นักเคลื่อนไหวชาวเบลารุส เผยมีการทรมานขณะถูกควบคุมตัว

อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก ประธานาธิบดีเบลารุสและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ระหว่างพบปะกับสื่อหลังการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเมืองหลวงมินสค์ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา – Photo by Natalia Kolesnikova / AFP

ปาลีนา ชาเรนดา-ปานัสยุก นักเคลื่อนไหวชาวเบลารุสที่หลบหนีไปยังลิทัวเนีย กล่าวว่า เธอถูกทรมานขณะถูกคุมขังในบ้านเกิด เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่เมืองหลวงวิลนีอุสเมื่อวันจันทร์ว่าเธอต้องประสบกับ “ความหวาดกลัวทางจิตอย่างต่อเนื่อง”

นักเคลื่อนไหวหญิงวัย 49 ปีผู้นี้ถูกตัดสินจำคุกสี่ปีหนึ่งเดือนจากการเข้าร่วมการประท้วงครั้งใหญ่ต่อต้าน อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก ผู้นำเบลารุสในปี 2020 เธอรายงานว่าต่อมาเธอสามารถหลบหนีไปยังลิทัวเนีย ซึ่งสามีและลูกชายสองคนของเธอใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนับตั้งแต่เธอถูกจำคุก

เป็นเวลากว่า 270 วันที่เธอถูกควบคุมตัว ชาเรนดา-ปานัสยุกกล่าวว่าเธอถูกขังเดี่ยวหรือห้องขังพิเศษ ห้องขังของเธอเป็น “ห้องเปลือย” มีหน้าต่างถูกปิดตาย และมีที่นอนเป็นเปล “ห้องน้ำเปิดโล่ง ไฟเปิดตลอด 24 ชั่วโมง และภายในห้องหนาวมาก” หญิงชาวเบลารุสกล่าว

อีกทั้งเธอยังต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชด้วย “ธรรมเนียมการบำบัดจิตเวชทางอาญายังคงมีอยู่” ชาเรนดา-ปานัสยุกบอก เธอเห็นรายงานทางการแพทย์ของตนเองมีข้อความระบุว่า “เธอบอกว่าเธอเป็นนักโทษการเมือง ผลการวินัยฉัย: มีอาการของโรคบุคลิกภาพหวาดระแวง”

มีรายงานว่าในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา นักโทษการเมืองที่ได้รับการอภัยโทษในเบลารุสถูกบังคับให้ทำงานร่วมกับเคจีบี ซึ่งเป็นหน่วยสืบราชการลับของเบลารุส นอกจากนี้นักโทษยังถูก “ทรมาน” จนถึงขั้นต้องร้องขอความเมตตา บางครั้งมีการบันทึกภาพวิดีโอด้วย

วิธีการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายและทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงแก่นักโทษอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่หมกมุ่นเรื่องการเมืองอีก ชาเรนดา-ปานัสยุกเล่า “จากนั้นพวกเขาก็ถูกบังคับให้ลงนามในเอกสารยินยอมร่วมมือกับหน่วยเคจีบี”

นักเคลื่อนไหวผู้นี้รายงานว่าเธอได้ขอความเมตตาจากลูกาเชงโกโดยตรง และยังลงนามในเอกสารดังกล่าวด้วย แต่เธอไม่ได้บอกเล่ารายละเอียดว่าเธอสามารถหลบหนีออกจากเบลารุสได้อย่างไร ทั้งที่เธอเป็นเป้าหมายในการเฝ้าจับตาของเจ้าหน้าที่รัฐ และจริงๆ แล้วเธอไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ

ปาลีนา ชาเรนดา-ปานัสยุกเป็นหนึ่งในนักโทษการเมือง 3,700 คนที่ถูกจำคุกในเบลารุสในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชน Viasna

เมื่อปลายเดือนมกราคม ลูกาเชงโกได้รับการรับรองเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 7 ของเบลารุสด้วยคะแนนเสียงที่ยังเป็นข้อกังขามากมาย แต่ไม่มีการคัดค้านอย่างจริงจังจากฝ่ายตรงข้าม ก่อนหน้านี้นักโทษการเมืองกว่า 200 คนได้รับการอภัยโทษ มากไปกว่านั้นพวกเขาจะได้รับโอกาสในการ “เป็นสมาชิกที่ปฏิบัติตามกฎหมายของสังคม” ตามที่สำนักงานของลูกาเชงโกกล่าว

จากข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันยังมีนักโทษการเมืองมากกว่า 1,200 คนในเบลารุส หลายคนถูกจับกุมระหว่างการประท้วงต่อต้านการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งหลังสุดในปี 2020

อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโกซึ่งปกครองในลักษณะเผด็จการมาตั้งแต่ปี 1994 ได้ขยายอำนาจของเขาในแต่ละวาระที่ดำรงตำแหน่ง และตามที่ผู้สังเกตการณ์และองค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่า เขาชนะการเลือกตั้งอย่างไม่โปร่งใส.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งป้อมชน 'ระบอบทักษิณใหม่' ประเดิม 18 ธ.ค. บุก ป.ป.ช. หึ่งล็อบบี้หนักล้มคดีชั้น 14

วงหารือฝ่ายต้านรัฐบาล ตั้งป้อมชน 'ระบอบทักษิณใหม่' นำร่อง 18 ธ.ค. บุกตึก ป.ป.ช. หลังได้กลิ่นล็อบบี้หนัก 3 กรรมการฯ ล้มคดีชั้น 14

'นีลา อิบราฮิมิ' นักเคลื่อนไหวชาวอัฟกานิสถานได้รับรางวัล Children‘s Peace Prize

นีลา อิบราฮิมิ นักเคลื่อนไหวชาวอัฟกานิสถานวัย 17 ปี ซึ่งเป็นที่รู้จักจากผลงานของเธอในการต่อต้านการกดขี่สตรีโดย

ฮังการี ป่วนสหภาพยุโรปอีกครั้ง ด้วยกฎระเบียบใหม่สำหรับชาวรัสเซียและเบลารุส

ชาวรัสเซียหรือเบลารุสที่ลงทะเบียนเป็น “แรงงานรับเชิญ” ในฮังการี สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศได้โดยไม่ต้องมีก