'พิชาย' ชำแหละ 'รัฐประหาร' เป็น 'มายาคติ' ปลุกตอกย้ำให้ชัดไม่เหมาะที่จะอยู่ในสังคมประชาธิปไตย


'พิชาย'เรียกร้องทุกฝ่ายตอกย้ำให้ชัด'รัฐประหาร'ไม่เหมาะที่จะอยู่ในสังคมประชาธิปไตย เหตุ เป็น 'มายาคติ' ทำ คอร์รัปชันอื้อ ชี 'เครือขายคณะรัฐประหาร'จับมือ 'กลุ่มทุน' เกิด เศรษฐกิจผูกขาด-เหลื่อมล้ำ

18 ก.พ.2565-นายพิชาย รัตนาดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) กรรมการร่วมจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม กล่าวถึงการจัดงานรำลึก 30 ปีพฤษภาประชาธรรมในปีนี้ ว่า สิ่งที่ควรเน้นย้ำ คือ เรื่องของคุณค่าและความหมาย ของเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ว่ามีคุณค่าและความหมายต่อสังคมไทยอย่างไร ซึ่งคิดว่ามี 2 ประการที่สำคัญคือ 1.เหตุการณ์พฤษภาคมทำให้มีการหยุดยั้งการรัฐประหารร่วม 15 ปี หลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แล้ว แทบจะไม่มีเหตุการณ์รัฐประหารเลย เป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวนานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย ถือเป็นคุณูปการที่สำคัญ คือ 1.ต้องชี้เห็นว่า 17 พฤษภาคม 2535 เป็นวันที่ประชาชนร่วมมือกัน อย่างกว้างขวางจำนวนมากในการหยุดยั้งหรือยุติการรัฐประหารลงไปได้เป็นระยะเวลายาวนาน และ 2. ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ และไม่เคยมีมาก่อน ประชาชนสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เป็นฉบับประชาชน ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดฉบับหนึ่งในสังคมไทย

นายพิชาย กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรจะตอกย้ำให้เห็นชัดเจน คือ การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ที่จะดำรงอยู่ในสังคมประชาธิปไตยของประเทศไทยอีกต่อไป แต่ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ก็ยังมีการรัฐประหารอีก 2 ครั้ง คือ 2549 และปี 2557 เป็นการย้อนคืนหวนกลับมาของรัฐประหาร ซึ่งมีสาเหตุสำคัญเกิดขึ้นมาหลายสาเหตุ เช่น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของนักการเมือง หลังจากที่ได้เข้าไปบริหารประเทศ โดยอาศัยผลพวงที่ประชาชน ดำเนินการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ ไปในทางที่ไม่เหมาะสมเกิดปัญหาการทุจริตต่างๆ นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทย ยังยอมรับและสนับสนุนการรัฐประหารอยู่ ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะเป็นชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้เมื่อคนไทยยังยอมรับการรัฐประหาร คนเหล่านั้นเขาคิดว่าการรัฐประหารจะทำให้ประเทศสงบ และยังช่วยขจัดคอร์รัปชัน แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่ทำให้ประเทศสงบลงชั่วคราวและเกิดความขัดแย้งที่ใหญ่มากกว่าเดิม เป็นความขัดแย้งที่ลงไปสู่ระดับรากฐานของสังคมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

“ความเชื่อที่ว่าการรัฐประหาร จะช่วยขจัดการคอร์รัปชันก็ไม่เป็นความจริง เพราะหลังจากที่มีการรัฐประหาร ดัชนีความโปร่งใสของประเทศไทยก็ตกลงทุกปี เดิมในปี 2558 อยู่ที่ลำดับ 74 แต่ปัจจุบันเข้าไปลำดับ 110 แล้ว ก็แสดงว่าการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และความเป็นจริงที่เราเห็นอยู่ คือเครือข่ายของคณะรัฐประหาร ก็เข้าไปนั่งอยู่ในตำแหน่งทั้งในรัฐวิสาหกิจหรือรัฐจำนวนมาก ได้ทั้งตำแหน่งอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งอาจจะมากพอกันกับรัฐบาลพลเรือนหรืออาจจะมากกว่า เพราะฉะนั้นความเชื่อที่ว่าการทำรัฐประหารจะช่วยขจัดคอรัปชั่นเป็นมายาคติ เป็นเรื่องที่ไม่จริง” นายพิชาย กล่าว

นายพิชาย กล่าวว่า ความเชื่อที่ว่ารัฐประหาร จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเพราะรัฐบาลมีเสถียรภาพ ก็ไม่เป็นความจริง เพราะคนที่คณะรัฐประหารนำมาบริหารประเทศหรือเครือข่ายก็ดี ไม่มีฝีมือในการบริหารเศรษฐกิจ และนโยบายต่างๆก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ ร้ายไปกว่านั้นคือบรรดาเครือขายของคณะรัฐประหาร เข้าไปจับมือกับกลุ่มทุนผูกขาด ทำให้เกิดเศรษฐกิจผูกขาดในสังคมไทยสร้างความเหลื่อมล้ำ จนกระทั่งประเทศไทยต้องมีความเหลื่อมล้ำ ในระดับต้นๆของโลก เพราะฉะนั้นเรียกได้ว่าคณะรัฐประหาร ก็เป็นหายนะภัยทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง

นายพิชาย กล่าวว่า ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร ทั้งนี้เนื่องจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชน สามารถเอาชนะการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารได้ แสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชนที่มีความแข็งแกร่งและทรงพลัง ดังนั้นในการครบรอบ 30 ปีนี้ คงจะเป็นจุดเริ่มต้นในการที่ประชาชนทุกฝ่าย จะต้องมาร่วมกันในการยุติการรัฐประหารให้ได้ เพื่อที่ทำให้ประชาธิปไตยมีความมั่นคงยั่งยืนต่อไป

ส่วนทางออกของประเทศไทย ที่จะไม่วนหลูบกลับไปสู่การรัฐประหารอีกนั้น นายพิชาย กล่าวว่า เราก็ต้องทำลายมายาคติ ให้รัฐประหารเป็นเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมไทย ทำให้คนที่ทำรัฐประหารรู้สึกละอาย จนไม่กล้าที่จะออกมาเดินในสังคม หมายความว่าสังคมต้องอาศัย กลไกทางโซเชียลแซงชั่น หรือการลงโทษทางสังคมต่อคณะรัฐบาลหาร และเครือข่ายของรัฐประหาร และแสดงความไม่ยอมรับคนเหล่านี้อย่างชัดเจน ไม่ว่าในทางการเมืองหรือทางสังคม จนทำให้คนที่ทำรัฐประหารก็ต้องคิดหนัก ว่าถ้าทำแล้วเขาก็ต้องเผชิญกับมาตรการทางสังคม ที่ประชาชนร่วมมือกันตอบโต้ไม่เช่นนั้นจะทำให้รัฐประหาร กลายเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า Stigmata สำหรับคนทำ

"ตอนนี้ก็จะเห็นชัดเจนว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถ้าใครไปเรียกเขาว่าเป็นนักรัฐประหารข้อเขาก็จะโกรธ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ความจริงแล้วเขาก็รู้สึกว่า การรัฐประหารเป็นการกระทำที่น่าละอาย ไม่ได้น่ายกย่อง ก็มีความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นในบางส่วน ของบรรดาคณะรัฐประหาร ซึ่งตรงนี้เราก็คงต้องขยายความคิดเหล่านี้ ไปสู่ประชาชนให้เป็นวงกว้างแล้วชี้ให้ประชาชนเห็นถึงผลเสีย และร่วมมือกันในการต่อต้านการรัฐประหาร เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมเป็นเหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์ ที่ประชาชนสามารถเอาชัยชนะเหนือคณะรัฐประหารได้ ครั้งหนึ่งในสังคมไทย"

นายพิชาย ยังกล่าวถึงกรณีที่หลายคนมองว่าประเทศไทย ควรจะปกครองโดยระบอบคณาธิปไตย ว่า มีคนกลุ่มนี้อยู่จำนวนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นสูง ซึ่งเราปฏิเสธความจริงแบบนี้ไม่ได้ แม้เขาจะมีความคิดแบบนี้ แต่เราก็ต้องทำให้ความคิดแบบนี้ ไม่เหลือพื้นที่หรือมีพื้นที่ให้เหลือน้อยที่สุดในสังคมไทย ซึ่งประชาชนต้องร่วมกันใช้มาตรการทางสังคมในการจำกัดพื้นที่ของคนเหล่านี้

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรอง ชี้ 'บิ๊กทิน' กินยาผิด! ยันทหารไม่อยากยึดอำนาจถ้านักการเมืองไม่โกง

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)

‘วิโรจน์’ หนุน ‘สุทิน’ แก้กฎหมายกลาโหม สกัดรัฐประหาร ลั่นต้องทำให้ถึงแก่น

‘วิโรจน์’ เห็นด้วยในหลักการ หลัง ‘สุทิน‘ เสนอแก้ ’กฎหมายกลาโหม‘ สกัดรัฐประหาร แต่ต้องแก้ให้ถึงแก่น ไม่ใช่แค่ผิว ชี้ เป้าหมายสูงสุด คือทำให้กองทัพไม่อยู่ในฐานะรัฐอิสระ แนะ ควรปรับสัดส่วน ‘สภากลาโหม’ ให้เหลือแค่ 11 คน-มีทหารไม่เกินกึ่งหนึ่ง