ผู้ประท้วงบุกเวทีอนุสรณ์สถานสังหารหมู่ในไต้หวัน

ผู้ประท้วงหลายสิบคนบุกเวทีที่นายกเทศมนตรีคนใหม่ของกรุงไทเปกำลังปราศรัย พร้อมตะโกนด่าว่าเป็นฆาตกร และเรียกร้องให้ขอโทษต่อเหตุการณ์นองเลือดระหว่างการสังหารหมู่ในไต้หวันเมื่อปี 2490

รูปจำลองของเจียงไคเช็ก อดีตผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง ถูกวางไว้บนพื้นในระหว่างการเดินขบวนเพื่อฉลองครบรอบ 76 ปีของเหตุการณ์ 'วันสังหารหมู่ 228' ในกรุงไทเปของไต้หวัน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ (Photo by Sam Yeh / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 กล่าวว่า เกิดความวุ่นวายในพิธีรำลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการสังหารหมู่ในไต้หวันเมื่อ 76 ปีก่อน โดยผู้ประท้วงหลายสิบรายตะโกนขับไล่และพยายามบุกเข้าหาเจียงว่านอัน นายกเทศมนตรีกรุงไทเป ซึ่งเป็นประธานในพิธีดังกล่าว

ลูกหลานของเหยื่อและกลุ่มผู้ประท้วงต่างโกรธเคืองที่นายกเทศมนตรีเจียงว่านอัน แสดงตัวเป็นเจ้าภาพจัดพิธีรำลึกฯ เนื่องจากประธานาธิบดีเจียงไคเช็ก ซึ่งเป็นปู่ทวดของเขา เป็นผู้ทำการปราบปรามประชาชนอย่างโหดร้ายเมื่อปี 2490

ผู้ประท้วงถือป้ายสีขาวที่มีคำว่า "คุกเข่าและขอโทษ" พุ่งเข้าหาเจียงว่านอัน จากทางด้านหลัง แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพุ่งเข้ามาคว้าผู้ประท้วงไว้ได้และนำออกจากเวทีจัดงาน

การปราบปรามที่รู้จักกันในชื่อ "วันสังหารหมู่ 228" คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 28,000 ราย โดยต้นเหตุเริ่มขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการค้าคนหนึ่งทุบตีผู้หญิงที่ขายบุหรี่เถื่อนในกรุงไทเปถึงแก่ชีวิต จนลุกลามกลายเป็นจลาจลทั่วทั้งเกาะในวันที่ 28 กุมภาพันธ์

เพื่อระงับการประท้วงที่บานปลายในปี 2490 เจียงไคเช็กผู้นำชาตินิยมจีนจากพรรคก๊กมินตั๋ง (เคเอ็มที) ซึ่งปกครองเกาะแห่งนี้ในฐานะส่วนหนึ่งของจีนในขณะนั้น ได้เรียกกองกำลังจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาปราบปรามประชาชน และท้ายที่สุดมีผู้เสียชีวิตไปกว่า 28,000 ราย

มรดกของการสังหารหมู่ยังคงดำรงอยู่ในไต้หวันหลังจากนั้น โดยพรรคก๊กมินตั๋งได้สานต่อการปกครองแบบรัฐเผด็จการพรรคเดียว จนกระทั่งมีการยกเลิกกฎอัยการศึกในปี 2530

ในปี 2538 ลีเต็งฮุย ประธานาธิบดีของไต้หวันในเวลานั้น ได้กล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการต่อเหตุการณ์วันสังหารหมู่ 228 จนกระทั่งมีการสร้างพิพิธภัณฑ์และสวนสาธารณะรำลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ อยู่ในบริเวณไม่ห่างจากอาคารสำนักงานประธานาธิบดีในปัจจุบัน

เจียงว่านอันออกมาแสดงความเห็นต่อการประท้วงในพิธีดังกล่าวว่า "ความเจ็บปวดในประวัติศาสตร์จะยังคงอยู่ตลอดไป แต่ผมจะทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเผชิญหน้ากันได้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น, โอบกอดกัน และจดจำเหตุการณ์ 228 ร่วมกัน"

ในวันเดียวกัน หม่า อิงจิ่ว อดีตประธานาธิบดีไต้หวัน ก็ได้แถลงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปรองดองกัน และทิ้งท้ายด้วยประโยคว่า "ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์อาจได้รับการให้อภัย แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไม่สามารถลืมได้".

เพิ่มเพื่อน