ช่วงปัจจุบันจะพบว่า หลายพรรคการเมืองทั้งพรรคที่มี ส.ส.ในสภาเวลานี้และพรรคการเมืองตั้งใหม่ ต่างเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น และในส่วนของ พรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งเป็นพรรคที่มี ส.ส.ในสภาเป็นอันดับสองรองจากพรรคเพื่อไทย มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการเลือกตั้งไปมากน้อยแค่ไหน
เรื่องดังกล่าว แกนนำพรรคที่อยู่กับพลังประชารัฐมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค และมีบทบาททางการเมืองในพรรคมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐและหัวหน้าทีมนโยบายพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการขับเคลื่อนทางการเมืองของพรรคหลังจากนี้ โดยได้มีการวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า การเลือกตั้งรอบหน้า สมรภูมิรบทางการเมือง จะไม่เหมือนเดิม ที่เป็นโจทย์ใหญ่ที่พลังประชารัฐก็ต้องวางยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมรองรับบริบทการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวเช่นกัน
เริ่มต้น ศ.ดร.นฤมล กล่าวถึงบทบาทตัวเองในพลังประชารัฐเวลานี้ว่า ตำแหน่งหลักๆ คือเหรัญญิก แต่งานที่ทำให้พรรคก็มีองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย เพราะว่าตัวเราเองอยู่กับพรรคมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค โดยงานที่ทำในพรรคตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน ก็คืองานในส่วนด้านวิชาการ เพราะพื้นฐานเป็นอาจารย์มาก่อน โดยมาช่วยงานด้านความคิด การวิเคราะห์ การประมวลผลข้อมูลต่างๆ ตามที่ท่านหัวหน้าพรรค "พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ" และกรรมการบริหารพรรคมอบหมาย อย่างเช่นเมื่อจะเข้าสู่ช่วงใกล้การเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคได้มอบหมายงานให้รับผิดชอบเรื่องเกี่ยวกับนโยบายพรรค
ซึ่งการทำนโยบายไม่ใช่นั่งอยู่ในห้องหรือในตึกที่ทำการพรรค แล้วก็เขียนว่าเราอยากจะให้ประเทศนี้เป็นอย่างไร ประชาชนเป็นอย่างไร แต่เราต้องนำข้อมูลจากหลายส่วน ทั้งจาก ส.ส., ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.และสมาชิกพรรค รวมถึงข้อมูลว่าที่ผ่านมารัฐบาลทำอะไรไปแล้วบ้าง เป็นต้น
เมื่อถามถึงพลังประชารัฐกับการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง หัวหน้าทีมนโยบายพรรคพลังประชารัฐ ตอบว่า ถ้าตอบแทนผู้บริหารพรรค ต้องบอกว่าพลังประชารัฐเราพร้อมเสมอ โดยการประชุมพรรคเมื่อครั้งล่าสุด ท่านหัวหน้าพรรคก็บอกให้มีการทำข้อมูลมาดู เพื่อที่จะวางแผนเป็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าทุกพรรคก็ทำ โดยทุกพรรคคงเห็นข้อมูลไม่ต่างกับเราว่า สมรภูมิรบไม่เหมือนเดิม เราจะไปคิดว่าเราจะวางกลยุทธ์ในการเลือกตั้งเหมือนปี 2562 แล้วจะได้ผลเหมือนเดิม-ไม่ใช่ เพราะอย่างการเลือกตั้งปี 2562 กับการเลือกตั้งปี 2554 ก็ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง เพราะว่าผู้เล่นพรรคการเมืองในระบบเปลี่ยนแปลง
...เมื่อปี 2554 มีพรรคที่แย่งคะแนนกันหลักๆ อยู่แค่ 2 พรรค และใช้บัตรสองใบ แต่ตอนเลือกตั้งปี 2562 ใช้ระบบบัตรใบเดียว และการเลือกตั้งรอบหน้าก็กลับมาใช้บัตร 2 ใบ แต่หากจะบอกว่าให้กลับไปทำแบบตอนปี 2554 ยังไงผลก็ไม่เหมือนเดิม เพราะปี 2554 สู้กันอยู่ 2 พรรคหลักๆ คือ ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ที่พบว่า 15 ล้านเสียงเลือกเพื่อไทย ส่วน 11 ล้านเสียงกาเลือกประชาธิปัตย์ ส่วนคะแนนที่เหลือก็กระจายไปยังพรรคต่างๆ ที่ ณ วันนั้นไม่มีพลังประชารัฐ ไม่มีพรรคอนาคตใหม่หรือก้าวไกลในวันนี้
พอมาปี 2562 เกิดพลังประชารัฐ เกิดพรรคเล็กต่างๆ ขึ้นจากบัตรใบเดียว ที่เราจะเห็นได้ว่าคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์จาก 11 ล้านคะแนน ตอนเลือกตั้งปี 2562 เหลือ 3.9 ล้านเสียง หายไปไหน ถ้ามองดูเร็วๆ คะแนนมาที่พลังประชารัฐที่เกิดใหม่ ส่วนของเพื่อไทยจาก 15 ล้านกว่าเหลือ 7,800,000 คะแนน โดยคะแนนก็ไปที่พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ประมาณ 6 ล้านกว่า
สามปีที่ผ่านมา พลังประชารัฐขับเคลื่อนพรรคตลอด การเลือกตั้งรอบหน้าที่ตั้งเป้า ส.ส.ไว้ว่าให้ได้มากกว่าตอนเลือกตั้งปี 2562 สิ่งนี้คือความตั้งใจทำให้พลังประชารัฐเป็นสถาบันการเมือง
...คือถ้าแบ่งฝั่งจริงๆ แทบไม่ต่างไปจากเดิมสักเท่าไหร่ คือมันประมาณครึ่งๆ ของประชากร อย่างคนมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งสมมุติประมาณ 33-35 ล้านคน สักครึ่งหนึ่งก็จะเป็นฝั่งเพื่อไทยและครึ่งหนึ่งก็เป็นส่วนที่เหลือ ก็จะแบ่งกันอย่างนี้ ซึ่งการเลือกตั้งปี 2562 ก็แทบไม่ต่างจากเดิม ถ้าเราเอาคะแนนก้อนเหล่านี้รวมกันมันก็ครึ่งๆ คล้ายเดิม แต่ปีใดก็ไม่รู้ที่จะเกิดการเลือกตั้งครั้งหน้า ภาพที่เห็นมันจะซอยย่อยยิ่งกว่าเดิม เพราะพรรคฝั่งนี้ที่บอกว่าจะแลนด์สไลด์ก็ไม่ง่าย ไม่ใช่โจทย์ที่่ง่ายสำหรับเขา
เพราะวันนี้นอกจากจะมีพรรคก้าวไกลมาแชร์ไปแล้ว ยังเกิดไทยสร้างไทย มีพรรคเสรีรวมไทย และอีกหลายพรรคที่จะมาแชร์ตรงนี้ไปเช่นเดียวกัน เราก็นำข้อมูลเหล่านี้ให้หัวหน้าพรรค ซึ่งท่านก็อยากให้ทุกคนในพรรคได้ดูและคิดกันให้รอบคอบ เพื่อให้เห็นภาพว่ากระจายตัวยังไงในแต่ละภาค เพื่อที่จะกำหนดกลยุทธ์ในแต่ละภาคที่เหมาะสม แต่โจทย์มันยาก
เลือกตั้งรอบหน้า
สมรภูมิรบการเมืองไม่เหมือนเดิม
-เรื่องกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบที่จะใช้ในการเลือกตั้งรอบหน้า ที่พลังประชารัฐยังไม่เคยเข้าสู่สนามบัตรสองใบมาก่อน จะมีผลต่อการได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรบ้าง?
คือสองฝ่ายอย่างที่บอก ตอนนี้พรรคเอาแค่ภาพรวมก่อน ยังไม่แยกภาคไม่แยกอะไร ผู้เล่นเยอะขึ้น ตัวหารเยอะขึ้น วันนี้ฟากฝั่งไม่ใช่มีแค่พลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์อย่างเดียวแล้ว ยังมีอาทิเช่น พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคเศรษฐกิจไทย พรรคกล้า พรรคไทยภักดี รวมพลังฯ ไทยสร้างสรรค์ ตามชื่อที่ปรากฏในข่าวก็ร่วมแปดพรรคเข้าไปแล้ว ฝั่งเขาก็เช่นเดียวกันจากเดิมมีแค่เพื่อไทยก็มี พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย ไทยสร้างไทย พรรคโอกาสไทย แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
เพราะฉะนั้นถึงได้ใช้คำว่า สมรภูมิรบมันไม่เหมือนเดิม เราจะคิดอยู่บนกรอบกลยุทธ์เดิมไม่ได้แล้ว อย่างที่บอก ทุกพรรคการเมืองเห็นโจทย์ตรงนี้หมดเหมือนกันว่าจะเดินอย่างไร เพราะท้ายที่สุดอย่างที่บอกคนไทยครึ่งๆ ของสองฝ่าย การที่จะย้ายฝั่งคิดว่าง่ายหรือไม่ ข้อมูลมันค่อนข้างชัดว่าเอาแค่การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 กับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จะพบว่ากลุ่มประชาชนสองฝ่ายแทบไม่เปลี่ยน อยู่ฝ่ายไหนก็เลือกฝ่ายนั้น มันอาจจะมีบ้าง แต่สัดส่วนไม่เยอะที่จะย้ายฝั่ง ดังนั้นที่บอกกันว่าจะทำกลยุทธ์ในการเลือกตั้งที่จะไปช่วงชิงคะแนนจากฝ่ายตรงข้าม มันไม่ง่าย ท้ายที่สุดผลลัพธ์จะเป็นการชิงคะแนนกันเอง
อย่างผลการเลือกตั้งสนามกรุงเทพมหานครที่ผ่านไป สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าพอตัวผู้เล่นเพิ่มในฝ่ายเดียวกัน คะแนนมันก็ไปแชร์กัน ช่วงใกล้เลือกตั้งถึงได้เกิดการรณรงค์ที่เรียกว่า strategy vote เกิดขึ้น เพราะว่าตกลงกันเองไม่ได้ ผู้เล่นแต่ละคนก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ถึงต้องมารณรงค์ร่วมกันว่าแฟนคลับฝั่งไหน เอาเบอร์ไหนดี ปรากฏว่าการรณรงค์นี้ก็ไม่ชัดเจน เพราะกลุ่มที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน กลุ่มย่อยข้างในก็เชียร์ผู้สมัครคนหนึ่ง แต่ในกลุ่มย่อยข้างในอีกกลุ่มหนึ่งก็เชียร์ผู้สมัครอีกคนหนึ่ง ผลลัพธ์ก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเป็นโจทย์ที่ยากมากในการที่พรรคการเมืองใดจะประกาศว่าชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ จึงไม่ง่าย เขาเองก็รู้ว่าไม่ง่าย เราเองก็ทราบว่าไม่ง่าย เราเองก็ต้องเข้าไปดูแต่ละพื้นที่ว่าสิ่งใดที่จะตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชน
"ในภาพใหญ่เราก็ต้องมองเหมือนกันว่าจะเกิดการรวมพลังได้อย่างไร เพราะต้องบอกตรงๆ ว่าจากเดิมที่แยกกันออกไป ก็มาจากที่เดียวกันมาก่อน ตอนเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เรามีพลัง เพราะว่าเกิดจากการรวมพลังกันของหลายฝ่ายเข้ามา แต่พอแตกออกไป แล้วก็มาแชร์คะแนนกันเอง
เราเองก็พูดตรงๆ ในที่ประชุมว่า เราก็จะแยกย้ายกันไปพ่ายแพ้และบาดเจ็บ หากว่าสู้กันแบบนี้ ต้องยอมรับความจริงอันนี้ แต่อันนี้ก็นอกเหนือไปจากสิ่งที่เราจะบอก เช่นบอกว่าต้องกลับมารวมกัน อันนี้ก็นอกเหนือไปจากสิ่งที่เราจะพูดได้ แต่ผลลัพธ์จะเป็นแบบนี้จริงๆ หากเรามองไปข้างหน้า โจทย์นี้ถ้าไม่แก้อะไร แล้วเดินไปแบบนี้ ฝ่ายนี้ก็จะแชร์คะแนนกัน"
-โดยส่วนตัวได้มีการเสนอแนวคิดต่อแกนนำพรรคหรือไม่ว่า พลังประชารัฐต้องปรับยุทธศาสตร์อย่างไรในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น?
นอกจากได้ทำข้อมูลเรื่องที่จะมีการแชร์คะแนนในการเลือกตั้งที่กล่าวไว้แล้ว ก็ได้นำเสนอให้ต้องมีการไปดูเรื่องพื้นที่เลือกตั้งในแต่ละภาค ว่าเดิมพรรคการเมืองใดครองพื้นที่อยู่ เราจะเข้าไปในส่วนใดได้ และเพราะเหตุผลอะไร เพราะพื้นที่เลือกตั้งแต่ละภาคไม่เหมือนกัน โดยคะแนนที่เราจะได้มาจากทุกๆ ภาคจะมาจากสามส่วน คือ
1.เรื่องของผู้นำ ใครคือ Leader เราเสนอใคร เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
เพราะประชาชนจะออกเสียงเลือกใคร เขาดูตรงส่วนนี้ด้วย เพราะเมื่อบัตรเลือกตั้งกลายเป็นบัตรสองใบ บัตรที่เลือกอีกหนึ่งใบประชาชนจะดูตรงนี้
2.นโยบายพรรค ว่าตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่หรือไม่
เพราะกรุงเทพมหานครอาจต้องการนโยบายแบบหนึ่ง แต่ที่ภาคอีสาน ภาคใต้ ก็ต้องการนโยบายอีกแบบหนึ่ง หากไปทำนโยบายโดยไม่ดูว่าแต่ละพื้นที่ต้องการอะไร แล้วไปหาเสียงแบบ one-size-fits-all ก็จะไม่ได้คะแนน
นโยบายจึงต้อง customize ไปตามพื้นที่ต่างๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอนโยบายที่ควรจะทำให้กับพื้นที่ของเขา
3.ตัวผู้สมัคร ส.ส.
บางทีประชาชนเขาอาจจะชอบผู้สมัคร ส.ส. โดยไม่ชอบพรรคการเมืองที่สังกัด รวมถึงไม่ชอบแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเขาเสนอชื่อมา แต่ผู้สมัคร ส.ส.คนนั้นไปช่วยประชาชนทุกงาน ดูแลประชาชนตลอด ยังไงก็จะเลือกคนนี้ แต่ตอนเลือกตั้งรอบที่แล้วที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว บางทีผู้สมัคร ส.ส.เขตที่ลง ประชาชนไม่รู้จักเลย แต่ชอบพรรคการเมืองต้นสังกัดและชอบแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคดังกล่าว แต่ว่าเลือกตั้งที่จะมีขึ้นที่ใช้บัตรสองใบ การตัดสินใจในการเลือกผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตกับตัวนโยบายพรรค มีผลอย่างมากต่อการที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งหรือไม่
เมื่อกติกาการเลือกตั้งเปลี่ยนมาเป็นบัตรสองใบ เราต้องมาดูส่วนผสมของสามองค์ประกอบ คือ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นโยบายพรรค ตัวผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตแต่ละพื้นที่ ว่าเราจะใส่น้ำหนักเข้าไปอย่างไรเพื่อที่พรรคจะชนะทั้งสองใบ โดยต้องมาดูว่าเราจะนำเสนออะไรต่อประชาชนให้เป็นความหวังเขาได้
-มองว่ากระแสนิยมของพลังประชารัฐจะเป็นอย่างไร หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีหน้า เพราะคนภายนอกมองว่ากระแสพรรคไม่เหมือนกับตอนเลือกตั้งปี 2562?
วันที่ในพรรคได้นั่งประชุมและหารือกัน ทางท่านหัวหน้าพรรคก็บอกว่าขอให้ทุกคนพูดความจริงกัน เราก็ต้องยอมรับว่าพอผ่านไประยะหนึ่ง สิ่งที่ประชาชนเขาคาดหวังมีอะไรบ้างที่เรายังไม่ได้ตอบความคาดหวังของประชาชน
อย่างผลลัพธ์ในการเลือกตั้งพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ผ่านไป เราก็ต้องนำความจริงมาพูดกันว่าเพราะอะไร ทำไม เราถึงได้แค่นี้ และทางแก้คืออะไร ซึ่งอันนี้ก็คือโจทย์ใหญ่ที่ทุกคนต้องนำไปปรับแก้ไข อย่างเรื่อง กระแส ที่ถาม ทางหัวหน้าพรรคก็มอบหมายให้ทุกภาค ไม่ใช่แค่ผลจากการเลือกตั้งพื้นที่ กทม.แล้วพลังประชารัฐจะแก้ไขเฉพาะพื้นที่กทม.-ไม่ใช่ แต่หัวหน้าพรรคมอบหมายให้ทุกภาคไปรณรงค์ทำกิจกรรมสร้างกระแสทุกพื้นที่ โดยเฉพาะการเดินให้เข้าถึงประชาชน ไปพบปะประชาชน ให้ประชาชนเขาจับต้องได้ และประชาชนได้รู้ว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นความหวังให้เขา
ส.ส.เขตของพรรคพลังประชารัฐมีการลงพื้นที่ตลอด เพราะหัวหน้าพรรคได้กำชับเสมอว่าต้องทำให้ประชาชนจับต้องได้ ไม่ใช่ว่าจัดอีเวนต์แล้วออกข่าวก็บอกว่ามีกระแสแล้ว ที่ก็อาจมีกระแสแค่ในสายตาผู้บริหารพรรค แต่ในสายตาประชาชนต้องทำให้เขาเห็นว่า ส.ส.ดูแลประชาชนและแก้ไขปัญหาประชาชนในพื้นที่จริงๆ ซึ่ง ส.ส.พลังประชารัฐทำงานในส่วนนี้มาตลอดและต้องทำเพิ่ม โดยคนที่ตอนนี้เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก็ต้องเริ่มทำ เพื่อที่จะช่วยเรื่องกระแสในพื้นที่ โดยการลงไปช่วยประชาชน แก้ปัญหาให้ประชาชน
-คิดว่าการเลือกตั้งรอบหน้าพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.เพิ่มจากตอนเลือกตั้งปี 2562 หรือไม่?
เราก็หวังเช่นนั้น เพราะเราก็ตั้งเป้าสูง แต่การตั้งเป้าไว้สูงก็ต้องตามมาด้วยแผนงานที่ชัดเจน และเราก็ต้องวิเคราะห์ ต้องมีการลงพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น
-ในช่วงหลังที่พลังประชารัฐไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งซ่อมทั้งที่สงขลา, ชุมพร, หลักสี่ และไม่ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้ง ส.ก. คิดว่าต้องมีการปรับอะไรเร่งด่วนหรือไม่?
เป็นเรื่องที่ประชาชนเขามอง แล้วเขามีความหวังกับพรรคนี้หรือไม่ ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่เมื่อปลายปี 2564 จนถึงช่วงต้นปีนี้ 2565 พรรคก็เกิดอย่างที่ทราบตามข่าว ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีอะไรเกิดขึ้นภายในพรรค ซึ่งตรงนั้นเป็นเรื่องที่ทางพรรคต้องให้เกิดเอกภาพ โดยการดำเนินการอะไรต่างๆ เหล่านั้น ก็เดินหน้ามา
สิ่งที่เราต้องแสดงให้ประชาชนเห็นก็คือ ตอนนี้พลังประชารัฐเราเป็นเอกภาพ รวมพลังกันทำงานด้วยกัน ใครทำอะไรได้ก็ทำ ซึ่งหลักการที่หัวหน้าพรรคมอบหมายในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ก็คือให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ได้ เข้ามามีบทบาทรับผิดชอบ เช่นการแบ่งพื้นที่ก็ให้ทุกคนได้เข้ามาร่วมรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่คนเดียวรับผิดชอบพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ให้หลายคนเข้าไปช่วยกันเพื่อให้ทำงานร่วมกัน ซึ่งการทำงานร่วมกันจะทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้ อันนี้คือหลักการของหัวหน้าพรรคที่ให้ทุกคนในพรรคเข้ามามีส่วนร่วม และมีการบาลานซ์ความรับผิดชอบร่วมกัน
พปชร.ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ
เดินหน้า ทำให้เป็นสถาบันการเมือง
-ในฐานะอยู่กับพลังประชารัฐตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค ถึงตอนนี้คนก็มองและวิจารณ์กันว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจ หากวันข้างหน้า พี่น้อง 3 ป.วางมือการเมืองแล้ว คนในพรรคอาจแยกย้าย ไม่ได้เป็นพรรคแบบสถาบันการเมือง?
สามปีที่ผ่านมาก็พอพิสูจน์ได้ว่ามีการทำงานต่างๆ ของพรรคพลังประชารัฐที่เดินหน้า ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเสร็จแล้วก็ไม่ทำอะไร ดูได้จากเช่น ส.ส.ของพรรคหรือคนที่จะเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพลังประชารัฐ จะเห็นได้ว่าทุกคนก็ยังเดินหน้าทำงาน ไม่ใช่ทำรอบนี้แล้วก็จบไป
เพราะคำว่าพรรคเฉพาะกิจ หมายถึงว่าตอนเลือกตั้งปี 2562 ตั้งพรรคขึ้นมา พอเลือกตั้งเสร็จก็แยกย้ายเพราะบรรลุเป้าหมายแล้ว แต่ก็จะพบว่าไม่ใช่แบบนั้น สามปีที่ผ่านมาพลังประชารัฐขับเคลื่อนพรรคตลอด และการเลือกตั้งรอบหน้าที่ตั้งเป้า ส.ส.ไว้ว่าให้ได้มากกว่าตอนเลือกตั้งปี 2562 สิ่งนี้ก็คือความตั้งใจทำให้พลังประชารัฐเป็นสถาบันการเมือง
โจทย์แรกเลยคือ ทำอย่างไรให้ ส.ส.เขตของพลังประชารัฐได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาในการเลือกตั้งรอบหน้า และทำอย่างไรให้พลังประชารัฐได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะทำได้ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการใช้อภินิหารอะไรเลย แต่เรานำสามเรื่องสำคัญคือ ตัวผู้นำ นโยบายพรรค ตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่จะตอบความต้องการของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด เพราะถ้าเป็นพรรคเฉพาะกิจไม่ต้องมาคิดเรื่องพวกนี้
-ผลการเลือกตั้ง ส.ก.ทำให้มีการวิจารณ์และมองกันว่า ที่พรรคพลังประชารัฐเคยได้ ส.ส.เขตมากสุดตอนเลือกตั้งปี 2562 คือ 12 คน แต่เลือกตั้งรอบหน้าคนมองว่าพรรคอาจจะได้ ส.ส.เขต กทม.ไม่มากเหมือนเดิม มองว่ากระแสพรรคใน กทม.เป็นอย่างไร?
กทม.เป็นโจทย์ที่ยาก เมื่อตอน พ.ค.ที่ผ่านมาเพราะพรรคไม่ได้ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และอย่างที่ทราบแคนดิเดตของฝ่ายนี้ก็มีหลายคน ซึ่งในส่วนของทีมผู้สมัคร ส.ก. ทางพรรคก็หารือกันหลายรอบว่าจะส่งหรือไม่ส่งผู้สมัคร ส.ก. หรือจะให้ไปอยู่กับทีมของใคร แล้วพอทีมดังกล่าวถอนตัวไปไม่ลงผู้ว่าฯ กทม. ผู้สมัคร ส.ก.ก็ถูกโยกไปอีกทีมหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ส.ส.เขต กทม.ของพรรคก็ยืนยันว่าพรรคต้องส่งผู้สมัคร ส.ก. ซึ่งผู้สมัคร ส.ก.บางคนก็ไปอยู่ทีมอื่นในช่วงรอความชัดเจน และเมื่อพรรคส่งลงแล้วก็มีวิวัฒนาการต่าง ๆ อีก
"เรายอมรับในทุกคะแนนเสียงของประชาชน คะแนนผู้สมัคร ส.ก.ของพลังประชารัฐทุกเขต รวมแล้วได้มาประมาณสองแสนเจ็ดหมื่นคะแนน ก็ต้องพูดตรงๆ ว่าตรงนี้สะท้อนอะไรหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าสะท้อน และเราต้องยอมรับความจริง เราจะมาบอกว่าไม่เกี่ยว เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น กทม. ไม่เกี่ยวกับเลือกตั้งใหญ่ คงไม่ได้"
ซึ่งหลังการเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคก็เรียกประชุมทันที เพื่อให้ทุกคนทราบข้อมูลและให้ช่วยกันพูดความจริงว่าเพราะอะไร โดยในที่ประชุมเราก็ต้องยอมรับความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้น พรรคต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร ถึงได้นำมาสู่สิ่งที่หัวหน้าพรรคมอบหมายให้แต่ละฝ่ายไปปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง
-ประเมินการเมือง การเลือกตั้งรอบหน้าอย่างไร กับสิ่งที่บอกว่าสมรภูมิการเมืองไม่เหมือนเดิม?
ถ้าให้สรุปก็บอกว่า โจทย์มันยากขึ้นมากสำหรับการเลือกตั้งสำหรับทุกพรรคการเมือง ไม่ใช่แค่กับพรรคพลังประชารัฐพรรคเดียว แต่ในความยากตรงนี้ก็ยังมีความหวัง และเชื่อว่าจะเกิดสิ่งที่เปลี่ยนแปลงขึ้นในช่วงเวลาก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน เรายังอยู่ที่พลังประชารัฐ พวกเราในพรรคก็จะทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อตอบโจทย์ประชาชน แต่ว่าจะได้แค่ไหน บางจุดก็เกินกว่าที่เราจะไปควบคุมได้
อย่างที่บอกมันเป็นคณิตศาสตร์ล้วนๆ ว่าครึ่งๆ ของประชาชนเป็นเช่นนี้ เมื่อเรามีการแตกออก เราจะทำอย่างไร อย่างเขตเลือกตั้งหนึ่งเกิดมีผู้สมัครทั้ง 6-7 พรรคส่งลงหมด คะแนนก็จะมีการแชร์ ตรงนี้จึงนอกเหนือไปจากที่พรรคเราเองจะไปพูดอะไรได้ แต่ขณะเดียวกันมันก็เกิดขึ้นกับฝ่ายเขาเช่นเดียวกัน โดยหลังการเลือกตั้งผลจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่ตัวเราเองในฐานะที่ตัดสินใจมาทำงานการเมือง ก็คืออยากให้บ้านเมืองหยุดเรื่องความขัดแย้ง.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก
แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก