มาครงและเมโลนีพบกันที่โรมท่ามกลางความตึงเครียดเรื่องผู้อพยพ

นายกรัฐมนตรีอิตาลีจัดการเจรจากับประธานาธิบดีฝรั่งเศสในกรุงโรมเมื่อวันอังคาร ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศในเรื่องการย้ายถิ่นฐานของผู้อพยพ

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส (ซ้าย) จับมือกับนายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนี ของอิตาลี ก่อนการประชุมพิเศษในกรุงโรม เมื่อวันที่ 26 กันยายน (Photo by Filippo MONTEFORTE / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 26 กันยายน 2566 กล่าวว่า ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เดินทางเยือนอิตาลี เพื่อร่วมพิธีศพของอดีตประธานาธิบดี จอร์โจ นาโปลิตาโน ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชราในวัย 98 ปี

ในโอกาสที่ผู้นำฝรั่งเศสอยู่ในกรุงโรม นายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนี ของอิตาลี ซึ่งเข้าร่วมพิธีดังกล่าวด้วยเช่นกัน ได้จัดการเจรจากับมาครง ในประเด็นตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศในเรื่องการย้ายถิ่นฐานของผู้อพยพ

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของบรรดาผู้อพยพไปยังเกาะลัมเปดูซาของอิตาลีเมื่อต้นเดือนนี้ ก่อให้เกิดการถกเถียงรุนแรงทั่วสหภาพยุโรปว่าประเทศใดจะเป็นผู้รับผิดชอบการลี้ภัยให้กับกลุ่มคนเหล่านั้น

มีวาทกรรมที่ร้อนแรงเป็นพิเศษในฝรั่งเศส ซึ่งบรรดาพรรคการเมืองในรัฐสภากำลังถกเถียงกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดเรื่องร่างกฎหมายควบคุมผู้ลี้ภัยและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

มาครงกล่าวในการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ฝรั่งเศสจะไม่ทอดทิ้งอิตาลีให้รับมือปัญหาอพยพเพียงลำพัง ซึ่งเป็นข้อความที่เมโลนีตอบรับด้วยความยินดียิ่ง

ทั้งนี้ ผู้นำทั้งสองพบกันครั้งล่าสุดที่ปารีสในเดือนมิถุนายน และทั้งคู่มีกำหนดพบกันที่การประชุมสุดยอดผู้นำเมดิเตอร์เรเนียนในมอลตาวันศุกร์นี้ด้วย

เมโลนียังได้ปะทะเรื่องการย้ายถิ่นฐานกับเยอรมนี ซึ่งประธานาธิบดี แฟรงค์-วอลเตอร์ ชไตน์ไมเออร์ ก็เป็นหนึ่งในแขกที่มาร่วมพิธีศพของนาโปลิตาโน

นายกรัฐมนตรีอิตาลีส่งข้อความอย่างเป็นทางการถึงนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนีเมื่อสุดสัปดาห์ เพื่อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้ทุนสนับสนุนโครงการการกุศลของรัฐบาลเบอร์ลินที่มุ่งช่วยเหลือผู้อพยพทั้งทางทะเลและทางบกในอิตาลี

รัฐบาลโรมกล่าวโทษเรือของเอ็นจีโอที่ปฏิบัติภารกิจกู้ภัยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตอนกลาง ที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้อพยพเดินทางจากแอฟริกาเหนือมาถึงอิตาลีได้อย่างปลอดภัย

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเรือของเอ็นจีโอไม่ได้เป็นปัจจัยหลักให้ผู้อพยพเดินทางได้สะดวก แต่เป็นเรื่องของปัจจัยด้านสภาพอากาศและการช่วยเหลือของหน่วยยามฝั่งอิตาลี

ด้วยประเด็นด้านมนุษยธรรม ทำให้อิตาลีจำเป็นต้องเปิดรับบรรดาผู้อพยพ และกลายเป็นปัญหาด้านกฏหมายและสังคม โดยไม่มีชาติอื่นๆในสหภาพยุโรปยื่นมือช่วยเหลือแบ่งรับการลี้ภัยถาวรของผู้อพยพดังกล่าว จนเป็นประเด็นเดือดระหว่างประเทศสมาชิกอียูในขณะนี้.

เพิ่มเพื่อน