กับผู้หญิงในการทำงานการเมืองแต่อย่างใด
“ดัชนีชี้วัดประชาธิไตยของประเทศ ไม่ได้ดูแค่กลไกของการเลือกตั้ง แต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมด้วย ที่ผ่านมานักต่อสู้จำนวนมากถูกคุกคาม มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพหนักขึ้นเรื่อย ๆ พรรคเพื่อไทยเคยโฆษณาตัวเองเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในประชาธิปไตย แต่ทำไมตัวเลขคดีความในยุคไม่ลดลง มีการหยิบคดีในคสช.ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง แม้แต่คนเป็นสส.เอง ก็ไม่ปลอดภัย ถูกฟ้องโดยรัฐมนตรี ไม่เห็นถึงแนวโน้มในทิศทางทีดีขึ้นเลย” ชลธิชา ระบุ
ชลธิชา ระบุด้วยว่า เจตจำนงทางการเมืองในการผลักดันต่างๆ เป็นบันไดขั้นแรก แต่วันนี้ไม่เห็นเจตจำนงทางการเมืองจากเพื่อไทย ซึ่งขอทวงถามถึงเรื่องนี้ เพราะตราบใดที่ไม่มีเจตจำนงทางการเมือง จะนำไปสู่ก้าวต่อไปในการปกป้อง และคุ้มครองนักปกป้องสิทธิได้อย่างไร และหวังว่าจะยกเลิกโทษหมิ่นประมาทอาญา ซึ่งจะทำให้เห็นเป็นทิศทางและการกำกับที่ดีต่อไป
ด้านปรานม กล่าวว่า รัฐบาลเพื่อไทยได้อำนาจมาแล้ว แต่ไม่มีประชาชนในหัวใจ ไม่เอื้อต่อการสร้างสภาวะแวดล้อมในการปกป้องนักสิทธิมนุษยชน สะท้อนได้จากการการจำกัดสิทธิเสรีในการชุมนุมเรียกร้องของประชาชน การไม่ให้ความสำคัญกับการลุกขึ้นมาต่อสู้ของประชาชน ทั้งเรื่องของสหภาพแรงงาน และปลาหมอคางดำ รวมทั้งท่าทีของของกอรม.ต่อสิทธิการแสดงออกของประชาชนโดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนใต้ เช่นเดียวกับในวันนี้ที่ทาง PI ได้เชิญตัวแทนรัฐบาลเพื่อไทยมาเช่นกันแต่ได้รับคำตอบว่าติดภาระกิจ ทั้งๆที่การออกรายงานครั้งที่แล้วมีการส่งตัวแทนมา
“วันนี้การที่เรามีนักการเมืองผู้หญิง มีผู้มีอำนาจเป็นผู้หญิง ถือป็นเรื่องดี แต่อำนาจของที่นายกฯผู้หญิงมี ควรกระจายเพื่อสร้างความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำให้กับผู้หญิงทั้งประเทศ ไม่ควรอยู่ในมือผู้หญิงตระกูลใดตระกูลหนึ่งที่หรืออำนาจใดอำนาจหนึ่ง แต่ควรต่อสู้เพื่อให้ประเทศนี้มีการโอบอุ้มและปกป้องผู้หญิงและประชาชนในทุกชนชั้น”ปรานม กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้ผู้ร่วมงานยังร่วมกันให้ประเมินการทำงานของพรรคเพื่อไทย ผ่านการติด “ดาว” หรือ “อุกกาบาต” ในกลไกการคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งปรากฎว่าทั้งหมดติดอุกกาบาตเพื่อสะท้อนความพึงพอในใจในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ โดยทั้งหมดระบุว่าพรรคเพื่อไทยเคยเป็นดาวแห่งความหวังแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ในจักรวาลของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนพรรคเพื่อไทยและพรรคร่สมรัฐบาลเป็นดาวที่ห่างไกลจากประชาชน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พม. นำคณะผู้แทนไทย ร่วมเวทีอาเซียน หนุน มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ชู 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร - พันธกิจสำคัญ 9 ด้าน - ศรส. - ศบปภ. ยกระดับการคุ้มครองทางสังคม
วันที่ 25 เมษายน 2568 นางจตุพร โรจนพานิช รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 – 24 เมษายน 2568 ตนเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย
นายกฯ อิ๊งค์ฟุ้งจับตาท่าทีสหรัฐใกล้ชิดทุกมุม
นายกฯ ย้ำไทยจับตาท่าทีสหรัฐฯ ใกล้ชิดทุกมุม เชื่อมะกันรอดูฟีดแบครอบโลกเช่นกัน มั่นใจพลัง 'อาเซียน' ผนึกสร้างอำนาจต่อรองรับมือกำแพงภาษีทรัมป์ ให้รอดไปด้วยกัน
อดีต รมว.กต. อวย 'ทักษิณ' คุย 'อันวาร์' ช่วยให้เห็นแสงสว่างในเมียนมาอย่างไม่เคยมีมาก่อน
อดีตรมว.ต่างประเทศ มอง "อันวาร์-ทักษิณ" พบกันเป็นเรื่องที่น่ายินดีต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในเมียนมา
กต. แถลงผลการหารือ 'อันวาร์-มินอ่องหล่าย' นำไปสู่การฟื้นฟูเมียนมาจากแผ่นดินไหว
นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ถึงการหารือร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน
'อันวาร์' โพสต์ภาพ ประชุมร่วม 'ทักษิณ' แลกเปลี่ยนสร้างสันติภาพในเมียนมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟสบุ๊กว่า เมื่อ
'กรุงเทพฯ' ครองแชมป์จุดหมายปลายทางยอดนิยม ดันเศรษฐกิจไทยฟื้น
'สงกรานต์' ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก 'กรุงเทพฯ' ครองแชมป์จุดหมายปลายทางยอดนิยม เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแข็งแกร่ง ขึ้นแท่นอันดับ 2 อาเซียน