จีนต้อนรับผู้นำละตินอเมริกา โจมตีนโยบายกลั่นแกล้งของสหรัฐ

จีนกล่าวโจมตีสหรัฐฯว่าใช้นโยบายการค้ากลั่นแกล้งชาติอื่น พร้อมประกาศตนเป็นผู้ปกป้องระเบียบพหุภาคี ในความพยายามกระชับสัมพันธ์กับผู้นำละตินอเมริกาและแคริบเบียนในการประชุมสุดยอดที่ปักกิ่ง

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (กลาง), ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล (แถวหน้า ที่ 3 จากขวา), ประธานาธิบดีกาเบรียล บอริก ของชิลี (แถวหน้า ที่ 2 จากซ้าย), ประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร ของโคลอมเบีย (แถวหน้า ที่ 3 จากซ้าย) และตัวแทน CELAC อื่นๆ เข้าร่วมถ่ายภาพหมู่ก่อนพิธีเปิดการประชุมครั้งที่ 4 ของฟอรัมจีน, ประชาคมละตินอเมริกา และแคริบเบียน (China-CELAC) ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม (Photo by FLORENCE LO / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 14 พฤษภาคม 2568 กล่าวว่า จีนให้การต้อนรับบรรดาผู้นำละตินอเมริกาและแคริบเบียนในการประชุมสุดยอดที่กรุงปักกิ่ง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางด้านการค้าการลงทุน ตลอดจนการรวมกลุ่มอำนาจต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนกล่าวในฟอรัม 'China-CELAC' โดยสัญญาว่าจะให้สินเชื่อหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อการพัฒนาและความร่วมมือที่เพิ่มขึ้น และกล่าวถึงสหรัฐอเมริกาแบบอ้อมๆว่า "การกระทำใดที่มุ่งกลั่นแกล้งและครอบงำ มีแต่จะนำไปสู่การแยกตัวมากขึ้นเท่านั้น"

ละตินอเมริกาได้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญในการเผชิญหน้าระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กับรัฐบาลจีน และภูมิภาคนี้กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากรัฐบาลวอชิงตันให้เลือกข้างอย่างจริงจัง

สองในสามของประเทศในกลุ่มนี้ได้ลงนามในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของรัฐบาลปักกิ่ง และจีนได้แซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของบราซิล, เปรู, ชิลี และประเทศอื่นๆ

หนึ่งวันหลังจากที่รัฐบาลวอชิงตันและปักกิ่งลดระดับสงครามการค้าที่กำลังดำเนินอยู่ ผู้นำจีนกล่าวว่ารัฐบาลปักกิ่งจะเป็นผู้ปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพของกระแสโลก

สีจิ้นผิงกล่าวว่า "ไม่มีผู้ชนะในสงครามภาษีศุลกากรหรือสงครามการค้า"

"ประเทศต่างๆ จะสามารถปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพระดับโลก ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองทั่วโลกได้ก็ด้วยความสามัคคีและความร่วมมือเท่านั้น" ผู้นำจีนกล่าว

ผู้นำจีนให้คำมั่นว่าจะปล่อยเงินกู้ 9,200 ล้านดอลลาร์เพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มชุดใหญ่ที่มุ่งกระชับความร่วมมือ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสะอาด

สีจิ้นผิงกล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งจะให้ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายและการปราบปรามกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ ตลอดจนเพิ่มการแลกเปลี่ยน เช่น ทุนการศึกษาและโครงการฝึกอบรม

ภายใต้ข้อตกลงที่ประกาศในเจนีวาเมื่อวันจันทร์ สหรัฐฯยอมลดภาษีสินค้าจากจีนลงเหลือ 30% ในขณะที่จีนจะลดภาษีสินค้าสหรัฐลงเหลือ 10%

ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นการลดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ซึ่งก่อให้เกิดความวุ่นวายในตลาดโลก

แต่ความตึงเครียดยังคงอยู่ โดยยังคงมีการเรียกเก็บภาษี 20% จากข้อร้องเรียนของทรัมป์เกี่ยวกับการส่งออกสารเคมีของจีนที่ใช้ในการผลิตเฟนทานิล ซึ่งเป็นยาที่ทำให้ชาวอเมริกันเสียชีวิตหลายพันคน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศจีนเรียกร้องให้สหรัฐหยุดใส่ร้ายและโยนความผิดดังกล่าวให้จีน

นอกจากประธานาธิบดีแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสีจิ้นผิงยังได้ชี้แจงอย่างชัดเจนถึงความไม่พอใจของรัฐบาลปักกิ่งที่มีต่อรัฐบาลวอชิงตันเช่นกัน โดยไม่ระบุชื่อสหรัฐอเมริกาตรงๆ

หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้ประณาม "ประเทศมหาอำนาจแห่งหนึ่งที่เอาแต่หมกมุ่นอยู่กับแนวคิดว่าการมีอำนาจจะบันดาลให้ทุกสิ่งถูกต้อง"

เขาเรียกร้องให้ประเทศละตินอเมริกาจับมือกับจีนเพื่อปกป้องสิทธิของตนจากประเทศที่ใช้ภาษีศุลกากรเป็นอาวุธในการรังแกประเทศอื่น

หวังอี้กล่าวในงานแถลงข่าวภายหลังว่า การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ และเสริมว่า "ตลาดขนาดใหญ่ยักษ์ที่มีประชากร 2 พันล้านคนรวมกันระหว่างจีนและละตินอเมริกาจะเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่สำหรับการเติบโตสำหรับทั้งสองฝ่าย"

หนึ่งในผู้เข้าร่วมการประชุมที่โดดเด่น ได้แก่ ประธานาธิบดีลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล ซึ่งเดินทางมาถึงกรุงปักกิ่งเมื่อวันเสาร์เพื่อเยือนอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 5 วัน

ผู้นำบราซิลกล่าวในการแถลงข่าวว่า ภูมิภาคของเขาไม่ต้องการซ้ำรอยประวัติศาสตร์หรือเริ่มต้นสงครามเย็นครั้งใหม่

"เป้าหมายของเราคือการเป็นทรัพย์สินที่มีค่าสำหรับระเบียบพหุภาคีเพื่อประโยชน์ของโลก และต้องได้รับการเป็นตัวแทนอย่างเหมาะสม" เขากล่าวอธิบาย

ทั้งจีนและบราซิลแถลงว่าทั้งสองประเทศควรเสริมสร้างความร่วมมือ และร่วมกันต่อต้านลัทธิเอกภาพ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทั้งสองประเทศออกแถลงการณ์ร่วมกันโดยระบุว่าพวกเขายินดีกับข้อเสนอของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียในการเริ่มการเจรจาสันติภาพกับยูเครน และเชื่อว่าการเจรจาโดยตรงเป็นหนทางเดียวที่จะยุติความขัดแย้ง

ประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร ของโคลอมเบียเข้าร่วมการประชุมด้วย โดยเรียกร้องให้มีการเจรจาอย่างมีอารยธรรมและคำนึงถึงผลประโยชน์ของภูมิภาค

เปโตรกล่าวว่าเขาตั้งใจที่จะลงนามในข้อตกลงเพื่อเข้าร่วมโครงการ BRI มูลค่าล้านล้านดอลลาร์ของรัฐบาลปักกิ่งในระหว่างการเยือนครั้งนี้ เช่นเดียวกับประธานาธิบดีกาเบรียล บอริก ของชิลีที่กล่าวในการประชุมครั้งนี้ว่าประเทศของเขาหวังจะก้าวกระโดดในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน.

เพิ่มเพื่อน