มองการเมืองไทยหลัง 30 ก.ย. เสียงสะท้อนถึงแกนนำ ปชป. เราต้องเลิกหลอกตัวเอง

บทบาททางการเมืองที่ผ่านมาของ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง 7 สมัย และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ถือเป็นขุนพลการเมืองคนสำคัญของประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ นับว่าน่าสนใจไม่น้อย ทั้งการเป็น ส.ส.ตัวหลักของประชาธิปัตย์ในการเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จนทำให้การพิจารณาร่างดังกล่าวสะดุดลง ไม่สามารถผ่านความเห็นชอบจากสภาได้เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้ต้องกลับมาพิจารณากันอีกครั้งหลังสภาเปิดสมัยหน้าเดือน พ.ย. ขณะเดียวกัน บทบาทการแสดงความเห็นทางการเมืองหลายเรื่องของสาทิตย์ในช่วง 3 ปีกว่าของสภาชุดปัจจุบัน ก็ดูจะแตกต่างจาก ส.ส.และแกนนำประชาธิปัตย์คนอื่น

      เราเลยนัดสัมภาษณ์พิเศษ สาทิตย์ เพื่อพูดคุยเรื่องความเห็นต่อสถานการณ์การเมือง หลังจากมีการอ่านคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญคดีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  วันที่ 30 ก.ย.นี้ รวมถึงการขอฟังเหตุผลชัดๆ และท่าทีต่อจากนี้ของประชาธิปัตย์ต่อร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่ถูกมองว่าเรื่องนี้อาจเป็นระเบิดเวลาการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลหลังเปิดสภาเดือน พ.ย.ที่จะถึง 

      คำถามแรก เราให้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมืองหลัง  30 ก.ย.กับคำร้องคดีแปดปีพลเอกประยุทธ์ สาทิตย์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อ่านสถานการณ์ไว้ว่า ประเมินไว้สองทาง กรณีแรกคือ พลเอกประยุทธ์รอดในคดีแปดปี ซึ่งเท่าที่ฟังดูช่วงหลัง เสียงในสภาประเมินว่ารอด แต่จะเป็นการรอดแบบมีเงื่อนไข เช่นเหลือเวลาการเป็นนายกฯ อีกแค่สองปี แต่ที่ผมแปลกใจคือ ไม่มีใครประเมินเรื่องเนื้อหากันเลย แต่ประเมินเรื่องกำลังภายในกันมากกว่า ที่ก็เป็นเรื่องแปลก ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์รอด โอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ยาวไปจนถึงครบวาระ หรือใกล้ๆ ครบวาระแล้วยุบสภามีสูงมาก  มีการพูดกันว่าหากพลเอกประยุทธ์ได้กลับมา ภารกิจที่อยากทำคือการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกในช่วงเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ โดยพอจบเอเปกก็เข้าธันวาคม 2565 แล้วไปมกราคม 2566 ก็มีการประเมินกันว่า การยุบสภา น่าจะยุบในช่วงใกล้ๆ มีนาคม อาจจะเป็นการยุบช่วงปลายมกราคมหรือกุมภาพันธ์ 2566

 ที่มองแบบนี้เพราะหากใช้วิธีการยุบสภา จะทำให้การโยกย้ายพรรคการเมืองต้นสังกัดลงเลือกตั้งของ ส.ส.นักการเมืองทั้งหลาย ที่มีเค้าลางว่าเกิดเยอะแน่ จะทำได้ง่ายกว่าให้สภาอยู่จนครบวาระ เพราะเงื่อนไขต่างกัน (กรณีหากยุบสภา ต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 30 วันจนถึงวันเลือกตั้ง) แต่ผมประเมินว่าหากออกมาทางนี้ ม็อบอาจจะกลับมาชุกชุมมาก  เพราะที่พลเอกประยุทธ์ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปเดือนกว่า จนถึงวันอ่านคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ มันเหมือนลดกระแสกดดันบิ๊กตู่ คือมันหายหมด หลายคนรู้สึกว่าดีแล้ว  โดยพลเอกประยุทธ์ก็รู้สึกเหมือนตัวเองได้พักด้วย เพราะที่ผ่านมาเป็นเหมือนหนังหน้าไฟ โดนกระแทกกระทั้นต่างๆ มาแปดปี

 แต่หากเกิดบิ๊กตู่รอด ก็มองว่าม็อบจะกลับมาชุกชุม เพราะกระแสต่อต้านบิ๊กตู่จะสอดรับกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นม็อบมีเบื้องหลังทั้งนั้น พูดกันตรงๆ แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็น่าจะประคับประคองกันไปได้ เพราะบารมีบิ๊กตู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลยังมีอยู่ แต่ที่ต้องเคลียร์ให้ดีก็คือความสัมพันธ์ของพี่น้องกันเอง (3 ป.) กับเรื่องภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในพลังประชารัฐเองก็ใช่ว่าจะกลมเกลียวกันนัก  แต่การกลับมาของบิ๊กตู่จะทำให้ทิศทางของพลังประชารัฐจำเป็นต้องชัดเจนมากขึ้น เช่นถ้าจะเดินต่อจะมีบิ๊กตู่เดินอยู่กับพรรคด้วยหรือไม่ อันนี้ส่งผลทางการเมืองเยอะ เพราะขณะที่มีพรรคของคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) ที่ดูเหมือนว่าสัมพันธ์อยู่กับสายของบิ๊กตู่ด้วย ต้องดูว่า หากพลเอกประยุทธ์ได้กลับมา แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไปกับสองพรรคนี้ แต่พรรคของพีระพันธุ์ดูเหมือนจะบอกว่าไม่รอแล้ว ก็เดินหน้ากับเรื่องของคุณพีระพันธุ์ต่อ

      สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะทำงานได้ราบรื่นในแง่พรรคร่วม แต่การแข่งขันทางการเมืองก็คงจะเข้มข้น คือหมายถึงคะแนนบิ๊กตู่ตกอยู่แล้วกับสภาพโดยทั่วไปที่เป็นรัฐบาลมานาน โดยพรรคการเมืองทุกพรรคก็หวังว่าตัวเองจะเป็นพรรคที่เติบโตขึ้นได้ ใหญ่ขึ้นได้ ก็จะมีการเจาะพื้นที่กันวุ่นวายไปหมด

      ทางที่สอง บิ๊กตู่ไม่รอด หากเป็นแบบนี้จะมีเงื่อนไขสำคัญคือว่า มันต้องเดินไปตามรัฐธรรมนูญ รัฐสภาต้องประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ ที่เลือกจากรายชื่อที่พรรคการเมืองประกาศไว้ตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่เหลืออยู่ห้าคน คือจากเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัชชาติ  สิทธิพันธุ์, ชัยเกษม นิติสิริ ส่วนจากประชาธิปัตย์คือ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ และภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล แต่ชัชชาติเขาประกาศสละสิทธิ์ไปแล้ว ก็เหลือสี่คน

      ผมคิดว่ารัฐสภาก็ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะต้องหยิบสี่ชื่อนี้มาเรียงก่อน แล้วก็ลงมติ ซึ่งผมก็มองว่ายากที่ในสี่คนนี้จะได้เสียงโหวตเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง  เพราะต้องมี ส.ว.มาร่วมโหวตด้วย โดยชื่อของคุณหญิงสุดารัตน์กับชัยเกษมจากเพื่อไทยตัดไปได้เลย เพราะไม่มีคะแนนนิยมจาก ส.ว.มากนัก เหลือแต่อภิสิทธิ์กับอนุทิน ที่ผมไม่แน่ใจว่าถึงเวลานั้นทั้งสองคนนี้ โดยส่วนตัวเขาจะยังยืนยันที่จะให้เป็นตัวเลือกอยู่หรือไม่

...แต่หากสุดท้ายเสียงโหวตไม่มีใครได้เกินกึ่งหนึ่ง  รัฐสภาก็ต้องมาใช้บทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้น เพื่อนำไปสู่การเลือกนายกฯ นอกบัญชี โดยต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อนำไปสู่การเลือกนายกฯ คนนอก ที่ก็ประเมินกันว่าหากจะเสนอชื่อ ก็คงไม่พ้นพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ แต่การจะโหวตเห็นชอบได้ต้องใช้เสียงเกินครึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่ผมคิดว่าหากไปถึงจุดนั้น ถ้าบิ๊กตู่หลุดจากนายกฯ พลเอกประวิตร ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล  ต้องเรียกประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร

      ผมคิดว่าโดยท่าทีการเมือง ภูมิใจไทยคงเสนอชื่ออนุทิน  เช่นเดียวกับประชาธิปัตย์คงเสนอชื่ออภิสิทธิ์ แต่เพื่อไทยจะเอาอย่างไร เพราะเพื่อไทยก็คงไม่ปฏิเสธที่จะหนุนคนของพรรคคือชัยเกษม นิติสิริ มันก็คงอีหลักอีเหลื่อกันพอสมควร

หากถึงจุดนั้นผมยังมองว่า มันคงเกิดการต่อรองทางการเมืองกันพอสมควรในเชิงว่า เช่นหากจะให้สนับสนุนพลเอกประวิตร จะมีการปรับ ครม.เพื่อกำหนดสัดส่วนโควตารัฐมนตรีกันใหม่ในรัฐบาลหรือไม่ ที่เราคงตอบยาก แต่ผมมองว่าการเมืองคงชุลมุนจากภายใน ไม่ใช่จากข้างนอก ส่วนกระแสต้านจากภายนอกก็คงมี โจทก์เก่าๆ พลเอกประวิตรก็เยอะ แต่คิดว่าถึงจะมีการเจรจากันได้ แต่คงไปแบบไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร น่าจะกระท่อนกระแท่น ด้วยเหตุว่ามันเป็นการเมืองช่วงปลาย แล้วกระแสความนิยมของพลเอกประวิตรเทียบกับพลเอกประยุทธ์มันต่างกัน พูดง่ายๆ บารมีที่จะดึง ครม.ทั้งคณะ ไม่แน่ใจจะเท่ากับพลเอกประยุทธ์หรือไม่เมื่อถึงเวลานั้น

      -จุดยืนประชาธิปัตย์เอาอย่างไร ถ้าการเมืองไปถึงจุดนั้น?

      เราไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธอภิสิทธิ์ เราต้องสนับสนุนอภิสิทธิ์  เพราะชูบทบาทเขาตั้งแต่ชูให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรค แต่มันก็ขึ้นอยู่กับว่าทันทีที่หากพลเอกประยุทธ์ ถ้าเกิดว่าต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไป ก็ต้องคุยกันในพรรคร่วมรัฐบาล แต่ท่าทีพรรคปฏิเสธอภิสิทธิ์ไม่ได้อยู่แล้ว  แต่ส่วนเพื่อนพรรคร่วมรัฐบาลจะเอาด้วยหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง หรือ ส.ว.ไม่เอาก็เรื่องหนึ่ง แล้วถ้าไม่เอาจะเอาชื่อไหน  ก็ต้องถกกัน ซึ่งการจะสนับสนุนใครให้เป็นนายกฯ เมื่อรับเงื่อนไขพรรคร่วมรัฐบาลมาแล้ว ต้องมาประชุมพรรค ส.ส.ของประชาธิปัตย์ในฐานะคนต้องโหวตนายกฯ ก็ต้องมีมติ

        -ภูมิใจไทยที่มี ส.ส.มากกว่าประชาธิปัตย์ แล้วพลังประชารัฐก็ไม่มีชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชี เกิดว่าภูมิใจไทยบอกพรรคร่วมรัฐบาลควรหนุนอนุทิน?

      ผมคิดว่าเขาจะมาบังคับให้เลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคเขา โดยให้ทิ้งรายชื่อจากบัญชีของพรรคเรา ผมว่าก็ต้องเคารพความเห็นทางการเมืองของอีกพรรคหนึ่งด้วย เพราะพรรคจะทิ้งจุดยืนแบบนั้นไม่ได้ คุณจะไม่เอาอภิสิทธิ์ด้วยเหตุผลอะไร ไม่มีเหตุผล ทำไม่ได้

เชื่อไม่ครบสี่ปี มียุบสภา

      -หากสุดท้ายบิ๊กตู่หลุดจากนายกฯ แล้วเลือกนายกฯ จากบัญชีไม่ได้ ต้องไปเลือกนายกฯ คนนอก  ประชาธิปัตย์มีจุดยืนอย่างไรเรื่องนายกฯ คนนอก?

      ผมว่าอันนี้เรื่องใหญ่มาก ในพรรคคงต้องถกกันหนักมาก ต้องยกเหตุผลมาคุยกันว่าเหตุใดต้องเลือกนายกฯ นอกบัญชี หรือหากไม่เลือก แล้วจะต้องมีการยุบสภาไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ที่หากเป็นแบบนั้นมันจะเป็นโอกาสใหม่ของประเทศมากกว่าที่จะไม่รู้ว่าทิศทางข้างหน้าเดินต่อไป  จะมีทิศทางอย่างไรหรือไม่ ในพรรคก็ต้องถกกัน

      ส่วนโอกาสที่อาจจะมีการยุบสภาเกิดขึ้น หากพลเอกประยุทธ์หลุดจากนายกฯ นั้น นายกฯ รักษาการยุบสภาได้  แต่ต้องดูว่าเขาเลือกที่จะยุบเลยหรือรอจังหวะ อันนี้ไม่มีใครเดาใจได้ เพราะในเมื่อไม่มีนายกฯ ตัวนายกฯ รักษาการก็ยุบสภาได้ เพราะ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินก็เขียนไว้ว่า ผู้ที่รักษาราชการแทนก็มีอำนาจทุกประการเทียบเท่าคนที่ตัวเองรักษาราชการแทน ที่ก็อาจเป็นไปได้ ที่อาจมีคนเสนอว่าหากพลเอกประยุทธ์หลุดจากนายกฯ ก็เสนอว่ายังไม่ต้องปรับ ครม. ยังไม่ต้องเลือกนายกฯ คนใหม่ กระบวนการสรรหานายกฯ ก็ดำเนินไปแต่อย่าเพิ่งตัดสิน ให้นายกฯ รักษาการคอยรับหน้าที่ตอนช่วงประชุมเอเปกเดือนพฤศจิกายนไปก่อน ก็อาจเป็นไปได้ ต้องดูเงื่อนไขกันอีกที  เพราะหากให้มีการโหวตเลือกนายกฯ เลย ไม่มีใครทำนายได้มันจะจบอย่างไร มันอาจจะวุ่นวายไปจนกระทั่งถึงเอเปกก็ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นประเทศก็อาจจะเสียหายได้ โจทย์มันไม่ง่ายเรื่องนี้

      -ประเมินว่าจะมีโอกาสยุบสภาเกิดขึ้นหรือไม่?

      ผมไม่คิดว่าจะอยู่ครบวาระ แต่จะยุบเมื่อไหร่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลัง 30 กันยายน ที่บอกข้างต้นว่าออกได้สองทาง  แต่ไม่ว่าจะออกทางใด การเมืองหลังจากนั้นเข้มข้นแน่  เพราะมันปลายสมัยแล้ว อย่างเพื่อไทยก็หวังจะได้เสียงข้างมากหลังเลือกตั้ง ภูมิใจไทยก็หวัง

        -ประเมินสถานการณ์การเลือกตั้งพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างไร ทำไมหลายพรรควางเป้าจะเข้าไปทำพื้นที่ ต้องการได้ ส.ส.ภาคใต้กันมาก?

      ต้องยอมรับว่าภาคใต้ ประชาธิปัตย์ครองที่หนึ่งมายาวนานมาก แต่การเลือกตั้งปี 2562 ตัวสอดแทรกคือพลังประชารัฐและมีภูมิใจไทยบางพื้นที่ ก็มีคนอธิบายต่างๆ เช่นมนตร์ขลังประชาธิปัตย์เสื่อมลงหรือไม่ ประชาธิปัตย์ทำพื้นที่ภาคใต้ให้เข้มแข็งน้อยลงหรือไม่

      ผมประเมินว่ามีเหตุปัจจัยประมาณ 2-3 เรื่อง ประเด็นแรก การเมืองยุคนี้มันเป็นกระแสทั่วโลก มันเป็นยุคที่ "อุดมการณ์แตกสลาย" คือปกติพรรคการเมืองต้องมีอุดมการณ์ เช่นคุณเป็นสังคมนิยม เป็นเสรีนิยม หรือประชานิยม ก็ว่าไป แล้วเวลาคนจะเลือกก็จะเลือกในอุดมการณ์ที่ตัวเองเชื่อถือ แต่ตอนหลังพรรคการเมืองแข่งขันกันทำประชานิยมกันหมด แทบไม่มีใครพูดถึงเรื่องอุดมการณ์ซ้าย-ขวา หรือเรื่องของความเชื่อทางการเมืองว่าต้องเป็นแบบใด  ทุกคนก็เอาแต่เสนอสินค้าว่าเลือกพรรคผม จะให้มากกว่า หรือให้มากที่สุด มันทำให้คนมองว่าการเมืองเท่ากัน      ประชาชนก็เหมือนกับผู้เลือกซื้อสินค้า ก็ดูว่าสินค้าชนิดไหน ลด แลก แจก แถม มากกว่ากัน พรรคการเมืองแข่งขันกันเสนอประชานิยมมากกว่าการเสนออุดมการณ์ทางการเมือง เช่นเป็นฝ่ายซ้าย ที่ทำให้คนทุกคนเท่าเทียมกัน  หรือบอกว่าผมเป็นฝ่ายขวา ส่งเสริมการลงทุน ลูกจ้างต้องมีสวัสดิการ แบบนี้เป็นต้น เมื่ออุดมการณ์แตกสลาย พรรคการเมืองนำเสนอประชานิยมแข่งกัน คนก็มองว่าพรรคการเมืองเท่ากัน ส่งผลให้มีปัจจัยที่สองตามเข้ามา คือต้องยอมรับว่าในภาคใต้เมื่อก่อน กระแสเรื่องการใช้อามิสสินจ้างเงินทอน มันถูกต่อต้านอย่างหนักจากพรรคประชาธิปัตย์ ทำนองว่าถ้าเป็นการเมืองแบบธุรกิจการเมือง คนที่ชนะเลือกตั้งก็ต้องไปถอนทุนคืน แต่ปรากฏว่าในช่วงหลังก็มีแนวคิดแบบ dark เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย มันเหมือนไปล้างความคิดคน เช่น "โง่มานานไปเลือกฟรีไม่ได้อะไร  เลือกพรรคอื่นดีกว่ามีของแถมให้ด้วย" หรือ "เลือกไป มันก็โกงเหมือนกันทุกคน โกงแล้วให้เราได้บ้างก็ยังดี" มันกลายเป็นแบบนี้ไป

      เมื่อพรรคการเมืองไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย ไม่ส่งเสริมอุดมการณ์ทางการเมือง แล้วการเมืองมีอามิสสินจ้างเข้ามา  มันก็เริ่มเปลี่ยนแปลงความคิดคน รวมถึงการเมืองในระดับท้องถิ่นมันก็เปลี่ยนค่านิยมคนในทางการเมือง เพราะการเมืองท้องถิ่นมันใช้ปัจจัยกันเยอะมาก หลายพื้นที่มีรายงานถึงหัวละหมื่น บ้าไปแล้วประเทศไทย จริงๆ หัวละหมื่น สามพันบาทถึงห้าพันบาทเป็นเรื่องปกติมาก หัวละหมื่นตอนเลือกตั้งท้องถิ่น 2-3 ครั้งที่ผ่านมา และเงื่อนไขสำคัญที่สุดคือ ความไร้ประสิทธิภาพของ กกต. เราไม่เคยเห็น กกต.จับซื้อเสียงได้สักแห่ง พอเป็นแบบนี้มันก็ไม่มีความเกรงกลัวกันเรื่องซื้อสิทธิ์ขายเสียง ก็เหมือนซื้อเสียงเสรี อุดมการณ์แตกสลาย การเมืองก็เปลี่ยน

      พอการเมืองเปลี่ยน ทุกคนก็คิดว่าภาคใต้เหมือนตลาดเปิดใหม่ หลังจากอุดมการณ์แตกสลายแล้ว คราวนี้ก็แข่งกันลงพื้นที่เต็มที่ ผมว่าเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะเป็นการเมืองที่แต่ละคนต้นทุนสูงมาก ค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งแต่ละคนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งไปจนถึงเลือกตั้งจะสูงมาก

      สำหรับประชาธิปัตย์ ผมเคยเสนอในพรรคว่าจุดแข็งตลอดมาของพรรค คือการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องทางการเมือง เราต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่เมื่อค่านิยมมันเปลี่ยน สิ่งที่ประชาธิปัตย์ต้องทำคือ เราต้องปลูกฝังค่านิยม อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ต้องกล้าที่จะพูดจะทำ ที่ก็เสี่ยงมากที่คนจะไม่เลือกไม่นิยม แต่เราต้องยืนหยัดในแนวนี้

      สอง เราต้องชี้แจงหน้าที่ของคนที่เป็น ส.ส.และเป็นรัฐบาล ว่าต้องทำนโยบาย ซึ่งนโยบายภาคใต้จะเป็นนโยบายที่ทำให้คนภาคใต้จะได้ประโยชน์อย่างไร เช่นภาคใต้อีกสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ชีวิตความเป็นอยู่ ถนนหนทาง โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ เราต้องโดดเด่นพอ เพราะหากเราเล่นเกมคนอื่น เขาประชานิยมเราก็ประชานิยมด้วย เขาติดของแถมเราก็ติดของแถมด้วย ประชาธิปัตย์ก็จะสูญพันธุ์

      การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นท้าทายมาก ผมคุยกับเพื่อน ส.ส.ภาคใต้และรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ของพรรค ผมก็เปิดประเด็นนี้ว่า เราต้องถกกันให้ชัดถึงจุดยืน แนวทาง นโยบายพรรค ต้องทำนโยบายภาคให้ชัด จุดยืนของพรรคต้องชัด สำหรับความคาดหวังต่อจำนวน ส.ส.เขตในภาคใต้  รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ของพรรคก็ตั้งเป้าว่าต้องได้ 35 ที่นั่งขึ้นไป จากครั้งที่แล้วได้มา 22 ที่นั่ง ซึ่งตอนนี้ผมคิดว่ายังมองออกยากมาก เพราะทุกพรรคเทไปลงภาคใต้กันเยอะ  ภูมิใจไทยก็เท พลังประชารัฐก็เท สร้างอนาคตไทยก็จะไปอีก  คงเข้มข้น เหนื่อยแน่ เลือกตั้งรอบที่แล้วก็เหนื่อย แต่เที่ยวหน้าเหนื่อยกว่า

      ประชาธิปัตย์จะเติบโตในภาคใต้อีกได้ ต้องเลิกหลอกตัวเองก่อนว่าทุกอย่างกำลังดี เราต้องยอมรับปัญหา อย่างที่มันเกิดขึ้นจริงๆ แล้วก็ต้องทบทวนตัวเองว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ เป็นพรรคการเมืองที่มีจุดยืนทางการเมืองที่เข้มแข็ง”

 อย่างเรื่องกัญชา ผมลุกขึ้นยืนบอกว่า ไม่เอาเสรีกัญชา  แต่ไม่คัดค้านกัญชาทางการแพทย์ คุณต้องกล้าประกาศ แต่ถ้าคนนั้นก็ต้องเอาใจ คนนี้ก็จะเอาใจ แล้วก็เงียบๆ นิ่งๆ  ตามคนนั้นคนนี้ จนไม่เหลือตัวตน ไม่เหลือจุดยืน คนปักษ์ใต้เขาไม่เอา เขาต้องการคนที่ชัดเจน

      ...อย่างเช่นยุคท่านชวน ในยุคที่ทักษิณทำสงครามกับยาเสพติด คนนิยมกันทั่วประเทศ แต่คุณชวนบอกว่าไม่ได้  ฆ่าตัดตอนผิดกฎหมาย ท่านสวนกระแส แล้ววันหนึ่งมันจริง  หรือตอนที่ทุกคนเห่อทักษิณ ท่านชวนบอกว่าอย่าเป็นเสียงข้างมากในสภา แล้วลากไปทำอะไรก็ได้ จนทักษิณประกาศว่าผมจะพัฒนาจังหวัดที่เลือกผมก่อน คุณชวนก็กล้ายืนต่อสู้  นี่เหมือนกัน พรรคก็ต้องชัด

      ทุกวันนี้เราเสียตัวตนไปเยอะ การสนับสนุนคุณประยุทธ์ ในภาคอื่นอาจจะรู้สึกอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ในภาคใต้คนเห็นว่าเราต้องทำ เพราะตอนนั้นยังไงเราก็ต้องสู้กับระบอบทักษิณ แต่พอคุณประยุทธ์ทำไปส่วนหนึ่ง สิ่งที่เขาพลาดเราต้องกล้าพูด สิ่งที่เขาทำถูกเราก็ต้องกล้าพูด คนปักษ์ใต้ชอบคนตรงไปตรงมา ไม่ชอบคนพูดหวานแต่ไม่จริงใจ ต้องจริงใจกับเขา ต้องชัด

       ดังนั้นประชาธิปัตย์ต้องชัดเจน อุดมการณ์ต้องชัด จุดแข็งประชาธิปัตย์ก็คือ ความผูกพันกับภาคใต้ เพราะเมื่อคุณรู้เรื่องปักษ์ใต้ดีที่สุด เราก็ต้องนำเสนอในมุมที่ดีที่สุดว่าเราจะทำอะไรให้เขา ต้องชัด แต่หากเราไปเล่นการเมืองแบบพรรคอื่นก็เจ๊งครับ เมื่อก่อนคนปักษ์ใต้นิยมประชาธิปัตย์ นักการเมืองทุกคนเป็นนักต่อสู้ มีอุดมการณ์ด้านการเมือง แล้วไม่กลัวอิทธิพล เราสู้กับทักษิณ ชินวัตร ก่อนหน้าทักษิณ ท่านชวน หลีกภัย ก็สู้กับเผด็จการมาก่อน มายุคทักษิณ นักการเมืองจากภาคใต้ สุเทพ เทือกสุบรรณ, ไตรรงค์ สุวรรณคีรี  ใครต่อใครในพรรคลุกขึ้นยืนซดกับทักษิณในสภา จนกระทั่งลาออกจาก ส.ส.ในสภาไปสู้บนถนนกับ กปปส. ผมก็ทำมาแล้ว คนนิยมแบบนั้น เขาต้องการนักการเมืองที่มีอุดมการณ์  แต่ช่วงหลังมาพอเราถูกความคิดการเมืองแบบอื่นครอบงำ เราก็จะตามเขาไปด้วย มันไม่ได้ คนประชาธิปัตย์มันต้องมีจุดยืนที่เข้มแข็ง

ยังไม่เห็นว่าเราจะดีกว่าเดิม

เราต้องไม่หลอกตัวเอง

        -การเลือกตั้งที่มีขึ้นประชาธิปัตย์จะชูอะไรอย่างที่ภาคใต้  ชูจุรินทร์เป็นแคนดิเดตนายกฯ?

        เรื่องตัวบุคคลก็ว่ากันไป แต่พรรคต้องมีนโยบายเรื่องภาคใต้ที่ชัดเจน จับต้องได้ จังหวะที่ดีเราก็ต้องเปิดตัว และตัวนักการเมืองที่ลงสมัครเลือกตั้งต้องมีการเทรนให้เป็นนักการเมืองที่พูดจาฉะฉาน มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน และต้องกล้าสู้กับอิทธิพล สิ่งที่ไม่ถูกต้อง

      ส่วนแม่ทัพที่นำทัพก็สำคัญ คุณจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรค ก็ต้องชูท่านจุรินทร์ แต่คุณจุรินทร์ก็ต้องปรับบุคลิก อย่างที่เป็นอยู่ ถ้าดูจากโพลก็ยังไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่ ก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่ามันยังไม่ดี ก็ต้องปรับให้มันดีขึ้น  และที่สำคัญ คนประชาธิปัตย์ภาคใต้ต้องรวมพลังกันถึงจะฝ่าพ้นไปได้ ไม่อย่างนั้นก็รากเลือด

        -เลือกตั้งที่จะมีขึ้น ประชาธิปัตย์จะได้มากกว่ารอบที่แล้วหรือไม่ ที่ได้ประมาณ 52 ที่นั่ง?

      จนถึง ณ วันนี้ผมยังไม่เห็นว่าเราจะดีกว่าเดิม อันนี้พูดตรงๆ เราต้องไม่หลอกตัวเองก่อน แต่ยังมีเวลาที่จะพลิกฟื้นตัวเองได้ คือต้องมีจุดยืนที่ชัดในทางการเมือง

 อย่างก่อนที่เราจะขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เขามองเราเป็นอะไร เขามองเราเป็นพรรคที่หงอๆ อะไรก็ได้ แต่พอเรามีจุดยืนที่ชัดเจนเรื่องกัญชา แล้วเรากล้าแสดงออกไป  คนก็มีความรู้สึกว่า "เออ ลุกขึ้นยืนสักที" แล้วเรื่องอื่นผมว่าเราก็ต้องมี ผมว่านะ ผมก็ไม่ได้จะบอกว่าสิ่งที่ผมทำถูกหมด แล้วคนอื่นทำผิดหมด ไม่ใช่ แต่เราต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในทางการเมืองให้คนเห็น ผมคิดว่าคนต้องการพรรคการเมืองที่มีจุดยืนที่เข้มแข็งในทางการเมือง จะถูกจะผิดก็ต้องกล้าพูดกล้าแสดงออก ต้องไม่เป็นพรรคการเมืองที่อะไรก็ได้  แบบนั้นไม่ได้ ผมนับถือภูมิใจไทยนะ เขากล้าประกาศเอากัญชาเสรี กล้าประกาศ กยศ.ต้องไม่มีดอกเบี้ย แต่ถ้าประชาธิปัตย์บอก กยศ.ต้องมีดอกเบี้ย ต้องพูดให้ชัดๆ อย่าอ้ำอึ้ง  ยุคนี้เขาไม่ชอบการสื่อสารทางการเมืองที่อ้อมแอ้มหรือกั๊ก  มันกั๊กไม่ได้

      -การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น พรรคควรใส่ชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ไว้ด้วยอีกหนึ่งชื่อหรือไม่?

      อันนี้ต้องประเมินกันหลายอย่างมาก ผมก็กังวลเรื่องนี้อยู่ เขาอาจมีการคุยกันในระดับกรรมการบริหารพรรค แต่ยังไม่คุยกับ ส.ส. แต่ผมว่าในขณะนี้เหมือนพรรคบริหารแบบเราคิดถึงเรื่องเฉพาะหน้ามากเกินไป ความจริงเราต้องมองให้ยาว การฟื้นความนิยมพรรคกลับมาให้แกร่งอย่างอดีต จำเป็นต้องทบทวนสิ่งที่เราทำมาสามปีกว่าที่ผ่านมา มันเวิร์กหรือมันไม่เวิร์ก ถ้าโพลมันไม่ขึ้นแบบนี้แสดงว่ามันต้องมีอะไรผิดสักอย่าง คุณจะบอกว่าถูกแล้ว ทุกอย่างกำลังดีขึ้น  ผมว่ามันไม่จริง มันต้องปรับอีกหลายอย่าง

        -หากจะให้ประชาธิปัตย์กลับมาได้อีกครั้ง เป็นพรรคซึ่งเป็นที่นิยมของประชาชนทั้งประเทศ สิ่งที่ผู้บริหารพรรคต้องทำคืออะไร?

      มี หนึ่ง เราต้องประเมินจุดอ่อนจุดแข็งของเราอย่างเป็นจริงก่อน ทุกวันนี้คนรอบข้างผู้บริหารพรรคมักจะบอกว่าเรากำลังดีขึ้น แต่มันสวนทางกับโพล เราต้องยอมรับสิ่งที่เป็นจริงก่อนว่า โพลที่ออกมาเรายังไม่ดีขึ้น เมื่อก่อนเราไม่อันดับหนึ่งก็อันดับสอง หรืออาจหลุดลงมานิดหน่อยแต่ต่อมาก็กลับขึ้นไปได้ และเมื่อเราประเมินจุดอ่อนจุดแข็งของเราชัดเจนแล้ว เราก็ต้องกล้าที่จะลงมือทำ แม้บางอย่างอาจจะเจ็บปวด เช่นกรณีที่คนบอกว่าราคาปุ๋ยมันแพง สินค้าแพง  เราก็ต้องกล้าบอกว่ามาตรการอะไรที่เราทำไปแล้วมันไม่เวิร์ก มันไม่ดี และเราพร้อมจะปรับมาตรการใหม่ ต้องแสดงความพยายามให้คนเห็น มากกว่าที่จะให้คนรอบข้างออกมาบอกว่าทำดีแล้ว แต่ต่างประเทศมันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  มันเหมือนการแก้ตัว คนเขาไม่ชอบคนที่แก้ตัว แต่ชอบคนที่พยายามทำมากกว่า

      สอง เรื่องระบบการบริหารจัดการภายในพรรค ผมคิดว่าสำคัญ อย่าคิดว่ากรณีของปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรณีเรื่องการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตที่มีความขัดแย้งในแต่ละพื้นที่คนจะไม่รู้สึก เพราะจริงๆ คนเขารู้สึก อย่างที่ตรังกรณี นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.ตรัง (มีข่าวว่าพรรคจะไม่ส่งลงสมัคร ส.ส.เขต) คือที่คนเขานิยมพรรคประชาธิปัตย์   เพราะพรรคไม่มีเจ้าของ ใช้ระบบที่เป็นธรรมในการควบคุมบริหารพรรค พอเขาเห็นว่าระบบมันรวน ถ้าเป็นคนของผู้ยิ่งใหญ่ก็ได้ลง ถ้าไม่ใช่ก็ delete ออก แบบนี้กระทบความเชื่อมั่น ต้องทำพรรคให้เป็นระบบและโปร่งใส คนเขาจะตั้งคำถามเอาได้ว่า ถ้าในพรรคไม่มีระบบไม่โปร่งใส แล้วจะเชื่อถือได้ยังไงว่าข้างนอกมันจะดี ดังนั้นต้องปรับระบบภายในให้มันโปร่งใส แฟร์ และให้คนเชื่อมั่นว่าระบบพรรคนี้ดี

      สาม พรรคต้องกลับมาสู่อุดมการณ์ที่มีจุดยืนที่ชัดเจนในทุกเรื่อง และต้องกล้าประกาศโดยไม่ต้องเกรงใจใคร  ปัจจุบันเราเป็นพรรคร่วมรัฐบาลขนาดกลางค่อนข้างเล็ก เราก็อ้ำอึ้งในหลายเรื่อง จึงถึงเวลาที่เราต้องพูดให้ชัด.

..............................................................................................................................................

จุดยืน ปชป.ค้านร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ

ต้องไม่เอาสภาเป็นตัวประกัน

      ส่วน ท่าทีของประชาธิปัตย์ต่อร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ซึ่งกลุ่ม ส.ส.ประชาธิปัตย์ นำโดยสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เสนอให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ดังกล่าวออกจากการพิจารณาของสภา จนแกนนำภูมิใจไทยไม่พอใจอย่างมาก

      สาทิตย์-ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ลงลึกรายละเอียดถึงเรื่องนี้ว่า จริงๆ เราสนับสนุนเรื่องกัญชาทางการแพทย์ และคิดว่ากัญชาถ้าจะเสรีเพื่อใช้ทางการแพทย์อย่างเดียวเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน แต่เราไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีกัญชาเพื่อสันทนาการ ความจริงผมไม่ได้ค้านร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับของคณะ กมธ.ของสภาผู้แทนราษฎร แต่ผมอยากให้คณะ กมธ.นำกลับไปปรับปรุง ซึ่งเหตุผลผมได้แถลงไปครั้งหนึ่ง และมาจากการประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเราได้ติดตามเรื่องกัญชามาโดยตลอด

      "เราคิดว่าตัวร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มันควรจะต้องมีสาระเป็นการควบคุมการใช้กัญชาเพื่อไปในทางด้านวัตถุประสงค์เดียว คือวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ แต่เนื่องจากว่าตัวร่างกฎหมายที่ออกมามันไม่ได้มีลักษณะที่เป็นกฎหมายควบคุม แต่กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมให้มีการปลูกกัญชา ซึ่งจะมีผลต่างกันเยอะ"

      ...คือว่าพอเป็นกฎหมายส่งเสริมก็ไม่ได้เน้นการควบคุม เป็นลักษณะของการทำให้การขออนุญาตตั้งแต่คุณสมบัติ-วิธีการอนุญาตต่างๆ มันก็ดูง่าย และวัตถุประสงค์ในการเอาไปใช้ พบว่ามีการเขียนในร่างกฎหมายที่ไม่ชัดเจนว่าเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น แต่เปิดช่องไว้ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นภาษากฎหมายที่มันกำกวม ทำให้เกิดการตีความไปสู่การใช้กัญชาเพื่อประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ ซึ่งเรามองว่าจะเป็นปัญหากับสังคมมากกว่า

      สาทิตย์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้มีการนำเสนอข้อเป็นห่วงดังกล่าวต่อที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์เมื่ออังคารที่ 13 ก.ย. ประกอบกับเรามีจดหมายจากศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดของจุฬาฯ ภาควิชาจิตเวช ที่ส่งให้ประธานสภามาประกอบด้วย เราก็มาดูแล้ว ปรากฏว่าจุดยืนที่เขาศึกษามาซึ่งวิเคราะห์กฎหมายแต่ละข้อที่กรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว กับจุดยืนของประชาธิปัตย์ตรงกัน คือสนับสนุนเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น แต่ไม่สนับสนุนให้ไปใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ

      ...พรรคประชาธิปัตย์ก็มีมติว่าเราจะแถลงข่าวว่า 1.ขอให้กรรมาธิการถอนร่างกลับไปพิจารณาใหม่ เพื่อบัญญัติสาระของกฎหมายให้เป็นลักษณะของการควบคุมมากกว่าที่จะไปในด้านการส่งเสริม กับ 2.ก็คือกฎหมายมันไม่เสร็จง่ายอยู่แล้ว เพราะยังมีกระบวนการอีกเยอะ ซึ่งจริงๆ พรรคภูมิใจไทยก็รู้ว่าคุณผ่านสภาไปได้เมื่อวันที่ 14 กันยายน ก็ต้องไปติดที่วุฒิสภา แล้วถ้าวุฒิสภาแก้ไขจากร่างที่สภาส่งไป ทางสภาก็ต้องกลับมาพิจารณาอีกรอบ

      ...เราก็เสนอว่าช่วงนี้มันเป็นช่วงสุญญากาศ ซึ่งปัจจุบันมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขแค่ 2 ตัวที่จะไปควบคุม คือประกาศเรื่องของควันของกัญชา เป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เล็กมาก กับสองก็คือประกาศเรื่องสมุนไพรควบคุม ซึ่งเอาไม่อยู่ ตำรวจก็มีปัญหาในการทำงาน เพราะไม่มีกฎหมายแม่บทไปควบคุม

      สาทิตย์ ย้ำว่า จึงเสนอว่าควรจะทบทวนเรื่องของการปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ให้กลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ แล้วก็ให้กระทรวงสาธารณสุขลองประเมินผลกระทบดูจะแก้ปัญหายังไง เช่น คนที่ลงทะเบียนปลูกไปก่อนแล้ว คนที่ไปปลูกเพื่อการวิจัยต่างๆ ซึ่งมันออกระเบียบมารองรับกันได้ เพราะเดิมมันก็ทำอยู่แล้วด้วย เพราะฉะนั้น จุดยืนเราไม่ได้ค้าน จุดยืนเราต้องการให้ปรับปรุงร่างใหม่

      สำหรับรายละเอียดของเนื้อหาตามร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ข้อกังวลหลักๆ ของเรามีกันอยู่ 3-4 ข้อ แยกเป็นดังนี้

      ...ข้อที่ 1 คือการให้ชาวบ้านทั่วไปสามารถขออนุญาตปลูกกัญชาได้ ซึ่งในกฎหมายมาตรา 18 เขียนไว้ว่า ครัวเรือนต่างๆ จะขออนุญาตปลูกกัญชาสามารถแจ้งวัตถุประสงค์ได้ว่า เพื่อประโยชน์ในครัวเรือน ปลูกได้ครัวละไม่เกิน 15 ต้น พอไปดูนิยามศัพท์ มาตรา 4 คำว่าประโยชน์ในครัวเรือนนี้ก็บัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์ในการบริโภคเพื่อสุขภาพในครัวเรือน" คำถามก็คือใครวินิจฉัยว่าเพื่อสุขภาพที่ต้องใช้กัญชา ถ้าคนในครัวเรือนเป็นคนวินิจฉัย ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ใช่แพทย์ แล้วรู้ได้ไงว่าตัวเองต้องการกัญชา อันนี้มันจะเป็นช่องที่เขียนกฎหมายกำกวม ให้คนเอาไปบริโภคเพื่อสันทนาการ ไปเสพ ไปอะไรต่างๆ ทั้งยังไม่ได้ห้ามในอุปกรณ์ด้วย จะบ้อง จะยำ สารพัดทำได้หมด

      แต่ว่าคณะแพทย์ จุฬาฯ ก็ดี ของพรรคก็ดี เราก็เสนอว่าทำไมไม่เขียนให้ชัดว่า "ครัวเรือนสามารถที่จะขออนุญาตได้ที่จะปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์" ซึ่งคำว่าประโยชน์ทางการแพทย์ก็หมายความว่าควรจะให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทางแพทย์ หรือแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน แพทย์แผนไทยประยุกต์ วินิจฉัยก่อนว่าคนนี้ป่วยแล้วต้องรักษาหรือบรรเทาด้วยกัญชา คนนี้จึงไปขออนุญาตปลูกได้ ถ้าแบบนี้ผมว่ามันต้องแก้ เรื่องนี้เป็นหัวใจของมัน ส่วนหากถามว่าไปแก้ในสภาได้ไหม มันยากมาก เพราะว่าในสภามันไม่เหมือนในกรรมาธิการฯ ที่บรรยากาศเหมือนการประชุมที่พูดถกเถียงกันได้ เอาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาพูดกันได้ แต่ในสภาต้องพูดคนละครั้ง แล้วต้องลงมติ ซึ่งบ่อยครั้งมันไม่ได้เนื้อความอย่างที่ต้องการ แล้วมันจะเป็นปัญหาต่อไปอีก

      ...ข้อที่ 2 คือเรื่องหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาต กระบวนการในการปลูกกัญชากว่าจะหาเมล็ดพันธุ์ ไปจนกระทั่งถึงปลูก เก็บเกี่ยว สกัด แปรรูป ผลิต จำหน่าย มันมีหลายขั้นตอนมาก ซึ่งในต่างประเทศอย่างแคนาดา เขาจำแนกใบอนุญาตออกเป็น 5-6 ชนิด แต่ของเราไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมายว่ามีกี่ชนิด ก็ไปเปิดโอกาสให้มีการออกกฎกระทรวงหรือออกระเบียบใหม่ได้ ซึ่งเรามองว่ามันหลวมมาก เพราะว่าสายพันธุ์ที่จะเอามาปลูก ผู้ที่ทำแปลงเพาะพันธุ์ผลิตเพื่อการขาย อันนี้มันต้องคุมว่าจำนวนคุณมีเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้มันเล็ดลอดไปสู่ตลาดมืดคนที่ไม่ขออนุญาตไปปลูกได้ จำนวนมันต้องชัด ก็ต้องใบอนุญาตแบบหนึ่ง ถ้าจะขอปลูกก็ต้องขอใบอนุญาตอีกแบบหนึ่ง และต้องดูด้วยว่าปลูกเพื่ออะไรอีก ปลูกเพื่อประโยชน์การแพทย์ในครัวเรือน หรือปลูกเพื่อเป็นแปลงใหญ่สำหรับจำหน่าย ที่มีสัญญากับสถาบันวิจัยทางการแพทย์ก็เป็นใบอนุญาตอีกแบบหนึ่งอีก ซึ่งพบว่าไม่มีเขียนในร่างกฎหมายให้ชัดเจน แปรรูปก็ไม่มีเขียนว่าเป็นใบอนุญาตแบบไหน ขายจะควบคุมอย่างไร

      ...ทั้งหมดพบว่าเป็นการเขียนกฎหมายในลักษณะที่มันกว้างๆ พอลงลึกไปดูคุณสมบัติของผู้ขอ ก็เป็นการกำหนดคุณสมบัติแบบกว้างๆ เช่น ไม่เคยต้องโทษมาก่อน อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งก็มีคนกังวลว่า อย่างกรณีพวกนอมินีขายยาเสพติดทั้งหลาย ไม่เคยโดนคดีใหญ่ โดนอยู่ไม่กี่คน แต่พวกนี้พัวพัน เพราะฉะนั้นทำไมไม่ให้มีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม หรือเคยพัวพันยาเสพติดประเภทอื่น จะยาบ้า เฮโรอีน ฝิ่น หรืออาจจะเป็นพวกยาแก้ไอ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งมันมีเชื้ออยู่แล้ว

      สาทิตย์-ส.ส.ตรัง ย้ำว่า ข้อเป็นห่วงดังกล่าวมองว่าหากไม่กำหนดคุณสมบัติให้ชัด มันก็อาจจะเป็นช่องให้คนที่ค้ายาเสพติดใช้ช่องทางการขอใบอนุญาต สวมรอยเข้ามาทำและลักลอบผลิตไปสู่ตลาดมืดได้ เพราะคนเหล่านี้มีประวัติอยู่แล้ว ซึ่งในต่างประเทศการควบคุมคนที่จะเข้ามาขออนุญาตทั้งหลายเข้มงวดมาก และยังให้อนุญาตในกฎหมายสำหรับผู้อนุญาตสามารถที่จะยุติหรือพักการขอใบอนุญาต เพื่อตรวจสอบประวัติก่อนได้ แต่ในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่เสนอมามีการไปเขียนไว้เลยว่า เมื่อยื่นขอแล้วต้องได้ภายในกี่วัน อันนี้มันเป็นลักษณะการส่งเสริม นี่คือในส่วนของใบอนุญาต

      และในเรื่องของใบอนุญาตยังมีประเด็นซับซ้อนมากกว่านี้อีก คือประเด็นอำนาจรัฐมนตรี สมมุติคนหนึ่งขออนุญาตไปแล้ว แล้วเจอว่าทำผิดเงื่อนไขการอนุญาต ถูกเจ้าหน้าที่สั่งให้หยุดพักใบอนุญาตหรือหยุดพักชั่วคราว กฎหมายไปเขียนให้อำนาจรัฐมนตรี สามารถให้เขาทำต่อชั่วคราวได้ด้วย

      ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องการเมือง เพราะไม่ว่าพรรคไหนหรือใครก็ตามเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ตามกฎหมายฉบับนี้ซึ่งบัญญัติไว้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็สามารถใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มพรรคพวกก็ได้ หรือใครก็ได้ คุณทำผิดเงื่อนไข คุณมาหาผม เดี๋ยวผมจัดการให้ คุณก็ได้ใบอนุญาตชั่วคราวไป อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งอันนี้เขียนไว้ในกฎหมาย ผมว่านี้เรื่องใหญ่ ในต่างประเทศเขาไม่เปิดให้ขนาดนี้

       ประเด็นถัดมาคือ กระทรวงสาธารณสุข ในกฎหมายฉบับนี้ไปกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เป็นหน่วยไปส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ความรู้เรื่องกัญชา พัฒนาสายพันธุ์ ให้ความรู้กับคนเรื่องกัญชาด้วย ซึ่งมีคนกังวลว่ามันจะผลประโยชน์ขัดกัน เพราะสำนักงาน อย.มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมผลิตภัณฑ์ สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหลาย แต่ถ้าเกิดมันผิดหลักเกณฑ์ ทาง อย.ก็จะไม่ให้ อย. ก็มีสิทธิ์ที่จะไปดำเนินการทางกฎหมายได้ แต่ถ้าเกิดต่อไป อย.ไปสนับสนุนให้คนปลูกกัญชง กัญชา คนเอากัญชาไปผสมอาหาร แล้วตัวเองจะตรวจสิ่งที่ตัวเองสนับสนุนได้อย่างไร มันก็ผลประโยชน์ขัดกัน ซึ่งเรื่องนี้มีคนไม่เห็นด้วยเยอะมาก ว่า อย.ไม่ควรทำหน้าที่ดังกล่าว จะตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาอะไรก็ว่ากันไป

      สาทิตย์-ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเป็นห่วงต่อร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ต่อไปอีกว่า ประเด็นถัดมาคือเรื่องของอุปกรณ์ในการเสพกัญชาทั้งหลายที่มีเยอะ พบว่าในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ไม่ได้เขียนว่าอุปกรณ์พวกนี้เป็นอุปกรณ์ควบคุมที่จะต้องได้รับอนุญาต ถ้าใครไม่ขออนุญาตจะผิดกฎหมาย ไม่ได้เขียนเอาไว้

      "เพราะฉะนั้นเมื่อดูตัวร่างกฎหมายกัญชาฯ ทั้งหมดแล้ว มันหลวมจริงๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการอนุญาต การตรวจสอบคุณสมบัติ เงื่อนไขการอนุญาต การให้อำนาจรัฐมนตรีจนน่าสงสัย การกำหนดหน่วยงานที่อาจจะประโยชน์ขัดแย้งกัน รวมไปถึงการควบคุมอุปกรณ์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นภาพรวมทั้งหมดผมคิดว่า ถ้าเราปลดกัญชาออกจากยาเสพติด มาเป็นไม่ใช่ยาเสพติด และคุณตั้งใจไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กฎหมายต้องคุมถึง แต่ผมว่าร่างกฎหมายกัญชาที่ออกมาแบบนี้ มีปัญหาในการควบคุม"

      -หากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ไม่มีการทบทวนแก้ไขเนื้อหาที่มีการทักท้วง สุดท้ายมันจะเป็นอย่างไร?

      คือผมว่าไม่ควรเอาสภาเป็นตัวประกัน ว่าคุณต้องรับ ถ้าไม่รับ ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดแล้ว ไม่มีกฎหมายแล้ว พวกคุณต้องรับผิดชอบ และกฎหมายที่ช้า ใครค้าน ใครบอกให้ถอนต้องรับผิดชอบ ซึ่งมันไม่ใช่

       สภาออกกฎหมายต้องออกด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม แล้วมันต้องออกและควบคุมให้ดี คุณเป็นคนปลูกเงื่อนไขไว้ ก็คือคุณปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดก่อนมีกฎหมาย ประเทศอื่นเขาทำกฎหมายเสร็จแล้วจึงมาปลดล็อก แต่คุณรีบคุณไปปลดล็อกก่อน พอคุณไปปลดล็อกก่อนก็เกิดสุญญากาศ แล้วก็เอาสภาเป็นตัวประกันว่าให้รีบๆ ทำ ทำอย่างไรก็ได้ ทำออกมาก่อน เพราะไม่งั้นผมจะปล่อยให้เป็นสุญญากาศ คุณเอาสภาเป็นตัวประกันได้อย่างไร ที่ภูมิใจไทยออกมาบอกว่าเราทำให้กฎหมายมันช้าไป ข้อเท็จจริงก็คือไม่จริง สมมุติว่าวันพุธที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ก่อนจะปิดสมัยประชุมสภาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่มีด้วยกัน 95 มาตรา หากสุดท้ายผ่านจากสภาในคืนเดียว วันเดียวจบ ก็ยังบังคับใช้ไม่ได้ เพราะต้องรอเปิดสภาเดือนพฤศจิกายน เพื่อส่งไปวุฒิสภา

      ซึ่งทางวุฒิสภาก็ต้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษา มีเวลา 60 วัน เร็วสุด 30 วัน แต่กฎหมายแบบนี้ไม่เร็วแน่ก็ไป 60 วัน เมื่อเสร็จก็ส่งกลับมาที่สภาถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วย ก็ประกาศใช้ แต่ถ้าไม่เห็นชอบด้วยก็ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมกับวุฒิสภา ถ้ากรรมาธิการร่วมแก้เสร็จต้องมีการประชุมร่วม 2 สภา เพื่อที่จะลงมติกันว่าเอาไง แต่ถ้า 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา เห็นว่าผ่านก็จบ บังคับใช้ได้ ซึ่งไม่จบใน 3 เดือนแน่นอน มันก็ต้อง 5-6 เดือน เพราะฉะนั้นกฎหมายมันช้าอยู่แล้วในตัวของมันเอง เรื่องนี้หากปลดล็อกก่อนแล้วค่อยมาทำกฎหมายทีหลัง มันมีปัญหา แต่ถ้าทำกฎหมายเสร็จแล้วปลดล็อกจะไม่มีปัญหา ประเด็นมันอยู่ตรงนี้เรื่องของกัญชา

ระเบิดเวลา ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์?

        -หากสุดท้ายจริงๆ กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้แก้ไขเนื้อหาที่ประชาธิปัตย์ทักท้วง แล้วนำร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ กลับเข้าไปพิจารณาในที่ประชุมสภาเดือน พ.ย. ผลจะออกมาอย่างไร?

      ยังบอกไม่ถูก แต่ผมมองว่าคงออกมา 2-3 แบบ คือหนึ่ง คณะกรรมาธิการไม่มีการแก้ไขเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เลย ถ้าไม่แก้เลย ผมว่าคงมีปัญหา พอมีปัญหา กฎหมายจะตกไป ก็จะทำให้กัญชากลายเป็นเสรี เป็นเสรีแบบไม่มีการควบคุมกันเลย ถ้าแบบนี้ ความพินาศจะมาเยือน สอง คือกรรมาธิการมีการแก้ไขบางส่วน ที่ก็ต้องมาดูเนื้อหาในร่างว่าที่แก้ดังกล่าวเป็นอย่างไร จะนำไปสู่การควบคุมที่ดีหรือไม่ สาม คือหากมีแก้ไขกันมาก แล้วทำให้ดูแล้ว การควบคุมดีขึ้น ผมว่าก็มีโอกาสที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จะผ่านจากสภาได้  

      ส่วนท่าทีของกรรมาธิการฯ ตอนนี้อาจจะดูเหมือนเสียงแข็งอยู่ แต่ผมคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไป เขาก็อาจคิดได้ว่าในสังคมไม่ได้มีแต่คนสายเขียว แต่ยังมีอีกเช่นบุคลากรทางการแพทย์ เช่น หมอ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข บางคนถึงกับเรียกเรื่องกัญชาเสรีว่า เป็นภัยคุกคามทางสาธารณสุข ในตอนนี้ และยังมีบุคลากรทางการศึกษา มีครู อาจารย์ มีพ่อแม่ที่เป็นห่วงลูกหลานตัวเอง อย่างผมเจอ อสม. เขาบอกว่าไม่ได้ เพราะเคสที่ อสม.ไปดูทุกวันนี้เรื่องยาเสพติดก็ปวดหัวพออยู่แล้ว หากบวกกัญชาเข้ามาอีกจะรับกันไม่ไหว แม้กระทั่งพระสงฆ์ยังกระซิบผมเลยว่า โยมพระไม่ยุ่งการเมือง แต่ไม่เอากัญชา อย่างมีอยู่วันหนึ่ง ผมนั่งอยู่ในร้านกาแฟแถวบ้าน มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามายกมือไหว้แล้วบอกว่า "ขอบคุณนะที่ทำเรื่องนี้ ฉันกลัวมาก เพราะลูกยังเล็ก" มันมีแบบนี้อยู่ในสังคม

      ผมทำแบบนี้ ผมก็รู้อยู่ว่าสายเขียวอาจรู้สึก upset แต่ผมก็อยากบอกสายเขียวว่า เพื่อนร่วมสังคมของคุณเขาก็มีข้อกังวล ดังนั้นต้องทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ กัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์ แต่มันก็มีโทษมหันต์หากใช้ผิด จึงต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้ใช้เฉพาะด้านประโยชน์ แล้วคุมด้านโทษของกัญชา ถ้าแบบนี้สังคมอยู่ร่วมกันได้ จึงต้องใช้เหตุผล จะใช้อารมณ์โกรธทางการเมือง การต่อรองทางการเมืองไม่ได้ เพราะหากจะใช้วิธีการต่อรองทางการเมือง มันง่ายมาก เกิดภูมิใจไทยบอกว่า "เอ้ย ประชาธิปัตย์ คุณกับผมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ผมทำอะไรไม่ถูกไม่ต้อง อย่างกฎหมายนี้ ดีไม่ดี คุณก็หลับตาเสีย เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล" แล้วเกิดเราหลับตาจริง อะไรจะเกิดขึ้นสังคมนี้ ก็แปลว่า ส.ส.ที่รับเรื่องมาก็ไม่รับผิดชอบสังคม คุณก็เห็นแก่ตำแหน่งคุณ กับพรรคพวกของคุณ แต่คุณไม่เห็นกับประชาชนที่เขากังวลเรื่องนี้หรือ พ่อแม่ ผู้ปกครองเด็ก ครูอาจารย์ แล้วคุณจะเป็น ส.ส.ที่ดีได้อย่างไร จุดยืนของเราก็คือ ก็ต้องขอดูร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ก่อนที่สภาจะพิจารณาก่อน หากมีการปรับปรุงแก้ไขไปในทางที่ดีขึ้น เราก็โอเค แต่ถ้าไม่ ก็คงต้องไม่เห็นด้วย เรื่องนี้ก็ต้องรอดูด้วยใจระทึก

      -มีการประเมินว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จะเป็นระเบิดเวลาความขัดแย้งของสองพรรคร่วมรัฐบาล คือประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย หลังเปิดสภาเดือน พ.ย.?

      ผมก็มองว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ก็มีโอกาสจะเป็นความไม่เข้าใจกันได้ ถ้าหากว่าไม่ใช้เหตุผลในการคุยกัน แต่ผมยืนยันว่าประชาธิปัตย์เราใช้เหตุใช้ผล มันไม่เกี่ยวกับเรื่องร่างกฎหมาย กยศ. แล้วก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องหาเสียงที่ภาคใต้ เพราะกัญชาไม่ได้มีที่เฉพาะภาคใต้ แต่มีทั่วประเทศ คนกังวลมีอยู่ทั่วประเทศ แต่เราคิดถึงผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายต่อสังคมมากกว่า

ต้องใช้เหตุผล จะใช้อารมณ์โกรธทางการเมือง การต่อรองทางการเมืองไม่ได้ เพราะหากจะใช้วิธีการต่อรองทางการเมือง มันง่ายมาก เกิดภูมิใจไทยบอกว่า "เอ้ย ประชาธิปัตย์ คุณกับผมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ผมทำอะไรไม่ถูกไม่ต้อง อย่างกฎหมายนี้ ดีไม่ดี คุณก็หลับตาเสีย เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล" แล้วเกิดเราหลับตาจริง อะไรจะเกิดขึ้นกับสังคมนี้

ผมว่าต้องใช้เหตุผลมาคุยกัน ที่ผมว่าคุยกันได้ ไม่น่าจะมีปัญหา ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอีกว่า หากปลายเดือนนี้พลเอกประยุทธ์รอดมาได้จากคดี 8 ปี แล้วกลับมาเป็นนายกฯ หน้าที่นายกฯ ก็ต้องเรียกพรรคร่วมรัฐบาลมาคุยกัน แต่ถึงเวลาจริงๆ คงเข้มข้นกว่านี้ มันใกล้เลือกตั้งเข้ามาเรื่อยๆ

"อย่าถือว่าเป็นการเสียหน้า คือผมเข้าใจเรื่องแบบนี้ เรื่องการเมือง ทุกคนก็รู้สึกกันได้ แต่ว่าเราต้องไม่ให้สังคมเสียหาย" สาทิตย์กล่าวย้ำหนักแน่น.

                        โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ

บูชาพระโอวาทปาติโมกข์ .. ณ เวฬุวันมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. กลับมาจาก งานมาฆบูชาโลก ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พร้อมกับติดเชื้อเป็นของแถม ด้วยมีไวรัสแพร่ระบาดในหมู่คณะที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสติดตามไปร่วมร้อยชีวิต

บนเส้นทางมหาปรินิพพาน “มัชฌิมาปฏิปทา สู่ อัปปมาทธรรม”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา.. บนเส้นทางมหาปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมสมัย มีปรากฏร่องรอยธรรมที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง

มาฆบูชาโลก ณ เวฬุวันมหาวิหาร ชมพูทวีป (พ.ศ.๒๕๖๗)

เจริญพรศรัทธาสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาระหว่าง ๒๒-๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปประกอบศาสนกิจอันสำคัญยิ่งในชมพูทวีป บนแผ่นดินเกิดพระพุทธศาสนา เนื่องใน วันมาฆบูชาโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็น “วันมาฆบูชาปูรณมี”

“มายาสาไถย..” ..ในสังคมปัจจุบัน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมมีประโยชน์ ๓ ระดับ ได้แก่