อิมรอน ข่าน อดีตนายกฯปากีสถาน ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี

อิมรอน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของประเทศตัดสินว่าเขาเกี่ยวข้องกับการทุจริตขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แฟ้มภาพ อิมรอน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน (Photo by AAMIR QURESHI / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2565 กล่าวว่า อิมรอน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถานที่ถูกลงมติไม่ไว้วางใจจนหลุดจากตำแหน่งเมื่อเดือนเมษายน มีอันต้องพบวิบากกรรมเพิ่มเติม หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งของประเทศตัดสินให้เขามีความผิดข้อหาทุจริตขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

"คณะกรรมการการเลือกตั้งของปากีสถานประกาศว่า อิมรอน ข่านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต" โกฮาร์ ข่าน หนึ่งในทนายความของอิมรอน กล่าวกับผู้สื่อข่าว พร้อมเสริมว่า อิมรอนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และเขาจะขอยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้ต่อในศาลสูงอิสลามาบัด

การพิจารณาตัดสิทธิ์ทางการเมืองในครั้งนี้ อ้างอิงจากมาตราฐานและจริยธรรมของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องแจกแจงทรัพย์สินของตน รวมทั้งของขวัญของรางวัลที่ได้รับมาจากบุคคลอื่นในระหว่างการดำรงตำแหน่งใดๆ

โดยกฏหมายระบุว่า ของขวัญของรางวัลที่ได้รับมา หากมีมูลค่าสูงจะต้องถูกส่งให้รัฐ หากมีมูลค่าไม่มากเกินเกณฑ์ที่กำหนด ตัวผู้ได้รับสามารถเก็บไว้ครอบครองได้โดยไม่ผิดกฏหมาย

มีรายงานของสื่อก่อนหน้านี้ว่า ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปากีสถาน อิมรอน ข่านและภรรยาของเขามักได้รับของขวัญมากมายมูลค่ามหาศาล ซึ่งรวมถึงนาฬิกาหรู, เครื่องประดับ, กระเป๋าแบรนด์เนม และน้ำหอมราคาแพง ในระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งข่านเผชิญประเด็นทางกฏหมายจากการไม่ชี้แจง, ทำให้เข้าใจผิด และปกปิดข้อมูลการได้มาหรือการขายทรัพย์สินเหล่านั้นออกไป

การร้องเรียนข่านต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นโดยขบวนการประชาธิปไตยปากีสถาน ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรของฟากฝั่งรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ในเวลานั้น ข่านกล่าวว่าเขาไม่ได้เปิดเผยของขวัญบางอย่างต่อสาธารณะด้วยเหตุผลทางความมั่นคงของชาติ แต่ได้ยื่นหนังสือยอมรับว่า เคยซื้อสินค้าที่มีมูลค่าเกือบ 22 ล้านรูปี (ประมาณ 3.8 ล้านบาท) และต่อมาขายของเหล่านั้นได้ในราคามากกว่า 2 เท่าของจำนวนเงินที่ซื้อมา

ข่านที่ต้องหลุดออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศและถูกแทนที่ด้วยเชห์บาซ ชาริฟ กำลังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกลับเข้าสู่อำนาจ พร้อมอ้างว่าการลงมติไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาเกิดจากการแทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตกที่ไม่พอใจจากการที่เขายังคงเป็นพันธมิตรกับรัสเซียในกรณีสงครามยูเครน รวมถึงการทรยศหักหลังของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ความล้มเหลวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 หรือการไม่สามารถปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนว่าจะทำให้ปากีสถานเป็นประเทศที่มั่งคั่งและปราศจากการทุจริต เป็นแรงผลักดันที่แท้จริงที่ทำให้เขาต้องหลุดพ้นจากตำแหน่งในครั้งนั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หึ่ง! กทม. เริ่มฮั้วเลือก สว. 'ปธ.กกต.' ตรวจความพร้อม รับสมัครวันแรก

'อิทธิพร' ตรวจความพร้อมสนามรับสมัคร สว. ระดับอำเภอวันแรก กำชับ จนท. รอบคอบทุกขั้นตอน พื้นที่ กทม. มีรายงานฮั้วกันแล้ว จ่อจับตาเข้มคนไม่มีคะแนนกับท็อปไฟว์

กกต. คิกออฟ 'เลือก สว.' ทำ MOU เผยแพร่ประชาสัมพันธ์

กกต. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเลือก ส.ว. พร้อมคิกออฟภายใต้แนวคิด '20 กลุ่มอาชีพร่วมใจ ขับเคลื่อนประเทศไทยไปพร้อมกัน'