จากสุวรรณภูมิ.. สู่แคว้นคันธาระ (ปากีสถาน).... (ตอนที่ ๙) อธิษฐานจำพรรษา .. ณ นครตักศิลา ปี ๒๕๖๕ .. สู่.. การประดิษฐาน Bell of Peace แห่งที่ ๓ ณ หุบเขาสวัต.. ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... การรับนิมนต์ไปสู่หุบเขาสวัต (Swat Valley) จาก Prince Adnan Aurangzeb หรือ Mingkul Adnan Aurangzeb เมื่อปี ๒๕๖๒.. เพื่อขอให้ไปอธิษฐานติดตั้ง (ประดิษฐาน) ระฆังสันติภาพ เป็นมงคลให้กับหุบเขาสวัต แดนอารยธรรมทางพุทธศาสนาที่เป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน.. จึงนำมาสู่การเดินทางไปเยือนหุบเขาสวัต (Swat Valley) ที่มีชื่อเดิมในอดีตว่า อุทยาน ที่แปลว่า สวน.. ภิกษุฟาเหียนเรียกตามอาหรับว่า วู-จัง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของ ปัญจาบ เป็นเมืองที่มีภูมิฐานยาวไปตามลำน้ำศุภวัสตุ.. ที่นำมาสู่การเรียกขานในสมัยปัจจุบันว่า แม่น้ำสวัส หรือเขียนตามตัวสะกดภาษาอังกฤษว่า สวัต (Swat) .. โดยเรียกนามเต็มว่า หุบเขาสวัต (Swat Valley)

ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนก่อนว่า.. หลวงจีนฟาเหียนกับพรรคพวก (พระจีน) เมื่อได้ข้ามแม่น้ำฮินดูเข้าสู่หุบเขาสวัต ได้พบเห็นประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวภาษาพูดเหมือนกับชาวมคธ.. โกศล.. กาสี.. วัชชี.. มัลละ.. ซึ่งมีภาษาพูดเดียวกับทางชาวมัชฌิมประเทศในชมพูทวีปหรืออินเดียปัจจุบัน. ที่เรียกว่า อนุทวีป..

โดยระบุว่าในสมัยนั้น (พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐) ปรากฏมีสังฆารามในหุบเขาสวัตทั้งหมดราว ๕๐๐ แห่ง.. และภิกษุเหล่านั้นเป็นหินยาน (เถรวาท/พุทธดั้งเดิม) ทั้งหมด จึงเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เช่น พระอาคันตุกะให้เข้าพักได้รูปละ ๓ วัน เมื่อครบกำหนดแล้วก็จะได้รับคำบอกให้ออกไปหาสถานที่พักใหม่... ด้วยวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะหากมาจากพุทธนิกายอื่น.. ซึ่งในสมัยนั้นมีมากกว่า ๑๘ นิกาย.. อันเป็นผลเกิดจากการสังคายนาครั้งที่ ๒ ภายหลังพุทธปรินิพพาน ๑๐๐ ปี ซึ่งคณะสงฆ์แตกเป็นสองนิกายใหญ่.. (๑๘-๒๐ นิกายย่อย..) ... ซึ่งเป็นที่มาของหีนยานและมหายานต่อมา..

ปรากฏเรื่องเล่าจากบันทึกหลวงจีนฟาเหียนว่า.. พระพุทธองค์เคยเสด็จผ่านมาเมืองแห่งนี้ (หุบเขาสวัต) สมัยเสด็จสู่ตอนเหนือของชมพูทวีป ได้แก่ แว่นแคว้นกัมโพชะ.. คันธาระ.. มัจฉะ.. กรุ.. อุรเสนะ และได้ทรงประทับรอยพระบาทเบื้องซ้ายลงไว้ในที่แห่งหนึ่ง รอยพระบาทนี้ยังคงปรากฏอยู่ (สมัยหลวงจีนฟาเหียน พุทธศตวรรษที่ ๙–๑๐) และถือว่าเป็นรอยพระบาทแท้จริงตราบเท่าทุกวันนี้

ดังนั้น การเดินทางไปหุบเขาสวัต (Swat Valley) ในครั้งนี้ (พ.ศ.๒๕๖๕) .. เมื่อเดินทางมาอธิษฐานจำพรรษา ณ นครตักศิลา แห่งแคว้นคันธาระในอดีต (รัฐปัญจาบ) ปากีสถาน จึงตั้งใจที่จะกระทำสัตตาหกรณียะ.. ตามพระวินัย เพื่อเดินทางไปประดิษฐาน Bell of Peace.. ที่จัดสร้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๒.. แต่ด้วยติดวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-๑๙.. จึงต้องชะลอแผนการเดินทาง

เมื่อได้รับคำเชิญ (นิมนต์) จากทางรัฐบาลปากีสถาน ผ่านทางการทูต.. ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศทั้งไทยและปากีสถาน.. ในความสัมพันธ์ทางการทูตที่สืบเนื่องมาครบ ๗๐ ปี... จึงยินดีเดินทางนำ Bell of Peace ที่จัดสร้างจากประเทศไทย.. ไปประดิษฐานที่หุบเขาสวัต.. ทางตอนเหนือของปากีสถาน ที่ตั้งอยู่ในเขต Khyber Pakhtunkhwa.. หรือรัฐ KP แต่เพื่อให้ถูกต้องตามพระวินัย จึงควรจักต้องมีหนังสือมานิมนต์อีกครั้ง.. เพื่อย้ำเจตนาเดิม

แต่ด้วยผู้นิมนต์เดิม คือ Prince Adnan (Miangul Adnan Aurangzeb) ได้ประสบอุบัติเหตุโดยรถยนต์ถึงแก่ความตายไปแล้วเมื่อวันที่ ๓๐ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๕  ก่อนการตัดสินใจเดินทางมาจำพรรษาที่ตักศิลา/แคว้นคันธาระ (ปากีสถาน) ประมาณ ๒-๓ เดือน จึงได้มีการประสานงานไปยังครอบครัว Aurangzeb ซึ่งโดยยังยืนยันการนิมนต์ ดังที่มีหนังสือนิมนต์ลงนามโดยภริยาของ Prince Adnan ได้แก่ Ms.Zenab Adnan Aurangzeb..

๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ .. จึงได้เดินทางจากเมืองตักศิลา.. ไปสู่เมืองสวัต.. โดยหลังจากที่ได้เข้าพักที่บ้านพัก Miangul Aurangzeb และได้พบปะกับตระกูล Aurangzeb ที่เป็นตัวแทนมาถวายการต้อนรับเป็นอย่างดียิ่ง จึงได้กำหนดวันประดิษฐาน Bell of Peace ณ Swat Museum.. ในวันพระที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕.. ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรีของราชอาณาจักรไทย.. ในสมัยปัจจุบัน

การจัดงานอธิษฐานอำนาจแห่งธรรม.. เพื่อสันติภาพให้เป็นไปในโลก จึงเกิดขึ้น ในวันมหามงคลดังกล่าว ที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งเมืองสวัต ที่บัดนั้นได้มีการประดับประดาสวยงาม สมกับความเป็น Bell of Peace แห่งที่ ๓ .. ที่ชาวสวัต (โดยครอบครัว Aurangzeb) รอคอยมา ๒-๓ ปี.. กว่าจะถึงวันนี้.. แม้เป็นวันที่ Miangul Adnan ได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว.. คงทิ้งไว้แต่สัญญาใจต่อกัน ที่จะต้องถือปฏิบัติกันอย่างจริงใจ เพื่ออุดมการณ์.. จุดมุ่งหมายของ Prince Adnan.. ที่จะได้ดำเนินต่อไปอย่างไม่ตาย... ด้วยความเป็นสัจธรรม.. ที่ควรสืบทอด.. บอกกล่าวให้อนุชนรุ่นต่อไปแห่งหุบเขาสวัต (Swat Valley) .. และชาวปากีสถานได้รับรู้.. เพื่อช่วยกันรักษาสืบเนื่องไว้ในจิตวิญญาณ.. ..สันติภาพ... เป็นสิ่งสำคัญยิ่งของมนุษยชาติ... สันติภาพ จะเกิดมีขึ้นได้ด้วยอำนาจแห่งธรรมเท่านั้น และอำนาจแห่งธรรม.. จะเกิดมีขึ้นได้ก็ด้วยจิตใจของมนุษยชาติที่เคารพธรรม ประพฤติธรรม.. บูชาธรรม.. และตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีงามของมนุษยชาติ... ที่เรียกว่า มนุษยธรรม อันมีอยู่ในความเป็นพื้นฐานเดียวกันของทุกศาสนา ที่จะไม่ขัดแย้งกันเลย.. ไม่ว่าในศาสนาใด หากศาสนานั้น.. เป็นศาสนาเพื่อมนุษยชาติ เพื่อมหาชนอันเท่าเทียมกันโดยกฎแห่งกรรม.. อำนาจแห่งธรรม...”

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า.. การติดตั้ง (ประดิษฐาน) Bell of Peace ในครั้งนี้.. ซึ่งครบ ๓ แห่งในแว่นแคว้นคันธาระ.. บนแผ่นดินสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานปัจจุบัน ได้ตรงกับวันมหามงคลของชาวไทย ได้แก่ วันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕.. และตรงกับวันพระที่ครบปักษ์หนึ่ง (๑๕ วัน) ที่พระสงฆ์ครบ ๔ รูป พร้อมกันในที่ใด.. อารามใด.. จะต้องกระทำสังฆอุโบสถ เพื่อฟังสวดปาฏิโมกข์ ๒๒๗ สิกขาบท.. จึงมีเหตุการณ์ ๓ อย่างเกิดขึ้นในวันเดียวกัน อย่างที่ไม่เคยเกิดมีปรากฏในหุบเขาสวัต (Swat Valley) ดินแดนอารยธรรมพุทธศาสนาที่สืบยาวนามมากว่า ๒,๐๐๐ ปีถึงปัจจุบัน

อาตมา (พระอาจารย์อารยวังโส) ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าพักจำวัด เพื่อเจริญภาวนาในพิพิธภัณฑ์สวัต (Swat Museum) ได้.. ซึ่งได้เข้าพักมาแล้ว ๒ คืน จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานธรรม ขอมงคลธรรมพึงปรากฏบังเกิดให้งานดังกล่าวได้สัมฤทธิผล.. อย่าได้มีอุปสรรคใด.. โดยเฉพาะจากดินฟ้าอากาศ.. ที่ขณะนั้นมีฝนตกพอสมควรในหุบเขาสวัต ด้วยเข้าสู่ฤดูฝน.. ดังที่ได้เห็นสายน้ำในแม่น้ำศุภวัสตุ (แม่น้ำสวัต) ไหลเชี่ยวแรงพอสมควร

ในหุบเขาสวัต.. เต็มไปด้วยความชุ่มชื้น ก่อเกิดความอุดมสมบูรณ์ต่อพืชพรรณธัญญาหาร.. จึงได้เห็นชาวสวัตนำผลไม้นานาชนิตมาวางขายสองข้างทาง.. ที่นั่งรถผ่านไป.. ให้น่ายินดียิ่งต่อความอุดมสมบูรณ์ ดังที่มีบันทึกของหลวงจีนว่า.. หุบเขาสวัตอุดมสมบูรณ์ครบพฤกษานานาพรรณ... มีชื่อเสียงว่าเป็นป่าดอกไม้และผลไม้

เช้าวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ .. จึงได้มีการประกาศสมมติเขตอุโบสถขึ้นในกลาง พิพิธภัณฑ์สวัต ที่ใจกลางเป็นสวนหย่อม เปิดหลังคา.. ให้เห็นท้องฟ้ากับแผ่นดินเป็นห้องเดียวกัน.. การอธิษฐานอุโบสถจึงเกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงสาธุการของภิกษุทุกรูปที่ได้ลงอุโบสถครั้งแรก.. ในรอบร่วมเป็นพันปีที่ได้กลับมาอีกครั้ง อันควรบันทึกรายชื่อพระภิกษุ ๔ รูปไว้ มีรายนามดังนี้

๑.หลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโส      ประธานสงฆ์

๒.พระอาจารย์นิคม นิติธัมโม                           ร่วมลงอุโบสถ

๓.พระอาจารย์วรินธร อาภาสาโร       พระภิกษุปาฏิโมกข์

๔.พระปิยธิป ปิยธัมโม                                  ร่วมลงอุโบสถ

โดยมีสามเณรภูสน .. ที่ช่วยถวายการดูแลรับใช้คณะสงฆ์.. และช่วยบันทึกภาพ-เสียง เพื่อเผยแพร่ไปสู่สาธารณชน .. อันควรอนุโมทนายิ่ง

การประชุมสงฆ์.. ลงอุโบสถ.. เพื่อฟังสวดปาฏิโมกข์ ๒๒๗ สิกขาบท จึงเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ท่ามกลางละอองสายฝนที่โปรยปรายลงมาเล็กๆ .. ประดุจน้ำพระพุทธมนต์ จึงทำให้บรรยากาศเย็นสบาย ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงแล้วเสร็จ... เรียกว่า ก่อนเวลา ๐๖.๓๐ น. การปฏิบัติศาสนกิจเรียบร้อยทุกประการ…. (ติดตามอ่านตอนต่อไป).

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า.. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะที่เข้าสู่วิกฤตการณ์โลกร้อน.. ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติปกติ (Climate Change) อันเป็นผลจากการกระทำของมนุษยชาติ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จึงได้ถือโอกาสคิดทำโครงการนำพระคืนสู่ป่า.. เพื่อศึกษาวงจรธรรมชาติของชีวิตที่เนื่องกับสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีความสมดุล (Nature Cycle in Balance)

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ

บูชาพระโอวาทปาติโมกข์ .. ณ เวฬุวันมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. กลับมาจาก งานมาฆบูชาโลก ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พร้อมกับติดเชื้อเป็นของแถม ด้วยมีไวรัสแพร่ระบาดในหมู่คณะที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสติดตามไปร่วมร้อยชีวิต

บนเส้นทางมหาปรินิพพาน “มัชฌิมาปฏิปทา สู่ อัปปมาทธรรม”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา.. บนเส้นทางมหาปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมสมัย มีปรากฏร่องรอยธรรมที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง