จากสุวรรณภูมิ.. สู่ แคว้นคันธาระ (ปากีสถาน).... (ตอนที่ ๕) เพื่ออธิษฐานจำพรรษาประวัติศาสตร์ ณ นครตักศิลา.. ในปี ๒๕๖๕!

ตอน ....สัตตาหกรณียะครั้งแรกในพรรษาปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ สู่ หุบเขาสวัต (Swat Valley) ตามนิมนต์ของ ตระกูลออรังเซบ (Aurangzeb) เจ้าผู้ครองแว่นแคว้นสวัตรุ่นสุดท้าย

 

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. จากตอนที่แล้ว (ตอนที่ ๔) กำลังเดินทางเข้าสู่หุบเขาสวัต (Swat Valley) หลังจากได้แวะกราบสักการะสถูปชินการ์ดาร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้เดินทางต่อไป.. ก่อนบ่ายสองโมง ได้ถึงบ้าน Prince Adnan .. ที่มีลักษณะคล้ายพระตำหนักเก่า.. ของเจ้าผู้ครองนครสวัต โดยมีน้องชายและภรรยาของ Prince Adnan ได้ถวายการต้อนรับ พร้อมญาติมิตรอย่างดียิ่ง ก่อนจะแวะเข้าห้องพักที่ได้จัดถวายไว้.. โดยมีน้องชายของ Prince Adnan ๒ คน มาพักอยู่ด้วย เพื่อถวายการดูแล.. ซึ่งในส่วนภรรยา Prince Adnan จะแยกไปพักในอาคารที่พักอีกด้านหนึ่ง.. เสมือนตำหนักฝ่ายใน ที่แบ่งแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ตรงนี้ได้สะท้อนวิถีชีวิต ประเพณีทางศาสนาอิสลามของสังคมมุสลิม ที่เคร่งครัดอย่างเป็นที่สุด.. ต่อการป้องกันการปะปน.. การดูไม่ดี หากไม่มีญาติผู้ชายมาต้อนรับร่วม.. จะไม่ได้เลย โดยเฉพาะการจะให้คนนอกมาพัก.. ซึ่งตรงกับพระวินัยของภิกษุในพระพุทธศาสนา ที่ไม่ควรไปพักในที่ใด.. ในส่วนใดบ้าง.. อันแสดงถึงความเคารพในวิถีประเพณีวัฒนธรรมของสังคมในชมพูทวีป.. ไม่ว่าศาสนาใด ลัทธิใด.. ที่ถือปฏิบัติกันมาตามวิถีสังคม ที่แสดงออกถึง.. จริยธรรม.. คุณธรรมภาคสังคมอย่างแท้จริง.. ที่ปัจจุบันในสังคมเมืองได้ย่อยสลายไปมากแล้ว.. แต่ในสังคมของชาวมุสลิมโดยทั่วไปยังปรากฏมีอยู่.. อย่างเข้มแข็ง อันควรแก่การอนุโมทนา...

ในเย็นของวันนั้น (๒๓ ก.ค.๖๕) ณ บริเวณลานหญ้าด้านหน้าอาคารที่พัก จึงได้จัดให้มีการสนทนาธรรม.. และประกอบศาสนกิจตามวิถีพุทธ (ย่อๆ) เพื่อฉลองสมโภช Bell of Peace

ทั้งนี้ได้มีการกล่าวต้อนรับและกล่าวขอบคุณจากทั้งสองฝ่าย แต่ในระหว่างที่ได้มีการดำเนินการปฏิสันถารโดยธรรมอยู่นั้น ก็ได้เกิดจุดสะดุดขึ้นมานิดหนึ่ง เพราะเป็นร่องเวลาของการทำพิธีของชาวสวัต ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ว่าในอดีต หุบเขาแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ของพุทธศาสนาที่เคยรุ่งเรือง สมบูรณ์ด้วยความเป็นพุทธศาสนา มีมหาวิหาร เขตสังฆารามมากมาย ชาวบ้านชาวเมืองล้วนแล้วแต่เป็นชาวพุทธ แต่บัดนี้ สังคมพุทธศาสนาได้สูญสลายสิ้นไปแล้วมายาวนานมากกว่าพันปี (พ.ศ.๑๗๐๐ เศษ) เป็นปี พ.ศ. ที่พุทธศาสนาสูญสิ้นไปจากชมพูทวีป

ความไม่เข้าใจของผู้ดำเนินการ.. ที่รับแจ้งมา.. จึงไม่ได้ประกาศเตือน เพื่อขอให้ยุติการใช้เสียงสวดสัก ๒-๓ นาที.. แต่พอดีกับการบรรยายธรรม เพื่ออัญเชิญอำนาจธรรมได้ยุติลง.. รู้การนิ่งสงบ เจริญสติพอดี.. ทุกอย่างจึงเป็นไปได้ตามปกติ ไม่ติดขัดในร่องรอยแห่งการสะดุดนั้น.. เรื่องนี้จึงควรแก่การบันทึกไว้.. เพื่อจะได้เรียนรู้สภาพสังคมที่ต้องศึกษาวัฒนธรรม.. หากจะต้องไปอยู่ร่วมกัน.. ควรทำความรู้.. เข้าใจ เพื่อการไม่นำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกกัน.. สังคมพหุวัฒนธรรม.. จากหลากหลายหมู่ชนของสังคมนั้นๆ จึงเป็นเรื่องความแตกต่างที่สวยงาม ให้ความสมดุลต่อสังคมอย่างดียิ่ง.. ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันตามวิถีธรรม...

จึงได้เห็นการประกอบศาสนกิจทางพุทธศาสนาของฝ่ายเราผู้ไปเยี่ยมได้อย่างเป็นปกติ.. โดยไม่มีข้อรังเกียจใดๆ จากฝ่ายต้อนรับ.. เจ้าภาพที่แม้จะมีศาสนาที่ต่างกัน....

ถ้าเรา.. ในฐานะมนุษยชาติอันเท่าเทียมกัน.. สามารถทำให้สังคมที่มีความแตกต่างทางศาสนา ความคิด.. อยู่ร่วมกันได้ด้วยจิตใจที่มีความรัก.. ความเคารพต่อกันและกัน.. ด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่างรู้คุณต่อกัน.. เชื่อมั่นว่า.. โลกจะเข้าสู่สันติและความสุขได้อย่างแท้จริง...

ดังที่อาตมา.. เคยบิณฑบาตรับอาหารจากชาวเนปาลที่นับถือศาสนาอิสลาม.. ศาสนาฮินดู หรือแม้กระทั่งชาวอิสลามในปากีสถานที่ได้ถวายภัตตาหารตามปกติ ควรให้ความเคารพต่อกันและกัน... ในฐานะที่อาตมาเข้ามาสร้างคุณประโยชน์ให้กับแผ่นดินปากีสถาน.. โดยการมาพักจำพรรษา.. ตลอด ๓ เดือน เพื่อแสดงให้ชาวโลกและชาวพุทธทั่วโลกได้เห็นเป็นประจักษ์พยานของความเป็นประเทศที่มีสันติ.. ตามวิถีอิสลามที่แท้จริง ในปัจจุบัน... ที่ภาพแผ่นดินอันตรายจากการก่อการร้ายค่อยจางหายไป.. เพื่อรอต้อนรับชาวโลกที่เดินทางมาเยือนสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน โดยเฉพาะชาวพุทธจาก ๓๒ ประเทศทั่วโลก... ที่จะได้เดินทางมาศึกษาร่องรอยอารยธรรมพุทธศาสนามรดกโลก ที่ทรงคุณค่ายิ่งทางจิตวิญญาณ...

การพักคืนแรก ครั้งแรก.. ในหุบเขา Swat จึงเปี่ยมไปด้วยความพึงใจ.. ปีติและสุขใจยิ่ง จึงทำให้การเจริญภาวนา.. ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ตามหลักคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เป็นไปอย่างดียิ่ง... มีสัปปายธรรมเกื้อกูลทุกขณะ.. อันน่ายินดีต่อการภาวนา...

จึงไม่แปลกที่จะมีสายฝนสรงราดรดลงมาให้ชุ่มชื้นผืนแผ่นดิน ป่าไม้ ภูเขา.. บ้านเรือนหมู่บ้านเป็นระยะๆ .. ในยามกลางคืน.. และตกโปรยปรายอย่างต่อเนื่องเกือบครึ่งวัน ในขณะที่เดินทางไปเยี่ยมเยือน Swat Museum .. และโบราณสถานทางพุทธศาสนาที่สำคัญๆ ใน Swat .. ที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองที่มีมิติอย่างยิ่งในความเป็นโบราณสถานมรดกโลกพุทธศาสนา อันควรแก่การเดินทางมาทัศนศึกษา.. สักการบูชา ได้แก่ Saidu Sharif Stupa และ Butkara ที่มีสถูปทรงสาญจี สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ตั้งตระหง่านท่ามกลางมวลเจดีย์น้อยใหญ่ ที่สร้างร่วมสมัยต่างๆ สืบต่อเนื่องมา.. จนถึงสมัยราชวงศ์กุษาณะ โดยพระเจ้ากนิษกมหาราช ที่ได้มาสร้างบูรณะพระสถูปทรงสาญจีดังกล่าว ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้บูชา.. เป็นมงคลกับบ้านเมืองในหุบเขาสวัต อันแสดงให้เห็นว่า.. อารยธรรมพุทธศาสนาแผ่เข้ามาสู่หุบเขาแห่งนี้ตั้งแต่สองร้อยกว่าปีหลังพุทธปรินิพพาน ก่อนจะขยายพุทธศาสนจักรแผ่ครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ ดังปรากฏการณ์ที่พุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดในพื้นที่ดังกล่าว ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ ปี พ.ศ.๖๐๐-๗๐๐ หลังพุทธปรินิพพาน ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช แห่งราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งปกครองแผ่นดินในพุทธฝ่ายเหนือเกือบทั้งหมด รวมถึงแคว้นคันธาระและอาณาจักรใกล้เคียง และต่อมาแผ่กว้างขวางไปทั่วชมพูทวีป ดุจดังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

จึงปรากฏหลักฐานว่ามีวัดวาอารามขนาดใหญ่ในหุบเขา Swat แห่งนี้สมัยพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ แห่ง จากบันทึกเรื่องราวหลวงจีนฟาเหียนที่ปรากฏในหนังสือ จดหมายเหตุแห่งพุทธอาณาจักร ซึ่งบันทึก ๑๕  ปีของการท่องเที่ยวจาริกไปบนแผ่นดินชมพูทวีปตั้งแต่ พ.ศ.๙๔๒–๙๕๗.. ดังมีเหตุการณ์ที่เขียนไว้ เมื่อเข้าสู่อินเดียภาคเหนือ ดังนี้ว่า

หลวงจีนฟาเหียนกับพวกได้เดินทางมาถึงลุ่มน้ำสินธู.. สามารถข้ามแม่น้ำสินธูได้แล้ว จึงเดินทางต่อเข้าสู่ ราชอาณาเขตวู-จัง (อินเดียภาคเหนือ) ซึ่งประชาชนใช้ภาษาคำพูดอย่างมัชฌิมประเทศ (ภาษามคธ/บาลี)

สำหรับราชอาณาเขต วู-จัง ตามที่หลวงจีนฟาเหียนกล่าวคือ ราชอาณาจักรอุทยาน อยู่ทิศเหนือของปัญจาบ เป็นเมืองที่มีภูมิประเทศยาวไปตามแนว แม่น้ำศุภวัสตุ หรือที่เรียกในปัจจุบันว่า แม่น้ำสวัต .. ซึ่งราชอาณาจักรดังกล่าวมีชื่อเสียงในความอุดมสมบูรณ์แห่งพฤกษานานาพรรณด้านดอกไม้และผลไม้ ซึ่งปรากฏหลักฐานชัดเจนจากหลวงจีนฟาเหียน ที่เข้ามาสู่พื้นที่ของชมพูทวีปในตอนเหนือประมาณ พ.ศ.๙๐๐–๑๐๐๐ ที่ได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของพระธรรมวินัยในพุทธศาสนา ดังที่มีสังฆาราม ที่พักสงฆ์ต่างๆ มากมาย เฉพาะสังฆารามมีทั้งหมดน่าจะราวๆ ๕๐๐ แห่ง... ทั้งนี้ยังไม่นับวัดวาอารามที่พักสงฆ์ทั้งหลาย จึงสอดคล้องกับหลักฐานของหลวงจีนถังซัมจั๋งที่เดินทางผ่านมาสู่พื้นที่ดังกล่าว (หุบเขาสวัต) ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ว่า... ในบ้านเมืองดังกล่าวนี้มีปรากฏวัดวาอาราม สังฆารามมากมายเป็นพันแห่ง (ได้ระบุมากกว่า ๑,๔๐๐ แห่ง) และมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้.....

จากบันทึกหลวงจีนฟาเหียนระบุถึงเรื่องราวที่เล่าสืบต่อๆ กันมาว่า.. “ในกาลครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จไปสู่อินเดียภาคเหนือ... พระองค์ได้เสด็จมาถึงนครแห่งนี้ (หุบเขาสวัต) และได้ประทับ รอยพระบาทเบื้องซ้าย ลงไว้ในที่แห่งหนึ่งซึ่งผู้ได้ไปพบเห็นมาแล้ว บางคนก็ว่ายาว.. บางคนก็ว่าสั้น ตามแต่ความคิดของเขา

รอยพระบาทนั้นยังคงปรากฏมีอยู่ (ในพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐) และถือกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทแท้จริงตราบเท่าทุกวันนี้

อีกทั้งยังมีสถานที่เป็นศิลาอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งยังคงเห็นปรากฏอยู่ กล่าวกันว่าเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงตากผ้าและเป็นสถานที่ที่พระองค์กระทำให้นาคผู้เป็นพาลตนหนึ่งกลับความประพฤติเป็นธรรม นาคผู้นี้นามว่า “อปทาล” เป็นเจ้าควบคุมแม่น้ำศุภวัสตุ (แม่น้ำสวัตปัจจุบัน)...

สำหรับศิลาลูกนี้ สูง ๔๐ ศอก และกว้าง ๒๐ ศอก ด้านหนึ่งของศิลาลูกนี้เกลี้ยงเกลา...”

จากบันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียน เมื่อ พ.ศ.๙๔๒-๙๕๗ .. แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาตามที่กล่าว จึงไม่แปลกที่อารยธรรมพุทธศาสนาสมัยคันธาระ.. จะปรากฏมากมายในหุบเขาสวัต (Swat Valley) แห่งนี้ ที่มีนามเดิมว่า “อุทยานะ” แปลว่า “สวน” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานในปัจจุบัน และอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย การาโกรัม ฮินดูกูช และปามีร์…. (ติดตามอ่านตอนต่อไป).

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ

บูชาพระโอวาทปาติโมกข์ .. ณ เวฬุวันมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. กลับมาจาก งานมาฆบูชาโลก ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พร้อมกับติดเชื้อเป็นของแถม ด้วยมีไวรัสแพร่ระบาดในหมู่คณะที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสติดตามไปร่วมร้อยชีวิต

บนเส้นทางมหาปรินิพพาน “มัชฌิมาปฏิปทา สู่ อัปปมาทธรรม”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา.. บนเส้นทางมหาปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมสมัย มีปรากฏร่องรอยธรรมที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง

มาฆบูชาโลก ณ เวฬุวันมหาวิหาร ชมพูทวีป (พ.ศ.๒๕๖๗)

เจริญพรศรัทธาสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาระหว่าง ๒๒-๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปประกอบศาสนกิจอันสำคัญยิ่งในชมพูทวีป บนแผ่นดินเกิดพระพุทธศาสนา เนื่องใน วันมาฆบูชาโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็น “วันมาฆบูชาปูรณมี”

“มายาสาไถย..” ..ในสังคมปัจจุบัน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมมีประโยชน์ ๓ ระดับ ได้แก่