WHO ชี้โอมิครอนไม่รุนแรงเท่าเดลตา แต่ยังอันตรายถ้าไม่ฉีดวัคซีน

องค์การอนามัยโลกเตือน แม้ไวรัสโควิดโอมิครอนที่แพร่เชื้อง่ายมากจะไม่รุนแรงเท่าเดลตา แต่ยังอันตรายกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ขณะสหรัฐเผยผลศึกษาติดเชื้อโอมิครอนมีอัตรานอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตน้อยกว่าเดลตามาก

แฟ้มภาพ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการอนามัยโลก แถลงที่เจนีวาเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 (Photo by Fabrice COFFRINI / AFP)

เอเอฟพีรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2565 ว่าองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลกเพราะสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตาที่เคยเป็นสายพันธุ์หลัก โดยรายงานด้านการระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารระบุว่า ดับเบิลยูเอชโอได้รับรายงานยืนยันผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 15 ล้านคนในรอบสัปดาห์ถึงวันที่ 9 มกราคม เพิ่ม 55% จากสัปดาห์ก่อนหน้านั้น และเป็นสถิติรายสัปดาห์สูงที่สุด แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายล้านคนที่ไม่ได้รับการบันทึกไว้

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันพุธว่า ถึงแม้ว่าโอมิครอนจะก่อโรครุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่ก็ยังถือเป็นไวรัสอันตราย โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และเราต้องไม่ปล่อยให้ไวรัสแพร่อย่างเสรีหรือยกธงขาว โดยเฉพาะเมื่อคนจำนวนมากทั่วโลกยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่รักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

เขาเตือนว่า ถึงแม้ว่าวัคซีนยังมีประสิทธิภาพมากในการป้องกันการตายหรือการป่วยโควิดรุนแรง แต่วัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างเต็มที่

"การติดเชื้อมากขึ้นหมายความถึงการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น, การตายมากขึ้น คนไม่ได้ทำงานมากขึ้น รวมถึงครูและผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ และมีความเสี่ยงมากขึ้นของการเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่เชื้อได้ง่ายขึ้นและอันตรายกว่าโอมิครอน" ทีโดรสกล่าว

ขณะนี้ทั่วโลกมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิดในระดับคงที่ประมาณสัปดาห์ละ 50,000 คน แต่ทีโดรสย้ำว่า การเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัสไม่ได้หมายความว่าเราสามารถ หรือเราควรยอมรับให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนดังกล่าว

เขาเคยตั้งเป้าหมายว่า ทุกประเทศจะฉีดวัคซีนให้ร้อยละ 10 ของประชากรภายในเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา, ร้อยละ 40 ของประชากรภายในสิ้นเดือนธันวาคม และร้อยละ 70 ภายในกลางปี 2565 แต่ปัจจุบัน 90 ประเทศยังไม่บรรลุเป้าหมายร้อยละ 40 ของประชากร และ 36 ประเทศในจำนวนนี้ยังฉีดวัคซีนได้ไม่ถึงร้อยละ 10

"ในแอฟริกา ผู้คนมากกว่า 85% ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่โดสเดียว เราไม่สามารถยุติการระบาดระยะฉับพลันนี้ได้ถ้าเราไม่ปิดช่องว่างนี้" ทีโดรสกล่าว

ดับเบิลยูเอชโอกล่าวด้วยว่า ถึงวันที่ 9 มกราคม มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้วใน 149 ประเทศ

บางคนมีความหวังว่า ความสามารถในการแพร่เชื้อมากขึ้นจะทำให้โอมิครอนแทนที่สายพันธุ์อื่นๆ ที่มีความรุนแรงกว่า และเปลี่ยนโควิด-19 จากโรคระบาดทั่ว ไปเป็นโรคประจำถิ่นที่จัดการได้ง่ายขึ้น แต่ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาประกาศว่า นี่เป็นไวรัสที่น่ายินดี

วันเดียวกัน มีผลการศึกษาเบื้องต้นจากสหรัฐที่เปรียบเทียบระหว่างการติดเชื้อโอมิครอนกับเดลตา โดยรวบรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อไวรัส 2 สายพันธุ์นี้เกือบ 70,000 คน จากระบบของโรงพยาบาลไคเซอร์เพอร์มาเนนเตที่เซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. 2564 ถึง 1 ม.ค. 2565 พบว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนแค่ราวครึ่งเดียวที่มีแนวโน้มที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับเดลตา โดยโอกาสเข้าไอซียูน้อยกว่าประมาณ 75% และโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าราว 90%

การศึกษาร่วมกันโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย์, ไคเซอร์เพอร์มาเนนเต และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งสหรัฐ (ซีดีซี) เผยด้วยว่า ราว 52,000 คนที่ติดเชื้อโอมิครอน ไม่มีใครต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะที่ผู้ติดเชื้อเดลตา 11 คนจากเกือบ 17,000 คน ต้องใช้

นอกจากนี้ การรักษาในโรงพยาบาลสำหรับโอมิครอนมีค่ามัธยฐาน 1.5 วัน แต่เดลตาอยู่ที่ 5 วัน และ 90% ของผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอนออกจากโรงพยาบาลภายใน 3 วันหรือน้อยกว่า

โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการซีดีซี กล่าวเตือนว่า ผลศึกษานี้ไม่ควรก่อให้เกิดความพึงพอใจ เพราะการแพร่เชื้อได้ง่ายอย่างยิ่งของโอมิครอนกำลังเพิ่มความตึงเครียดต่อระบบการรักษาสุขภาพที่ตึงเครียดอยู่แล้ว และผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขที่อ่อนล้า

ขณะนี้สหรัฐมีอัตราเฉลี่ยผู้ติดเชื้อใหม่วันละ 750,000 คน แต่คาดว่าตัวเลขเฉลี่ยนี้จะเกินวันละ 1 ล้านคนในไม่ช้า โดยมีผู้ป่วยโควิดราว 150,000 คนรักษาในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละมากกว่า 1,600 คน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' แจง 5 ข้อ พูดเรื่องผลกระทบการวัคซีนโควิดทำไม ในเมื่อมันผ่านไปแล้ว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

‘หมอมนูญ’ เตือนโควิดหลังสงกรานต์เปลี่ยนไป ใครมีอาการแบบนี้รีบตรวจ ATK

อาการของโรคโควิดเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เป็นอาการของทางเดินหายใจส่วนบน คอ จมูก มากกว่าทางเดินหายใจส่วนล่าง หลอดลม และปอด

‘หมอมนูญ’ เผยผลติดตามสถานการณ์ 5 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่  ไรโนไวรัส (Rhinovirus) อาร์เอสวี (RSV) และ ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส Human metapneumovirus (hMPV)

หมอกควันไฟป่าฝุ่น pm2.5 ภาคเหนือพุ่งปรี๊ด! เชียงใหม่ ครองที่ 1 โลกต่อเนื่อง

ปํญหาหมอกควันไฟป่าฝุ่น pm2.5 ภาคเหนือยังพุ่งสูงเป็นสถิติทุกวัน เชียงใหม่ AQI ครองที่ 1 โลกต่อเนื่อง PM2.5 เกินมาตรฐานทุกจุด