เสวนา 30 ปี พฤษภาทมิฬ 'ปริญญา-ไอติม' ฟาด รธน.60 เลวร้าย 'จตุพร' ชี้คนไทยอยู่ในวังวนน้ำเน่า

เสวนา​ ​30 ปี​พฤษภ​า​ 35 "ปริญญา"​ ชี้ทหาร-นักการเมือง-นักธุรกิจ​ เป็นตัวแปรเกิดรัฐประหาร​ เผยตั้งแต่เหตุการณ์ปี​ 49 ทำให้การเมืองกระทบสถาบัน​ "จตุพร"​ ชี้ประชาชนชอบน้ำเน่ามากกว่าน้ำดี​ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง​ป้องกันรัฐประหารไม่ได้​ โอดซื้อเสียงมโหฬาร​ กกต.จับใครไม่ได้​ "ไอติม" เผย รธน.60 เลวร้ายกว่า 34 จี้กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

23 ก.พ.2565 - คณะสังคมศาสตร์​ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์​วิโรฒ​ (ประสานมิตร)​ จัดงานเสวนา​"ถอดบทเรียนการรัฐประหาร​ 23 กุมภาพันธ์​ จากรสช.​ถึง​ ​17 พฤษภาคม​ 2535 บทบาททหารกับการเมืองไทย" โดยนายนายปริญญา​ เทวา​นฤมิต​กุล​ รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า​ ความจริงแล้วการรัฐประหาร​ในปี 2535 ควรจบและเป็นครั้งสุดท้าย​ แต่ก็เกิด​ 19 ก.ย.2549 และ​ 22 พ.ค.2557 และจะมีค​รั้งต่อไปหรือไม่​ พอกันทีกับการรัฐประหาร​ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ได้บอกเฉพาะทหาร​ แต่บอกฝ่ายการเมือง​ด้วย​ ทั้งนี้จะโทษทหาร​ หรือนักการเมืองอย่างเดียวด้วย​ นักธุรกิจจำนวนมากชอบยัดเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ตัวเองได้โครงการ​ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดรัฐประหาร​ ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน​ ประชาชนควรสรุปบทเรียนว่าควรพอได้แล้ว

"ไม่มีใครกล้าพูดว่าจะเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่​ หลังจากพฤษภา 35 ก็เกิดการเสียเลือดเสียเนื้ออีกหลายครั้ง​ ถ้าหากวันนี้เราได้ประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน​ ประชาธิปไตย​ที่มีการตรวจสอบ​ โปร่งใส​ นายกฯต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน​ การใช้อำนาจของรัฐบาลอยู่เหนือตำรวจจนเกิดปัญหามากมาย​ เรื่องพวกนี้ถ้าหากไม่มีเลย​ มีประชาธิปไตยที่โปร่งใส​ คนในสังคมเห็นจะต่างแต่ไม่แตกแยก​ และไม่เลยเถิด​มาจนกระทบถึงสถาบัน​ เรียนว่าตั้งแต่รัฐประหาร​ปี​ 2549 เป็นต้นมา​ เราทำให้ปัญหาการเมืองกระทบถึงสถาบัน​" นายปริญญา​ กล่าว

นายปริญญา​ กล่าวอีกว่า​ จากนี้ไปเราจะกลับไปสู่ประชาธิปไตย​ก็ยังไม่ง่าย​ อย่างน้อยจนกว่าสว.ชุดนี้จะหมดวาระในปี 2567 รัฐธรรมนูญฉบับนี้แย่ยิ่งกว่าปี​ 2534 หลายเท่า​ เนื่องจากปี​ 2534 สว.เลือกนายกฯไม่ได้​ อิทธิฤทธิ์ของสว.มีน้อยมาก​ ส่วนองค์กรอิสระขณะนั้นยังไม่เกิด การสืบทอดอำนาจมีไม่มาก​ ทั้งนี้กลไกสืบทอดอำนาจผ่านสว.สามารถไปเลือกถึงนายกฯ​และองค์กร​อิสระ​ ทั้งนี้การรัฐประหาร​ไม่ได้แก้ปัญหา​ เราเห็นต่างขัดแย้งกันต้องว่าด้วยตามกติกา​ ไม่ใช่เชิญทหารมาปฏิวัติ​ ทั้งนี้การปฏิวัติ​ตลอด​ 90 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีการปฏิวัติครั้งใดแล้วได้มาซึ่งประชาธิปไตย​ และรัฐธรรมนูญ​ที่ดีขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว​ จึงต้องช่วยกันให้การปฏิวัติหมดไป

"นายกฯท่านจำได้หรือไม่ว่าสัญญา​กับประชาชนไว้​ 2 ครั้ง​ ครั้งแรก​ 22 พ.ค.2557 บอกว่าขอเวลาอีกไม่นาน​ ความสุขจะกลับคืนมา​ ผมไม่ทราบว่าความสุขที่จะกลับคืนวันนี้คืออะไร​ เรามีแต่สังคมที่เหลื่อมล้ำ​มากยิ่งขึ้น​ ประเทศไทยจากเดิมเหลื่อมล้ำอันดับ​ 10 ของโลกก่อนปฏิวัติ​ ตอนนี้อยู่ในอันดับ​ 1 ของโลก​ ยิ่งปฏิวัติเจ้าสัวยิ่งรวยขึ้น​ ยิ่งแตกแยก​ แต่เดิมเราไม่ได้แตกแยกขนาดนี้​มีแค่เสื้อเหลืองเสื้อแดง​ แต่ไม่กระทบถึงสถาบันหลักของชาติ​ สัญญาที่ 2 เมื่อ​5 ส.ค.2559 ก่อนการลงประชามติ​ 2 วันท่านบอกว่าให้รับร่างรัฐธรรมนูญ​ แล้วท่านจะไม่สืบทอดอำนาจ​ แล้วตอนนี้เป็นอย่างไร​ ถ้าจะชวนใครพูดเป็นคนแรกว่าหยุดปฏิวัติ​เถอะ​ ก็อยากชวนนายกฯ​ กรุณาช่วยบอกรุ่นน้องของท่านในกองทัพได้ไหมว่าเลิกทำเถอะ​ แล้วกองทัพช่วยพูดชัดๆได้ไหมว่าจากนี้ไปรัฐประหาร​ไม่ทำแล้ว​ สัญญา​ได้ไหม​"นายปริญญา​ กล่าวและว่า โทษการล้มล้างรัฐธรรมนูญ​ร้ายแรงสุดคือประหารชีวิต​ แต่เรากลับทำมาได้​ 13 ครั้ง​ เพราะฝ่ายตุลาการยอมรับการรัฐประหาร​ เรียนว่าประเทศไทยต้องจริงจังกับการบังคับใช้โทษตามมาตรา​ 113 ซึ่งร้ายแรงกว่ามาก​

นายปริญญา​ ยังกล่าวอีกว่าสันติภาพ​ และความยุติธรรมคือพื้นฐานของทุกสังคมซึ่ง​ไม่มีทางเกิดได้ด้วยการปฏิวัติ​ มีแต่ประชาธิปไตย​และความโปร่งใส​เท่านั้นที่จะเกิดสันติภาพ​

ด้านนายจตุพร​ พรหมพันธุ์​ อดีตแกนนำนปช.​ กล่าวว่า​ ความจริง​ พฤษภา​ 35 ทหารเข็ดหลาบ​ยาวมากถึง​14 ปี​ ก่อนที่จะทำรัฐประหาร​ปี​ 2535 อย่างไรก็ตามนักเลือกตั้ง​ และประชาชนไม่ยอมเปลี่ยนแปลง​ตัวเอง​ ไม่มีวันที่จะป้องกันการเกิดรัฐประหาร​ได้​ วันนี้เลือกตั้งทุกระดับหนักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา​ มีการซื้อเสียงทั้งระดับกำนัน​ ผู้ใหญ่บ้าน​ อบต.​ อบจ.เทศบาล​ และส.ส.​ ทุกคนรู้หมด​ มีกลุ่มเดียวที่ไม่รู้คือคณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.)​ เพราะกกต.ไม่เคยจับใครได้เรื่องการซื้อเสียงเลย​ ตา​ หู​ จมูก​ ไม่สามารถรับรู้ได้​ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการใช้เงินกันอย่างมโหฬาร​ เป็นการซื้อแข่งกัน​ และถอนทุนกับประเทศนี้แข่งกัน​ ท้ายที่สุดก็เวียนไปสู่การรัฐประหาร​ ทุกวันนี้นักการเมืองได้ประโยชน์​ ไปปล้นแล้วมีคนคุ้มครอง​ องค์กร​อิสระเอาผิดไม่ได้​ กลไกปัจจุบันสามารถจับรัฐบาลก่อนหน้าได้​ แต่รัฐบาลปัจจุบันจับไม่ได้​ เป็นเวลาที่นักเลือกตั้งเรืองอำนาจที่สุด​ 30 ปีที่ผ่านมาประเทศนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยน​ 90ปีของการเปลี่ยนแปลง​การปกครอง​ เราไม่เคยได้ประชาธิปไตยจริงๆแม้กระทั่งวันเดียว​

"คนไทยไม่ชอบน้ำดี​ ละครน้ำดีคนไม่ดู คนไทยชอบน้ำเน่า​ เพราะฉะนั้นระบบการเมืองไทยจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง​ มีทหาร​ นักการเมือง​ ที่เป็นคนเดิมหรือเปลี่ยนคน​ บ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงกันยากตราบใดคนไทยไม่เปลี่ยน​ คนไทยตัดสินใจอะไรก็ได้เราจึงได้นักการเมืองแบบนี้​ เมื่อได้นักการเมืองแบบนี้เราจึงได้คณะรัฐประหารแบบนี้​ เพราะฉะนั้นตอนนี้คนไทยอยู่ในวังวนน้ำเน่า​ ถ้าคิดจะเปลี่ยนแปลงเราก็จะเปลี่ยนแปลงนักการเมือง​ และผู้ปกครอง​ได้"นายจตุพร​ กล่าว

นายจตุพร​ กล่าวอีกว่า​ เราเรียกร้องให้นายกฯลาออก​ เขาก็ไม่ลาออก​ เพราะฉะนั้นตนเชื่อว่าจุดร่วมที่กำลังจะเกิดขึ้นเรื่องชาติบ้านเมือง​ ที่ทุกฝ่ายไม่ว่าชอบกันหรือเกลียด​กัน​ ให้มีจุดร่วมตรงกลาง​ และครุ่นคิดมา จะนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่​ เชื่อว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดในปี​ 2565 ถ้าเกิดจะนำไปสู่การเปลี้ยนแปลง​ และนับหนึ่งประเทศไทยกันใหม่​ มิฉะนั้นเราจะกลายไปเป็นประเทศที่ล้าหลัง

นายพริษฐ​์​ วัชรสินธุ​ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวว่า​ วิวัฒนาการ​ประชาธิปไตย​ตลอด​ 30 ปีที่ผ่านมา​ เชื่อว่าถ้าตนอยู่ในเหตุการณ์​ว่าจะคาดหวังว่า​นาฬิกา​ประชาธิปไตย​มันไม่เดินถอยหลังอีกแล้ว​ แต่จากการวิเคราะห์เมื่อเทียบปัจจุบันแล้ว​ นอกจากจะหยุดเดินแล้ว​ ยังเดินถอยหลังด้วยซ้ำ​ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ​ฉบับสสร.​ หลายคนคิดว่าคงเป็นรัฐธรรมนูญ​ฉบับถาวรที่มีความเป็นประชาธิไตย​ที่ใกล้เคียง​ และสมบูรณ์​ที่สุด​ แต่พอผ่านไป​ 30 ปี​ รัฐธรรมนูญ​ฉบับนั้นถูกฉีก​ และรัฐธรรมนูญ​ฉบับ​ 2560 ที่เลวร้ายกว่าปี​ 2534 นั้นคือการสืบทอดอำนาจ​ แม้จะมีการทำประชามติ​ แต่ก็ไม่ได้เป็นมาตรฐาน​ประชาธิปไตย​ ไม่ว่าการบีบให้รับร่าง​แล้วจะได้เลือกตั้งเร็ว​ กับไม่รับแล้วเลือกตั้งช้า​ แน่จริงทำไมเราไม่เลือกรัฐธรรมนูญหลายฉบับให้ประชาชนเลือก​ ตนมองว่าการจะทำประชามติปี​ 2559 ไม่ได้ทำให้รัฐธรรมนูญ​ปี​ 2560 มีความชอบธรรม

นายพริษฐ​์​ กล่าวอีกว่า​ เหตุผลที่รัฐธรรมนูญ​ปี​ 2560 เลวร้ายกว่าปี​2534 มี​ 3 กลไก​ 1.คุณสมบัติ​นายกฯ​ ปี​ 2534 นายกฯไม่ต้องเป็นส.ส.​ ส่วนปี​ 2560 ยังกลไกนี้เหมือนกัน​ โดยมีการเปิดช่องนายกฯคนนอกอยู่​ 2 รูปแบบคือ​นอกสภาเป็นแคนดิเดท​ในวันเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เป็นส.ส.ที่พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ นายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​กลาโหม​ เป็นอยู่ในปัจจุบัน​ โดยการเปิดช่องนายกฯคนนอก​ เพราฉะนั้นกลไกการสืบทอดอำนาจยังมีอยู่​ และนอกบัญชีคือคนที่ประชาชนไม่รู้ชื่อในวันเลือกตั้ง 2.ที่มา​ ซึ่งเหมือนกันคือ​ สว.ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร​ แต่อำนาจสว.ปี​2560 มีมากกว่า​ สามารถเลือกองค์อิสระได้​ และ3.กลไกยุทธศาสตร์​ชาติ​ 20 ปี​ ซึ่งเป็นอาวุธลับที่​คสช.ยังไม่งัดมาใช้เพราะมีการเขียนไว้ว่าถ้ารัฐบาลไหนทำไม่ตรงกับสิ่งที่เขียนไว้ในยุทธศาสตร์​ชาติ​ สามารถถูกขับออกจากตำแหน่งได้​

นายพริษฐ​์​ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า​ ตนมีวิธีแก้คือวัคซีนรัฐธรรมนูญ​ 2 เข็ม​ เข็มแรกคือการแก้รายมาตรา​ ดูว่ามาตราไหนที่มีปัญหา​ ตนเสนอว่าควรมีการรีเซ็ต​การแต่งตั้งตุลาการ​ และองค์กร​อิสระ​ และสิทธิการประกันตัวในกระบวนการยุติ​ธรรม​ให้มากขึ้น​ เข็มสอง​ร่างรัฐธรรมนูญ​ฉบับใหม่​ โดยต้องมีสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด​ และจำเป็นให้สสร.สามานถแก้ไขได้ทุกหมวด​ ทุกมาตรา​ ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง​

ส่วนบทบาททหารในการเมือง​ มีการแทรกแทรงทางการเมืองในรูปแบบอื่น​มีการขยายบทบาทของกองทัพอย่างเรื่อยๆ​ มีการแทรกซึมในระบบร​าชการ กฎหมาย​ หรือธุรกิจ​ ถ้าต้องการให้ทหารไม่เข้ามาแทรกแทรงการเมืองทุกรูปแบบ​ การป้องกันไม่พอ​ ต้องปฏิรูปกองทัพ​ ตนมีข้อเสนอ​ 4 ท.​คือ​ 1.ประชาชนเท่าทันกองทัพ​ ให้กองทัพอยู่ภายใต้ทิศทางรัฐบาลพลเรือน​ นั่นคือการป้องกันการรัฐประหาร​ 2.กองทัพเท่าทันโลก​ ปรับให้เท่าทันกับภัยคุดคามความมั่นคงกับยุคสมัยใหม่​ 3.ทหารเท่ากับคน​ 4.ทหารทุกคนมีสิทธิเท่ากัน

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ก้าวไกล' งดออกเสียงญัตติส่งศาลวินิจฉัยอำนาจรัฐสภา 'ชัยธวัช' ด่าศาลรธน.

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่องขอให้

กกต.ป้ายแดง ไม่กดดันพิจารณาคดีร้อนยุบพรรค

นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้ารับตำแหน่งกกต. ว่า ก่อนหน้านี้กกต.ทำงานได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้ามองจากข้างนอกก็มีอุปสรรคปัญหาที่สะท้อนกลับมาในบางเรื่อง ซึ่งเป็นภาพรวมที่ว่ากกต.ทำอะไรกันอยู่ กกต.ทำอะไรถึงไหนแล้ว พอตนเข้ามานั่งอยู่ในตำแหน่งกกต. สิ่งหนึ่งที่อยากพัฒนาก็คือความสามารถ

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

'จตุพร' จี้นายกฯปฏิรูปองค์กรตำรวจครั้งใหญ่ เพื่อกู้ภาพลักษณ์ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์กรณี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ หรือ ทนายตั้ม แถลงเส้นทางการเงินพนันออนไลน์โยงตำรวจยศ “บิ๊ก” ว่า