'ค็อป 26' บรรลุข้อตกลงลดโลกร้อนฉบับใหม่

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยภาวะโลกร้อนที่สกอตแลนด์นาน 2 สัปดาห์ปิดฉากเมื่อวันเสาร์ ที่ประชุมสามารถผ่านข้อตกลงออกมาจนได้ ซึ่งรวมถึงข้อเรียกร้องให้ลดการใช้ถ่านหิน แต่เลขาธิการยูเอ็นชี้ว่ายังไม่เพียงพอ

อาล็อก ชาร์มา ประธานการประชุมค็อป 26 (กลาง) ได้รับการปรบมือจากที่ประชุม หลังกล่าวปิดการประชุมเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2564 (Getty Images)

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน 2564 ว่าการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (ค็อป 26) ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ โดยมีผู้แทนจากเกือบ 200 ประเทศเข้าร่วม ปิดฉากลงเมื่อวันเสาร์ ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมเนื่องจากการคัดค้านจากอินเดีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจีนและประเทศกำลังพัฒนาที่ยังต้องพึ่งพาพลังงานจากถ่านหิน ที่ไม่เห็นด้วยกับถ้อยคำในข้อตกลงที่เรียกร้องให้ "ยุติ" การใช้พลังงานถ่านหิน

รอยเตอร์กล่าวว่า ภายหลังการเจรจาต่อรองกันระหว่างจีน, อินเดีย, สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ทำให้มีการแก้ไขถ้อยคำอย่างเร่งรีบ จากการขอให้ "ยุติ" เป็นการขอให้ประเทศทั้งหลาย "ลด" การใช้ถ่านหินอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อาล็อก ชาร์มา ประธานการประชุมค็อป 26 ชาวอังกฤษ ซึ่งพยายามสะกดกลั้นอารมณ์อย่างเห็นได้ชัด กล่าวว่า เขาขอโทษที่กระบวนการปรากฏออกมาในแบบนี้ และเขาเสียใจอย่างยิ่ง แต่สิ่งสำคัญคือการรักษาข้อตกลงโดยรวมไว้ ก่อนที่เขาจะเคาะค้อนเป็นสัญญาณว่าข้อตกลงฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมโดยไม่มีชาติใดคัดค้านแล้ว หลังจากการต่อรองมาราธอนกันข้ามคืน

การประชุมโลกร้อนครั้งนี้ถูกคาดหมายว่าเป็นการต่อชะตาข้อตกลงปารีสปี 2558 ที่ตั้งเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ระหว่าง 1.5-2 องศาเซลเซียส แต่ผู้สังเกตการณ์กล่าวกันว่า ข้อตกลงที่ออกมายังไม่เพียงพอต่อการหลีกเลี่ยงภาวะโลกร้อนที่อันตรายและการช่วยประเทศต่างๆ ปรับหรือหรือชดเชยความเสียหายจากหายนภัยที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก

อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ แสดงความยินดีที่บรรลุข้อตกลงได้ แต่ย้ำว่ายังไม่เพียงพอ "เรายังคงกำลังเคาะประตูภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศ" เขากล่าว

เกรียตา ทุนแบร์ย สาวน้อยนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน กล่าวย้ำทัศนะเดิมของเธอก่อนหน้านี้ว่า การเจรจาครั้งนี้ไม่ได้ผลลัพธ์อะไรนอกจาก "บลาๆๆ"

ลอเรนซ์ ทูเบียนา ผู้จัดทำความตกลงปารีส กล่าวกับเอเอฟพีว่า ค็อปล้มเหลวในการให้ความช่วยเหลืออย่างทันทีทันใดต่อผู้คนที่ได้รับความทุกข์ร้อนอยู่ในขณะนี้

ทว่าอีกด้าน คณะกรรมาธิการยุโรปออกแถลงการณ์ว่า ข้อตกลงนี้ทำให้เป้าหมายตามข้อตกลงปารีสยังคงอยู่รอดต่อไป ส่วนนายกฯ บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ยืนกรานว่า ข้อตกลงนี้เป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ ถึงแม้ว่ายังมีงานอีกมากให้ต้องทำในอีกหลายปีข้างหน้า "เรามีข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกในการลดการใช้ถ่านหิน และแผนงานในการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศา" เขากล่าว

ข้อตกลงสภาพภูมิอากาศกลาสโกว์ฉบับนี้ ยังเรียกร้องให้ทุกประเทศเร่งการตัดลดการปล่อยก๊าซที่ก่อภาวะเรือนกระจก ด้วยการยื่นแผนระดับชาติฉบับใหม่ภายในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าที่เห็นชอบกันไว้ในข้อตกลงปารีส 3 ปี โดยประเทศต่างๆ จะประชุมกันอีกในปีหน้า เพื่อเสนอแผนที่มีเป้าหมายควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม จากปัจจุบันที่่หากเป็นไปตามแผนที่รับปากกันไว้ จะสามารถควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิโลกไว้ที่ระดับ 2.4 องศาเท่านั้น

ประเทศกำลังพัฒนาต้องการให้ประเทศร่ำรวย ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตส่งผลอย่างมากต่อภาวะโลกร้อนในขณะนี้ ช่วยเหลือด้านการเงิน ทั้งเพื่อการเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเพื่อการปรับตัวเข้ากับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น แต่หลังจากประเทศร่ำรวย นำโดยสหรัฐและสหภาพยุโรปคัดค้าน ข้อตกลงกลาสโกว์ละเว้นการกล่าวถึงแหล่งเงินทุนแบบเฉพาะเจาะจง เพียงแต่ให้คำมั่นว่าจะมีการเจรจาเรื่องนี้ในอนาคต

ประเทศร่ำรวยเคยให้คำมั่นไว้เมื่อปี 2552 ว่าจะมอบเงินช่วยเหลือแก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2563 แต่กลับทำไม่ได้ตามที่รับปากไว้ แต่ชาร์มากล่าวว่า ตามข้อตกลงกลาสโกว์ ประเทศร่ำรวยรับปากว่าจะระดมเงินให้ได้ราว 500,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2568.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไฟเขียวเปลี่ยนชื่อ 'กรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม' เป็น 'กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม'

'ประวิตร' ไฟเขียวเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งวแดล้อมรับมือสถานการณ์โลก

'ค็อป26' : ผู้นำกว่า 100 ประเทศลั่นหยุดการทำลายป่าภายในปี 73

ผู้นำมากกว่า 100 ประเทศร่วมกันให้คำมั่นระหว่างการประชุมโลกร้อน "ค็อป 26" ที่สกอตแลนด์วันอังคารว่าจะหยุดการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2573

ประชุม 'ค็อป26' เลขาธิการยูเอ็นวอนผู้นำโลก 'ช่วยมนุษยชาติ'

อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ร่วมการประชุมโลกร้อน "ค็อป 26" เมื่อวันจันทร์ ว่าต้องรีบดำเนินการเพื่อ "ช่วยมนุษยชาติ" พร้อมเตือนว่าตอนนี้ "เรากำลังขุดหลุมฝังศพเราเองอยู่"