'ดีเอสไอ' ส่งข้อมูลหลักฐานให้ กกต. แล้ว สอบคดีฮั้วเลือก สว.

แฟ้มภาพ

“ดีเอสไอ" ส่งข้อมูลวิเคราะห์ปมฮั้ว สว.67 ให้ “กกต.” พิจารณาเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งข้อมูลเส้นทางการเงิน สะพัดตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท - พฤติการณ์บุคคล - ผลคะแนนการกาเบอร์ซ้ำกันหลายฉบับ ชี้ อำนาจพิจารณาคดีเลือก สว. เป็นของ กกต. ชงยื่นศาลฎีกานักการเมือง ส่วนคดีฟอกเงินและอั้งยี่ ดีเอสไอรับเป็นหัวเรือ ฟันอาญากลุ่มคนเส้นเงินถึงกัน ตั้งคณะบุคคลร่วมกันจัดฮั้ว

5 พฤษภาคม 2568 - จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้ทำการสอบสวนกรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากนั้นมีการลงพื้นที่สืบสวนสอบสวน ขยายผล รวบรวมพยานหลักฐาน อีกทั้งกรณีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ

โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 3 ราย คือ พ.ต.ท.อนุรักษ์โรจน์นิรันด์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายระวี อักษรศิริ ผอ.กองคดีการฟอกเงินทางอาญา และนายเอกรินทร์ ดอนดง ผอ.ส่วนวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์พิเศษของคดีเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เป็นคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน ให้มีหน้าที่และอำนาจในการสืบสวนและไต่สวนเรื่องคัดค้านการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในทุกพื้นที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

ต่อมาวันที่ 25 เม.ย.68 ดีเอสไอ ร่วมกับ พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว ในฐานะผู้นำกลุ่ม สว.สำรอง เข้าสังเกตการณ์ ตรวจสถานที่คัดเลือก สว.ระดับประเทศ และจำลองเหตุการณ์ ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรัม ฮอลล์ 4 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เพื่อประกอบการสอบสวนคดีพิเศษในคดีฟอกเงิน สว. (คดีพิเศษที่ 24/2568) และใช้ประกอบการไต่สวนของ กกต.

อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอได้เริ่มดำเนินการสอบสวนรวมเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนภายหลังรับเป็นคดีพิเศษ มีการสอบปากคำพยานทั่วประเทศ สอบปากคำพยานกลุ่ม สว.สำรอง ตรวจสอบข้อมูลทางธุรกรรมธนาคารของบุคคลในขบวนการ ข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์ รวมทั้งรับโอนสำนวนการสอบสวนจาก สภ.รัตนาธิเบศร์ และ สภ.โกสุมพิสัย ที่มีผู้กล่าวหาในความผิดฐานอั้งยี่ มาสอบสวนรวมสำนวนในคดีพิเศษดังกล่าว ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 5 พ.ค.68 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 24/2568 กรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ดีเอสไอได้ทำการสอบสวนปากคำพยานสำคัญร่วมกับ กกต. จำนวนมากกว่า 30 ราย รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวของกลุ่มคณะบุคคล , การตรวจสอบเส้นทางการเงินที่สะพัดไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ตั้งแต่การเลือก สว. ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ , การกาคะแนน การนับผลคะแนนที่มีการเลือกหมายเลขเดียวกัน ซ้ำ ๆ กันหลายชุด เป็นต้น

เมื่อได้นำข้อมูลไปวิเคราะห์แล้วพบการกระทำที่เข้าข่ายมีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปด้วยสุจริตและเที่ยงธรรม พบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 จึงส่งหลักฐานและข้อมูลทั้งหมดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกอบการพิจารณาตามกฏหมายเลือกตั้ง

อาทิ การพิจารณาเพิกถอนสิทธิ สว. ซึ่งในส่วนนี้ หากมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รายใดก็ตามที่ กกต. ตรวจสอบแล้วเห็นว่ามีการกระทำผิดจริง ก็ให้ กกต. เป็นผู้พิจารณาร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลนั้นกับพนักงานสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือดีเอสไอก็ตามและในเรื่องของการดำรงตำแหน่งของ สว. ก็ให้ กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คาดว่าการดำเนินการของ กกต. อาจจะอยู่ในช่วงกรอบสัปดาห์หน้า

ส่วนเรื่องคดีอาญาที่ดีเอสไอรับผิดชอบ คือ ความผิดฐานฟอกเงินและอั้งยี่ คณะพนักงานสอบสวนยังคงอยู่ระหว่างการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน เนื่องจากการสอบสวนปากคำพยานทั่วประเทศยังคงดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อจำแนกกลุ่มคนว่าใครมีพฤติการณ์จับกลุ่ม ตั้งเป็นคณะบุคคลอย่างไรบ้าง มีความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกันมากน้อยอย่างไร ซึ่งในการดำเนินคดีแจ้งความผิดฟอกเงินและอั้งยี่ มีความเป็นไปได้ว่าบางคนอาจมีความผิดทั้งสองข้อกล่าวหา

ขณะที่บางคนอาจมีความผิดแค่ฐานเดียว ซึ่งดีเอสไอจะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐาน แต่ก็คาดว่าจะอยู่ในกรอบเดือน พ.ค. เช่นเดียวกัน เพราะพยานหลักฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชุดที่ดีเอสไอไปร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ กับ กกต. หรือดีเอสไอเป็นหัวเรือหลักเองในคดีอาญา ก็สามารถใช้พยานหลักฐานชุดเดียวกันพิจารณาได้

คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เผยอีกว่า หากทาง กกต. พบ สว. ที่กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง และมีพฤติการณ์เป็นไปตามการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่สุจริต หรือมีการฮั้วเกิดขึ้นจริง ทั้ง สว.ตัวจริง 138 ราย และสำรอง 2 ราย ก็จะถูก กกต. แจ้งดำเนินคดี ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า สว. เหล่านี้ก็จะมีความผิดในคดีอาญาของดีเอสไอเช่นกัน

โดยต้องพิจารณาทั้งความผิดฐานฟอกเงินและความผิดฐานอั้งยี่ โดยเฉพาะความผิดฐานฟอกเงินก็ต้องดูว่าเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในเส้นทางการเงินจำนวนกี่บาท มีการจ่ายรับโอนจ่ายช่วงวันเวลาใดบ้าง เพราะความผิดฐานฟอกเงิน พิจารณาเป็นรายกรรม อีกทั้งการฮั้ว เกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบ คือการฮั้วแบบใช้เงินและไม่ใช้เงิน ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นการฮั้วในรูปแบบลักษณะใดก็ตาม และโดยผู้ใดก็ตาม หากเป็นหนึ่งในขบวนการย่อมมีความผิด .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลไม่อนุญาตประกันตัว แอดมินเว็บพนันเครือข่ายแม่มนต์

พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ควบคุมตัวนายชัยสิทธิ์ (สงวนนามสกุล) หัวหน้าแอดมินเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ “แม่มนต์” ไปยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญารัชดา พร้อมคัดค้านการประกันตัว โดยศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา

ศาลรธน. แจ้งอัยการสูงสุด จัดส่งข้อมูลคืบหน้ากรณี 'ณฐพร' ร้องฮั้วเลือกสว. ภายใน 15 วัน

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการพิจารณาคำร้องที่นายณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49โดยอ้างว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ผู้ถูกร้องที่ 1 และเลขาธิการกกต.ผู้ถูกร้องที่ 2จัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

'ดีเอสไอ' จ่อสรุปคดีฮั้วตึกถล่ม ส่ง ป.ป.ช. ฟันกราวรูด 4 บิ๊ก สตง.-จนท.รัฐ รวม 70 คน

คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 58/2568 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยความคืบหน้าคดีฮั้วประมูลสัญญาก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารสำนวนเพื่อส่งให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ พิจารณาภายในวันศุกร์ที่ 13 มิ.ย.นี้ ก่อนส่งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.