22 พ.ค. แพ้-ชนะ เลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. - ชิง 50 เก้าอี้ ส.ก. ผลต่อเนื่อง การเมืองระดับชาติ

คาดหมายกันว่า ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก) ที่จะลงคะแนนเสียงกันวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.นี้ จะรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการในช่วงหัวค่ำวันที่ 22 พ.ค. หลังมีการหาเสียงขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นตลอดช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์การเมือง จากสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ก่อนหน้านี้ก็ทำโพลสำรวจการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้วิเคราะห์ภาพรวมการเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ รวมถึงประเมินสถานการณ์การเมืองที่จะตามมาต่อจากนี้ หลังผลการเลือกตั้งออกมาโดยเฉพาะการเชื่อมผลการเลือกตั้งสนาม กทม.กับการเมืองในภาพใหญ่

ลำดับแรก ดร.สติธร มองการแข่งขันศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. 50 เก้าอี้ ที่จบลงในวันที่ 22 พ.ค.นี้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้พบว่าคน กทม.ตื่นตัว ให้ความสนใจผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ความเคลื่อนไหวที่ออกมาตลอดผ่านการเสนอข่าวของสื่อ รวมถึงไปดีเบตกันตามเวทีต่างๆ โดยมีแคนดิเดตที่ถูกคาดหมายร่วมเจ็ดคน ซึ่งแต่ละคนโดดเด่นกันไปคนละแบบ ประเมินว่าคน กทม.จะออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ คงไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามาระดับ 65 เปอร์เซ็นต์ ก็คือประมาณ 2 ล้าน 8 แสนคน ก็ถือว่าโอเค และต้องลุ้นดูว่าจะมาถึง 3 ล้านคนหรือไม่ เพราะอย่างตอนเลือกตั้งใหญ่ ส.ส.ปี 2562 คนก็ออกมาใช้สิทธิ์กันประมาณเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์เศษๆ แต่ตอนเลือกตั้ง ส.ส.มีเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกเขต แต่เลือกตั้ง กทม.ไม่มี ก็จะทำให้ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งหายไปจำนวนหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2562 ประมาณ 5-8 เปอร์เซ็นต์

สำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง กลุ่ม First Time Voters ในการเลือกตั้ง กทม.รอบนี้ ที่จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในการออกเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งหากนับจากที่ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เลยนับแต่ปี 2556 มาถึงปัจจุบันปี 2565 รวมแล้วประมาณเจ็ดแสนกว่าคน ก็คิดเป็นประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ แต่หากไปตัดผู้มีสิทธิ์ออกเสียง First Time Voters กลุ่มนี้ที่เคยออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.ตอนปี 2562 ก็เท่ากับนับจากปี 2563-2565 ก็จะอยู่ที่ประมาณไม่เกินสามแสนคน ซึ่งกลุ่มนี้หากว่าเขามีพรรคในดวงใจ ก็ถือว่าเขาเลือกข้างแล้ว

สำหรับผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะออกมา จนถึงช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการหาเสียง คิดว่า ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังเต็งหนึ่งอยู่ ส่วนโอกาสจะพลิกไม่ใช่ ดร.ชัชชาติก็ยังมีอยู่ แต่ว่าไม่ง่ายเหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก่อนหน้านี้ เพราะปัจจัยในการเลือกตั้งรอบนี้แตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นกรณี ดร.ชัชชาติ ถูกวิโรจน์ จากพรรคก้าวไกล ตัดคะแนนไปที่ดูแล้วน่าจะโดนตัดคะแนนเยอะ เช่นฝั่งนี้ดังกล่าว ผมประเมินว่าน่าจะมีฐานคะแนนอยู่ที่ประมาณ 1,200,000-1,400,000 คะแนน แล้วเกิดตัดคะแนนกันเอง จน ดร.ชัชชาติเหลือ 700,000 กว่าคะแนน แล้ววิโรจน์ได้มา 600,000 กว่าคะแนน จนคะแนนก้ำกึ่งกัน แล้วอีกฝ่ายเช่นมีการรวมคะแนนกันไปที่คนใดคนหนึ่ง จนมีผู้สมัครบางคนคะแนนวิ่งไปได้ถึง 800,000-900,000 คะแนน หรือเกิดกรณีฝ่ายนี้ก็ตัดคะแนนกันเหมือนกัน แต่ตัดแล้วฝ่ายที่ได้คะแนนสูงสุดได้คะแนนมากกว่าฝ่าย ดร.ชัชชาติ ถ้าออกมาแบบนี้ฝ่ายแรก คงเจ็บใจที่มาตัดคะแนนกันเอง โดยสมมุติว่าหาก ดร.ชัชชาติ คะแนนโดนดึงไปที่วิโรจน์เยอะกว่าที่มีการประเมินกัน

เพราะวันนี้มันประเมินยาก ว่าวิโรจน์จากพรรคก้าวไกล จะได้คะแนนเท่าใด ทำโพลก็ไม่เจอ คือเวลาทำโพลคะแนนของวิโรจน์กับก้าวไกลจะได้น้อยกว่าปกติกว่าตอนไปหย่อนบัตร เพราะคนเวลาไปทำโพลจะไปตามหาฐานเสียงของวิโรจน์กับก้าวไกลไม่เจอ เพราะด้วยวิธีการทำโพล เวลาเราส่งพนักงานเก็บข้อมูลไปลงพื้นที่ ไปตามซอยและบ้านต่างๆ เพื่อไปสอบถาม ก็พบว่าคนกลุ่มที่มีแนวโน้มจะเลือกพรรคก้าวไกลจะไม่อยู่บ้าน เราก็จะเจอคนที่อยู่ในชุมชน คนที่อยู่ติดบ้าน ที่อาจเป็นฐานคะแนนของบางฝ่าย หรือคนที่ทำมาหากินในช่วงกลางวันอาจเป็นคนมีอายุ ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะเป็นฐานเสียงหรือคนที่จะเลือก ดร.ชัชชาติ หรือ ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากประชาธิปัตย์ จึงไม่แปลกที่เหตุใดดร.เอ้ ในบางโพลมาอันดับสอง เพราะคนไปเก็บข้อมูลเขาจะเจอกลุ่มคนที่ตอบโพลแบบที่บอกข้างต้น แต่คนที่อยู่แบบบ้านล้อมรั้ว คนที่ออกไปทำงาน พนักงานออฟฟิศ จะไม่เจอ ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะเลือกก้าวไกลหรือวิโรจน์

...โดยจะพบว่าเวลามีการทำโพลออนไลน์ วิโรจน์จะได้คะแนนเยอะ แต่โพลออนไลน์มีปัญหาคือมักจะเอียง เช่น หากทำโดยฝ่ายที่เรียกตัวอย่างว่าฝ่ายก้าวหน้า คะแนนก็จะเทไปที่ผู้สมัครในฝ่ายนั้น มันก็เลยทำให้เวลามีโพลออนไลน์ คะแนนนิยมของวิโรจน์ก็จะออกมาเกินกว่าเหตุ แต่พอไปทำโพลปกติ ทำโพลโดยไปสำรวจภาคพื้นดิน คะแนนวิโรจน์ก็จะต่ำกว่าเหตุ มันเลยประเมินยาก พอประเมินยากแบบนี้ เลยทำให้ที่เรารู้แน่นอนว่า คะแนนของชัชชาติกับวิโรจน์จะถูกแบ่งคะแนนกันเอง แต่เราจะไม่รู้ได้ว่าการแบ่งคะแนนกันเองดังกล่าว แบ่งกันใน Level ระดับใด จะเป็น 80-20 หรือ 70-30 หรือจะ 60-40 แต่หากผมประเมินผมว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 60-40 ก็จะทำให้คะแนนของ ดร.ชัชชาติน่าจะอยู่ที่ประมาณ 800,000-900,000 คะแนน
ส่วนวิโรจน์อาจจะอยู่ที่ประมาณ 400,000-500,000 คะแนน แต่มันมีโอกาสทั้งถ่างขึ้นและแคบลง ทำให้คนที่จะชนะการเลือกตั้งจะได้คะแนนไม่ถึงหนึ่งล้านคะแนนเพราะมีการแบ่งคะแนนกันเอง แต่หากอยากจะชนะจริงๆ ก็จะต้องมีคะแนนหนึ่งล้านคะแนนมาการันตี โดยหากไม่แตะระดับล้านคะแนนก็ยังมีโอกาสพลิก

...ถึงช่วงสัปดาห์สุดท้าย ดร.ชัชชาติยังถือว่าแรงอยู่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะแรงได้แค่ไหน แต่ถ้าจะแรงให้สบายใจต้องมีล้านอยู่ในมือ ที่ยังไม่แน่ว่าจะได้ ส่วนคนที่จะได้คะแนนมาเป็นอันดับสองก็ขึ้นอยู่กับอีกขั้วหนึ่งแล้ว คือหากตัดคะแนนกันไปมาสี่คน (พล.ต.อ.อัศวิน-ดร.สุชัชวีร์-สกลธี-รสนา) อันดับสองไม่แน่อาจจะเป็นวิโรจน์จากก้าวไกลก็ยังได้ แต่หากเขาไม่ตัดกัน แล้วเกิดว่าที่ไปรณรงค์ให้โหวตเชิงยุทธศาสตร์ แล้วเกิดทำสำเร็จ มันก็มีโอกาสที่คะแนนจะไปโดดที่คนใดคนหนึ่ง ซึ่งผมประเมินว่าคนที่ได้อันดับสอง คะแนนอาจจะแตะที่ 700,000 คะแนน และอาจสูงจนถึงแตะที่ 900,000 คะแนนก็ยังได้

จึงเป็นที่มาของที่บอกว่า หาก ดร.ชัชชาติอยากได้การการันตีว่าจะชนะแน่ ต้องมีล้านคะแนนถึงจะเข้าแน่ๆ ถ้ายังมีไม่ถึงล้านคะแนน ต้องขอคะแนนต่อ วางใจไม่ได้ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งอาจได้ 700,000-900,000 คะแนน ในกรณีที่กระแสโหวตเชิงยุทธศาสตร์ที่พยายามจะทำกันเกิดทำสำเร็จ

ดร.สติธร-ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามเท่าที่เห็นจนถึงสัปดาห์สุดท้าย พบว่าการสร้างกระแสโหวตเชิงยุทธศาสตร์ยังไม่สำเร็จ ซึ่งผมมองว่าเวลาพูดถึงเรื่องโหวตเชิงยุทธศาสตร์ต้องมีคะแนนสองก้อน แต่ยุทธศาสตร์ที่กำลังสร้างกันอยู่ เขาเล่นกับความรู้สึก การตัดสินใจของคน กทม.ที่เป็นเสียงอิสระ เช่น คนที่อยู่แบบบ้านล้อมรั้ว คนที่ตัดสินใจเองโดยที่ไม่มีใครมาบังคับอะไรได้ แต่เขาต้องจับสัญญาณเอาเองว่าต้องเป็นคนนี้ แล้วเขาจะออกไปเลือกตั้ง อันนี้คือสิ่งที่ผมเห็นว่ากลุ่มคนที่พยายามรณรงค์ให้โหวตเชิงยุทธศาสตร์กำลังทำว่าจะทำยังไง ให้คนกลุ่มดังกล่าวเห็นตรงกันว่าต้องเลือกผู้สมัครคนเดียวกันให้ตรงกันหมดให้ได้ แล้วจะมีคะแนนอีกก้อนหนึ่งที่เป็นคะแนนจัดตั้ง ซึ่งกดปุ่มได้ คือพอบอกว่าให้เลือกเบอร์นี้ พรุ่งนี้ให้ไปเทเสียงให้คนนี้ กลุ่มจัดตั้งนี้ก็จะออกไปเทเสียงให้คนนั้น คะแนนของสองก้อนนี้ก็จะมาสมทบกัน ซึ่งหากมารวมกันได้ ก็จะเป็นคะแนนก้อนใหญ่ ซึ่งผมมองว่าสองกลุ่มนี้กำลังรออยู่แล้ว ส่งมาเถอะว่าจะเอาเบอร์ไหน จะเอาผู้สมัครเบอร์ 3 เบอร์ 6 หรือจะเบอร์ 7 ให้ว่ามา ขอให้ตกลงกันให้ได้ ดังนั้นเขาก็ต้องไปวัดกระแสนี้ ซึ่งมันคุมยากว่าตกลงคนจะเอาทางไหน

ผมยังแอบคิดว่า หากคนตรงนี้บอกว่าอยากเลือก ดร.สุชัชวีร์ขึ้นมา เผลอๆ คนจะกดปุ่มตามไปทางนี้ก็ได้ หากว่าเขากลัวจะแพ้อีกฝั่งมาก เพราะหากไปเช็กกระแสแล้ว เสียงอิสระบอกว่าอยากเลือก ดร.สุชัชวีร์ เบอร์สี่ ทั้งที่อาจไม่ได้อยู่ในยุทธศาสตร์สามเบอร์ ทางนี้อาจเทมาทาง ดร.สุชัชวีร์ก็ได้ แต่หลักๆ พยายามจะดันให้ไปทางไม่เบอร์ 3 ก็ 6, 7 ไว้ก่อน

สำหรับผลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่จะออกมา จนถึงช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการหาเสียง คิดว่า ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังเต็งหนึ่งอยู่ ส่วนโอกาสจะพลิกไม่ใช่ดร.ชัชชาติ หรือไม่ ก็ยังมีอยู่แต่ว่าไม่ง่ายเหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เมื่อครั้งก่อนหน้านี้ เพราะปัจจัยในการเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นกรณี ดร.ชัชชาติ ถูกวิโรจน์ ตัดคะแนนไปที่ดูแล้วน่าจะโดนตัดคะแนนเยอะ

-ผู้สมัครอีกฝั่งหนึ่ง ทั้ง พล.ต.อ.อัศวิน, สกลธี, ดร.สุชัชวีร์, รสนา ดูแล้วเป็นอย่างไร?

ผมยังไม่แน่ใจ แต่เท่าที่ผมรับกระแสมาเป็นเบอร์สาม (สกลธี) เหมือนเขาจะให้เบอร์สาม ที่ผมวิเคราะห์คือเหมือนกับว่าในบรรดาผู้สมัคร 3-4 คน คนที่ performance ทางสกลธี เขาค่อนข้างจะโดดเด่นโดยเฉพาะในเวทีหาเสียงที่ผ่านมา เวทีดีเบตก็ชัดเจนกว่าอีกสองคน มีซีนสำคัญๆ ในการที่จะไปปะทะคารมกับผู้สมัครจากอีกฝั่งหนึ่ง และไม่ได้เป็นรองเยอะ ขณะที่ผู้สมัครจากฝั่งนี้บางคนก็ไม่ได้มีวิธีการพูดที่โดดเด่น หรือต่อล้อต่อเถียงอะไรที่ชัดเจน ซึ่งสกลธีก็ไม่ใช่คนบุคลิกแบบนั้น คือไปนิ่มๆ แต่ว่ามีการเชือดเฉือน มีการโต้ตอบ และก็ยังเป็นคนหนุ่ม ส่วนประสบการณ์ก็ไม่ได้ด้อยกว่า พล.ต.อ.อัศวิน โดย พล.ต.อ.อัศวินอาจได้ใจคนรุ่นใหญ่เพราะมองว่ามีประสบการณ์ แต่สกลธีเองก็เคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.มาก่อน เคยเป็น ส.ส. ถือว่าครบเครื่อง
First Time Voters
เสียงส่วนใหญ่เลือกชัชชาติ-วิโรจน์

-กลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่ม First Time Voters ที่มีประมาณเจ็ดแสนเสียง กลุ่มนี้จะมีผลต่อการเลือกตั้งแค่ไหน สามารถทำให้มีใครได้รับชัยชนะได้หรือไม่?

ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นตัวตัดที่จะบอกว่า ดร.ชัชชาติ กับวิโรจน์ สุดท้ายแล้วคะแนนที่จะออกมาจะห่างกันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากคนกลุ่มนี้เจ็ดแสนกว่าเสียงมาทางวิโรจน์-ก้าวไกลหมด แบบคล้ายๆ กับตอนเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ที่ตอนนั้นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่อายุยังไม่มาก พบว่าหันไปเลือกอนาคตใหม่มากกว่าพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะทำให้คะแนนของ ดร.ชัชชาติที่หวังไว้กับคนรุ่นใหม่ สุดท้ายคะแนนจากกลุ่มนี้ชัชชาติจะได้น้อยลงกว่าที่หวัง ทั้งที่ตอน ดร.ชัชชาติเปิดตัวแรกๆ ที่ตอนนั้นยังไม่มีแคนดิเดตจากก้าวไกล คนกลุ่มนี้แนวโน้มจะเลือก ดร.ชัชชาติเกือบทั้งนั้น แต่ว่าพอก้าวไกลเปิดตัวมาแรกๆ พบว่า กระแสก็ยังไม่ค่อยเท่าไหร่ คนก็อาจมองว่าเปิดตัววิโรจน์มา พรรคก้าวไกลคงไม่ได้หวังอะไรมาก คนกลุ่มนี้ก็ยังน่าจะเลือก ดร.ชัชชาติอยู่

แต่ปรากฏว่าช่วงหาเสียงสองเดือนที่ผ่านมา มีเวทีอะไรต่างๆ เช่นเวทีดีเบต คนกลุ่มนี้อาจเริ่มชักลังเลแล้ว ผมว่าก็อาจเป็นไปได้ คือการชน การลุยแบบวิโรจน์ อาจทำให้คนกลุ่มนี้มองว่าวิโรจน์จะตอบโจทย์เขาได้จริงกว่า ดร.ชัชชาติ ซึ่งคนกลุ่มนี้เจ็ดแสนกว่าเสียง หากออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันสักหกสิบเปอร์เซ็นต์ ก็จะเท่ากับ 400,000 คะแนน โดยหากเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของกลุ่ม 400,000 เสียงนี้ ไปอยู่ที่วิโรจน์สัก 200,000-300,000 คะแนน ก็เท่ากับ ดร.ชัชชาติจะเหลือประมาณแค่ 1 แสนคะแนน ถ้าแบบนี้ ดร.ชัชชาติก็เหนื่อย

-เป็นไปได้หรือไม่ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ พวกนิวโหวตเตอร์จะไปเลือกผู้สมัครจากฝั่งหนึ่ง เช่น ดร.เอ้ จากประชาธิปัตย์?

ก็เป็นไปได้เช่นกัน แต่คิดว่าไม่น่าจะเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 80 เปอร์เซ็นต์จะยังเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากอีกฝั่ง คือไม่ ดร.ชัชชาติก็วิโรจน์ ซึ่งจริงๆ ดร.เอ้ ผมว่าเขาก็หวังจากกลุ่มนี้เยอะ แต่ผมว่าหากได้มาสักแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าเยอะ ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว การจะไปหวังได้มาครึ่งหนึ่งเลย น่าจะยาก

ในส่วนของพรรคก้าวไกลเองที่ส่งวิโรจน์ ผมว่าตอนแรกๆ พรรคก้าวไกลก็คงไม่คาดหวังอะไรมาก แต่พรรคก้าวไกลคงหวังที่เก้าอี้ ส.ก.มากกว่า เลยต้องส่งคนลงผู้ว่าฯ กทม.ด้วย เพราะรู้สึกว่าหากไม่ส่งคนลงผู้ว่าฯ กทม.แล้วส่งแต่ ส.ก. กระแสจะไม่ช่วยกัน ไม่พยุงกันได้ ก็เลยตัดสินใจส่งคนลงผู้ว่าฯ กทม.โดยไม่ได้คาดหวังมาก แต่พอมีกระแสตอบรับ จากการโชว์ฟอร์มของวิโรจน์ในช่วงหาเสียง ผมว่าช่วงโค้งสุดท้ายก้าวไกลก็คงแอบหวังอยู่ แต่ว่าหลักๆ ผมประเมินว่าพรรคก้าวไกลเขาหวังที่เก้าอี้ ส.ก. และเริ่มมีความหวังมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกระแสของวิโรจน์ไปช่วยเติมให้ผู้สมัคร ส.ก.ได้เยอะ

คือด้วยความเป็นก้าวไกล แม้ต่อให้วันนี้คนยังบอกว่า ผู้ว่าฯ กทม.ยังเป็น ดร.ชัชชาติอยู่ ไม่ใช่วิโรจน์ ทำให้อีกบัตรหนึ่งคือบัตรเลือก ส.ก. ก็จะไปกาเลือกผู้สมัคร ส.ก.ของก้าวไกล "เลือกชัชชาติ แต่ ส.ก.ก้าวไกล" ผมว่าเรื่องนี้เพื่อไทย เริ่มจับสัญญาณได้ เลยเป็นที่มาที่ทำให้เพื่อไทยต้องไปดัน อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ลงมาช่วยหาเสียง ส.ก.ให้พรรคเพื่อไทย เพราะว่าผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทยเกาะ ดร.ชัชชาติอย่างเดียวไม่พอ เกาะแล้วมันไม่ไป เพราะมีคนจำนวนหนึ่งที่เลือก ดร.ชัชชาติ แต่ ส.ก.จะเลือกคนของก้าวไกล ทำให้จากตอนแรกที่จะคิดว่าจะเป็นแบบ ชัชชาติ-เพื่อไทย เกาะกันไปแบบนี้ แต่พอเจอกระแส ชัชชาติ-ก้าวไกล ทำให้เพื่อไทยต้องไปเติมอุ๊งอิ๊งเข้ามาช่วยผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทย
ชิง 50 เก้าอี้ ส.ก. -ก้าวไกลมาแรง

-ภาพรวมการแข่งขันผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือ ส.ก.ดูแล้วเป็นอย่างไร?

ส.ก.พอเห็นกระแส ว่าทางก้าวไกลมีคะแนนของพรรคเกือบทุกเขต ซึ่งมีตัวเลขเฉลี่ยคล้ายกันทุกเขต ผมตีว่าเขตเลือกตั้งหนึ่งพรรคก้าวไกลจะมีแน่เขตละหนึ่งหมื่นคะแนน ที่เป็นเสียงอิสระเชียร์ก้าวไกล ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มอื่นๆ ที่ตัดคะแนนกันเอง เช่น กลุ่มรักษ์กรุงเทพ ก็จะตัดคะแนนกันเองกับผู้สมัคร ส.ก.พลังประชารัฐที่ใช้ชื่อ พลังกรุงเทพ พลังประชารัฐ หรือไทยสร้างไทยก็ตัดกับเพื่อไทย ซึ่งการตัดกันเองแบบนี้ หากตัดกันแล้วคนที่ตัดแล้วมีคะแนนมากกว่า โดยได้คะแนนไม่เกินหนึ่งหมื่นคะแนน ก็มีโอกาสจะแพ้ก้าวไกล

-ถ้าผลเลือกตั้ง ส.ก.ออกมา สมมุติว่าพรรคก้าวไกลได้เก้าอี้มากที่สุด สะท้อนอะไรทางการเมือง?

คืออย่างที่บอกโอกาสที่จะทำให้พรรคก้าวไกลชนะ ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาด คือไม่ได้แปลว่าถ้าเขาชนะ ส.ก. คนครึ่งหนึ่งของเขตนั้นเอากับเขา เพียงแต่ว่ามันตัดกันเละเทะ เขาอาจจะชนะด้วยเสียง 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ มันไม่ได้แปลว่าคนครึ่งหนึ่งคือ 50% เอาเขา เพียงแต่ว่าคนที่เอาเขามันจะมีปริมาณมากเมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่นๆ ที่กระจัดกระจายเท่านั้น ถ้ามันแข่ง 2 พรรคมันก็ชัด เพราะว่าครึ่งหนึ่งเอาฝั่งนี้ อีกครึ่งหนึ่งไม่เอา แต่รอบนี้ไม่ต้องถึงครึ่ง แค่ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 เลือกเขา แล้วที่เหลือคะแนนดันไปกระจาย

-ประเมินพรรคประชาธิปัตย์อย่างไรที่ส่งทั้งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ครบหมดทุกเขต?

เรื่องเก้าอี้ ส.ก.มีโอกาสจะได้มาต่ำ คือวันนี้เราแทบไม่ได้ยินคำว่าประชาธิปัตย์เท่าไหร่ในการเลือกตั้ง เวลาเราพูดถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เราจะพูดถึง ดร.เอ้ คือถูกไกด์ให้ไปทางนี้ ว่าคือ ดร.เอ้ ไม่ใช่เลือกประชาธิปัตย์ แต่ให้เลือกพี่เอ้
ส่วนผู้สมัคร ส.ก.ของประชาธิปัตย์ ผมสังเกตพบว่า สัญลักษณ์ที่สื่อสารผ่านป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ส.ก.ของประชาธิปัตย์ ตอนหลังก็ไม่ไปทางพรรคแล้ว บางเขตเปลี่ยนสีมาทาง ดร.เอ้ คือ ดร.เอ้จะมีป้ายสองชุด โดยเซตแรกออกมาโทนเดียวกับพรรคคือโทนฟ้า โทนน้ำเงิน เพราะคงต้องการทำให้ตัวตนที่สร้างขึ้นมาของ ดร.เอ้ เป็นไปแบบเป็นเนื้อเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ ให้ฐานเสียงเห็นว่า ดร.เอ้คือคนจากประชาธิปัตย์ แต่ต่อมาพบว่า ดร.เอ้ปล่อยป้ายหาเสียงแบบสีสันออกมาเอง

ประเมินว่า ป้ายที่ออกมาตอนหลังคือตัวตนของ ดร.เอ้ สุชัชวีร์ ป้ายจะออกมาทางวาไรตี เป็นตัวตน ขายความเป็นตัวเอง แต่ตอนแรกป้ายจะเชื่อมโยงกับพรรคประชาธิปัตย์ ตอนนี้ก็ขายความโดดเด่นของตัวเอง ก็ปรากฏว่าผู้สมัครส.ก.ของประชาธิปัตย์ช่วงหลังมีการไปเปลี่ยนสีโทนป้ายหาเสียง ให้ไปทางเดียวกับดร.เอ้ คือเกาะไปกับดร.เอ้ ตัวชื่อพรรคประชาธิปัตย์ในป้ายหาเสียงก็เล็กมาก จนแทบมองไม่เห็น แล้วสีก็เปลี่ยน จากตอนแรกเป็นโทนฟ้า-น้ำเงิน มีการเปลี่ยนเป็นป้ายพื้นโทนสีชมพู แบบป้ายของ ดร.เอ้ คือเกาะไปกับดร.เอ้ แทนที่จะเกาะกระแสพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฐานหลักเดิม พยายามวางตัวว่าเป็นทีมดร.เอ้ เหมือนกับเช่นผู้สมัครส.ก.ของ กลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ ที่บอกว่าคือทีมพล.ต.อ.อัศวิน แปลว่าผู้สมัครส.ก.ของประชาธิปัตย์พยายามสื่อสารว่าเป็นทีมดร.เอ้ มากกว่าบอกว่าเป็นทีมของประชาธิปัตย์ ที่อาจเกิดจากเพราะกังวลกับกระแสพรรคประชาธิปัตย์ที่ตกตอนนี้ และอาจกังวลว่าถ้าเกาะกระแสพรรคแล้วไปเดินลุยหาเสียงส.ก.อย่างเดียว ก็อาจทำให้พรรคได้ส.ก.ต่ำสิบ ซึ่งมีโอกาสอยู่แล้ว และมีโอกาสจะยิ่งได้น้อยลงไปอีก เลยทำให้ผู้สมัครส.ก.ประชาธิปัตย์พยายามเกาะดร.เอ้ ที่แม้ดร.เอ้ อาจจะไม่ได้เป็นผู้ว่าฯกทม.แต่ก็ขอให้ดร.เอ้ ช่วยพาผู้สมัครส.ก.ให้ได้รับเลือกตั้งได้บ้าง
ดร.เอ้แพ้-ส.ก.ต่ำกว่าเป้า
สะท้อนภาพ ปชป.ยังไม่ฟื้น!

-หากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส.ก.ต่ำกว่า 15 คน หรือ 10 คน หรือดร.เอ้ ไม่ชนะการเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ในกทม.สถานการณ์น่าเป็นห่วงหรือไม่เพราะตอนเลือกตั้งปี 2562 ก็ไม่ได้ส.ส.เขต กทม.แม้แต่คนเดียว?

สภาพก็แปลว่ายังไม่ฟื้นจากปี 2562 เพราะตอนเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ส.ส.เขต กทม.แม้แต่คนเดียว ก็ถือว่าหวังไม่ได้แล้ว ถ้าผลออกมาแบบนี้ยังคอนเฟิรม์ว่าสภาพคุณยังไม่ฟื้น เมื่อเทียบกับปี 2562 ดังนั้น 3 ปีที่คุณลงทุนไปร่วมรัฐบาลมามันไม่ฟื้น และแนวโน้มน่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะว่า เสียงอิสระก็อาจจะยังไม่มา ส่วนเสียงจัดตั้งก็มีแต่จะโดนดึงไป

-กระแสส.ก.ของพรรคพลังประชารัฐ พบว่าไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนัก?

ผมว่าไม่มีในภาพรวม เป็นเพราะว่าเขาเลือกที่จะสู้เป็นรายเขต เขตไหนที่พลังประชารัฐมี ส.ส.เขตกทม.อยู่ แล้วเขาสามารถได้ผู้สมัครส.ก.ที่เด่นไม่แพ้ทีมรักษ์กรุงเทพ คือต้องยอมรับว่า เลือกตั้งกทม.รอบนี้ พลังประชารัฐแตกออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ๆ คือทีมรักษ์กรุงเทพที่อยู่กับพล.ต.อ.อัศวิน กับทีมพลังกรุงเทพที่ยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ
ทีนี้ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ ก็กลายเป็นว่า ทีม A อยู่รักษ์กรุงเทพ ส่วนทีมพลังกรุงเทพ หรือผู้สมัครส.ก.ของพลังประชารัฐ ทีมนี้เหมือนกับทีม B กลายๆ จะมีทีม A บ้างเฉพาะในเขตที่ส.ส.อยู่ ยังยืนยันกับพรรคว่าจะเอาคนนี้ เลยรักษาคนที่เด่นเอาไว้ได้ เพื่อไปถามตัวเองในอนาคต มันก็เลยดูเหมือนว่ากระแสพลังประชารัฐไม่มาในภาพรวมๆแต่ว่าในบางเขตอาจจะมีบ้างที่อยู่ในระดับไปเบียดในพื้นที่ ที่ลงพื้นที่แข็งๆและเตรียมพื้นที่จะรักษาพื้นที่ต่อไป พวกส.ส.ที่เป็นฐานส.ก.เก่า พวกตั๋วลูกหลานส.ก.ที่พลังประชารัฐไปดูดจากประชาธิปัตย์มาเขตพวกนี้ พลังประชารัฐดูแล้วเขาอาจยังพอหวังได้

-ในส่วนของพรรคไทยสร้างไทยที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เป็นแกนนำ มองโอกาสของพรรคหลังจากนี้อย่างไรบ้าง หลังส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.และส.ก.ครบหมด?

พรรคไทยสร้างไทย เขาก็ชัดเจนว่า เขาตั้งใจให้เวทีกรุงเทพฯเป็นเวทีเปิดตัว แกรน์โอเพนนิ่งเพราะไทยสร้างไทย คุณหญิงสุดารัตน์ แบนด์ก็คือกรุงเทพฯ เขตต่างๆในกรุงเทพฯที่คุณหญิงสุดารัตน์ก็คุมอยู่หลายเขต แล้วก็สามารถดึงเอาคนหลักๆของเพื่อไทยมาได้ด้วยหลายเขต ในระดับได้ลุ้น

ในสนามส.ก.ไทยสร้างไทย ก็ได้มาทั้งแพ็คเก็จ ทั้งว่าที่ผู้สมัครส.ส.เขตกทม.และผู้สมัครส.ก.ก็ทำให้ไทยสร้างไทยก็หวังในการเลือกตั้งกทม.รอบนี้ ทำให้พรรคเลยส่งน.ต.ศิธา ทิวารี ที่ก็โอเค ชัดเจน คือไม่ถึงขั้นว่าจะหวังว่าชนะเป็นผู้ว่าฯกทม.ได้หรอก แต่ต้องเอาออกมาเพื่อมาช่วยสร้างกระแส เพื่อดันผู้สมัครส.ก. คือส.ก.มีฐานของกระแสจากความเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ จากการมีแคนดิเดตผู้ว่าฯได้ไปลงเวทีดีเบตอะไรกับเขาบ้าง มีพื้นที่ในการพูดผ่านสื่อ มีป้ายหาเสียง แล้วก็เป็นคนที่แบนด์ชัดว่าสายคุณหญิงสุดารัตน์ ให้ชัดไปเลยว่านี้คือทีมเจ๊หน่อย ทำให้พรรคเริ่มมีที่ทางทางการเมือง ระหว่างรอเลือกตั้งสนามใหญ่ ซึ่งแนวโน้มเขาก็น่าจะเป็นไปได้ว่าผู้สมัครส.ก. ไทยสร้างไทย ได้ลุ้นอยู่ในเขตของเขา สายไหม ดอนเมือง วังทองหลาง ดินแดง ห้วยขวาง และฝั่งธนบุรี พรรคก็มีผู้สมัครตัวดีๆอยู่หลายคน แล้วพอช่วงโค้งสุดท้ายของสนามกทม.ก็พบว่าพรรคก็เปิดตัว หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ (สุพันธ์ มงคลสุธี อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) คือดันกระแส ที่ไทยสร้างไทยตั้งใจจะเอาสนามเลือกตั้งกทม.รอบนี้มาสร้างกระแสพรรค และก็ถือโอกาสถ้าสร้างกระแสพรรคได้ดี มันก็มาสนับสนุนสนามกรุงเทพฯไปในตัว ใช้ไทม์มิ่งตัวนี้เป็นตัวเคลื่อน

-พรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.แต่ส่งผู้สมัครส.ก.ครบหมด มองโอกาสพรรคในการเลือกตั้งรอบนี้อย่างไร?

เพื่อไทยก็ยังได้ลุ้นในเขตที่ตัวเองเสียงแข็งแรง เพียงแต่ว่าในแง่จำนวนก็ต้องวัดกันหน่อย เพราะว่าโดนคุณหญิงสุดารัตน์ แบ่งไปหลายเขตไปตัดคะแนนไป แล้วก็ทุกเขตที่เพื่อไทยส่งคนลงส.ก. ก็ถูกพรรคก้าวไกลตัดคะแนนอยู่แล้ว ฐานเดิม ประมวลแล้ว พรรคเพื่อไทย ไม่น่าจะได้ส.ก. เยอะแต่ก็ไม่ถึงขั้นสูญพันธุ์ ผมว่าจะยังเหลือได้บางเขต ไทยสร้างไทยคงมีบ้าง เพื่อไทยมีบ้าง กลุ่มรักษ์กรุงเทพก็อาจได้ส.ก.มาเป็นกลุ่มเป็นก้อนบ้าง ผมยังมองว่าก้าวไกลเยอะ กลัวว่าจะเกินครึ่ง เพราะโดยสภาพการณ์แข่งขัน ขั้วการเมือง กลุ่มอื่นเขาตัดกันหมด เป็นคู่ตัดกัน แต่ของพรรค ก้าวไกลเขาเป็นคะแนนนิ่งๆ
....................................................................

ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณ
กลัวผีทักษิณน้อยกว่าผีก้าวไกล
การเลือกตั้งกทม.รอบนี้ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นก็คือ อารมณ์-กระแสการหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้าย พบว่า ยังคงมีเรื่องของการ”แบ่งขั้วการเมือง”เข้ามาในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้อย่างชัดเจน เช่น แคมเปญที่บางฝ่ายพยายามสร้างกระแสเรื่อง”การโหวตเชิงยุทธศาสตร์” เป็นต้น ซึ่งมุมมองของ “ดร.สติธร ธนานิธิโชติ. ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า” ให้มุมมองหลังเราถามถึงว่า การตัดสินใจของคนกรุงเทพฯในวันที่ 22 พ.ค. นี้ เรื่องการเมืองระดับชาติมีผลต่อการตัดสินใจของคนกทม.หรือไม่ โดยให้ความเห็นว่า คิดว่ายังค่อนข้างจะมีอยู่ เป็นภาพสะท้อนต่อเนื่องมาจากเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เมื่อปี 2556 ที่มาต่อเลือกตั้งส.ส.ปี 2562 มันเห็นชัดว่าการเมืองภาพใหญ่กับการเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯ มันน่าจะสะท้อนกัน โดยเฉพาะปี 2556 เป็นตัวบอกชัดว่า ไม่เลือกเรา เขามาแน่ การเมืองใหญ่ 2 พรรค แล้วมันก็พัฒนาต่อมาเป็น 2 ขั้ว ตอนปี2562 ในแต่ละขั้วมีอาจจะมีหลายพรรคแต่ว่าความเป็นขั้วยังมีอยู่

ภาพสะท้อนการเลือกตั้งกทม.ของรอบนี้มันก็ทำให้เห็นว่าในภาพใหญ่ มันคงจะมีขั้วการเมือง คนจะเลือกแบบแบ่งขั้วอยู่ จะเลือกขั้วไหนก็ว่าไป ขั้วก้าวหน้า ขั้วอนุรักษ์ ขั้วเสรีประชาธิปไตย หรือขั้วอะไรก็แล้วแต่จะเรียก แต่ว่ามันจะไม่เขม็งเกลียวเหมือนกับปี 2562ว่ามันจะต้องแบ่งค่ายกันชัดขนาดนั้น ผมคิดว่าอย่างนั้น

ภาพสะท้อนการเลือกตั้งกทม.ของรอบนี้มันก็ทำให้เห็นว่าในภาพใหญ่ มันคงจะมีขั้วการเมือง คนจะเลือกแบบแบ่งขั้วการเมืองอยู่

เราอาจจะเห็นภาพที่ผมประเมินว่าน่าจะมี คือคะแนนของดร.ชัชชาติที่มันไม่ได้มีคะแนนเฉพาะในขั้วแต่มันมีคะแนนข้ามขั้วมาบวก คือคนที่มีอารมณ์ผิดหวังจากรัฐบาล ที่อารมณ์แบบประชาธิปัตย์หวังไม่ได้แล้ว คนที่เลือกตั้งรอบนี้มองหาใครแล้วไม่มีของแปลก ก็เลือกอาจารย์ชัชชาตินี้แหละ มันก็จะเป็นแบบนี้ อาจจะมาทำให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มองข้ามการเมืองระดับชาติไป ในการเลือกรอบนี้แล้วมาดูที่ตัวบุคคล คือเอาคนมาทำงาน แต่ถามว่าคะแนนนี้จะติดตัวไประดับชาติไหม ก็อาจจะไม่ใช่อย่างนั้น หมายความว่าระดับชาติเขาก็ไปคิดอีกแบบ อาจจะกลับไปที่ขั้วเชียร์รัฐบาล- ไม่เชียร์รัฐบาล คิดว่าอย่างนั้น ผมคิดว่ามีและจะเป็นตัวแปรที่มาช่วยเติมโดยเฉพาะตัวดร.ชัชชาติให้เขามีโอกาสเข้าวินได้ตามโพล คือลำพังไปการตัดขั้วภายในขั้วมันก้ำกึ่ง ปริ่มๆ มันตัดกันไปตัดกันมา เผลอๆแกอาจจะได้แค่ 7-8 แสนคะแนน แต่ถ้าไปถึงล้านคะแนน แปลว่ามีคนข้ามขั้วมาบวกเพิ่มคะแนนให้ ซึ่งผมว่าอาจจะเกิดขึ้น แล้วกลายเป็นว่าผู้ชนะกลายเป็นผู้สมัครที่มีคะแนนล้านคะแนน แต่ถ้ามันไม่ข้ามเลยแปลว่าสนามระดับชาติ คุณก็จะตึงกันแบบนี้ เพราะมันชัดอยู่แล้วระดับชาติ ยิ่งถ้าสนามกรุงเทพฯ ไม่มีคนมองข้ามทางความขัดแย้งทางการเมือง เปลี่ยนขั้วมาบ้าง เลือกตั้งสนามใหญ่ก็ต้องขึงกันแบบนั้น แล้วเราก็จะเห็นคะแนนชัดเจน

-ถ้าวันที่ 22 พ.ค. ทางดร.ชัชชาติชนะการเลือกตั้ง สะท้อนอะไรในทางการเมือง ?

ในทางการเมืองผมคิดว่า ถ้าเราพูดเรื่องขั้วการเมืองมันแปลว่า ถ้าคุณเลือกคนที่เอามานำให้มีภาพลักษณ์ของคนที่ทำงานได้ เป็นคนที่ประนีประนอมหน่อย ไม่ได้สุดโต่ง มันก็จะทำให้ความเป็นขั้วที่แบ่งเขาแบ่งเรามากจนน่ากลัว มันจะลดลง แต่ว่าในอนาคต การเมืองมันอาจจะผสมข้ามขั้วได้ถ้าจำเป็น เช่น บางคนถามว่า มีโอกาสไหมที่พรรคเพื่อไทยจะร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ แบบนี้ถ้าต่างฝ่ายต่างเสนอคนที่ทำงานได้มาให้คนเลือก สนอนโยบายมาให้คนเลือก แทนที่จะเสนอกันแต่ประเด็นเชิงความขัดแย้ง ไม่เลือกเรา เขามาแน่ แบ่งข้าง พวกนี้ทักษิณ อะไรแบบนี้ ประเด็นความขัดแย้งต่างๆถ้ามันเจือไปบ้าง เน้นที่คนเน้นที่นโยบายแข่งกัน โอกาสที่ขั้วการเมืองจะผสานกันได้ มันก็มี

ผมคิดอย่างนั้นว่า มันจะเป็นภาพสะท้อนว่า ถ้าคุณเอาคนที่จะพอไปได้ในแง่ของตัวคน มีโปรไฟล์ที่ดี ดูมีความสามารถมีประวัติการทำงานใช้ได้ ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าว หรือก้าวร้าวเกินไป คนที่อยู่คนละขั้วกันเขาก็รับได้มากขึ้น การเมืองที่มันแบ่งข้างแยกขั้วกันก็น่าจะไปกันได้มากขึ้นในอนาคต

ส่วนการที่ดร.ชัชชาติ ลงอิสระโดยไม่ได้ส่งผู้สมัครส.ก.ด้วย แล้วหากชนะเลือกตั้งจะมีผลต่อการทำงานอะไรหรือไม่นั้น ผมมองว่าไม่น่าจะมีผล เพราะว่าส่วนหนึ่งก็คือโดยตัวของดร.ชัชชาติ เป็นคนที่ค่อนข้างเปิดกว้าง สังเกตส่วนหนึ่งคนที่รายล้อมช่วยแกทำงานทุกวันนี้ก็หลากหลาย แกเปิดรับหมด คือแกเปิดกว้างพอสมควรในการทำงาน แล้วก็ถ้าดูจากท่าทีที่แสดงออกผ่านการหาเสียง ก็ไม่ได้ไปชนใคร ไม่ได้ไปรื้อเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะถูกต่อต้าน ไม่ได้รับความร่วมมือก็จะน้อย

- ที่บางฝ่ายพยายามสร้างกระแสเรื่อง การเลือกเชิงยุทธศาสตร์ แต่สุดท้าย ถ้าดร.ชัชชาติชนะเลือกตั้ง ก็แสดงว่าคน มองข้ามเรื่องทักษิณ หรือที่บางฝ่ายพยายามปลุกผีทักษิณ?

ใช่ ผมคิดว่าอย่างนั้น ผมว่าส่วนหนึ่ง คือผมเป็นนักวิชาการ ผมอาจจะตั้งสมมติฐานว่า วันนี้ผีทักษิณอาจจะไม่น่ากลัวเท่ากับผีก้าวไกล แปลว่า คุณปลุกผีทักษิณ แล้วถ้าคุณชัชชาติชนะได้ แปลว่ามันคอนเฟิร์มสมมติฐานนี้ วันนี้ผมมองว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณ กลัวผีทักษิณน้อยกว่าผีก้าวไกล เพราะว่าผีทักษิณก็คือเราเห็น ทักษิณก็ประมาณนั้นที่เราเคยเห็นกันมา สู้กันมา คอรัปชั่นเชิงนโยบาย เผด็จการรัฐสภา มันก็ภาพแค่นั้น แต่วันนี้คนเห็นภาพก้าวไกลไปถึงขั้นปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพ มันไปไกลกว่าผีทักษิณ เพราะฉะนั้นความกลัวแบบผีทักษิณ มันเคยจัดการได้ เช่นรัฐประหารก็จบแล้ว ผีทักษิณ แต่ถ้าปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพ จะเอาอะไรมา ยังไม่มีสถานการณ์เกิดขึ้นว่า ถ้ามันขับเคลื่อนกันหนักๆ แล้วจะปราบด้วยอะไร เป็นผีที่ยังมีอิทธิฤทธิ์เยอะอยู่ ยังไม่รู้ แต่ผีตัวโน้นเคยปราบได้ เคยเอาลงหม้อไปแล้วทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในหม้ออยู่

-หลังวันที่ 22 พ.ค. ในทางการเมือง เราจะเห็นอะไรจากผลการเลือกตั้ง?

ผมว่าในพื้นที่ กทม.มันน่าจะชัด สมมุติว่าผลเลือกตั้ง ออกตามโพลหมด แปลว่า ผู้ว่าฯกทม.ชื่อชัชชาติ -ส.ก.ส่วนใหญ่เป็นก้าวไกล ผมว่าเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพฯ ในแง่ของการบริหารพอสมควร เวลาส.ก.กับผู้ว่าฯกทม.มาแบบนี้แนวหน้าใหม่ไฟแรงทั้งคู่ มันอาจจะคาดหวังอะไรที่ไปกระตุกฝ่ายประจำได้มากขึ้น นโยบายเชิงใหม่ๆที่มันขับเคลื่อนอะไรได้ ผมว่ามันน่าจะหวังได้ การแก้ปัญหาที่รวดเร็ว แต่ว่าถ้าสะท้อนต่อไปถึงภาพการเมืองใหญ่ ผมเชื่อว่าคนเริ่มเห็นโอกาสว่า การแข่งขันในกรุงเทพฯ สนามมันเปิดมากกว่าเดิม เพราะคนที่เป็นฐานหลักเก่าๆ เช่น ประชาธิปัตย์ อาจจะชัดว่าคุณไปไม่รอดแน่ในกรุงเทพฯ ส่วนเพื่อไทยเองก็แข่งเหนื่อยในกรุงเทพฯ ประตูมันจะเปิดว่าคนที่อยากจะแบ่งฐานเพื่อไทยก็จะมาเพิ่ม ไม่ได้มีแค่ไทยสร้างไทยแล้ว

ส่วนพวกพลังประชารัฐ กลุ่มรักษ์กรุงเทพ ก็จะเห็นชัดว่า คุณแยกกันอยู่อย่างนี้ไม่ได้หรอก ถึงเวลาคุณต้องหาพรรคมาแล้วก็รวมฐานเสียงเข้าด้วยกัน มันก็จะชัดในการวางยุทธศาสตร์ต่อไปว่าสนามกรุงเทพฯเวลาเลือกตั้งใหญ่ จะไปกันยังไง รัฐบาลถ้าอยากจะกลับมาแล้วจะต้องได้ใจคนกรุงเทพฯหลังจากนี้ต้องทำอะไร แล้วเครื่องมืออาจจะไม่มีด้วย สมมติผู้ว่าฯกทม.ชื่อชัชชาติ ส.ก.ส่วนใหญ่เป็นก้าวไกล แปลว่าอยู่คนละข้างกับรัฐบาล เครื่องมือหลักคุณจะไม่อยู่ที่กรุงเทพฯแล้ว เครื่องมือหลักคุณต้องอยู่ที่ตัวรัฐบาลกลางแล้ว คุณจะใช้เครื่องมืออะไรมาเอาใจคนกรุงเทพฯ อย่างน้อยๆต้องเอาตัวรอด คือ โอกาสจะพลิกว่าชนะได้เสียงข้างมากในกรุงเทพฯมันคงยากในสนามเลือกตั้งส.ส. เขต กทม. แต่อย่างน้อยต้องไม่แพ้เละเทะ ต้องเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ได้บ้าง รักษาเขตไว้ได้บ้าง มันก็จะเป็นโจทย์

-สรุปสุดท้ายแล้ว การเมืองท้องถิ่น แบบกทม.มีความสำคัญอย่างไร จากที่ได้เห็นในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา?

การเลือกตั้งกทม.รอบนี้ทำให้เห็นว่า คนสนใจ คนให้ความสำคัญ คนคาดหวังเยอะ ทั้งที่โดยสภาพกทม.ไม่ได้มีอำนาจมากนัก งบประมาณก็ไม่ได้มีอู้ฟู่แบบจะเนรมิตรอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นมันจะเป็นบทเรียนว่า เวลาเรามองเรื่องท้องถิ่นแบบกรุงเทพฯว่า ขนาดกรุงเทพฯที่เป็นเมืองมหานคร มันไม่พอ โครงสร้างที่เป็นอยู่ เลือกผู้ว่าฯกทม.ก็ใช่ แต่ว่าผู้ว่าฯกทม.มีอำนาจแค่นี้ใช้งบได้แค่นี้ เลือกส.ก.ใช่ แต่ว่ามันเขตละคน แล้วส.ก.ก็ไม่ได้มีหน้าที่ไปตรวจสอบผู้อำนวยการเขตซึ่งเป็นข้าราชการประจำ ที่ปัจจุบันมีการตัดเรื่องสมาชิกสภาเขตกทม.หรือส.ข.ออกไป แล้วจะเอาอะไรมาแทน

ผมว่าการคุยกันเรื่องการจัดโครงสร้างใหม่ให้กับกรุงเทพฯมันน่าจะเป็นประเด็น ถ้าพูดในมุมเรื่องกระจายอำนาจ เรื่องการปกครองท้องถิ่น มันจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า ไม่พอ เพราะว่า สมมุติว่าผลการเลือกตั้งออกมาแบบที่เราคุยกันคือ ผู้ว่าฯกทม.ก็เป็นระดับดร.ชัชชาติ ส่วนพวกส.ก.ก็ระดับหัวก้าวหน้า พวกก้าวไกล แล้วเกิดบริหารไปมันก็ยังไม่พลิกกรุงเทพฯได้จริง ซึ่งยากมาก เพราะมันติดด้วยอำนาจหน้าที่และงบประมาณ ก็หมายถึงว่าโครงสร้างกทม.มีปัญหาแล้ว ต้องรื้อ ส่วนจะรื้ออย่างไร จะให้อำนาจหรือไม่ อำนาจที่มันเบ็ดเสร็จมากขึ้นในการจัดการปัญหาของพื้นที่ ไม่ใช่ว่าถนนเป็นของกรมทางหลวง ฟุตบาทเป็นของกทม. ไฟจราจรเป็นของตำรวจนครบาล แค่การจัดการพื้นที่แบบนี้ก็ 3-4 หน่วยงาน

ที่ผ่านมา มีข้อเสนอเยอะ ต้องไปดูพวกตัวแบบมหานครในต่างประเทศ มหานครปารีส -โตเกียว เขาจะให้อำนาจเยอะกับเมืองหลวงมากกว่านี้ คือมันยกเป็นเขตปกครองพิเศษ แต่กทม.เรามีอำนาจแทบเท่ากับเทศบาล มันต้องไปให้ระดับให้สมกับผู้ว่าของมหานครจริงๆ ต้องไปทั้งระบบเช่นระบบสาธารณสุข จะให้มีทั้งกทม.และกระทรวง

สาธารณสุขแบบปัจจุบัน ต้องดูว่าจะดีหรือไม่ รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่นการศึกษา เรื่องของตำรวจ ต้องดูทุกมิติ ควรต้องเพิ่มอำนาจให้กทม.มากกว่านี้ แล้วรัฐบาลกลางมีหน้าที่แค่เสริมกทม.ในส่วนที่ทำไม่ไหว แต่วันนี้กลายเป็นว่ากทม.ต้องทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานหมด ก็เลยทำให้การบริหารอาจลำบาก แล้วต่อไป คนก็จะคาดหวังกับกทม.ไว้สูงเพราะเห็นตอนหาเสียงคึกคัก แล้วคนชนะเลือกตั้งได้คะแนนมาเยอะ แต่ถึงเวลาไปทำงานจริง อำนาจของผู้ว่าฯกทม.ไม่ได้มาก


โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ

บูชาพระโอวาทปาติโมกข์ .. ณ เวฬุวันมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. กลับมาจาก งานมาฆบูชาโลก ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พร้อมกับติดเชื้อเป็นของแถม ด้วยมีไวรัสแพร่ระบาดในหมู่คณะที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสติดตามไปร่วมร้อยชีวิต

บนเส้นทางมหาปรินิพพาน “มัชฌิมาปฏิปทา สู่ อัปปมาทธรรม”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา.. บนเส้นทางมหาปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมสมัย มีปรากฏร่องรอยธรรมที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง

มาฆบูชาโลก ณ เวฬุวันมหาวิหาร ชมพูทวีป (พ.ศ.๒๕๖๗)

เจริญพรศรัทธาสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาระหว่าง ๒๒-๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปประกอบศาสนกิจอันสำคัญยิ่งในชมพูทวีป บนแผ่นดินเกิดพระพุทธศาสนา เนื่องใน วันมาฆบูชาโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็น “วันมาฆบูชาปูรณมี”

“มายาสาไถย..” ..ในสังคมปัจจุบัน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมมีประโยชน์ ๓ ระดับ ได้แก่